หางกระดิกหมา
ไมค์ตัวละเกือบแสนห้าทำให้คนสะดุ้งขึ้นมาเป็นแถวๆ
เรื่องนี้ถ้า คสช. จริงใจกับการต้านคอร์รัปชัน ก็ควรจะต้องปล่อยให้มีการสอบสวนและแถลงไขกันให้ถนัดทีเดียว เพราะการซื้อของที่คนพอรู้จักในราคาแพงอย่างนี้ ไม่ต้องใช้ความรู้เบื้องหลังอะไรมากมาย คนทั่วไปเขาอยู่ในฐานะที่จะฟังคำชี้แจงให้เข้าใจถี่ถ้วนได้อยู่ ปกติก็จะได้รู้ว่าปกติ
แต่ถ้าไม่ใช่ คสช. ก็จะได้มีโอกาสแสดงให้เห็นว่า “เราจะทำอย่างซื่อตรง” นั้น มันแปลว่าอะไร อย่าลืมว่า ถึง คสช. จะขอเวลาอีกไม่นาน แต่เงินที่ขอไม่ได้น้อยตามไปด้วย ดังนั้น ระหว่างยังต้องเป็นผู้รับผิดชอบกิจการของประเทศอยู่คณะเดียวอย่างนี้ มีแต่การเปิดเผยตรงไปตรงมาอย่างที่สุดเท่านั้น ที่จะทำให้ คสช. พ้นข้อครหาต่างๆ ได้
ระหว่างปูเสื่อรอฟังคำอธิบายเรื่องไมค์ว่าจะลงเอยเช่นไร ก็นึกขึ้นได้ว่าหนึ่งในเรื่องที่มีปัญหาคอร์รัปชันมากที่สุดของบ้านเราก็คือเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง และหนึ่งในเรื่องที่มีปัญหามากที่สุดของการจัดซื้อจัดจ้างก็คือการฮั้วประมูล ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่จะพูดเรื่องนี้กันให้ชัดๆ สักทีหนึ่ง
เช่นเดียวกับการคอร์รัปชันรูปแบบอื่นๆ การฮั้วประมูลถือเป็นเรื่องบั่นทอนประเทศอย่างน่าเกลียด เพราะปกติรัฐย่อมต้องการจะซื้อของที่ดีในราคาที่คุ้มค่าที่สุด เพื่อประหยัดสตางค์ไว้ใช้ทำประโยชน์อื่นๆ โดยการที่รัฐจะได้ของอย่างนั้น ก็ต่อเมื่อพ่อค้าในตลาดแข่งขันกันอย่างจริงจัง กล่าวคือต่างคนต่างตั้งราคาและหาของคุณภาพวิเศษมาเสนอผู้ซื้ออย่างต้องการจะตัดหน้ากันเท่านั้น แต่การฮั้วประมูลก็มาทำลายสภาวะอย่างนี้ เพราะในการฮั้วประมูลนั้น พ่อค้าจะแอบร่วมมือกันเพิ่มราคาหรือลดคุณภาพสินค้ากันถ้วนหน้า จนไม่ว่ารัฐเลือกสินค้าของใครก็เรียกว่าถูกต้มทั้งสิ้น เสร็จแล้วพ่อค้าก็เอากำไรส่วนเกินไปแบ่งกันเองรอบวง ไม่มีใครตัดหน้าใคร และไม่มีใครกลับบ้านมือเปล่า นอกเสียจากรัฐบาลกับผู้เสียภาษี
ดังนี้ กล่าวได้ว่าหัวใจของการฮั้วประมูลมีอยู่เพียงสองประการ หนึ่ง คือการทำให้คนใดคนหนึ่งในบรรดาผู้ร่วมฮั้วประมูลชนะประมูลไปในราคาที่กำไรมหาศาลพอที่จะเอามาแบ่งกับผู้ร่วมฮั้วกันได้พอ และ สอง กลไกในการเอากำไรส่วนเกินนั้นไปส่งให้กับผู้ร่วมฮั้วคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ชนะการประมูล เช่น การให้ผู้ร่วมฮั้วได้รับจ้างช่วงหรือเป็นซัพพลายเออร์ในทอดต่อๆ มา หรือการให้สั่งจ่ายเงินไปยังบัญชีของผู้ร่วมฮั้ว
อย่างไรก็ตาม หลักวิชา “ฮั้ว 101” นี้ ยังสามารถแสดงออกได้เป็นหลายลักษณะ
หนึ่ง การใช้ผู้เข้าร่วมประมูลไม้ประดับ (Cover Bidding) วิธีนี้ก็คือการหาบริษัทมาร่วมประมูลหลายบริษัทเพื่อให้ดูเหมือนมีการแข่งขันคึกคัก แต่แล้วบริษัทเหล่านี้ เว้นเสียแต่บริษัทที่เตี๊ยมให้เป็นผู้ชนะ จะไม่มีใครยื่นซองประมูลที่อยู่ในลักษณะจะชนะประมูลได้เลย กล่าวคือ ถ้าไม่เสนอราคาที่แพงกว่าบริษัทที่เตี๊ยมไว้ ก็จะต้องบรรจุเงื่อนไขอะไรที่รู้แน่ว่าอย่างไรทางรัฐจะไม่อาจยอมรับได้ ผลสุดท้าย จึงทำให้บริษัทที่เตี๊ยมไว้ชนะประมูลอย่างฉลุย ทั้งๆ ที่บริษัทเข้าประมูลเยอะแยะ และราคาประมูลของบริษัทที่เตี๊ยมความจริงไม่ได้สมเหตุสมผลเลยนั่นแหละ
สอง การงดประมูล (Bid Suppression) คือการที่บริษัทผู้ร่วมฮั้วไม่ยอมเข้าร่วมประมูล หรือเข้าประมูลแล้วถอนตัวในภายหลัง เพื่อให้บริษัทที่เตี๊ยมไว้ชนะประมูล
สาม การเวียนประมูล (Bid Rotation) คือบริษัทที่ร่วมฮั้วเข้าร่วมประมูล แต่ตกลงกันอยู่ก่อนแล้วว่าใครจะได้เป็นผู้ชนะในสัญญาไหน เป็นลำดับๆ ไปทีละคนเหมือนกับเข้าคิว เช่น คราวนี้เอ็งชนะ คราวหน้าเอ็งต้องปล่อยให้ข้าชนะบ้าง
สี่ การแบ่งตลาด (Market Allocation) คือบริษัทที่ร่วมฮั้วจะตกลงกันว่าลูกค้าประเภทไหนหรือในเขตพื้นที่ไหนจะเป็นของบริษัทใด โดยเมื่อใดที่มีการประมูล ทุกคนก็จะเคารพเกณฑ์การแบ่งนี้ ไม่ก้าวล่วงกัน โดยถึงเวลาที่มีการประมูลของที่ถูกแบ่งไว้เป็นของตน คนอื่นก็จะตอบแทนบ้าง โดยไม่เข้ามาประมูลแข่ง หรือเข้ามาแต่ในลักษณะของไม้ประดับ
อย่างไรก็ตาม การจะฮั้วให้สัมฤทธิ์ผลนั้น จำเป็นที่ผู้ร่วมฮั้วจะต้องร่วมมือกันทำตามแผนที่ออกแบบกันไว้ อีกทั้งต้องมีวิธีให้ผู้ร่วมฮั้วทุกคนสังเกตได้ว่าผู้ร่วมฮั้วแต่ละคนเล่นตามแผนหรือไม่ โดยถ้าใครโกงไม่ทำตาม ก็จะต้องมีวิธีแก้เผ็ด ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ความจริงมีขึ้นได้ในทุกตลาด แต่จะยิ่งมีได้ง่ายขึ้นในตลาดที่มีลักษณะเอื้อต่อการฮั้วดังต่อไปนี้
หนึ่ง ตลาดที่มีพ่อค้าน้อยราย นี่ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะตลาดที่มีพ่อค้าอยู่ไม่กี่คน ย่อมเป็นการง่ายกว่าสำหรับการตกลงให้มาร่วมฮั้วกันครบทุกคน ซึ่งข้อนี้ย่อมรวมถึงตลาดที่พ่อค้าหน้าใหม่เข้ามาได้ช้า หรือเข้ามาได้ยากด้วย เพราะคนเก่าๆ ไม่ต้องกลัวว่าที่เตี๊ยมๆ กันไว้ จะมีคนนอกที่ไหนหลุดเข้ามาทำให้เสียแผน ตลาดสินค้าประเภทที่ไม่มีของทดแทนกันได้ง่ายๆ ก็เข้าข้อนี้เหมือนกัน
สอง สภาพตลาด ตลาดที่อุปสงค์อุปทานแปรเปลี่ยนทีละมากๆ จะทำให้ฮั้วกันไม่ค่อยถนัด เพราะสมมติตกลงให้เจ้าไหนชนะประมูลไปแล้ว อยู่ดีๆ ความต้องการสินค้านั้นก็อาจจะหมดไปเลยก็ได้ ทำให้คนอื่นๆ ที่หวังจะชนะประมูลรอบหน้าหมดสิทธิ เพราะเขาเลิกประมูลหาของชนิดนั้นกันแล้ว ตรงกันข้าม สินค้าอะไรที่ตลาดมีความต้องการสม่ำเสมอ ไม่ค่อยผันผวน ก็จะเกิดกรณีฮั้วได้ง่าย เพราะทุกคนรู้ว่าจะมีประมูลให้ได้ผลัดกันชนะกันอีกหลายรอบ
สาม การประมูลบ่อยครั้ง สินค้าอะไรที่รัฐจำเป็นต้องซื้อบ่อยและซื้อเป็นประจำนั้นง่ายต่อทำการฮั้ว เพราะผู้ร่วมฮั้วเขาแบ่งกันได้ง่ายๆ ว่าครั้งไหนของใคร และเวลาใครโกงไม่ทำตามที่ตกลง ในการประมูลครั้งต่อๆ ไปจะเปิดโอกาสให้ดัดหลังได้
สี่ การประมูลสินค้าที่ไม่ซับซ้อนหรือมีลักษณะเหมือนกัน สินค้าลักษณะอย่างนี้จะฮั้วกันได้ง่าย เพราะผู้ร่วมฮั้วสามารถออกแบบกันได้โดยไม่ยุ่งยากว่าแต่ละบริษัทจะตั้งราคากันอย่างไรที่จะนำไปสู่ผลที่ต้องการตามแผนฮั้ว และยิ่งถ้าเป็นสินค้าที่ไม่ค่อยมีนวัตกรรม ไม่ค่อยมีพัฒนาการทางเทคโนโลยี ก็จะไม่มีเหตุให้ต้องกำหนดราคากันใหม่บ่อยๆ ก็จะฮั้วง่ายเข้าไปอีก
เท่าที่กล่าวมานี่ก็คือสภาพและที่มาที่ไปของการฮั้วตาม OECD Guidelines for Fighting Bid Rigging in Public Procurement เท่านั้น โดยในส่วนของวิธีการแก้ปัญหา ตำราก็ยังมีกล่าวไว้อีกมาก
โอกาสเหมาะๆ ก็จะทยอยนำเสนอต่อไป
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์โกงกินสิ้นชาติ นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันจันทร์ที่ 8 กันยายน 2557