ThaiPublica > เกาะกระแส > ปัดตัดสิทธิ์ บ.เข้าประมูลข้าว – ไม่ห้ามมวลชนให้กำลังใจ “ยิ่งลักษณ์” – มติ ครม. ออกเกณฑ์ตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ปี’61 คาดถ่ายเลือดครบ

ปัดตัดสิทธิ์ บ.เข้าประมูลข้าว – ไม่ห้ามมวลชนให้กำลังใจ “ยิ่งลักษณ์” – มติ ครม. ออกเกณฑ์ตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ปี’61 คาดถ่ายเลือดครบ

18 กรกฎาคม 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

ปัดตัดสิทธิ์ บ.เข้าประมูลข้าว – ไม่ห้ามมวลชนให้กำลังใจ “ยิ่งลักษณ์”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีมีฝ่ายการเมืองออกมาเปิดเผยถึงความไม่ชอบมาพากลในการระบายข้าว โดยอ้างชื่อนายกรัฐมนตรี และพล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปตัดสิทธิ์บางบริษัทที่เข้าประมูล ว่า ต้องไปดูว่าข่าวที่ออกมาจำนวนมากในช่วงนี้เป็นไปเพื่ออะไรหรือไม่ เพราะคดีความกำลังจะมีไต่สวนพยานปากสุดท้ายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2560

“ผมจำได้ว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการระบายข้าว มีการสอบถามว่าถ้ามีผู้เข้าร่วมประมูลที่ถูกขึ้นบัญชีดำเอาไว้จะให้เข้าร่วมประมูลหรือไม่ มติ นบข. ก็บอกว่าไม่ควรให้ประมูล อันนี้คือสิ่งที่เขาอ้างว่ามาจากผม เมื่อเกิดการประมูลแล้วเขาตรวจสอบพบ มันก็ไม่ได้ ถ้ามีบุคคลที่มีคดีความในช่วงที่ผ่านมา แม้กระทั่งผ่านไป 5-10 ปี ก็ถือว่าอยู่ในบัญชีดำ เขาก็ตัดสิทธิ์ออกไป แต่มาหาว่าผมหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯไปตัดสิทธิ์ หรือมีเงินทอน พูดแบบนี้มันต้องพิจารณากันอีกที ผมไม่เคยทำอะไรเรื่องส่วนตัวอยู่แล้ว มันต้องทำในรูปแบบคณะกรรมการ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ต่อคำถามกรณีที่พรรคเพื่อไทยอ้างข้อมูลการขายข้าวที่ไม่โปร่งใส พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่า ให้ผลการไต่สวนนัดสุดท้ายจบเสียก่อน ตอนนี้อย่าเพิ่งให้วุ่นวาย ที่ผ่านมากระทำตามขั้นตอนทุกอย่าง ทั้งด้านวิชาการ ทั้งดีเอ็นเอ รวมทั้งการตรวจสอบจากคลังด้วย ขอให้เห็นใจคนที่ทำงานบ้าง พร้อมแนะให้เปรียบเทียบการตรวจคลังสมัยก่อนกับสมัยนี้เขาทำกันอย่างไร

ต่อกรณีจะมีการระดมมวลชนมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันขึ้นศาลฟังคำไต่สวนนัดสุดท้ายคดีจำนำข้าว พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ประเทศไทยก็เป็นแบบนี้ ไม่อยากไปห้ามปรามอะไร แต่ขอร้องว่าอย่าทำผิดกฎหมาย อย่าละเมิดศาลและกระบวนการยุติธรรม ไม่เช่นนั้นก็ถูกดำเนินคดี หากมีการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้น บานปลาย รับผิดชอบกันด้วย จะไม่ละเว้น เพราะถือว่าละเมิดกฎหมาย เรื่องการตัดสินเป็นเรื่องของศาล

ยันยังไม่มีกำหนดปิดเข้าถวายบังคมพระบรมศพ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกระแสข่าวการปิดให้เข้าถวายบังคมพระบรมศพ 30 กันยายน 2560 ว่า ยังไม่มีกำหนดการออกมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการอำนวยการที่ดูแลพระราชพิธีทั้งหมด ที่ต้องไปดูว่าการเตรียมความพร้อมสู่พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้นใช้เวลาเท่าไร ซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องการเดินทางของประชาชนหรือการเตรียมการเคลื่อนย้ายต่างๆ ในการซักซ้อม เราต้องพิจารณากันอีกครั้ง แล้วต้องนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชวินิจฉัย

“ขอว่าอย่าเพิ่งตื่นตกใจ บางทีก็พูดกันเกินไป บางหน่วยงานที่เขาแจ้งมาในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบก็จะต้องแจ้งงบประมาณรายเดือนมาเพื่อที่จะสามารถควบคุมงบประมาณได้” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ปัดปรับ ครม. – ไม่โยกใครคุมเลือกตั้งแทน กกต.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีว่า ตนนั้นยังไม่ได้คิดเรื่องดังกล่าว ไม่รู้ว่าเป็นข่าวออกมาใหญ่โตได้อย่างไร โดยยืนยันว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังคงเป็นผู้ควบคุมการเลือกตั้งเช่นเดิม ไม่มีการนำหน่วยงานอื่นไปทำหน้าที่แทน

“มีการพูดกันไปว่าใครจะไปดูแลการเลือกตั้ง ทำไมจะต้องเอาใครไปดูการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งมีขั้นตอน มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีกฎหมายอยู่แล้ว ใครจะรักษาการในระหว่างนั้นกฎหมายก็มีบัญญัติไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว กระทรวงมหาดไทยเองก็มีหน้าที่เพียงสนับสนุนการเลือกตั้ง สนับสนุน กกต. ไม่ใช่จะไปคุมการเลือกตั้ง ส่วนหน่วยงานด้านความมั่นคงก็มีหน้าที่ไปดูแลเรื่องความปลอดภัยทั้งในและนอกคูหา ที่เหลือก็ไปดูในเรื่องของการทำผิด การทุจริต ความโปร่งใสในการเลือกตั้ง ทุกฝ่ายมีหน้าที่ร่วมมือกันภายใต้การทำงานของ กกต. เพราะมีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง แล้วทำไมถึงไปเขียนกันว่าจะย้ายคนนี้ไปดูตรงนั้นเอากลาโหมไปดูการเลือกตั้ง เอาผบ.ตร.ไปนั่งเป็นรัฐมนตรี เพ้อเจ้อ คิดไปได้อย่างไร คนคิดเข้ามาอยู่ในหัวในสมองผมหรืออย่างไร ยืนยันว่าผมยังไม่ได้คิดอะไรแบบนั้นเลย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ชี้แก้ไอยูยูไทยทำเต็มที่แล้ว-“อียู” พอใจ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าการปลดธงเหลืองการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) หลังคณะทำงานของสหภาพยุโรป (อียู) มาตรวจสอบและยังไม่พอใจกับการแก้ไขปัญหา ว่า ไม่ใช่ไม่พอใจ เขาพอใจ เพียงแต่อยากให้เร่งรัดในส่วนที่เราดำเนินการไม่ 100% ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าปัญหามีมากมาย ซึ่งเราดำเนินการมาก็ถือว่าทำได้มากแล้ว ตามกติกาที่เขากำหนด ซึ่งจริงๆ ควรทำตั้งนานแล้ว ส่วนเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคการประมงของเรา เราต้องดูแลคนของเราด้วย หลายอย่างต้องมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน

“หลายอย่างต้องทำใหม่ แม้กระทั่งการวัดขนาดเรือยังต้องวัดใหม่ ตอนนี้มีการตรวจสอบยอดการลงทะเบียนเรือ เดิมมียอด 2-3 หมื่นลำ ขณะนี้เหลือ 1.8 หมื่นลำ ทุกอย่างมีปัญหาหมด อาจจะทำให้ช้าไปบ้าง ซึ่งเราได้ดำเนินไปตามขั้นตอนของเรา และถือว่าเราทำได้เป็นที่นาพอใจในส่วนของพวกเรา แต่ในส่วนกติกาของไอยูยู เขามีมาตรฐานมากำหนด จึงต้องดูเรื่องผลสัมฤทธิ์ แต่เขาไม่ได้ย้อนกลับมาดูปัญหาของเราที่มีผลกระทบหลายด้าน หลายคนทราบดี การที่เราเอากฎหมายมาทำจะต้องมีผลกระทบกับที่ทำไม่ถูกกฎหมาย ก็มีแรงต่อต้าน ทำให้เราทำงานได้ช้า จึงขอให้ทุกคนกลับเข้ามาสู่กฎหมายในทุกๆ เรื่อง” นายกรัฐมนตรีกล่าว

โครงการสะพานท่าพระจันทร์-ศิริราช

พล.อ. ประยุทธ์ กรณีสังคมตั้งคำถามถึงเรื่องงบประมาณของโครงการสะพานคนเดินและทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าพระจันทร์-ศิริราช ว่า เรื่องดังกล่าวยังมาไม่ถึงรัฐบาล จากการตรวจสอบพบว่าเป็นเพียงแนวคิดของสำนักงานกรุงเทพมหานคร แต่ทั้งหมดยังไม่เกิดขึ้นหากมีกระแสต่อต้านหรือทำไม่ได้ก็คือไม่ได้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

4 คำถามนายกฯ ปปช. ตอบแล้ว 5 แสนคน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามความคืบหน้าเวทีปรองดอง และกรณีถูกตั้งคำถามจากฝ่ายการเมืองหากปรองดองไม่สำเร็จการจะทำอย่างไร ว่า เรื่องปรองดองตนบังคับไม่ได้ เพราะการปรองดองคือการร่วมมือของคนทุกระดับ ไม่ว่าจะกลุ่มการเมืองทุกคนก็ให้ความร่วมมือใน 10 ประเด็นที่ว่า จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างไร

ต่อกรณีความคืบหน้า การตอบคำถามนายกรัฐมนตรี 4 คำถาม ของประชาชน พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีประชาชนตอบคำถาม 5.2 แสนคน ซึ่งจังหวัดที่ตอบคำถามมากที่สุดคือ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา ตามลำดับ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่อยากเห็นประเทศเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อสู่ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และไม่อยากให้คนทำผิดเข้ามาสู่กระบวนการเลือกตั้ง

ชม “จักรทิพย์” และทีมทำงานเร็ว – ถามกลับเดาทหารทำขอโทษกันบ้างไหม

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการจับคุมคนร้ายกรณีฆ่ายกครัวที่ จ.กระบี่ โดยได้ชื่นชม พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และทีมงาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจและส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งเล็กและใหญ่ ที่การสามารถดำเนินการจับกุมคนร้ายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนับว่าเป็นการทำงานแบบมืออาชีพ มีทีมงานที่ทำงานร่วมกัน จึงเป็นผลสัมฤทธิ์ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าแต่ละคดีมีความยากง่ายต่างกันไป ซึ่งคดีดังกล่าวนี้มีผลกระทบสูง และการจับกุมคนร้ายได้ครั้งนี้คือสิ่งดีๆ ที่ตำรวจทำ ขออย่าไปจับผิดทุกเรื่อง

“แล้วที่พูดกันแต่แรก มีใครขอโทษผมไหม ขอโทษทหารเขาไหม ที่อ้างว่าเป็นสีเขียว เป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ คนมีสี มีใครขอโทษบ้าง สื่อ ไม่เห็นมีเลย มีสักสีไหม อย่างนี้ถึงบอกต้องเช็คก่อน ไม่ใช่เขาใส่เสื้อมา ผมก็นึกอยู่ว่า ใครไปแต่งชุดทหารแล้วไปฆ่าคน นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง สิ่งที่กล่าวอ้างทหาร มันมีอย่างนี้ด้วยหรือเปล่าที่ไปอ้างกันอยู่ข้างล่าง แค่เรียกผู้หมวด ผู้กอง มันใช่เหรอ ดูบัตรหรือเปล่า โง่ให้เขาหลอกทำไม แต่ถ้าใช่ตัวจริงผมก็ลงโทษ ไม่เอาไว้หรอก ถ้ามาพูดแบบนี้จะเสียหายทั้งระบบ ทหารตำรวจก็เละไปหมด การเมืองก็เละ แล้วใครจะอยู่ตรงไหน” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ปัดใช้ ม.44 ตรวจสอบเงินทอนวัด

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีพระสังฆาธิการบางส่วนไม่พอใจต่อการทำงานของ พ.ต.ท. พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในการตรวจสอบการทุจริตเงินสนับสนุนเพื่อบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด พร้อมเรียกร้องให้เปลี่ยนตัว ผอ.พศ. ว่า ขอชื่นชมการทำงานของ พศ. ที่ได้ดำเนินการเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจน ขออย่ารีบตัดสินว่าใครดีหรือไม่ดีทั้งหมด เพราะคนที่เกี่ยวข้องเป็นคนส่วนน้อย ซึ่งเราต้องทำอย่างไรให้ส่วนน้อยตรงนี้ได้รับการแก้ไข จึงต้องนำไปสู่การตรวจสอบ ดังนั้นอย่าเพิ่งไปทำให้เกิดประเด็นขึ้น มิฉะนั้นจะสร้างความขัดแย้งกับพุทธศาสนิกชน หรือกลายเป็นรัฐบาลชุดนี้ถูกกล่าวหาว่าทำลายศาสนาพุทธเพื่อให้ศาสนาอื่นได้เข้ามาแล้วจะถูกเชื่อมโยงกับเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งที่มันเป็นคนละเรื่องกัน

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ยืนยันว่า จะไม่ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 เข้ามาแก้ไขปัญหา ทุกอย่างให้เป็นไปตามกระบวนตามกฎหมาย เพราะเป็นเรื่องของการทุจริต ต้องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเป็นหน้าที่ของหน่วยงานด้านกฎหมายที่ต้องรับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง

มติ ครม.มีดังนี้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

ออกเกณฑ์คุมตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ – ปีหน้าคาดถ่ายเลือดครบ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบกรอบแนวทางการแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจใหม่ เพื่อให้การสรรหาและแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดำเนินการอย่างมีหลักเกณฑ์และโปร่งใส ให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวม 9 หลักเกณฑ์ โดยจะต้องมีสัญชาติไทย ยกเว้นจะมีข้อผูกพันอื่นๆ สามารถเป็นชาวต่างชาติได้

1) ให้นำสมรรถนะหลักและความรู้ที่จำเป็น (Skill Matrix) มาใช้ในการพิจารณาสรรหาและแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจได้กรรมการตรงกับความต้องการที่แท้จริงในการขับเคลื่อนและพัฒนารัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ กรณีกฎหมายจัดตั้งของรัฐวิสากิจได้กำหนดความเชี่ยวชาญไว้เป็นการเฉพาะ การกำหนด Skill Matrix ต้องเป็นไปตามความเชี่ยวชาญดังกล่าวด้วย

2) ในการแต่งตั้งกรรมการอื่นที่มิใช่กรรมการโดยตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจแห่งใด ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาเสนอชื่อจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการอื่น ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีกรรมการที่มีความรู้ ความสามารถ จากภาคธุรกิจต่างๆ มากยิ่งขึ้น

“ส่วนนี้จะต้องพิจารณาตามลักษณะของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งว่าประสบการณ์ทางธุรกิจที่ต้องการจะเป็นด้านไหน ซึ่งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจจะเป็นผู้ดูแลให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยจะกำหนดทักษะที่ต้องมีไว้ก่อน” นายกอบศักดิ์กล่าว

3) ห้ามมิให้มีการแต่งตั้งผู้บริหารสูงสุดหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งแห่งใดเป็นกรรมการในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจอื่น เว้นแต่กรณีกฎหมายกำหนด หรือกรณีการแต่งตั้งเป็นกรรมการของบริษัทที่รัฐวิสาหกิจนั้นถือหุ้นอยู่

4) ไม่แต่งตั้งสมาชิกสถานิติบัญญัติแห่งชาติ ข้าราชการการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

5) ให้มีผู้แทนกระทรวงการคลังที่เป็นข้าราชการประจำในกระทรวงการคลังเป็นกรรมการในคณะกรรมการ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการในฐานะผู้ถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจ และเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสหากิจ พ.ศ. 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

6) ให้มีผู้แทนกระทรวงของเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำในกระทรวงเจ้าสังกัดและไม่อยู่ในหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 1 คน เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงนโยบายจากกระทรวงเจ้าสังกัดของรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ กรณีมีเหตุจำเป็นอาจแต่งตั้งเพิ่มเติมได้อีกไม่เกิน 1 คน

7) ในกรณีที่กฎหมายจัดตั้งของรัฐวิสาหกิจกำหนดให้มีผู้ดำรงตำแหน่งใดในส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นที่เป็นกรรมการและผู้ดำรงตำแหน่งนั้น จะมอบหมายให้ผู้อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนในตำแหน่งกรรมการ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นพิจารณามอบหมายผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในหน่วยงานในสังกัดที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีเวลา และเหมาะสมกับความต้องการในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาของแต่ละรัฐวิสาหกิจ โดยทำเป็นคำสั่งมอบอำนาจเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบชัดเจนและต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่

8) กรณีกฎหมายจัดตั้งของรัฐวิสาหกิจกำหนดให้มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เป็นกรรมการในคณะกรรมการ ให้หน่วยงานนั้นแต่งตั้งจากบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานเท่านั้น

9) ในกรณีที่ส่วนราชการแต่งตั้งข้าราชการประจำไปเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ หากข้าราชการผู้นั้นเกษียณอายุหรือพ้นจากการเป็นข้าราชการประจำ ให้ส่วนราชการนั้นแต่งตั้งข้าราชการคนใหม่ไปแทน เนื่องจากข้าราชการผู้พ้นจากตำแหน่งจะไม่อยู่ใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดทางวินัยของข้าราชการ ซึ่งไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานที่มิใช่ส่วนราชการ พ.ศ. 2534 เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายของส่วนราชการนั้น เว้นแต่ข้าราชการผู้ที่เกษียณอายุหรือพ้นจากการเป็นข้าราชการเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญในกิจการ จะเป็นประโยชน์ต่อกิจการ ส่วนราชการสามารถพิจารณาให้บุคคลนั้นยังคงเป็นกรรมการต่อไปจนครบวาระได้

“จังหวะนี้ในเดือนกรกฎาคมจะมีรัฐวิสาหกิจที่มีกรรมการครบวาระประมาณ 20 แห่งจาก 50 แห่ง ประมาณครึ่งหนึ่ง จึงเป็นโอกาสดีที่จะเริ่มต้นปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ให้เหมาะสม ส่วนทหารที่อยู่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เกณฑ์จะเน้นไปที่การแต่งตั้งเข้ามาใหม่ แต่ตามเกณฑ์บอร์ดจะมีวาระครั้งละ 3 ปี ดังนั้น อย่างน้อย 3 ปีต่อจากนี้บอร์ดรัฐวิสาหกิจก็จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ แต่จริงๆ คิดว่าปีหน้าก็น่าจะเปลี่ยนได้ เพราะช่วงที่ คสช. เข้ามาก็เพิ่งได้แต่งตั้งบอร์ดที่หมดวาระไปก่อนหน้านั้นที่ตั้งกันไม่ได้ ตอนนี้ก็จะครบพอดี” นายกอบศักดิ์กล่าว

ทุ่มงบ 4 ปี 619.4 ล้าน พัฒนาคนอาชีวะรองรับ EEC

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. เห็นชอบยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ศ. 2560-2564) รวมวงเงิน 619.4 ล้านบาท โดยปีแรกจะแจกจ่ายกันเองภายในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ปีที่ 2 วงเงิน 192.1 ล้านบาท, ปีที่ 3 วงเงิน 179.1 ล้านบาท และปีที่ 4-5 วงเงินปีละ 124.1 ล้านบาท โดยจะเป็นแบ่งแผนการทำงาน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น 3-6 เดือน, ระยะปานกลาง 1-2 ปี และระยะยาว 3-5 ปี และคาดว่าในปี 2560 จะมีผู้สำเร็จการศึกษาเพิ่มขึ้น 20,615 คน และเพิ่มขึ้นจนเป็น 48,485 คนในปี 2564

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์

1) จัดการอาชีวศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ

2) ผลิตและพัฒนากำลังคนระดับอาชีวศึกษา การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

3) การพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านอาชีวศึกษาทุกช่วงวันและการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้

4) สร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมกันด้านอาชีวศึกษา

5) การสอน การแนะนำ ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อสร้างการเติบโตของคุณภาพการเติบโตของคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

6) การขับเคลื่อนธุรกิจ เศรษฐกิจ ประเทศด้วยงานวิจัยทุกระดับ เพื่อการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการจัดการบริหารจัดการภาครัฐ

แต่งตั้งปลัด 3 กระทรวง – “มหาดไทย อุตสาหกรรม พาณิชย์”

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพลเรือนและมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป ดังนี้

  1. แต่งตั้งนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)  เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย
  2. แต่งตั้งนายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
  3. แต่งตั้งนางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์
  4. แต่งตั้งนายชูเกียรติ มาลินีรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ เป็นผู้อำนายการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ