ThaiPublica > คอลัมน์ > เปิดโปรไฟล์หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันทั่วโลก (ตอนที่ 1) : รู้จัก CPIB

เปิดโปรไฟล์หน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันทั่วโลก (ตอนที่ 1) : รู้จัก CPIB

20 เมษายน 2017


Hesse004

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประเทศสิงคโปร์ มีข่าวสำคัญข่าวหนึ่งเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน

ข่าวที่ว่านี้ ไม่ใช่รายการแฉหรือร้องเรียนคอร์รัปชันออกสื่อ แต่เป็นข่าวของ Corrupt Pratices Investigation Bureau (CPIB) หน่วยงานป้องกันและปราบปรามทุจริตของสิงคโปร์ ซึ่งรายงานผลการทำงานประจำปีด้วยความภาคภูมิใจผ่านทางเว็บไซต์หน่วยงานว่า

“Corruption in Singapore at low levels”

ข่าวดีแบบนี้ ไม่แน่ใจว่าจะหาได้ในบ้านเราหรือไม่

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Transparency International ประกาศค่าคะแนนความโปร่งใส (Corruption Perceptions Index: CPI) ปี 2016 โดยสิงคโปร์ได้ 84 จาก 100 คะแนน อยู่อันดับ 7 ของโลก และยังผูกขาดครองแชมป์โปร่งใสสูงสุดในทวีปเอเชียมาตลอด ชนิดที่ไม่มีใครล้มได้

ขณะเดียวกัน การสำรวจการจัดการปัญหาทุจริตจากสำนักวิจัยต่างๆ ทั่วโลก ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวว่า สิงคโปร์จัดการปัญหาการทุจริตได้ยอดเยี่ยม

จากข้อมูลล่าสุดที่ CPIB รายงานทางเว็บไซต์ พบว่า ปี 2016 CPIB ได้รับเรื่องร้องเรียน จำนวน 808 เรื่อง ลดลงจากปีที่แล้ว 8% และในจำนวนเรื่องทั้งหมดที่รับมานี้ถูกส่งต่อเป็นเรื่องสืบสวน จำนวน 118 เรื่อง คิดเป็น 14.6% ของเรื่องที่รับมา

…พูดง่ายๆ คือ ใน 100 เรื่อง ที่รับมา จะมี 15 เรื่องที่ CPIB ลงมือสืบสวนต่อ

ทั้งนี้เกณฑ์คัดกรองเรื่องร้องเรียนเบื้องต้นนั้น CPIB พิจารณาว่า เรื่องนั้นมี “มูล” และมีข้อมูลมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่บัตรสนเท่ห์เลื่อนลอยที่ไว้ใช้กลั่นแกล้งกัน

ตัวอย่างเกณฑ์ที่ CPIB หยิบมาดู คือ เรื่องนั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันอย่างไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง เกี่ยวอย่างไร และคนร้องเรียนรู้ได้อย่างไรว่าคอร์รัปชัน เงินสินบนมากน้อยแค่ไหน เคยร้องเรียนไปยังหน่วยงานอื่นแล้วหรือไม่ รวมถึงตั้งคำถามว่า ทำไมคนร้องเรียนจึงคิดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการคอร์รัปชัน

แม้เกณฑ์เหล่านี้อาจดู “จุกจิก” และละเอียดมาก แต่ทำให้เกิดผลดีในกระบวนการทำงานสืบสวนต่อ เพราะเหล่าเจ้าหน้าที่สายปราบปรามของ CPIB จะทำการสืบสวนได้ตรงประเด็นและรวดเร็วขึ้น

กลไกการรับเรื่องร้องเรียนของ CPIB มีหลายช่องทาง ทั้งทางจดหมาย อีเมล์ แฟกซ์ ร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ รวมถึงเดินทางมาร้องเรียนด้วยตัวเอง

เรื่องร้องเรียนเหล่านี้จะถูกประเมินโดยคณะกรรมการที่เรียกว่า Corruption Evaluation Committee หรือ CEC (ดูแผนภาพประกอบ)

น่าสนใจว่า ข้อมูลการตรวจสอบเรื่องทุจริตของ CPIB เมื่อปีกลาย ชี้มูลเจ้าหน้าที่รัฐไปเพียง 4 คน ที่น้อยนี้เพราะอัตราการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐแทบไม่มีเลย

Logo ของ CPIB ภายใต้สโลแกนที่ว่า Swift and Sure ที่มาภาพ : https://www.cpib.gov.sg
กระบวนการจัดการของ CPIB เกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนคอร์รัปชัน ที่มาภาพ : www.cpib.gov.sg/

การที่เจ้าหน้าที่รัฐของสิงคโปร์ทำการคอร์รัปชันนับว่ามีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกจับได้ เพราะ CPIB เอาจริง เด็ดขาด และถ้าถูกจับได้แล้ว รับรองว่า “อ่วม” แน่นอน

กฎหมายป้องกันการคอร์รัปชันของสิงคโปร์ (Prevention of Corruption Act) จัดว่าแรงทีเดียว ใครที่ถูกพิพากษาว่าคอร์รัปชันจะโดนลงโทษ ทั้งจำและปรับ ข้อหาละ 100,000 เหรียญสิงคโปร์ จำคุกอีก 5 ปี (กรณีนักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐผู้เกี่ยวข้องกับการทำสัญญารัฐอาจโดนจำคุก 7 ปี) บางคดีทั้งจำและปรับ นอกจากนี้ยังมีบทลงโทษให้จ่ายเงินค่าปรับเท่ากับจำนวนสินบนที่ได้รับมาด้วย

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า CPIB ไม่ได้ทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก ไม่ได้เป็น “เสือกระดาษ” หรือ “เสือปลา” ที่กินเฉพาะปลาซิวปลาสร้อย เพราะแต่ละเคสที่ทำนั้น เมื่อส่งต่อไปยังอัยการแล้วแทบจะการันตีได้เลยว่าต้องติดคุกกันทุกรายไป

เว็บไซต์ของ CPIB รายงานว่า จำเลยที่ถูก CPIB แจ้งความผิดฐานทุจริตนั้น ถูกสั่งฟ้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา จาก 96% ในปี 2014 ขยับเป็น 97% ปี 2015 และ 100% ปี 2016

ย้อนกลับไปดูที่มาของ CPIB ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 1952 ในสมัยที่สิงคโปร์ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

จนกระทั่งปี 1959 เมื่อ ลี กวนยู ขึ้นมาบริหารประเทศ CPIB กลายเป็นองค์กรสำคัญในการปัดกวาดเช็ดถูสิงคโปร์ให้กลายเป็น Clean Country สมดังเจตนารมณ์ที่ ลี กวนยู ตั้งไว้

การที่ CPIB เข้มแข็ง ทำให้อัตราการคอร์รัปชันของสิงคโปร์ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ CPIB กลายเป็นแบบอย่างหน่วยงานป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

CPIB ทำหน้าที่สืบสวน สอบสวน โดยมุ่งหวังป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชน หน่วยงานนี้ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ CPIB ยังดูแลเรื่องการทำธุรกรรมในภาคเอกชน เพื่อให้ปลอดการทุจริตอีกด้วย

เมื่อเข้าไปดูในเว็บไซต์ของหน่วยงาน ได้แสดง วิสัยทัศน์ (Vision) ซึ่งถูกกำหนดไว้ชัดเจน กล่าวคือ เป็นหน่วยงานหลักที่ต่อต้านการทุจริตที่ธำรงไว้ซึ่งความมีคุณธรรมและธรรมาภิบาล เพื่อให้สิงคโปร์เป็นประเทศปลอดทุจริต (A Leading Anti-Corruption Agency that upholds Integrity and Good Governance towards Achieving a Corruption-free Nation)

ในส่วนพันธกิจ (Mission) คือ การปราบปรามการทุจริตด้วยความรวดเร็ว มั่นใจ เด็ดขาด และเป็นธรรม (To Combat Corruption through Swift and Sure, Firm but Fair Action.)

คำว่า “รวดเร็ว” และ “เด็ดขาด” นี้สะท้อนภาพการปราบปรามทุจริตของ CPIB ได้ดี… ก็ในเมื่อจะเงื้อดาบปราบโกงแล้ว ไม่ต้องมาตั้งท่ารำไหว้ครูกันให้เสียเวลา