ThaiPublica > เกาะกระแส > ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2564 ต้านทุจริตโลกย่ำอยู่กับที่ ไทยร่วงไปที่อันดับ 110

ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2564 ต้านทุจริตโลกย่ำอยู่กับที่ ไทยร่วงไปที่อันดับ 110

25 มกราคม 2022


ที่มาภาพ:https://www.transparency.org/en/news/cpi-2021-highlights-insights

วันที่ 25 มกราคม 2565 องค์กรความโปร่งใสสากลหรือ Transparency International (TI) ได้เผยแพร่รายงานผลการจัดอันดับความโปร่งใส Corruption Perception Index(CPI) หรือ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2564 ซึ่งได้ทำเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2538

รายงาน CPI ประจำปีนี้ พบว่า ระดับการทุจริตทั่วโลกย่ำอยู่กับที่

ในปีนี้ ค่าเฉลี่ยทั่วโลกยังคงไม่เปลี่ยนแปลงติดต่อกันเป็นปีที่ 10 โดยมีเพียง 43 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน แม้มีการให้คำมั่นหลายข้อ แต่ 131 ประเทศไม่มีความคืบหน้าในการต่อต้านการทุจริตอย่างมีนัยสำคัญในทศวรรษที่ผ่านมา 2 ใน 3 ของประเทศที่ทำการประเมินได้คะแนนต่ำกว่า 50 ซึ่งบ่งชี้ว่ามีปัญหาการทุจริตอย่างร้ายแรง ขณะที่ 27 ประเทศมีคะแนนต่ำสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

โดยรวมแล้ว ดัชนี CPI แสดงให้เห็นว่า การต่อต้านการคอร์รัปชันชะงักงันหรือถดถอยใน 86% ของประเทศที่ทำการสำรวจในทศวรรษที่ผ่านมา

CPI จัดอันดับ 180 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลกตามระดับความโปร่งใสของภาครัฐ ด้วยคะแนน 0 (โปร่งใสน้อย) ถึง 100 (โปร่งใสมาก)

ประเทศที่มีคะแนนสูงหลายประเทศที่มีภาครัฐค่อนข้าง “โปร่งใส” ยังคงต่อต้านการทุจริตข้ามชาติต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อระดับการทุจริตในประเทศ

ที่มาภาพ: https://www.transparency.org/en/news/cpi-2021-highlights-insights

สถานการณ์ทั่วโลกย่ำอยู่กับที่

สองปีหลังจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายไปทั่ว และแม้การคอร์รัปชันมีรูปแบบที่แตกต่างกันมากในแต่ละประเทศ แต่ผลคะแนนในปีนี้แสดงให้เห็นว่า ทุกภูมิภาคทั่วโลกกำลังย่ำอยู่กับที่ ในการต่อต้านการทุจริตในภาครัฐ

แม้มีการให้คำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ 131 ประเทศไม่มีความคืบหน้าในการต่อต้านการทุจริตอย่างมีนัยสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และในปีนี้ 27 ประเทศมีคะแนน CPI ต่ำเป็นประวัติการณ์ ในขณะเดียวกัน สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยทั่วโลกกำลังถูกลิดรอน

“ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญ คอร์รัปชันก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในทางกลับกันการปกป้องสิทธิและเสรีภาพพื้นฐาน เป็นสิ่งสำคัญในการต่อสู้กับการทุจริต”

ประเทศที่เสรีภาพพลเมืองได้รับการคุ้มครองอย่างดี มักจะได้คะแนน CPI สูง ขณะที่ประเทศที่ละเมิดเสรีภาพมักจะได้คะแนนต่ำ

ผลการจัดอันดับ CPI ปี 2564 แสดงให้เห็นว่าประเทศที่มีเสรีภาพพลเมืองและการเมืองที่ได้รับการคุ้มครองอย่างดีมักควบคุมการทุจริตได้ดีขึ้น เสรีภาพขั้นพื้นฐานในการสมาคมและการแสดงออกเป็นสิ่งสำคัญในการต่อสู้เพื่อโลกที่ปราศจากการทุจริต

ดังนั้นการต่อต้านการทุจริตเป็นเรื่องเร่งด่วน หากเราต้องการที่จะยุติการละเมิดสิทธิมนุยชนและการถดถอยของประชาธิปไตยทั่วโลก

ในกลุ่มประเทศที่ได้คะแนนสูง หลายประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันตกและสหภาพยุโรปยังคงต่อสู้กับความโปร่งใสและความรับผิดชอบในการตอบสนองต่อ โควิด-19 ซึ่งคุกคามภาพลักษณ์ที่โปร่งใสของภูมิภาค ในส่วนของเอเชียแปซิฟิก อเมริกา ยุโรปตะวันออก และเอเชียกลาง ข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นด้านมาตรการความรับผิดชอบและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมืองทำให้การทุจริตไม่ได้รับการตรวจสอบ แม้แต่ประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงในช่วงที่ผ่านมาก็ยังแสดงสัญญาณการถดถอย

ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คนยังคงครอบงำพื้นที่ทางการเมืองและส่วนตัว และข้อจำกัดด้านเสรีภาพของพลเมืองและเสรีภาพทางการเมือง กำลังเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในอนุภูมิภาคทะเลทรายซาฮารา สถานการณ์ความขัดแย้งด้วยกําลังอาวุธ การเปลี่ยนผ่านของอำนาจอย่างรุนแรง และภัยคุกคามของผู้ก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการบังคับใช้พันธสัญญาต่อต้านการทุจริตที่อ่อนแอ ทำให้พลเมืองสูญเสียสิทธิและบริการขั้นพื้นฐานไป

3 ประเทศทำคะแนนสูงสุด

ในปีนี้ ประเทศที่มีคะแนนความโปร่งใสสูงสุดคือ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ และนิว ซีแลนด์ซึ่งต่างทำคะแนนได้ 88 คะแนน รองลงมาคือ นอร์เวย์ สิงคโปร์ สวีเดนที่ได้ 85 คะแนนเท่ากัน ตามมาด้วยสวิตเซอร์แลนด์ 84 คะแนน เนเธอร์แลนด์ 82 คะแนน ลักเซมเบิร์ก 81 คะแนน และเยอรมนี 80 คะแนน ทั้งหมดติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก

ที่มาภาพ: https://www.transparency.org/en/news/cpi-2021-highlights-insights

กลุ่มประเทศที่มีคะแนนต่ำสุดได้แก่ เซ้าท์ซูดาน 11 คะแนน ซีเรีย 13 คะแนน และโซมาเลีย 13 คะแนน

ประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งกำลังอาวุธ หรือเผด็จการ ก็มีคะแนนต่ำเช่นกัน ทั้งเวเนซูเอลาที่ได้ 14 คะแนน อัฟกานิสถาน 16 คะแนน เกาหลีเหนือ 16 เยเมน 16 อิเควทอเรียลกินี 17 คะแนน ลิเบีย 17 คะแนน และเติร์กเมนิสถาน 19 คะแนน

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศมีความถดถอยอย่างมีนัยสำคัญ เช่น แคนาดา คะแนนลดลง 8 คะแนน นิการากัว และฮอนดูรัสต่างลดลง 6 คะแนน เวเนซูเอลาลดลง 4 คะแนน ส่วนประเทศที่มีคะแนนเพิ่มขึ้น คือ อาร์เมเนีย 14 คะแนน อังโกลา 10 คะแนน เกาหลีใต้ 8 คะแนน อุเบซกิสถาน 6 คะแนน มอลโดวา 5 คะแนน และเอธิโอเปีย 4 คะแนน

ขณะเดียวกัน คะแนนของประเทศประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งซึ่งเคยติดอันดับสูง และเป็นผู้นำในการต่อต้านการทุจริตทั่วโลกกลับแย่ลง หลายประเทศในกลุ่มคะแนนสูงนี้ยังคงเป็น safe haven หรือที่หลบภัย ของการคอร์รัปชันระดับบุคคลจากต่างประเทศ

สำหรับประเทศไทยในปีนี้ได้คะแนนลดลง โดยมีคะแนน 35 คะแนนจาก 36 คะแนน แต่อันดับร่วงลงไปที่ 110 จากอันดับ 104 ในปีที่แล้ว

  • ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2563 ไทยถอยหลังอีกปีลงไปที่อันดับ 104

  • ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2562 ไทยอันดับถดถอย 101 ต่อต้านทุจริตทั่วโลกย่ำกับที่
  • ทุจริตขนานใหญ่และการจำกัดเสรีภาพรั้งความก้าวหน้าเอเชียแปซิฟิก

    หลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกมีความก้าวหน้าอย่างมากในการควบคุมการติดสินบนสำหรับบริการสาธารณะ โดยมีคะแนนเฉลี่ย 45 จากคะแนนเต็ม 100 แต่ดัชนี CPI ปี 2564 แสดงให้เห็นว่า ยังต้องมีการดำเนินการอีกมากเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตในภูมิภาค

    ประเทศที่มีคะแนนสูงบางประเทศกำลังถดอย เนื่องจากรัฐบาลล้มเหลวในการจัดการกับการทุจริตครั้งใหญ่ การปกป้องสิทธิ และรับฟังประชาชน

    ประเทศที่มีคะแนนนำในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ นิวซีแลนด์ 88 คะแนน สิงคโปร์ (85) และฮ่องกง (76) อย่างไรก็ตาม ประเทศส่วนใหญ่ยังมีคะแนนต่ำคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกที่ 43 โดย 3 ประเทศที่มีคะแนนต่ำที่สุดในโลก ได้แก่ กัมพูชา (23) อัฟกานิสถาน (16) และเกาหลีเหนือ (16)

    ในบรรดาประเทศที่มีคะแนนน้อยมักเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก เช่น จีนที่ได้ 45 คะแนน อินเดีย 40 คะแนน รวมไปถึงประเทศที่มีขนาดใหญ่ เช่น อินโดนีเซียที่ได้ 38 คะแนน ปากีสถาน 28 คะแนน และบังคลาเทศ 26 คะแนน

    แนวโน้มที่น่าเป็นห่วงสำหรับบางประเทศนี้ คือ การที่สถาบันต่อต้านการทุจริตอ่อนแอลง หรือในบางกรณีอาจไม่มีหน่วยงานที่ประสานการดำเนินการกับการทุจริตคอร์รัปชั่น

    ที่มาภาพ: https://www.transparency.org/en/news/cpi-2021-for-asia-pacific-grand-corruption-holding-back-progress

    การชะงักงันของการต่อต้านคอร์รัปชันยังพบได้ในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง โดยสปป.ลาวได้คะแนน 30 คะแนน ไทย (35) กัมพูชา (23) และเวียดนาม (39) นอกจากนี้ ประเทศที่มีคะแนนต่ำสุดในภูมิภาค ได้แก่ อัฟกานิสถาน (16) และเกาหลีเหนือ (16) ก็มีคะแนนลดลงไปอีก (จาก 19 และ 18 ตามลำดับ) นับตั้งแต่ปีที่แล้ว สองประเทศที่เปราะบางนี้ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานของสถาบันพื้นฐาน เช่น กลไกในการบริหารและหลักนิติธรรม เพื่อสร้างระบบคุณธรรม และยังกดขี่ประชาชนที่ต่อต้านการทุจริต

    แม้โดยทั่วไปไม่ค่อยมีความคืบหน้านัก แต่ก็มีบางประเทศที่ดีขึ้น คือเกาหลีใต้ (62) ซึ่งภาคประชาสังคมยังคงอยู่ในสภาวะที่ดีและได้รับการปกป้องสิทธิ คะแนนจึงเพิ่มขึ้น 6 คะแนน จาก 56 คะแนน ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา

    ประเทศที่ติดอยู่ในระดับกลางของดัชนี เช่น มาเลเซียได้ 48 คะแนน อินโดนีเซีย (38) และมัลดีฟส์ (40) เผชิญกับความท้าทายที่ซับซ้อนมากขึ้น นั่นคือ การทุจริตครั้งใหญ่ คือ การใช้อำนาจระดับสูงในทางที่ผิด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนน้อย แต่คนจำนวนมากเสียประโยชน์ ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายทั้งภาคส่วน ทำให้เกิดภาวะถดถอย และมีผลต่อระบอบประชาธิปไตย ในกรณีเช่นนี้ การแทรกแซงซึ่งมีประโยชน์ในการจัดการกับการคอร์รัปชั่นขนาดเล็กจึงไม่เพียงพอ

    การจัดการกับการคอร์รัปชั่นครั้งใหญ่จำเป็นต้องมีการแก้ไขโครงสร้างที่เอื้อต่อการใช้ช่องโหว่ในการหาผลประโยชน์ และวัฒนธรรมที่ไม่ซื่อสัตย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ในการทุจริตจากเงินภาครัฐ สิ่งนี้จำเป็นต้องขับเคลื่อนโดยผู้นำทางการเมืองที่มีอำนาจรับผิดชอบเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

    กลุ่มประเทศคะแนนนำถดถอย

    ทุกปี ประเทศที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของดัชนี CPI สามารถคุยได้ว่ามีระดับการให้สินบนต่ำ การป้องกันที่ดีขึ้นต่อการยักยอกเงินสาธารณะ และความรับผิดชอบที่มากขึ้นต่อการทุจริตของรัฐบาล

    แต่ไม่มีประเทศใดได้คะแนนที่สมบูรณ์แบบ และการทุจริตในประเทศที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของดัชนีมักมีรูปแบบที่ไม่ค่อยชัดเจน เส้นแบ่งระหว่างการเมืองกับธุรกิจมักจะไม่ชัดเจน การควบคุมการเงินทางการเมืองที่ไม่เพียงพอ การล็อบบี้ที่เด่นชัด และการหมุนเวียนของผู้มีตำแหน่งสำคัญทางการเมืองย้ายไปทำงานกับภาคอุตสาหกรรม หรือจากภาคเอกชนไปทำงานหน่วยงานกำกับดูแล เกิดขึ้นได้บ่อยเกินไป แม้แต่ในประเทศที่มีผลงานดีที่สุด

    ผลการจัดอันดับ CPI ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าประเทศที่มีคะแนนสูงสุดแทบไม่มีความพยายามในการปกป้องคุณธรรมของภาครัฐ สำหรับบางประเทศ CPI ปี 2564 ถดถอย

    ออสเตรเลีย ได้คะแนน 73 และแคนาดา (74) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยคะแนนลดลง 12 และ 10 คะแนนตั้งแต่ปี 2555 ตามลำดับ

    สหรัฐอเมริกา ได้คะแนน 67 คะแนน ตกลงไป 9 คะแนน จากคะแนนในปี 2558 เป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษที่สหรัฐฯยังสูญเสียตำแหน่งใน 25 ประเทศที่มีผลงานดีที่สุดในดัชนี

    ที่มาภาพ:https://www.transparency.org/en/news/cpi-2021-trouble-at-the-top

    ในปีที่ผ่านมา ผู้นำรัฐบาลในหลายประเทศทำผิดกฎ และเช่นเดียวกับที่อื่นๆ การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ถือว่าเป็นบททดสอบการต่อต้านการทุจริตของประเทศที่มีคะแนนสูงสุด เช่น ออสเตรีย แคนาดา และเยอรมนี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ความคืบหน้าในการต่อต้านการทุจริตไม่ได้ประกันว่าจะไม่ถดถอย การตรวจสอบอำนาจโดยอิสระมีความสำคัญมากกว่าที่เคย เพื่อไม่ให้ใครสามารถหลุดพ้นจากการทุจริต ซึ่งประเทศที่อยู่อันดับต้นๆของ CPI มักจะอยู่ในรูปของการล็อบบี้ที่คลุมเครือ หรือการใช้อิทธิพล มากกว่าการติดสินบนและการยักยอก