ThaiPublica > เกาะกระแส > ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2562 ไทยอันดับถดถอย 101 ต่อต้านทุจริตทั่วโลกย่ำกับที่

ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2562 ไทยอันดับถดถอย 101 ต่อต้านทุจริตทั่วโลกย่ำกับที่

23 มกราคม 2020


วันนี้ 23 มกราคม 2563 องค์กรความโปร่งใสสากล(Transparency International: TI) ได้เผยแพร่รายงานผลการจัดอันดับความโปร่งใส Corruption Perception Index หรือ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2562 ซึ่งได้ทำเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1995

2 ใน 3 ของ 180 ประเทศคะแนนต่ำกว่า 50

ผลการจัดอันดับประจำปี 2562 พบว่า สถานการณ์คอร์รัปชันในปี 2562 ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า แม้ข้อมูลบ่งชี้ว่าการต่อต้านการทุจริตมีความคืบหน้า แต่ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่สามารถจัดการกับการคอร์รัปชันในภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศที่นำเข้ามาประเมินสถานการณ์คอร์รัปชัน ซึ่งรวมถึงประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าด้วยนั้น มีความชะงักงันและมีสัญญานถดถอยของความพยายามต่อต้านการทุจริต โดยประเทศที่มีการเลือกและพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่มอิทธิพลที่มีส่วนได้ส่วนเสีย มักไม่สามารถต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันได้

“ความท้อแท้ใจกับการคอร์รัปชันของรัฐบาลและการขาดความไว้วางใจในสถาบันต่างๆ แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีความซื่อสัตย์ทางการเมือง” เดเลีย เฟอร์เรรา รูบิโอ ประธานองค์กรความโปร่งใสสากลกล่าว “รัฐบาลต้องเร่งขจัดการคอร์รัปชันจากการใช้เงินมหาศาลสนับสนุนพรรคการเมืองและอิทธิพลของเงินที่มีต่อระบบการเมืองของเรา”

ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2562 ประเมินสถานการณ์คอร์รัปชัน 180 ประเทศและเขตปกครองต่างๆ จากการรับรู้การทุจริตในภาครัฐจาก 13 เกณฑ์ประเมินและผลสำรวจจากผู้บริหารระดับสูงในภาคธุรกิจ นำมาให้คะแนนจาก 0 ถึง 100 ซึ่ง 0 หมายถึงมีการคอร์รัปชันสูง แต่ 100 หมายถึงไม่มีการคอร์รัปชันเลย

รายงานยังระบุด้วยว่า 2 ใน 3 ของประเทศที่จัดอันดับทั้งหมดมีคะแนนในดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันต่ำกว่า 50 และมีคะแนนเฉลี่ยเพียง 43 คะแนน อีกทั้งในรอบ 8 ปีที่ผ่านมามีเพียง 22 ประเทศที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งรวมถึงเอสโตเนีย กรีซ และกายอานา ขณะที่ 21 ประเทศคะแนนลดลงมาก ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา และนิการากัว ส่วนที่เหลือมีความคืบหน้าน้อยมากกับไม่คืบหน้าเลย

งานศึกษายังพบอีกด้วยว่า ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าหลายประเทศชะล่าใจไม่ได้หากต้องการเดินหน้าต่อต้านการทุจริตคอร์รันต่อเนื่อง โดยมี 4 ประเทศในกลุ่มประเทศ G-7 มีคะแนนต่ำกว่าปีที่แล้ว ได้แก่ แคนาดา คะแนนลดลง 4 คะแนน, ฝรั่งเศส คะแนนลดลง 3 คะแนน, สหราชอาณาจักร ลดลง 3 คะแนน และสหรัฐฯ ลดลง 2 คะแนน ส่วนเยอรมนีและญี่ปุ่นไม่เปลี่ยนแปลง ด้านอิตาลีคะแนนเพิ่มขึ้น 1 คะแนน

ผลการวิเคราะห์ของงรายงานการจัดอันดับความโปร่งใสพบว่า การคอร์รัปชันขยายวงไปอย่างกว้างขวางในประเทศที่ทุนมหาศาลสามารถไหลเวียนอย่างเสรีไปยังการรณรงค์เลือกตั้ง และประเทศที่รัฐฟังแต่เสียงคนรวยและคนที่มีเครือข่าย

ประเทศที่มีคะแนนและอันดับดีมักจะมีการบังคับใช้หลักเกณฑ์การใช้เงินเพื่อการรณรงค์ที่เข้มแข็งและมีข้อเสนอแนะทางการเมือง การรับฟังที่ครอบคลุม

ประเทศที่มีหลักเกณฑ์การใช้เงินรณรงค์ที่ครอบคลุมและมีการบังคับใช้อย่างเป็นระบบนั้นมีคะแนนเฉลี่ย 70 คะแนน ส่วนประเทศที่ไม่มีหลักเกณฑ์เลยมีคะแนนเฉลี่ย 34 คะแนน และประเทศที่มีการบังคับใช้หลักเกณฑ์ที่ไร้ประสิทธิภาพมีคะแนนเฉลี่ย 35 คะแนน

อย่างไรก็ตาม 60% ของประเทศทั้งหมดมีคะแนนดีขึ้นนับตั้งแต่ปี 2012 และปรับปรุงหลักเกณฑ์การบริจาคเงินอย่างมีนัยสำคัญ

“การขาดความคืบหน้าอย่างแท้จริงในการต่อต้านคอร์รัปชันในหลายประเทศ เป็นสิ่งที่น่าผิดหวังและมีผลเชิงลบต่อประชาชนทั่วโลด” แพทริเซีย โมเรรา กรรมการผู้จัดการองค์การความโปร่งใสสากลกล่าว “ในการหยุดยั้งการทุจริตคอร์รัปชันและยกระดับชีวิตผู้คน เราต้องจัดการกับความสัมพันธ์ของพรรคการเมืองและทุน ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิมีเสียงในการตัดสินใจ””

ประเทศที่มีกระบวนการการรับฟังความเห็นที่เปิดกว้างมีคะแนนเฉลี่ยดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันสูงถึง 61 คะแนน ในทางตรงข้าม ประเทศที่มีการปิดกั้นการรับฟังความเห็น คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 32 คะแนน

ในกลุ่มประเทศที่มีคะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันลดลงมากนับตั้งแต่ปี 2012 นั้น ไม่ได้นำผู้เกี่ยวข้องทางการเมือง ทางสังคม และภาคธุรกิจ เข้ามาร่วมในกระบวนการตัดสินใจ

เดนมาร์ก-นิวซีแลนด์ โปร่งใสอันดับหนึ่ง

จากการจัดอันดับ ประเทศที่มีความโปร่งใสมากที่สุด คือ เดนมาร์กและนิวซีแลนด์ ที่ต่างได้คะแนน 87 คะแนนเท่ากัน ตามมาด้วยฟินแลนด์ 86 คะแนน ขณะที่อันดับ 4 คือ สิงคโปร์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ได้คะแนนเท่ากัน 85 คะแนน

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่ากลุ่มคะแนนสูงอย่างเดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ จะไร้ซึ่งการคอร์รัปชัน แม้ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันจะอยู่อันดับต้นๆ ภาครัฐมีความโปร่งใสมากที่สุดในโลก ก็ยังมีการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะในกรณีการฟอกเงินและการคอร์รัปชันในภาคเอกชน

กลุ่มประเทศนอร์ดิกเป็นผู้นำในการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน เพราะมี 5 ประเทศที่ติด 11 อันดับแรกของประเทศที่มีความโปร่งใสสูง แต่ความซื่อสัตย์ในประเทศไม่ได้ส่งต่อไปยังต่างประเทศ และกรณีอื้อฉาวหลายกรณีในปี 2019 แสดงให้เห็นว่า การคอร์รัปชันข้ามชาติมักได้รับการเอื้ออำนวยจากกลุ่มประเทศที่ดูเหมือนว่าใสสะอาด

แม้มีผู้เกี่ยวข้องถูกลงโทษปรับและดำเนินคดี แต่จากการศึกษาพบว่า การบังคับใช้กฎหมายการติดสินบนข้ามชาติของกลุ่มประเทศ OECD อยู่ในระดับต่ำจนน่าวิตก บทบาทของบางบริษัทที่สูงมากในประเทศตัวเอง เปิดทางให้ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองบ่อยครั้งจนเหนือความรับผิดชอบที่แท้จริง ธนาคารบางแห่งและธุรกิจบางรายไม่ใช่เพียงใหญ่เกินไปที่จะปล่อยให้ล้ม แต่มีอำนาจมากที่จะจ่าย และบ่อยครั้งที่การกำกับและการตรวจสอบการฟอกเงิน รวมทั้งการใช้มาตรการลงโทษสำกรับการฝ่าฝืน ไม่ต่อเนื่องและไร้ประสิทธิภาพ

ความพยายามในการต่อต้านการคอร์รัปชันต้องดำเนินการทั่วโลก และตอกย้ำให้เห็นว่าภาคธุรกิจต้องแสดงออกถึงความรับผิดชอบในการส่งเสริมความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบ และรัฐบาลต้องขจัดอิทธิพล อำนาจจากผลประโยชน์ของภาคเอกชน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

  • ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2561 ไทยคะแนนหล่นมา 36 อันดับร่วงอยู่ที่ 99

    เอเชียแปซิฟิกย่ำกับที่

    มีประเทศที่นำเข้าประเมินสถานการณ์การคอร์รัปชัน 31 ประเทศ มีคะแนนเฉลี่ย 45 คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 44 คะแนนที่ติดต่อกันหลายปี แสดงให้เห็นว่าภูมิภาคนี้ยังคงไม่เร่งรัดการต่อต้านการคอร์รัปชัน

    แม้มีหลายประเทศติดอันดับโลกและมีคะแนนสูง เช่น นิวซีแลนด์ที่ได้ 87 คะแนน สิงคโปร์ 85 คะแนน ออสเตรเลีย 77 คะแนน ฮ่องกง 76 คะแนน ญี่ปุ่น 73 คะแนน แต่ยังไม่เห็นความคืบหน้าของภูมิภาคนี้ในการต่อต้านการคอร์รัปชัน นอกจากนี้ประเทศที่มีคะแนนต่ำ ทั้งอัฟกานิสถานที่ได้ 16 คะแนน เกาหลีเหนือ 17 คะแนน และกัมพูชา 20 คะแนน ก็ชี้ว่ามีความท้าทายอย่างมากในภูมิภาคนี้

    เอเชียแปซิฟิกถูกจัดว่าเป็นเครื่องยนต์หนึ่งในการเติบโตของเศรษฐกิจโลก แต่ในแง่ความซื่อสัตย์ทางการเมืองและธรรมาภิบาล ภูมิภาคนี้กลับทำได้เพียงเหนือระดับเฉลี่ยของโลกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลายประเทศมองว่าการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจเป็นความก้าวหน้า แต่รัฐบาลหลายแห่งในภูมิภาคตั้งแต่จีนไปจนถึงกัมพูชาและเวียดนาม ยังคงเข้มงวดในการจำกัดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ ปิดปากผู้ที่ไม่เห็นด้วย และตัดสินใจโดยไม่ผ่านการฟังความเห็นจากประชาชน

    ด้วยเหตุนี้ ประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างจีนได้คะแนนเพียง 41 อินโดนีเซีย 40 คะแนน เวียดนาม 37 คะแนน ฟิลิปปินส์ 34 คะแนน ส่วนประเทศอื่นก็มีปัญหาในการต่อต้านคอร์รัปชัน

    สำหรับประเทศไทยได้คะแนน 36 คะแนนเท่ากับปีที่แล้ว แต่อันดับถดถอยมาที่ 101 จากอันดับ 99 ในการสำรวจปีที่แล้ว ซึ่งมีการประเมินสถานการณ์จาก 180 ประเทศทั่วโลก

    ไทยติดอันดับต่ำกว่าและมีคะแนนน้อยกว่าเวียดนาม ซึ่งติดอันดับ 96 และได้คะแนน 37 คะแนน ส่วนมาเลเซียได้คะแนน 53 ติดอันดับที่ 51 ดีขึ้นจากคะแนน 47 และอันดับที่ 61 ในปีก่อน

    ในภูมิภาคนี้ประเทศที่ต้องจับตาคือ อินโดนีเซีย ได้คะแนนเพิ่มขึ้น 2 คะแนนเป็น 40 คะแนน ติดอันดับที่ 85 จากการเติบโตที่สดใสของเศรษฐกิจและการกดดันของภาคประชาสังคม แม้การกำกับดูแลของสถาบันอ่อนแอ ความเป็นอิสระและความมีประสิทธิภาพของคณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชัน (Komisi Pemberantasan Korupsi: KPK) เผชิญอุปสรรคจากรัฐบาล

    คณะกรรมการ KPK จัดว่าเป็นตัวแทนขอความก้าวหน้าและความทันสมัย แต่กำลังจะถูกครอบงำและสูญเสียอำนาจ ซึ่งขัดแย้งกับความต้องการของรัฐบาลและเป้าหมายของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติและการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆ และการคอร์รัปชันที่ยังคงอยู่ จะเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนไม่สนใจและทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว

    อเมริกาตกแตะต่ำสุดรอบ 8 ปี

    ในภูมิภาคอเมริกา ซึ่งมีคะแนนเฉลี่ย 43 คะแนนติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ถือว่าไม่มีความคืบหน้าในการต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยแคนาดาซึ่งครองอันดับหนึ่งความโปร่งใสมาต่อเนื่องด้วยคะแนน 77 คะแนน กลับมีคะแนนลดลง 4 คะแนนจากปีก่อนและลดลง 8 คะแนนในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ส่วนประเทศในกลุ่มนี้ที่คะแนนต่ำสุดคือ เวเนซุเอลา ที่ได้ 16 คะแนนและเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีคะแนนต่ำสุดของโลก

    ภูมิภาคนี้ประสบกับความท้าทายจากการกระทำของผู้นำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนแต่มีผลกระทบต่อประชาชนของประเทศ โดยเฉพาะการระดมทุนสนับสนุนพรรคการเมืองและความซื่อสัตย์ของการเลือกตั้งที่เป็นความท้าทาย

    ในปีนี้สหรัฐฯ มีคะแนน 69 คะแนน ลดลง 2 คะแนนจากปีก่อน และนับเป็นคะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันที่ต่ำสุดในรอบ 8 ปี ขณะที่ความไว้วางใจของชาวอเมริกันต่อรัฐบาลต่ำสุดในประวัติศาสตร์เพียง 17% จากการสำรวจของสถาบัน Pew

    สหรัฐฯ ประสบความท้าทายหลายด้านจากความเสี่ยงของระบบตรวจสอบและการถ่วงดุล และอิทธิพลของผลประโยชน์เฉพาะด้านที่มีต่อรัฐบาล รวมไปถึงการใช้บริษัทที่ตั้งขึ้นมาหลอกๆ ของอาชญากร บุคคลที่ทุจริตและผู้ก่อการร้าย เพื่อปกปิดการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย

    ข้อเสนอแนะ

    เพื่อให้การทุจริตคอร์รัปชันหมดไปและฟื้นฟูความไว้วางใจในภาครัฐ องค์กรความโปร่งใส่สากลมีข้อแนะนำต่อรัฐบาลโดยรวมดังนี้

  • เสริมสร้างการตรวจสอบและถ่วงดุลและส่งเสริมการแบ่งแยกอำนาจ
  • จัดการปัญหาเฉพาะเพื่อให้แน่ใจว่างบประมาณและการบริการสาธารณะไม่ได้เกิดจากการเชื่อมโยงส่วนบุคคลหรือลำเอียงเพื่อผลประโยชน์พิเศษ
  • ควบคุมการจัดหาทุนทางการเมืองเพื่อป้องกันเงินและอิทธิพลทางการเมืองที่มากเกินไป
  • จัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์และจัดการกับปัญหาธรรมาภิบาล (ที่เรียกว่า “ปัญหาประตูหมุน” หรือ “revolving door” หมายถึงบุคคลระดับสูงภาครัฐเข้าไปทำงานในภาคเอกชน และคนในภาคเอกชนเข้ามาทำงานด้านนโยบายในภาครัฐ สลับกัน)
  • ควบคุมกิจกรรมล็อบบี้ด้วยการส่งเสริมการเข้าถึงที่เปิดกว้างและมีความหมายต่อการตัดสินใจ
  • เสริมสร้างความซื่อสัตย์ในการเลือกตั้ง รวมทั้งป้องกันและลงโทษการรณรงค์ทางการเมืองด้วยข้อมูลที่ผิด
    ให้อำนาจพลเมืองและคุ้มครองนักเคลื่อนไหว ผู้แจ้งเบาะแส และนักข่าว