ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯชี้ฟ้องกลับ “มทภ.4-กอ.รมน.” เป็นสิทธิฝ่ายค้าน – มติ ครม. ส่งร่างงบฯปี 63 ให้สภา พร้อมตั้งกมธ.กลั่นกรอง

นายกฯชี้ฟ้องกลับ “มทภ.4-กอ.รมน.” เป็นสิทธิฝ่ายค้าน – มติ ครม. ส่งร่างงบฯปี 63 ให้สภา พร้อมตั้งกมธ.กลั่นกรอง

7 ตุลาคม 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

นายกฯชี้ฟ้องกลับ “มทภ.4-กอ.รมน.” เป็นสิทธิฝ่ายค้าน – มติ ครม. ส่งร่างงบฯปี 63 ให้สภา พร้อมตั้งกมธ.กลั่นกรอง

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน โดยในวันนี้มีคำถามจากสื่อมวลชนถึงนายกรัฐมนตรีกว่า 10 คำถาม แต่เนื่องจาก พล.อ. ประยุทธ์ แจ้งแก่สื่อมวลชนว่า วันนี้ตนมีภารกิจต้องไปเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และร่วมเป็นเกียรติในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประจำปี พ.ศ. 2562 รวมทั้งร่วมงานพระราชทานเลี้ยงน้ำชาเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับรางวัลฯ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง การแถลงจึงเป็นไปอย่างรวบรัด โดยใช้เวลาเพียง 2 นาที 14 วินาที เท่านั้น

ชี้ฟ้องกลับ “มทภ.4-กอ.รมน.” เป็นสิทธิฝ่ายค้าน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีที่แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้านแจ้งความกลับ พล.ท. พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.ต. บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการ สำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า) ซึ่งอาจรวมถึง พล.อ. ประยุทธ์ ในฐานะผู้บังคับบัญชา ว่า ตรงนี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่จะดำเนินการไป ใครจะฟ้องร้องอะไรก็ว่าไปตามหลักฐาน ทุกคนมีสิทธิที่จะฟ้องร้อง ขณะเดียวกันหน่วยงานก็มีหน้าที่ของเขาเหมือนกัน ฉะนั้น ตนไม่ไปก้าวล่วงใครทั้งสิ้น ซึ่งตนไม่อยากให้ขยายความขัดแย้งนี้ต่อไป

ย้ำกระบวนการศาลไม่มีใครแทรกแซงได้

พล.อ. ประยุทธ์ ได้กล่าวต่อไปถึงกรณีปมของนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ว่า การตัดสินคดีก็เป็นเรื่องของศาล กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเลขาธิการศาลยุติธรรมก็ได้ชี้แจงแล้วว่าไม่มีใครสามารถจะไปแทรกแซงกระบวนการของศาลได้

“อันนี้เป็นเรื่องของศาล กระบวนการยุติธรรม ส่วนกรณีที่มีการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียก็เป็นเรื่องของโซเชียล ซึ่งวันนี้มีเยอะแยะอยู่แล้ว วิพากษ์วิจารณ์กันไปมาอยู่แล้ว แต่ตนยึดถือตามกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดทุกประการ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

สั่ง ยธ.สอบปมอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีวิคตอเรีย ซีเครท

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้ากรณีที่เครือข่ายต่อต้านการค้ามนุษย์ 13 องค์กร ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เพื่อขอให้ตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของอัยการและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่กลับมติสั่งไม่ฟ้องและถอนหมายจับผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีอาบอบนวดวิคตอเรียซีเครท ว่า ตนได้รับข้อมูลนี้มาแล้วและได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ดำเนินการเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นและส่งเรื่องต่างๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา

ส่งสภาฯพิจารณางบฯปี 63 ชี้ปรับเพิ่ม–ลดอยู่ที่กมธ.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2563 ว่า การประชุม ครม.วันนี้ เรื่องร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ ได้ผ่าน ครม.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามเวลาจะส่งวันนี้ เพื่อให้มีเวลาในการพิจารณาตามที่ฝ่ายรัฐสภาได้กำหนดไว้ทันเวลา

“ในเรื่องของงบประมาณก็ไม่อยากให้ทุกคนไปมองว่า ยอดงบประมาณที่เอามาแถลง เอามาชี้แจงตามสื่อ ตามโซเชียลต่างๆ มันเป็นขั้นต้นที่จะจัดทำงบประมาณขึ้นไปในปี 63 ของรัฐบาล เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่พิจารณาทั้ง 2 วาระ ทั้งวาระที่ 1 และวาระที่ 2 อีก มันจะได้มากได้น้อย ลดขึ้น เพิ่มลง อะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นการพิจารณาของ กมธ.ทั้งสิ้น ก็ขอเรียนชี้แจงให้ทราบ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

มติ ครม.มีดังนี้

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขาว) ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ตั้ง กมธ.วิสามัญ 63 คน พิจารณางบฯปี 63

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติเห็นชอบพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2563 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ซึ่งไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดจากการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 ในกรอบวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาทและเป็นการขาดดุลงบประมาณ 4.69 แสนล้านบาท พร้อมทั้งมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว จำนวน 63 คน

โดยแบ่งเป็นสัดส่วนของ ครม. 15 คน เบื้องต้นประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง 3 คน ขณะที่ที่เหลืออีก 12 คนจะรอแต่งตั้งต่อไปซึ่งต้องเป็นคนที่มีเวลาเพียงพอที่จะทำงานและเข้าร่วมลงมติต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการพิจารณา, สัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล 24 คน และฝ่ายค้านอีก 24 คน

ผนึกกำลังต้านยาเสพติด สิงคโปร์มอบเรือลาดตระเวน 3 ลำ

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.รับทราบหน่วยงานกลางด้านยาเสพติดของสิงคโปร์มอบเรือลาดตระเวนจำนวน 3 ลำ ได้แก่ เรือ 2nd Gen PT Boat จำนวน 1 ลำ ให้แก่เมียนมา และเรือ SU Boat จำนวน 2 ลำ ให้แก่ สปป.ลาว และไทย เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแผนความร่วมมืออาเซียนเพื่อต่อสู้กับการลักลอบผลิตและค้ายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ทั้งนี้ สนง. ป.ป.ส. ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ให้เป็นผู้แทนรับมอบเรือจากสิงคโปร์และลงนามในการโอนกรรมสิทธิ์ของเรือทั้ง 3 ลำ ในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มจัดทำแผนความร่วมมืออาเซียนฯ จากนั้นจึงจะส่งมอบเรือให้กับเมียนมาและ สปป.ลาวต่อไป

นอกจากนี้ สิงคโปร์ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวนประมาณ 25 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและปรับปรุงเรือทั้ง 3 ลำ ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน เนื่องจากเป็นเรือที่ปลดระวางประจำการมาแล้ว โดยทำการส่งมอบเรือภายในวันที่ 15 ตุลาคม 256

รับทราบผลประชุมรมต.พลังงานอาเซียน ครั้งที่ 37

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 37 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (37th ASEAN Ministers on Energy Meeting (37th AMEM) and its Associated Meetings) ระหว่างวันที่ 2- 6 กันยายน 2562 ณ กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิดหลักของการประชุม คือ “Advancing Energy Transition through Partnership and Innovation” ซึ่งมีผลการประชุมที่สำคัญดังนี้

  • การประชุม 37th AMEM
    (1) ไทย สปป.ลาว และมาเลเซีย ยืนยันการเพิ่มปริมาณการซื้อขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ผ่านไทยไปยังมาเลเซียที่ปริมาณสูงสุด 300 เมกะวัตต์ (ตั้งแต่เดือนมกราคม 63 – ธันวาคม 64)
    (2) อาเซียนตั้งเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้เท่ากับร้อยละ 23 ในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านพลังงานอาเซียน
    (3) อาเซียนสามารถลดความเข้มข้นการใช้พลังงานได้ร้อยละ 24.4 (เป้าหมายคือร้อยละ 20 ในปี 63 และร้อยละ 30 ในปี 73) พร้อมขยายตลาดอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศแบบประหยัดพลังงานให้มีราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
    (4) อาเซียนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยมีการเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซในอาเซียนกว่า 3,673 กิโลเมตรใน 6 ประเทศ 13 จุดเชื่อมโยงผ่านแดน 8 สถานีเปลี่ยนสภาพก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสามารถรองรับก๊าซธรรมชาติกว่า 36.5 ล้านตันต่อปี
    (5) รับทราบแนวทางการสนับสนุนเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดและการผลักดันการจัดตั้งศูนย์องค์ความรู้ด้านถ่านหินอาเซียน (ASEAN Coal Centre of Excellence) เพื่อรองรับการเติบโตของโรงไฟฟ้าถ่านหินภายในปี 83
  • การประชุม รมต. อาเซียน+3 ด้านพลังงาน ครั้งที่ 16 เห็นพ้องสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานถ่านหิน น้ำมัน และนิวเคลียร์เพื่อประชาชน
  • การประชุม รมต.เอเชียตะวันออก ด้านพลังงาน ครั้งที่ 12 ติดตามความคืบหน้าในด้านประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงาน ด้านการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภาคขนส่ง พลังงานหมุนเวียน และพลังงานทางเลือก

นอกจากนี้ ไทยได้หารือทวิภาคีร่วมกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (Internation Energy Agency: IEA) สปป.ลาว สิงคโปร์ เมียนมา ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย อเมริกา และกัมพูชา ซึ่งมีผลการหารือที่สำคัญ เช่น

  1. โครงการจัดทำข้อเสนอแนะร่วมกับ IEA ด้านการส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในอาเซียน
  2. สปป.ลาว ขอให้ไทยเร่งพิจารณา Tariff MoU ของโครงการน้ำงึม 3 ภายในปี 2562 ในการเชื่อมโยงและซื้อขายไฟฟ้าระหว่างจีน ลาว และไทย และเสนอโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ซึ่งเป็นโครงการต่อไปในการขายไฟฟ้าให้กับไทย
  3. มาเลเซีย เห็นพ้องกับไทยในการเร่งหาแนวทางการจัดการกรณีระบบสายส่งกระแสตรงแรงดันสูงเชื่อมต่อระหว่างไทยและมาเลเซียกำลังจะหมดอายุการใช้งาน
  4. ญี่ปุ่น ขอให้ไทยสนับสนุนแนวคิดริเริ่มพลังงานสะอาดเพื่ออนาคตของอาเซียน (Clean Energy Future Initiative for ASEAN: CEFIA)

เห็นชอบร่าง MOU “แม่โขง-ล้านช้าง” และ “ไทย-อินเดีย”

ผศ.มดร.รัชดา กล่าวว่าครม.เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะทำงานสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 ตามที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เสนอ และอนุมัติให้อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นผู้ลงนามในร่างเอกสารดังกล่าว ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 ตุลาคม ณ สปป.ลาว

การลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาค คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย (CLMVT) ร่วมกันกับจีน ในการดำเนินงานตามแผนพัฒนาระยะ 5 ปีสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ

  • มุ่งเน้นการเชื่อมโยงและพัฒนาเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมและความยั่งยืนร่วมกัน
  • ยกระดับการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัล
  • ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และอุตสาหกรรม โดยเน้นการพัฒนาสาขาที่มีความสำคัญ เช่น เกษตรและเกษตรแปรรูป (การค้า การป้องกันและควบคุมโรคข้ามพรมแดน) พลังงานไฟฟ้า ถ่านหิน และเทคโลยีที่สะอาด (แผนพัฒนาพลังงานชนิดต่างๆ) การท่องเที่ยว (การอำนวยความสะดวก ความเชื่อมโยงวัฒนธรรม) อุตสาหกรรมการผลิต (เน้นยานยนต์ สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี การแพทย์และเวชภัณฑ์ชีวภาพ) และด้านอื่นๆ โลจิสติกส์ข้ามพรมแดน การขับเคลื่อนเศรษฐกิจข้ามพรมแดน การยกระดับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความรู้

ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศที่คนไทยควรให้ความสนใจให้มาก เพราะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ อีกทั้งเป็นโอกาสสำคัญของไทยที่จะได้เน้นย้ำบทบาทนำในการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจของ CLMV

นอกจากนี้ ครม.เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อความร่วมมือทวิภาคี ไทย-อินเดีย ครั้งที่ 8 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 ตุลาคม 2562 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย และมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แผนไทยเป็นผู้ลงนาม ซึ่งร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ มีประเด็นสำคัญดังนี้

  1. ด้านการเมือง มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีอินเดียจะเยือนไทยอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2562 หรือครึ่งแรกของปี 2563
  2. ด้านการทหารและความมั่นคง เห็นพ้องให้ใช้ MOU ว่าด้วยความร่วมมือทางทหาร และการประชุมหารือด้านการทหารไทย-อินเดีย โดยเน้นย้ำถึงความพร้อมในการทำงานร่วมกัน เช่น ความมั่นคงทางทะเล การลักลอบขนยาเสพติด การค้าอาวุธ การละเมิดลิขสิทธิ์
  3. ด้านเศรษฐกิจและการค้า ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีการรื้อฟื้นการประชุม คกก.ร่วมทางการค้า ไทย-อินเดีย ซึ่งไทยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจของอินเดียเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
  4. ด้านความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับอินเดีย เดินหน้าโครงการถนนสามฝ่าย อินเดีย-เมียนมา-ไทย และความตกลงยานยนต์สามฝ่ายให้แล้วเสร็จ และเชื่อมโยงทางการค้าทางทะเลระหว่างกัน ตามแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงของความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC)
  5. ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะส่งเสริมโครงการวิจัยร่วม การประชุมเชิงปฏิบัติการในสาขาที่สนใจ เช่น วิทยาศาสตร์การเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีอวกาศ
  6. ด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการศึกษา ไทยแสดงความขอบคุณอินเดียในการขยายทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี ในมหาวิทยาลัยนาลันทา ปีการศึกษา 2563-2564 และทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก 100 ทุน ที่ Indian Institutes of Technology (IITs) สำหรับนักศึกษาไทยภายใต้ ASEAN-India Fellowship Programme
  7. ด้านกงสุล จัดให้มีการคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจด้านการตรวจลงตราและการกงสุล ไทย-อินเดีย อย่างสม่ำเสมอ
  8. ด้านภูมิภาคและพหุภาคี อินเดียแสดงความชื่นชมต่อบทบาทของไทยในฐานะประธานอาเซียน และสนใจสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน 2025 ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) และความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาระหว่างอินเดียกับความร่วมมือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)

ยกเว้นเงื่อนไขบรรจุครูโรงเรียนเล็กมีนักเรียนไม่ถึง 250 คน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.เห็นชอบตามที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เสนอขอยกเว้นเงื่อนไขการจัดอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 และ 2560 เนื่องจากเงื่อนไขฯ กำหนดไว้ว่าจะจัดสรรอัตราครูให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 250 คน เฉพาะกรณีที่อยู่ในพื้นที่พิเศษ เสี่ยงภัย ทุรกันดาร ชนกลุ่มน้อย เกาะ ภูเขา และพื้นที่ชายแดน สำหรับโรงเรียนเล็กที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ตามเงื่อนไขฯ มีบางส่วนเป็นโรงเรียนในกลุ่มเป้าหมายควบรวม คือเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงในตำบลเดียวกันน้อยกว่า 6 กิโลเมตร ควบรวมให้มีจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่า 250 คน เพื่อยกระดับการศึกษาให้สูงขึ้นของสำนักการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อย่างไรก็ตาม การดำเนินการที่ผ่านมายังมีข้อจำกัด เช่น ให้นักเรียนที่ศึกษาอยู่เรียนจบการศึกษาก่อนโดยไม่รับนักเรียนเพิ่ม ทำให้ในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ โรงเรียนเล็กหลายแห่งมีปัญหาการขาดแคลนครู และจำเป็นต้องยกเว้นเงื่อนไขฯ ในช่วงเวลาดังกล่าวไปก่อน

การยกเว้นเงื่อนไขฯ ทำให้โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน 121-249 คน ได้รับการจัดสรรข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปีงบประมาณ 2559 จำนวน 301 โรงเรียน รวม 362 อัตรา และปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1,578 โรงเรียน รวม 1,921 อัตรา และโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 120 คนลงมา ได้รับการจัดสรรกรอบอัตรากำลังข้าราชการครู สำหรับปีงบประมาณ 2559 จำนวน 57 โรงเรียน 62 อัตรา และปีงบประมาณ 2560 จำนวน 443 โรงเรียน 463 อัตรา

มากไปกว่านั้น ครม.ยังเห็นชอบให้ สพฐ.พิจารณาดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีระยะทางห่างจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ในตำบลเดียวกันน้อยกว่า 6 กิโลเมตรให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับการศึกษาให้สูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน และลดภาระงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคคลและการบริหารจัดการลง

“นอกจากนี้ จากเดิม คปร.เสนอว่าให้โรงเรียนเหล่านี้รับบรรจุครูในตำแหน่งพนักงานราชการครูแทนการบรรจุราชการ แต่ ครม.เห็นว่าจะกระทบต่อขวัญและกำลังใจของครูในพื้นที่และเห็นชอบให้บรรจุครูทั้งหมดเป็นราชการครูตั้งแต่แรก เพื่อรักษาขวัญและกำลังใจในการทำงานของครูในโรงเรียนขนาดเล็กเอาไว้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน”

“คงต้องใช้เวลาอีกสักพักที่การควบรวมโรงเรียนที่มีขนาดต่ำกว่า 250 คน จะเกิดอย่างเป็นรูปธรรม ฉะนั้นเบื้องต้นทาง ครม.จึงมีความเห็นว่า อย่างไรเสีย ณ ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้การให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณและครู รวมถึงขวัญกำลังใจของครู จะต้องเดินหน้าให้เต็มที่ต่อไป ส่วนแผนการควบรวมก็ต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรม จึงได้มอบให้ สพฐ.ไปดำเนินการ” ผศ. ดร.รัชดา กล่าว

รับทราบผลประชุม ครม.เศรษฐกิจ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม.รับทราบผลการประชุม ครม.เศรษฐกิจเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 ประกอบด้วยการเห็นชอบให้เสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในอีก 2 สัปดาห์ โดยโครงการนี้ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ตั้งแต่รัฐบาลก่อน โดยในวันนี้ได้มีการหารือกันถึงการก่อหนี้ผูกพันในโครงการให้ได้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินและการคลัง ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณชี้แจงว่าสามารถบรรจุไว้ในโครงการลงทุนปี 2563 ได้ นายกรัฐมนตรีจึงให้เร่งรัดนำโครงการนี้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.โดยเร็ว เพื่อให้โครงการก่อสร้างและเปิดบริการได้ภายในปี 2569 ตามกำหนด

นอกจากนั้นที่ประชุมยังมีการรับทราบความคืบหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์ด้านคมนาคมที่สำคัญซึ่งอยู่ในการดูแลของรัฐบาล จำนวน 44 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 1,947,310 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการที่ ครม.อนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้าง 17 โครงการ วงเงินรวม 7.82 แสนล้านบาท โดยในส่วนที่ต้องมีการเร่งรัดคือโครงการมอเตอร์เวย์ กทม.-บางใหญ่-กาญจนบุรี ซึ่งมีความคืบหน้าในการก่อสร้างเพียง 22% เนื่องจากอยู่ในระหว่างจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการเวนคืนที่ดิน ส่วนโครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ จะได้มีการหารือข้อกฎหมายกับคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป

สำหรับโครงการที่เตรียมที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในรัฐบาลนี้ มีทั้งสิ้น 13 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 5.51 แสนล้านบาท เช่น โครงการลงทุนซื้อฝูงบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 สายทางรวม 1483 กิโลเมตร มอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ระยะที่ 1 และโครงการ MRO อู่ตะเภา เป็นต้น

ก.พ.แจกทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. เพิ่มถึง ป.โท

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบแนวทางและรายละเอียดในการจัดสรรทุนรัฐบาล ที่สํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

โดยทุนดังกล่าวจะมอบให้แก่เยาวชนที่เรียนดี ประพฤติดี มีคุณธรรม ฐานะยากจน ยากลำบาก แต่ประพฤติดี มีความสามารถในการศึกษา ที่ได้รับทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ดำเนินการขึ้นเมื่อปี 2552 โดยสำนักงาน ก.พ.ได้ขยายโอกาสทางการศึกษาจนถึงระดับปริญญาโท จากเดิมที่ทุนดังกล่าวให้การสนับสนุนการศึกษาต่อเนื่องในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี

“ทุนนี้มีทั้งหมด 100 ทุน จะเริ่มดำเนินการในปี 2563 ซึ่งผู้ที่ได้รับทุนจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการเลย ในอัตราปริญญาตรีโดยไม่ต้องเข้าสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการ เมื่อทำงานได้ 2-3 ปีจึงจะไปเรียนต่อปริญญาโท โดยจะทำให้ทั้งหมดมีงบประมาณรายจ่ายด้านบุคคลากรเพิ่มขึ้น 24.9 ล้านบาทต่อปี” นางสาวไตรศุลีกล่าว

อนุมัติร่างพ.ร.บ.ยกเลิก ส.ว. ถอดถอน ขรก.ตุลาการ

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการศาลยุติธรรม แก้ไขเพิ่มเติมการพ้นตำแหน่งของข้าราชการตุลาการ โดยยกเลิกการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการตุลาการ จากการถอนถอนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เหลือเพียงการพ้นจากตำแหน่ง เสียชีวิต เกษียณอายุราชการ และพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ และแก้ไขขั้นตอนการดำเนินการกรณีการพ้นตำแหน่งจากราชการเพราะถูกลงโทษ จากเดิมที่ต้องกราบบังคมทูลเพื่อให้มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง เปลี่ยนเป็นให้นำกราบบังคมทูลเพื่อให้พระองค์ทรงทราบ

เห็นชอบ “ซูเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี 8” ชนะประมูลโรงไฟฟ้าขยะนนทบุรี

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการให้เอกชนลงทุนก่อสร้างและบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นนทบุรี โครงการนี้มีมูลค่าโครงการ 4,142 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 22 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี และระยะเวลาเดินระบบ 20 ปี

สืบเนื่องจากมติ ครม.เดิมเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 เพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย โดยให้จังหวัดนนทบุรีเป็นจังหวัดนำร่อง ซึ่งปัจจุบันได้มีการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน โดยผลการคัดเลือก บริษัท ซูเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี 8 จำกัด จากผู้เข้ายื่นเสนอจำนวน 4 ราย

โดย อบจ.นนทบุรีจะเป็นผู้จัดหาที่ดินในการก่อสร้างระบบกำจัดขยะมูลฝอยและผลิตไฟฟ้าให้แก่เอกชนจำนวน 57 ไร่ และส่งมอบขยะมูลฝอยให้แก่เอกชนไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ส่วนเอกชนจะเป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงและทบทวนข้อมูลสิ่งแวดล้อมในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ทันสมัยเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจัดหาเงินลงทุนและลงทุนก่อสร้างและดำเนินการบริหารจัดการระบบกำจัดขยะมูลฝอยและผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ในส่วนของค่าตอบแทนของแต่ละฝ่ายมีดังนี้ ฝ่าย อบจ.นนทบุรีจะชำระค่าบริการกำจัดขยะมูลฝอยแก่บริษัท ซูเปอร์ เอิร์ธฯ ในอัตราตันละ 300 บาทต่อเดือน ส่วนบริษัท ซูเปอร์ เอิร์ธฯ จะชำระค่าตอบแทนเป็นค่าจำหน่ายกระแสไฟฟ้าและรายได้จากการดำเนินการอื่นที่ได้จากระบบกำจัดขยะมูลฝอยตามสัญญาเป็นรายปี เป็นเงินจำนวน 30 ล้านบาท แก่ อบจ.นนทบุรี ตลอดอายุของสัญญา

แจ้ง ปชช.โอนเงินช่วยน้ำท่วม 5,000 บาท ผ่านพร้อมเพย์เท่านั้น

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบสรุปขั้นตอนการจ่ายเงินให้กับประชาชนผู้ประสบอุทกภัยจากพายุคาจิกิ-โพดุล ครัวเรือนละ 5,000 บาท โดยเริ่มจากการที่ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะดำเนินการสำรวจรายชื่อผู้ประสบภัยทั้งหมด พร้อมชี้แจงให้ประชาชนไปขึ้นทะเบียนพร้อมเพย์

หลังจากการรวบรวมรายชื่อจะส่งให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจ และจัดทำประชาคมร่วมกันของหมู่บ้าน เพื่อรับทราบและยืนยันความถูกต้องของรายชื่อ จากนั้นจะส่งไปให้อำเภอและจังหวัดตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง แล้วจึงส่งต่อให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก่อนส่งให้ธนาคารออมสินเพื่อที่จะจ่ายเงินเข้าสู่ระบบให้กับผู้ประสบภัย

“ครอบครัวผู้ประสบภัยที่จะได้รับเงิน 5,000 บาทต่อครัวเรือนนั้นจะต้องทำการลงทะเบียนพร้อมเพย์ เนื่องจากรัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือผ่านระบบพร้อมเพย์เท่านั้น จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนผู้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือดำเนินการลงทะเบียนพร้อมเพย์ให้เรียบร้อย และทุกอย่างจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่ ครม.อนุมัติ ซึ่งนายกฯ มีแผนที่จะลงพื้นที่เยี่ยมประชาชนหลังน้ำลดอีกครั้งหนึ่งด้วย” นางสาวไตรศุลีกล่าว

ไฟเขียวร่าง พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่ง ส.ส.-ส.ว.

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และกรรมาธิการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอ โดยมีสาระสำคัญ เช่น

  • กำหนดให้ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือนนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง (เดิมกำหนดให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มนับแต่วันเข้ารับหน้าที่) ทั้งนี้ เมื่อได้รับเงินดังกล่าวแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาแล้วแต่กรณีอีก
  • กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือน ดังนี้ ส.ส. (เลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป) ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่ม นับแต่วันเลือกตั้ง, ส.ส.ผู้เข้ามาแทน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ตาม ม.105 (1) ของ รธน. ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มนับแต่วันเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง และ ส.ส.ผู้เข้ามาแทน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตาม ม.105 (2) ของ รธน. ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มนับแต่วันถัดจากวันประกาศชื่อในราชกิจจานุเบกษา
  • กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาในวาระเริ่มแรกและสมาชิกวุฒิสภาในบัญชีสำรองที่เลื่อนขึ้นมาแทนสมาชิกวุฒิสภาที่ว่างตามมาตรา 269 ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือนนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
  • กำหนดให้เมื่อพระราชกฤษฎีกานี้มีผลใช้บังคับให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มย้อนหลังไปนับวันที่มีสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเริ่มต้น

ตั้ง “ปฐม” นั่งอธิบดีกรมทางหลวงชนบท

นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหลายตำแหน่ง อาทิ

  • การกระทรวงพลังงานเสนอแต่งตั้ง นายคุรุจิต นาครทรรพ ให้ดำรงตำแหน่งประธานร่วมฝ่ายไทยในองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ต่ออีกวาระหนึ่ง โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป
  • กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้ง นายปฐม เฉลยวาเรศ รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท ไปดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ทดแทนตำแหน่งเกษียณอายุราชการ และแต่งตั้ง นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2562เพิ่มเติม