ThaiPublica > เกาะกระแส > เลขาธิการ ACT จี้ รฟท.เปิดประมูลรถไฟทางคู่ “เหนือ-อีสาน” ใหม่

เลขาธิการ ACT จี้ รฟท.เปิดประมูลรถไฟทางคู่ “เหนือ-อีสาน” ใหม่

12 มิถุนายน 2021


ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ “ACT”

เลขาธิการACT ตั้ง 5 ข้อสังเกตความไม่โปร่งใสประมูลรถไฟทางคู่ “เหนือ-อีสาน” จี้ ครม.-รฟท. เปิดประมูลใหม่

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2564 ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ “ACT” ได้แสดงความเห็นต่อการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสานมูลค่า 1.28 แสนล้าน ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Mana Nimitmongkol หัวข้อเรื่อง ความโปร่งใสที่ไม่จริงใจ ชั่วร้ายยิ่งกว่าโกงซึ่งๆหน้าโดยมีเนื้อหา ดังนี้

จากข่าวการประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือและสายอีสานมูลค่า 1.28 แสนล้านบาทเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อกังขาจากสังคมถึงความไม่โปร่งใสหลายประการ โดยผู้เขียนมีข้อสังเกตดังนี้

1. กติกาถูกเปลี่ยนก่อนการประมูล

เพื่อประโยชน์สูงสุดในการใช้เงินงบประมาณ รัฐต้องจูงใจและส่งเสริมให้เอกชนเข้าร่วมแข่งขันประมูลให้มากที่สุด ดังนั้น ในปี 2558 ครม. จึงมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างที่มี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธาน กำหนดให้การประมูลรถไฟทางคู่ ต้องกระจายงานออกเป็นสัญญาที่วงเงินต่อสัญญาไม่สูงเกินไป และแยกงานระบบอาณัติสัญญาณออกจากงานโยธา เพื่อป้องกันการฮั้วประมูลและเปิดให้ผู้ประกอบการรายย่อยแข่งขันได้ แต่มติ ครม.นี้กลับถูกยกเลิกไปตามข้อเสนอของรัฐมนตรีคมนาคมคนปัจจุบัน ก่อนที่การประมูลรอบใหม่จะเริ่มขึ้น เรื่องนี้ทำให้นึกถึงคดีทุจริตยาที่ศาลตัดสินจำคุกอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข เพราะใช้อำนาจสั่งให้ ‘ยกเลิก’ บัญชีราคากลางยาส่งผลให้ราคายาแพงขึ้น ถือเป็นคดีตัวอย่างคอร์รัปชันเชิงนโยบายจนถึงทุกวันนี้

2. แบ่งเค้ก – ฮั้วราคา หรือไม่?

การประมูลครั้งนี้แยกเป็น 5 สัญญา ผลคือมีผู้เข้าประมูลเพียง 5 ราย แต่ละรายต่างชนะการประมูลรายละ 1 สัญญา โดยราคาประมูลนั้นเกือบเท่าราคากลาง แตกต่างเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.08 ซึ่งต่ำมาก เมื่อเทียบกับการประมูล 7 สัญญาช่วงปี 2558 – 2560 ที่บางสัญญาราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเฉลี่ยมาก คือ ช่วงวิหารแดง – บุใหญ่ ต่ำกว่าถึงร้อยละ 31.99 และช่วงหัวหิน – ประจวบฯ ต่ำกว่าถึงร้อยละ 20.51 ประหยัดไปกว่าสามพันล้านบาท

3. กลุ่มผูกขาด

การประมูลครั้งนี้กำหนดเงื่อนไขที่ทำให้มีแต่ผู้รับเหมารายใหญ่หน้าเดิมๆ ยื่นซองแล้วเอางานไปคนละสัญญาแถมได้ราคาดี แต่ทำไมงานใหญ่ขนาดนี้ไม่เปลี่ยนเกมแข่งขัน โดยเปิดให้บริษัทต่างชาติที่ทุนหนา เทคโนโลยีสูงมาร่วมประมูลจะได้มีตัวเปรียบเทียบกันมากขึ้น ผลประโยชน์และการประหยัดงบประมาณจะเกิดกับประเทศ

4. ถูกกฎหมาย แต่ขัดใจประชาชน

บ้านเมืองของเรามีคดีคอร์รัปชันมากมายที่กว่าจะถูกจับโกงได้ ก็ผลาญชาติจนเสียหายไปมากแล้ว เพราะสังคมหลงเชื่อคนมีอำนาจที่คอร์รัปชัน แต่ปากก็อ้างว่าโปร่งใส ทุกอย่างถูกกฎหมายแล้ว เช่น กรณีสนามฟุตซอล คลองด่าน โฮปเวลล์ บ้านเอื้ออาทร จำนำข้าว เครื่องตรวจระเบิดจีที 200 ถุงมือยาง ฯลฯ

บ่อยครั้งที่พบว่ามีการวางแผน ‘สมรู้ร่วมคิด ล็อคสเปค ฮั้วประมูล’ อยู่เบื้องหลัง การเปิดประมูลอีบิดดิ้งกลายเป็นเรื่องบังหน้า กลไกปกติในการป้องกันคอร์รัปชัน อย่าง ป.ป.ช. และศาล ก็ทำอะไรไม่ได้ แม้ประชาชนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีการโกงกิน ทำให้รัฐเสียหาย ซื้อแพงเกินเหตุ ของใช้การไม่ได้ หรือไม่คุ้มค่าเงินที่เสียไปก็ตาม คำอวดอ้างที่ว่า ‘ไม่มีโกง เพราะทำถูกระเบียบ เป็นไปตามขั้นตอน’ จึงอาจเป็นเพียงคำลวงที่ทาให้พวกเขาดูดี แล้วลอยนวลกอบโกยได้ต่อไป

5. อย่าปล่อยตามยถากรรม

เชื่อว่า ครม. และ รฟท. มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรให้ดีขึ้นได้ และหวังว่าจะทำด้วยจิตสำนึกรับผิดชอบต่อบ้านเมือง เปิดประมูลใหม่ ทำให้มีการแข่งขันที่เปิดกว้างโปร่งใสกว่านี้ หรืออย่างน้อยก็ให้ประชาชนเห็นชัดเจนว่ามีการเจรจาต่อรองกับผู้ประมูลให้ได้เงื่อนไขดีขึ้น ทำให้ถูกต้องชัดเจน นำมาตรการตาม ‘กฎหมายฮั้วประมูล’ มาใช้เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่เกิดเรื่องน่ากังขาแบบนี้อีก เพราะยังมีรถไฟทางคู่สายปากน้ำโพ – เด่นชัย และสายชุมพร – ปาดังเบซาร์ เปิดประมูลอีกเร็วๆ นี้

บทสรุป…ถ้าเบื่อคอร์รัปชัน เราต้องสู้ เราคนไทยเจ้าของประเทศต้องไม่ถูกครอบงำ ต้องไม่นิ่งเฉยยอมรับชะตากรรมมาช่วยกันขุดคุ้ยเปิดโปง ช่วยกันโวย ปฏิเสธและด่าพวกโกงชาติ พวกที่พร่ำชวนเชื่อว่าโปร่งใส แต่ไม่ยอมเปิดเผยให้ตรวจสอบ แถมไม่เปิดกว้างรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชน เพราะ ‘ความโปร่งใสที่ไม่จริงใจ ชั่วร้ายยิ่งกว่าโกงซึ่งๆ หน้า’