ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ สั่ง “คมนาคม” เร่งปลดล็อกรถเมล์ NGV – มติ ครม. ไฟเขียว กม. 4 ฉบับ เดินหน้าประมูลปิโตรเลียม ต.ค. 60

นายกฯ สั่ง “คมนาคม” เร่งปลดล็อกรถเมล์ NGV – มติ ครม. ไฟเขียว กม. 4 ฉบับ เดินหน้าประมูลปิโตรเลียม ต.ค. 60

15 สิงหาคม 2017


วีดีทัศน์สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน โดยก่อนการตอบคำถามสื่อมวลชน นายกรัฐมนตรีได้นำวีดีทัศน์ “สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา” หน้าปกเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาแสดงต่อสื่อมวลชน

โดยเมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานวีดีทัศน์ดังกล่าว จำนวน 4 แผ่น ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการสานต่อ รักษา และต่อยอดแนวทางพระราชดำริและโครงการพัฒนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ ป่า และเรื่องต่างๆ ที่เป็นแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงทำไว้ และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับมาแล้วให้รวบรวมและนำไปเผยแพร่ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ รวมถึงเพื่อให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนนำไปใช้ประโยชน์ในการสานต่อและต่อยอด ขณะเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำแนวทางดังกล่าวมาใช้ในการทรงงานต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงอย่างยั่งยืนตลอดไปเช่นกัน

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ปฏิรูปรถเมล์สั่ง “คมนาคม” เร่งปลดล็อกรถเมล์ NGV

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนในการปฏิรูปรถเมล์ ว่า ตนเห็นเป็นความปรารถนาดี ตั้งใจดี และเป็นการสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนก่อนว่าจะมีการเปลี่ยนเส้นทางรถเมล์อย่างไร เพราะหากไม่ทำอะไรเลยก็โดนเล่นงานอีก ว่าไม่รู้เรื่อง ทำอะไรกันมา ยืนยันว่าเป็นความหวังดีในการทำสีสันต่างๆ หากไม่เห็นด้วยก็บอกมา

“ประเทศไทยเปลี่ยนอะไรเร็วๆ ได้ไหม ผมจึงบอกเขาให้ไปสร้างการรับรู้ เขาก็คิดวิธีนี้ขึ้นมา เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมผมไม่รู้ แต่สิ่งที่ผมย้ำวันนี้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในที่ประชุม ครม. ว่าผมจะต้องได้รถเมล์ 400 กว่าคันที่ซื้อแล้วมีปัญหามาให้ได้ในสิ้นปีนี้ จะทำอย่างไรให้มีรถเมล์เอ็นจีวีคันใหม่ให้คนไทยได้นั่งเป็นของขวัญปีใหม่ ซึ่งเขาก็บอกกับผมว่าทำได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้สั่งการในที่ประชุมถึงกิจการรถเมล์ในประเทศ โดยให้ให้ไปเตรียมการไว้ 1000 คัน เพื่อให้บริษัทของประเทศไทยเข้าสู่การประมูลนี้ด้วย จะได้สร้างอุตสาหกรรมในประเทศ ไม่ใช่เพียงสั่งซื้ออย่างเดียว

ยันซื้อขีปนาวุธไม่เบิกงบเพิ่ม – งบกลาโหมเพิ่มตามความจำเป็น

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการจัดซื้อขีปนาวุธ พื้น-สู่-พื้นต่อต้านเรือผิวน้ำ แบบ RGM-84L ฮาร์พูน บล็อค ทู จำนวน 5 ลูก และขีปนาวุธซ้อมยิง ฮาร์พูน บล็อค ทูว์ 1 ลูก ว่า งบประมาณที่ใช้เป็นงบประมาณประจำปีของทางกองทัพ ไม่ได้ใช้งบกลางแต่อย่างใด ซึ่งขีปนาวุธดังกล่าวนั้นเป็นส่วนประกอบหนึ่งของเรือฟริเกต

“งบประมาณต่อเรือฟริเกตมันรวมถึงอาวุธด้วย ที่ผมบอกว่าไม่รู้ว่ามีการซื้อเพราะมันอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว ผมจำไม่ได้หรอก มันเป็นการซื้อตามระบบของเขาอยู่แล้ว ถ้ามีเรือแล้วไม่มีอาวุธ จะต่อไปทำไม ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อกรณีงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้น พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า เป็นการเพิ่มตามลำดับของแต่ละปี ทุกกระทรวงก็เพิ่มขึ้น ทั้งหมดเป็นไปตามสัดส่วนไม่ได้เพิ่มจนมากเกินไป เพราะรัฐบาลก็คำนึงถึงเรื่องอื่น ไม่ว่าจะเป็นเกษตร สาธารณสุข การศึกษา การดูแลผู้สูงวัย แต่ไม่สามารถทิ้งเรื่องการดูแลความมั่นคงได้ และเนื่องจากที่ผ่านมาทุกรัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจในการบำรุงรักษา จึงจำเป็นต้องมีการจัดหาเท่าที่จำเป็น

“มันเกี่ยวกับความมีเสถียรภาพของประเทศ ซึ่งก็ไม่ได้จะเอาไปรบกับใคร แต่ซื้อไว้เพื่อคุ้มครองทรัพยากรทางบก ทางทะเล ซึ่งมีความจำเป็น เพราะรอบบ้านก็ยังมีปัญหาอยู่ และในช่วงปกติยุทโธปกรณ์ของกองทัพสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการบรรเทาภัยพิบัติและดูแลประชาชนได้ และต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อใช้ในการร่วมฝึกรบกับนานาชาติด้วย ถ้าเรามียุทโธปกรณ์สับปะรังเคไปฝึกร่วมกับเขา ไปวิ่งตามเขาทันหรือไม่ คิดอย่างนี้บ้าง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

แต่งตั้งโยกย้ายกองทัพเสร็จทัน ก.ย.นี้ – ย้ำนายกฯ ไม่มีเอี่ยว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2561 ว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของแต่ละกองทัพ ซึ่งตนทราบว่าใกล้เสร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่ผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพจะต้องลงนาม จากนั้นจะส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเสนอที่นายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยยืนยันว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560

“ตำแหน่งหลักๆ มันชี้กันไม่ได้ เพราะเป็นหัวใจของกองทัพ ขั้นตอนการแต่งตั้งโยกย้ายต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ 7 คนที่มี รมว.กลาโหมเป็นประธาน ซึ่งทุกคนโตมาจากทุกกองทัพ ผู้บัญชาการทหารบกก็ต้องพิจารณาจากห้าเสือ ตามระดับอาวุโส ซึ่งผู้ที่จะเป็นผู้บัญชาการกองทับบกได้ คนแรก คือ รองผู้บัญชาการทหารบก จากนั้นเป็นประธานที่ปรึกษา ผู้ช่วยหนึ่ง ผู้ช่วยสอง จนถึงระดับเสธ. นี่คือระบบอาวุโส ที่ผมพูดได้ เพราะเคยเป็นผู้บัญชาการทหารบก เคยพิจารณาการแต่งตั้งมาก่อน ไม่ใช่ว่านายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจเข้าไปแต่งตั้งได้ ผมว่าอย่าไปประเมินเอง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ถ้าให้ ขรก. ยื่นบัญชีทรัพย์สิน เอกชนต้องร่วมด้วย

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีมีการเสนอแนวคิดให้ข้าราชการทุกระดับแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ว่า กรณีนี้จำเป็นจะต้องให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินข้าราชการทุกระดับหรือไม่ ต้องมีการหารือกันก่อนหากต้องยื่นทุกคนจะเกิดความเป็นธรรมหรือไม่ หากจะบันทึกไว้ตั้งแต่เข้ารับราชการจนถึงอายุ 60 ปี พวกคนตรวจสอบก็ตายกันไปเรื่อยๆ ก็ต้องหาคนมาตรวจสอบใหม่เรื่อยๆ จะไหวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตนได้ให้แนวทางกับศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ไปพิจารณาดู หากพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถป้องกันการทุจริตได้ แนวทางดังกล่าวก็คงเป็นไปได้

“ขอถามว่าแล้วทำไมไม่ให้เจ้าของบริษัท พ่อค้า เอกชน ยื่นบัญชีทรัพย์สินบ้างเพราะพวกข้าราชการเลวๆ ก็ไปเรียกเงินจากพ่อค้าเอกชนทั้งนั้น แล้วพวกเอกชนจะไปให้เขาทำไม เราจึงต้องดูทั้งสองทางและอย่าไปมองว่าทุกคนต้องโกงทั้งหมด เราต้องไปดูว่าต่างประเทศเขาทำอย่างไร ถ้าเราคิดเองทำเองอาจจะได้ความสะใจ แต่หากเกิดความผิดพลาดก็เอากลับมาโทษผมอยู่ดี เราต้องมองตรงกลางให้ได้ เพราะในบางครั้งมีคนให้โดยที่ข้าราชการไม่ได้เรียกรับก็มี เราจึงต้องแยกสองทาง ผมก็อยากให้ผลักดันเรื่องนี้ แต่ผมไม่อยากให้มองว่าข้าราชการเป็นผู้ร้ายข้างเดียว เพราะในกฎหมายก็ผิดทั้งคู่คือทั้งผู้ให้และผู้รับ แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ให้มาให้ข้อมูลมันก็ยาก เพราะเขาก็มีความผิด เราต้องช่วยกันคิดมาตรการว่าทำไมเขาถึงจะมาให้ข้อมูล” นายกรัฐมนตรีกล่าว

รวบหน่วยงานน้ำยังไม่สรุป – วอนเอ็นจีโอเห็นใจชาวบ้านต้องการเขื่อน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติโดยไม่นำกรมชลประทานมารวมว่า ตนยังไม่ได้พูดว่าจะเอาใครมารวมกับใคร พูดแต่เพียงว่าต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการ ซึ่งกำลังให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กับสำนักงานพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ว่าจะทำได้แค่ไหน

อย่างไรก็ตาม จะต้องมีคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนทำงานตามนโยบายให้ได้ ที่ผ่านมาทุกหน่วยงานทำอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ผล เพราะแต่ละกระทรวงต่างมีงบประมาณ มันก็กระจายกันไปทั่ว ทั้งนี้ ต้องมีคณะกรรมการที่บูรณาการว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างไร คณะกรรมการชุดนี้จะต้องทำได้ เช่น ปี 2560-2561 ว่าเราจะแก้ปัญหาน้ำท่วมทุกภาคในขั้นต้นได้อย่างไรบ้าง

“บางทีอาจต้องขุดคูคลองเพื่อระบายน้ำและเพื่อกักเก็บน้ำ ซึ่งประชาชนได้เสนอมาหลายอย่าง สำนักงานสถิติแห่งชาติก็เสนอมาให้รัฐบาลสร้างเขื่อนตรงนั้นตรงนี้ ผมก็ไม่อยากจะบอกว่ามันสร้างยาก เพราะทุกยังขัดแย้งกันอยู่ เอ็นจีโอก็ไม่ให้สร้าง แต่อย่าลืมว่าประชาชนเขาเดือดร้อน แล้วจะเอาอย่างไร จะให้ผมทำอะไรได้บ้าง ก็ไปถามเอ็นจีโอมาด้วยก็แล้วกัน ขอให้นึกถึงคนที่อยู่ในพื้นที่บ้าง จะลำบากไปค้านกันมากๆ ที่ผ่านมาวางแผนการบริหารจัดการน้ำกันมาอย่างไรมันถึงเกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้น ปัจจุบันทิศทางน้ำได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว ผมมีวิธีการแก้ทั้งหมด แต่ทุกอย่างก็มีผลกระทบหมด ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ทำไม่ได้หรอก เพราะว่าประชาชนขัดแย้ง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ยันไม่ห้ามให้กำลังใจ “ปู” ขอเพียงอย่าระดมคน – อปท. ใช้งบผิดว่าตามผิด

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บางพื้นที่ใช้งบประมาณผิดประเภท อ้างการจัดสัมมนาแต่กลับพามวลชนมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า กระทรวงมหาดไทยกำลังตรวจสอบอยู่ และถ้ามีใครนำงบประมาณมาใช้ในลักษณะดังกล่าวถือว่ามีความผิด ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการ ซึ่งการอ้างว่าไปจัดสัมมนาแล้วกลับพาคนเข้ามาเชียร์คน ต้องไปดูว่าใครทำว่ามีเจตนาบริสุทธิ์หรือเปล่า ซึ่งหากมีบุคคลที่ 3 มาเกี่ยวข้องแสดงว่าไม่บริสุทธิ์แล้ว ถ้าเจตนาบริสุทธิ์ ตนไม่เคยไปห้ามอะไรใครเลย อยากจะมาให้กำลังใจแล้วขับรถกันมาเองก็ไม่เป็นไร

“ผมเคยเตือนไปแล้วว่า ผมไม่ได้ขู่ด้วยกฎหมาย เพราะทุกคนไม่ว่าจะไปที่ศาล ที่ทำเนียบรัฐบาล ถ้ากีดขวางการจราจร กฎหมายจราจร จะต้องลงโทษทั้งหมด ผมบอกแล้วว่าผมจะไม่ปล่อยให้กฎหมายถูกละเมิด หลายอย่างผมผ่อนปรนไปเยอะแล้ว คำสั่งมาตรา 44 ศาลทหารก็ปลดล็อกไปให้เยอะแล้ว แล้วมันดีขึ้นหรือไม่ ยิ่งไม่กลัวกันขึ้นไปอีก ผมก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรกับคนเหล่านี้ การให้กำลังใจเป็นเรื่องธรรมดา ผมไม่ว่าอะไร แต่ขอให้พอสมควร ไม่ใช่จะระดมขนคนมาให้หมด แล้วมาด่าว่ารัฐบาลปิดกั้น ผมถามว่าปิดกั้นตรงไหน ถ้าปิดกั้นจริง ผมคงประกาศห้ามเข้ามาทั้งสิ้น แต่วันนี้ผมยังไม่ได้ประกาศอะไรเลย อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบว่ามีเจตนาบริสุทธิ์ในการขนคนเข้ามาหรือไม่ มีการไปจ้างไปเกณฑ์มาหรือเปล่า ถ้าเป็นจริงก็ถือว่าผิด แต่ถ้าไม่ผิดผมก็ไม่ทำอะไรอยู่แล้ว” นายกรัฐมนตรีกล่าว

จัด ครม.สัญจร เพื่อฟังความเห็น ปชช.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงสาเหตุในการจัดประชุมจัดประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ในวันที่ 21-22 สิงหาคม 2560 ว่าไม่ได้จัดประชุมเพื่อไปจับตานักการเมือง เพราะตนไม่สนใจและไม่ให้เครดิตอยู่แล้ว วันนี้ตนต้องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมา 3 ปีตนได้พยายามทำอย่างเต็มที่ และจะใช้เวลาที่เหลืออยู่นี้ไปฟังจากปากของประชาชนว่าสิ่งที่รัฐบาลทำมาเป็นอย่างไร มีปัญหาตรงไหน ถึงประชาชนหรือไม่ หรือว่าไม่ถึง และถ้าไม่ถึงจะต้องทำอย่างไร

“แต่ถ้าทุกคนพยายามบอกว่าประชาชนข้างล่างยังไม่ได้เงิน ขอถามว่าจะให้ได้อย่างไร ด้วยการเอาเงินโอนให้ไปหรือ แล้วมันโอนได้หรือไม่ ซึ่งต้องดูว่าจะเข้ากรอบการช่วยเหลือในเรื่องการขึ้นทะเบียนไว้ได้หรือไม่ แต่ก็ต้องถามว่าจะเอาเงินที่ไหนให้ บางอย่างอยากจะให้แต่ไม่มีเงิน ถึงมีเงินให้มันก็ผิดกฎหมาย จะต้องหาวิธีการที่เหมาะสม ขณะที่รัฐบาลจะดูในเรื่องมาตรการทางภาษี จะสามารถชดเชยได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน รายได้ของรัฐบาลมาจากการจัดเก็บภาษีจากประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลเองพยายามทำหลายอย่างให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ขอให้เข้าใจว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มุ่งหวังจะทำร้ายคนจน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้รัฐบาลรู้ดีว่างบประมาณที่ลงไปเป็นโครงการขนาดใหญ่เยอะพอสมควร บริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ก็ได้ไป บริษัทขนาดเล็กยังไม่ได้ ซึ่งตนกำลังให้พิจารณาให้บริษัทเล็กได้โครงการของรัฐบ้าง โดยตั้งงบประมาณให้ต่ำลง ซึ่งก็ต้องดูขีดความสามารถของบริษัทเล็กด้วย ไม่ใช่ประมูลแล้วทิ้งงาน พวกนี้ขึ้นบัญชีไว้แล้ว วันหน้าไม่ต้องมาทำอะไรกับรัฐอีก ยืนยันว่าไม่ละเว้นใครทั้งสิ้น

ผลสอบ ศอ.บต. บางส่วนถึงมือ ป.ป.ช. แล้ว

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการตรวจสอบโครงการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ว่า ขณะนี้อยู่ที่ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) มีข้อมูลต่างๆ พอสมควร เรื่องต่างๆ ก็กำลังอยู่ในกระบวนการ หลายเรื่องเข้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปแล้ว คงต้องไปรอกันตรงนั้น

ต่อคำถามความคืบหน้ากรณีเงินทอนวัด พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ได้มีความขัดแย้งใดๆ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ก็เป็นหน่วยงานตรวจสอบเหมือนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ ป.ป.ช. ได้นำเรื่องทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการ และส่งไปยังองค์กรอิสระต่างๆ แล้ว เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เขามีหน้าที่แค่นั้น เนื่องจากเป็นส่วนราชการหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการนำเรื่องราวที่มีปัญหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทุกอย่างเป็นขั้นตอน อยากให้เข้าใจ

มติ ครม. มีดังนี้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ไฟเขียว กม. 4 ฉบับ เดินหน้าประมูลปิโตรเลียม ต.ค. 60

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงและประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม ออกตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวม 4 ฉบับ เพื่อให้ทางเลือกของรัฐบาลในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยที่จะให้นำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือระบบสัญญาจ้างบริการมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม นอกเหนือจากเดิมที่เคยให้เป็นระบบสัมปทานตามกฎหมายที่ดินในปัจจุบัน

  1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอและการได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. …. มีดังนี้
  • กำหนดให้ผู้ขอสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตต้องเป็นบริษัทที่มีทุน เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญเพียงพอที่จะสำรวจ ผลิต และจำหน่ายปิโตรเลียม และต้องมีหนังสือรับรองความจริงจากสถาบันที่เชื่อถือได้
  • กำหนดให้กรณีการขอเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตโดยบริษัทที่ไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะสำรวจ ผลิต และจำหน่ายปิโตรเลียม ต้องมีบริษัทอื่นที่รัฐบาลเชื่อถือรับรองที่จะให้ทุน เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือผู้เชี่ยวชาญ เครื่องจักร จนเพียงพอ พร้อมทั้งแสดงหลักฐานแสดงความสัมพันธ์ในด้านทุนหรือการจัดการระหว่างบริษัท
  • ในการยื่นขอสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ผู้ขอต้องเสนอข้อผูกพันในด้านปริมาณเงินและปริมาณงานสำหรับโครงการสำรวจหรือผลิตโดยสังเขป โดยกำหนดให้ช่วงสำรวจมีระยะเวลาไม่เกิน 6 ปี
  1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. …. เป็นการกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560
  2. ร่างกฎกระทรวงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาในการนำส่งค่าภาคหลวงให้แก่รัฐ สำหรับผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. …. เป็นการกำหนดให้ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตต้องส่งค่าภาคหลวงให้แก่รัฐโดยหักจากผลผลิตรวมของปิโตรเลียมในอัตราร้อยละ 10 โดยให้หักจากเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายผลผลิตรวมของปิโตรเลียม และยื่นแบบแสดงรายการนำส่งค่าภาคหลวงพร้อมการนำส่งค่าภาคหลวงเป็นสกุลเงินบาทไทยเป็นรายเดือนต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

“โดยจะมีร่างกฎกระทรวง 3 ฉบับนี้เป็นตัวที่รองรับให้ประเทศไทยสามารถนำวิธีการแบ่งปันผลผลิตเข้ามาใช้ร่วมกับระบบสัมปทานได้ รวมไปถึงเรื่องของการใช้สัญญาจ้างบริการอีกวิธีหนึ่ง เนื่องจากในอดีตเราใช้วิธีการสัมปทานเป็นหลัก ซึ่งมีคำถามว่า หากไทยพบน้ำมันทำไมไทยจะต้องยกน้ำมันของไทยที่พบให้กับคนที่มาขุดเจาะ ทำไมเราไม่แบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นกลับมาสู่ประเทศไทยจึงมีการปรับปรุงเรื่องดังกล่าว หลังจากนั้นได้มีร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบสัมปทาน หรือสัญญาจ้างบริการ” นายกอบศักดิ์กล่าว

  1. ร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิตหรือสัญญาจ้างบริการ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียม โดยในพื้นที่ที่มีการสำรวจปิโตรเลียมชัดเจน และมีข้อมูลที่คาดการณ์ได้ว่ามีการสำรองน้ำมันดิบตั้งแต่ 300 ล้านบาร์เรลขึ้นไป และมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่เหลืออยู่ทั้งพื้นที่มีค่ามากกว่า 4 ล้านบาร์เรลต่อหลุม หรือกรณีก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตขึ้นไป และมีปริมาณการผลิตสะสมรวมกับปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติเหลืออยู่เฉลี่ยทั้งพื้นที่มากกว่า 40,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อหลุม ในเรื่องนี้ให้ใช้วิธีสัญญาจ้างบริการ

“เรียกว่าหลุมไหนที่เราคิดว่ามีศักยภาพสูง หลุมนั้นให้ใช้วิธีสัญญาจ้างบริการซึ่งประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะตกกับรัฐเป็นสำคัญ เพื่อให้ทรัพยากรของคนไทยตกอยู่กับคนไทย แต่ถ้าหากพบไม่มาก แต่อย่างน้อยโอกาสพบยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่ 39% ให้กระบวนการสำรวจและการผลิตในที่ดังกล่าวเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต และในส่วนสุดท้ายคือในกรณีที่มีโอกาสต่ำกว่าค่าเฉลี่ยให้ใช้สัมปทาน ขณะเดียวกันจะทำการทบทวนเรื่องนี้ทุก 3 ปี คือในกรณีที่ไปทำการสำรวจแล้วพบพื้นที่ใหม่และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ก็สามารถทบทวนพื้นที่ดังกล่าวให้เกิดกระบวนการที่เหมาะสมในการจัดสรรเรื่องนี้ได้” นายกอบศักดิ์กล่าว

นายกอบศักดิ์กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการขั้นต่อไป ในเดือนกันยายน 2560 คาดว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะสามารถผ่านประกาศและร่างกฎกระทรวงเหล่านี้ได้ และเมื่อผ่านแล้วในเดือนตุลาคม 2560 จะมีการประมูลรอบใหม่เกิดขึ้น

อนึ่ง ปัจจุบันศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมในประเทศไทย พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเคยขุดเจาะ 44 แหล่ง พบปิโตรเลียม 4 แหล่ง หรือร้อยละ 14 , ภาคเหนือและภาคกลาง ขุดเจาะ 205 ครั้ง พบปิโตรเลียม 63 ครั้งหรือร้อยละ 31, อ่าวไทย ขุดเจาะ 352 ครั้ง พบแหล่ง 176 ครั้งหรือร้อยละ 50 ส่วนภาคใต้บนบกขุด 6 ครั้ง และทะเลอันดามันขุด 19 ครั้งไม่พบแหล่งปิโตรเลียม สัดส่วนเปอร์เซ็นต์เป็นศูนย์

เห็นชอบร่างแผนพัฒนาโลจิสติกส์ไทย สู่ฮับการค้าอาเซียน

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) เพื่อยกระดับโลจิสติกส์ของประเทศให้สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางทางการค้า การบริการการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการเก็บเกี่ยวมูลค่าเพิ่มจากห่วงโซ่อุปทาน

ในขบวนการขับเคลื่อนจะมียุทธศาสตร์ทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาเพิ่มมูลค่าระบบห่วงโซ่อุปทาน เพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานให้ได้ระดับสากลและสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มและบริหารจัดการได้ทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยจะสนับสนุน SMEs ใช้ไอทีและซอฟแวร์ต่างๆ ในการเชื่อมโยงแหล่งวัตถุดิบแหล่งผลิตต่างๆ มีการเชื่อมโยง e-Commerce, e-Procurement, e-Payment ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า และระบบห่วงโซ่อุปทานเส้นทางการค้าในกลุ่ม CLMV และจีน  ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์โดยเฉพาะเร่งผลิตกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์และระบบติดตามประเมินผลเพื่อการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ของประเทศ

“ในอดีตอยู่ที่ประมาณ 14% โดยที่รัฐบาลมีความตั้งใจจะลดให้เหลือ 12% รวมไปถึงดัชนีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรม การให้บริการการนำเข้า และส่งออก ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งเป้าว่าในปี 2564 ทั้งหมดจะต้องมีการดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อปิดจุดอ่อนทั้งหมดของไทยที่มีข้อจำกัดด้านเอกสาร ด้านค่าใช้จ่าย มีปัญหาว่าเกษตรกรและผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้ความเข้าใจและทักษะที่พอเพียง มีปัญหาเรื่องขั้นตอนที่ซับซ้อน และความไม่สะดวกในการนำเข้าส่งออกสินค้า รวมไปถึงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ ขาดหลักสูตรที่จะผลิตบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคนิค” นายกอบศักดิ์กล่าว

ตั้งกองทุนปาล์มน้ำมันฯ – ยกเลิกกองทุนพนักงานกระทบแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการเสนอความเห็นขอจัดตั้งและการขอยุบยกเลิกทุนหมุนเวียนของคณะกรรมการนโยบายบริหารทุนหมุนเวียน โดยกองทุนที่ได้รับการจัดตั้งคือ การจัดตั้งกองทุนน้ำปาล์มมันและน้ำมันปาล์ม ส่วนกองทุนที่ยกเลิกคือ กองทุนสำหรับพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

การจัดตั้งกองทุนน้ำปาล์มมันและน้ำมันปาล์ม เป็นไปเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์มตลอดห่วงโซ่อุปทาน ให้เกิดเสถีรภาพและยั่งยืน โดยมีเงินประเดิมจากรัฐบาล 1,000 ล้านบาท และมีงบประมาณให้ 10 ล้านบาทต่อปีเป็นค่าใช้จ่าย และขณะเดียวกันจะมีเงินสมทบที่จัดเก็บจากผู้ประกอบการโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม

โดยจะสามารถใช้จ่ายได้ใน 4 วัตถุประสงค์หลัก คือ 1) การสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม ซึ่งมีความสำคัญมากเนื่องจากผลผลิตต่อไร่ของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น 2) การให้ทุนสงเคราะห์แก่เกษตรกรที่ต้องการปลูกทดแทนปาล์มน้ำมัน และพืชทดแทนในพื้นดินเดิม โดยจะเป็นตัวช่วยเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสมให้เปลี่ยนพันธุ์พืชได้ 3) การช่วยลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และ 4) การส่งเสริมและการสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มของเกษตรกร ในลักษณะสถาบันเกษตรสวนปาล์มน้ำมันรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

“กองทุนนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา เป็นเพียงการช่วยพัฒนา ส่วนราคาให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะเปิดเป็นระยะ” นายกอบศักดิ์กล่าว

สำหรับการยกเลิกกองทุนสำหรับพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ นายกอบศักดิ์ระบุว่า ในส่วนนี้มีมติตั้งแต่ปี 2542 ในการช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งตั้งแต่ตั้งกองทุนขึ้นมาจะพบว่าไม่มีการจ่ายเงินดำเนินการที่เกี่ยวข้องตามวัตถุประสงค์เลย และในปัจจุบันรัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ด้วยเหตุนี้จึงมีการเสนอยกเลิกกองทุนดังกล่าว เนื่องจากไม่มีความจำเป็นแล้วในปัจจุบัน

คง VAT 7% คาดเพิ่มมูลค่าส่งออกได้ 1 ปี

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยขยายระยะเวลาในการลดภาษีมูลค่าเพิ่มไปอีกเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2561 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอมา เนื่องจากได้ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากรัฐบาลจะปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามระดับที่กำหนดไว้ในกฎหมาย จะทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนการบริโภคอาจชะลอตัวลงได้

“จะมีผลดีเกิดขึ้นคือ การป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับค่าครองชีพของประชาชน การสร้างความชัดเจนของอัตราภาษีที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับการประกอบธุรกิจแก่ภาคเอกชน และการวางแผนการบริหารธุรกิจ ขณะเดียวกัน รายได้ภาครัฐก็ไม่ได้กระทบต่อการประมาณการในงบประมาณปี 2561 ที่ได้ประมาณการไว้ เนื่องจากได้ตั้งสมมติฐานไว้แล้วว่าจะมีการต่ออายุของการลดภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปอย่างน้อย 1 ปี ซึ่งจะมีเม็ดเงินหายไปประมาณ 2.36 แสนล้านบาท” นายกอบศักดิ์กล่าว

ตั้งศูนย์บีโอไอภาค 7 รับเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สามารถตั้งศูนย์เศรษฐกิจการลงทุน ภาคที่ 7 โดยที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด การพัฒนาธุรกิจในท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ผ่านการส่งเสริมการลงทุนใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร และอุทัยธานี ซึ่งในอดีตอยู่กับศูนย์ส่งเสริมเศรษฐกิจการลงทุน ภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่

“เนื่องจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ได้มีการกำหนดแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานราชการส่วนกลางในระดับภูมิภาคไว้ว่า ไม่ให้มีหน่วยงานของกรมที่เป็นราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนกลางอยู่ในภูมิภาคต่อไป ยกเว้นมีความจำเป็น ขณะเดียวกัน รัฐบาลเน้นการขยายการลงทุนในภูมิภาคและเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ซึ่งเป็นหน้าด่านสำคัญในการทำธุรกิจกับเมียนมา ที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและมีประชากรเกือบ 60 ล้านคน การจะส่งสินค้าไปย่างกุ้งได้นั้นต้องผ่านแม่สอดและพิษณุโลก จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการกระจายสินค้าของอินโดจีนในช่วงต่อไป ทำให้ปริมาณงานของศูนย์ที่ 7 จะมีจำนวนมากพอที่จะจัดตั้งเป็นส่วนราชการใหม่ได้” นายกอบศักดิ์กล่าว

เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน – จ่ายค่าจ้างช้าเสียดอกเบี้ย 15%

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เนื่องจากกฎหมายฉบับเดิมใช้มาตั้งแต่ปี 2541 นั้นไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญ เช่น

  • กำหนดให้นายจ้างที่ผิดนัดการจ่ายเงิน เมื่อจะจ่ายจะต้องเสียดอกเบี้ยให้ลูกจ้าง 15% ต่อปี
  • เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนายจ้างต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วย และนายจ้างใหม่ที่เข้าไปสวมกิจการเดิมจะต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่
  • กำหนดให้ลูกจ้างชายและหญิง หากทำงานในประเภทเดียวกันมีความหนักหน่วงของงาน คุณภาพ ปริมาณงานที่เท่ากัน จะต้องได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน
  • กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลากิจธุระจำเป็น โดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 3 วันทำงานต่อ 1 ปี
  • กำหนดให้ลูกจ้างสามารถลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรได้ โดยได้รับค่าจ้าง โดยสรุปสามารถลาได้รวม 90 วัน แต่ได้รับค่าจ้าง 45 วัน
  • กำหนดอัตราค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้างเลิกจ้าง ซึ่งแต่เดิมกำหนดว่าหากทำงานครบ 10 ปีให้รับค่าชดเชย 300 วัน แต่กฎหมายปัจจุบันกำหนดว่า หากทำงานครบ 20 ปีขึ้นไปให้ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายจำนวน 400 วัน

เพิ่ม 243 ลบ. งบเวนคืนที่ดินฯ รถไฟทางคู่ “ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย”

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบเรื่องการอนุมัติกรอบวงเงินเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ในการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ซึ่งเป็นโครงการที่ ครม. ได้อนุมัติไว้ตั้งแต่ปี 2555 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 13,348 ล้านบาท ในส่วนของค่าเวนคืนที่ดินและค่ารื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง 128 ล้านบาทเป็นการนำราคาประเมินที่ดินเมื่อปี 2551-2554 มาใช้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายว่า การจัดสร้างสาธารณะต่างๆ อย่าให้ประชาชนเดือดร้อน หมายถึงค่าเวนคืนที่ดินจะต้องเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงได้นำเอาราคาประเมินที่ดินปี 2559-2562 มาใช้ ฉะนั้น ทำให้ราคาเวนคืนที่ดินสูงขึ้นเป็น 371 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 243 ล้านบาท

“ซึ่งวงเงินงบประมาณนั้นหมดนอกจากค่าเวนคืนฯ แล้วยังมีค่าก่อสร้าง 1,805 ล้านบาท และการจ้างที่ปรึกษาเพื่อควบคุมงาน และประกวดราคา 414 ล้านบาท โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นนั้นจะนำเงินที่เหลือจากค่าก่อสร้าง และค่าจ้างที่ปรึกษาฯ มาใช้” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

เคาะรายชื่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 120 คน

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ทั้ง 11 คณะ ซึ่งแต่ละคณะจะมีกฎหมายแต่ละส่วนควบคุม มีจำนวนกรรมการไม่เกิน 15 คนต่อคณะ รวมมีกรรมการทั้งสิ้น 165 คน วันนี้ ครม. เห็นชอบไปแล้ว 120 คน ค้างอีก 45 คน โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นในเดือนเมษายน 2561 รวมใช้ระยะเวลาประมาณ 8 เดือน

โดยมีสัดส่วนเป็นผู้หญิงรวม 20 คน มีช่วงอายุตั้งแต่น้อยกว่า 40 ปี ไม่เกิน 75 ปี มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจำนวน 30 คน และยึดแนวทางตามที่ ครม. ได้เคยกำหนดไว้ คือ ให้มีข้าราชการประจำน้อยที่สุด หากมีก็จะเป็นข้าราชการประจำที่ใกล้เกษียณอายุในปลายเดือนกันยายน 2560 นี้เพื่อให้มีเวลาทำงานมากขึ้น

“ได้กำหนดรายละเอียดการทำงานของทั้ง 11 คณะ นั้น จะต้องกำหนดกลไก ขั้นตอน วิธีการ ผลลัพธ์ที่ต้องการได้จากการปฏิรูปแต่ละเรื่อง รวมถึงตัวชี้วัด และผลสัมฤทธิ์ภายใน 5 ปี กฎหมายที่จะต้องบัญญัติออกมาเพื่อให้กลไกต่างๆ เดินไปได้มีอะไรบ้าง หน่วยงานอะไรเป็นหน่วยปฏิบัติ และต้องใช้วงเงินงบประมาณจำนวนเท่าไร หลังจากนั้นคณะกรรมการทั้ง 11 คณะจะต้องติดตามการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นศาล กระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานอิสระต่างๆ แล้วจะต้องทำรายงานเสนอ ครม. นำเสนอให้ประชาชน และให้สภารับทราบด้วยว่าได้ติดตามการทำงานของแต่ละส่วนแต่ละฝ่ายว่าเป็นอย่างไรบ้าง โดยมีอายุทำงาน 5 ปี” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ จะมีคณะกรรมการย่อยอีก 6-7 คณะ หมายความว่าจะต้องมีการแต่งตั้งอีกประมาณ 90-100 คน โดยคาดว่ารายชื่อของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะสามารถนำเสนอ ครม. ได้ปลายเดือนสิงหาคม 2560

ดูรายละเอียดการแต่งตั้งอื่นๆ ได้ที่ รายชื่อแต่งตั้งข้าราชการ ตามมติ ครม. 15 ส.ค. 2560