Hesse004
ปลายเดือนที่ผ่านมา มีข่าวต่างประเทศน่าสนใจข่าวหนึ่งที่รายงานเรื่องคอร์รัปชันในบราซิล โดยอัยการสูงสุดบราซิลได้สั่งฟ้องประธานาธิบดีมิเชล เตเมร์ (Michel Temer) ในข้อหารับสินบนราวๆ 500,000 เรอัลบราซิล จากอดีตประธานบริษัท JBS ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์รายใหญ่ที่สุดของโลก
กรณีสั่งฟ้องผู้นำประเทศระหว่างดำรงตำแหน่งนั้น นับเป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองแดนแซมบ้าเลยก็ว่าได้
นับตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา เรื่องอื้อฉาวของผู้นำบราซิลถูกแฉออกมาเรื่อยๆ ตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) ที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันคดีรับสินบนและฟอกเงิน จนถึงนางดิลมา รุสเซลฟ์ (Dilma Vana Rousseff) ที่เพิ่งถูกถอดถอนจากประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว
ทั้งเตเมร์ รุสเซลฟ์ และลูลา ต่างกำลังตกอยู่ “วิบากกรรม” ที่ต้องมาแก้ต่างว่าตนเองไม่ได้ทุจริตคอร์รัปชัน
ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี หลังจากที่เตเมร์รับตำแหน่งได้ไม่นาน เกิดวิกฤติครั้งใหญ่ในแวดวงส่งออกเนื้อสัตว์แช่แข็งของบราซิล เมื่อเนื้อวัว เนื้อไก่ ที่ส่งออกไปขายต่างประเทศถูกตั้งคำถามถึงมาตรฐานความสะอาด ปลอดภัย เพราะหลายประเทศที่นำเข้าเนื้อบราซิลตรวจพบว่าเนื้อเน่า ไม่ได้มาตรฐาน
วิกฤติ “เนื้อเน่า” มาแดงขึ้นเมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติของบราซิลปฏิบัติการจู่โจมตรวจสอบการทำงานโรงงานบรรจุเนื้อสัตว์แช่แข็งพร้อมกัน 200 แห่ง ทั่วประเทศ หลังจากสืบสวน พบว่า บริษัทจัดจำหน่ายเนื้อแปรรูปติดสินบนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรผู้ตรวจสอบคุณภาพอาหารเพื่อให้ลดความเข้มงวดในการตรวจสอบมาตรฐานด้านความสะอาด
ผลจากการ “หยวน” และความมักง่ายบวกความละโมบสินบน ทำให้เนื้อวัวบราซิลไม่มีมาตรฐาน เต็มไปด้วยเชื้อโรค แถมมีถูกแฉอีกว่ามีการฉีดสารเคมีเพื่อไม่ให้เนื้อเน่าแต่สารเหล่านี้ก่อให้เกิดมะเร็งอีกด้วย ท้ายที่สุดเรื่องนี้เลยลุกลามบานปลายกลายเป็น “วิกฤติเนื้อเน่า” กระทบต่อความเชื่อมั่นในการส่งออกเนื้อวัวแปรรูป
การติดสินบนครั้งนี้มีชื่อของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง JBS SA และ BRF SA ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรายใหญ่ของบราซิลด้วย
แม้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและตั้งข้อหาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มากกว่า 30 คน แต่เจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็เป็นแค่เจ้าหน้าที่ตัวกระจ้อย ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรมากมาย…ส่วนประเภทตัวใหญ่ๆ นั้นดูเหมือนจะสาวกันไปไม่ถึงอีกตามเคย
กระทั่งเดือน มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเตเมร์ต้องออกมาสร้างความเชื่อมั่นด้วยการเชิญทูตนานาประเทศเข้ามากินสเต็กเนื้อร่วมกัน เพื่อโชว์ว่าเนื้อสัตว์แช่แข็งของบราซิลยังสะอาด ปลอดภัย ถูกหลักอนามัยและได้มาตรฐานอยู่
…แต่อนิจจา พิษสินบนเนื้อเน่าย้อนกลับมาโดนเตเมร์เองด้วย หลังจากที่กินเนื้อโชว์แล้ว กลับมีคลิปเสียงหลุดออกมาว่า นายเตเมร์คุยกับอดีตประธานบริษัท JBS SA เจ้าสัวยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเนื้อส่งออก ซึ่งใจความสำคัญ คือ การจ่าย “ค่าปิดปาก” ให้นายเตเมร์ โดยสัญญาว่าจะเคลียร์ให้นายเอดูอาร์โด กันฮา (Eduardo Cunha) อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรบราซิลที่ติดคุกข้อหาคอร์รัปชันเมื่อปีที่แล้ว จะไม่ปากโป้งซัดทอดคนอื่นๆ เกี่ยวกับกรณีติดสินบนเรื่องเนื้อเน่า
พูดให้ง่าย คือ เรื่องนี้มีคนรู้เรื่องเยอะ เพียงแต่ไม่หยิบมาพูด การจะหยิบเรื่องเหล่านี้มาแฉก็เพื่อให้ตัวเองรอด หรือไม่ก็ใช้แบล็คเมล์ฝ่ายตรงข้าม
หากจะว่าไปแล้ว วิกฤติสินบนเนื้อเน่าสะท้อนภาพการเมืองเน่าๆ ของบราซิลในรอบหลายปีที่ผ่านมา ถึงขนาดสำนักข่าวบีบีซีได้ทำอภิธานศัพท์ (Glossary) เฉพาะกิจเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันในบราซิลขึ้นมาเลย
เมื่อย้อนไปดูอดีตประธานาธิบดีสองคนก่อนหน้านี้ เริ่มจากคดีของนายลูลา ดา ซิลวา ที่ถูกกล่าวหาว่ารับสินบน 3.7 ล้านเรอัล และนำไปฟอกเงินต่อ โดยศาลประทับรับฟ้องคดีทุจริตเปโตรบราสโดยจะนำสืบต่อว่านายลูลารู้เห็นเรื่องที่ผู้รับเหมาลงขันกันจ่ายสินบนให้งานก่อสร้างของเปโตรบราสมีราคาแพงเวอร์เกินจริง หรือไม่
กรณีเรื่องทุจริตของเปโตรบราสนั้น ชาวบราซิลรู้จักกันในชื่อคดีที่เรียกว่า Lava Jato (ภาษาโปรตุกีส) หรือ แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Operation car wash (ปฏิบัติการล้างรถ) เหตุผลที่เรียกเช่นนี้ เพราะมีการรับจ่ายสินบนกันที่ร้านล้างรถ ภายในปั๊มน้ำมัน กรุงบราซิลเลีย
ขณะที่นางดิลมา รุสเซฟฟ์ เพิ่งถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งจากความผิดฐานใช้อำนาจมิชอบในการตกแต่งงบประมาณแผ่นดิน รวมถึงพัวพันกับคดีทุจริตปิโตรนาส เนื่องจากนางรุสเซฟฟ์เคยดำรงตำแหน่งเป็นบอร์ดของปิโตรนาสตั้งแต่ปี 2003-2010
ปัญหาคอร์รัปชันในบราซิลรุนแรงไม่แพ้ประเทศในแถบอเมริกาใต้ ค่าดัชนีความโปร่งใส Corruption Perception Index ของประเทศ 5 ปี ย้อนหลัง เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ระดับ 40 ต้นๆ (ดูตาราง)
จากตาราง แม้ว่าบราซิลจะมีคะแนน CPI สูงกว่าประเทศร่วมทวีปอเมริกาใต้หลายประเทศ แต่หากดูแนวโน้มค่าความโปร่งใสของประเทศดูจะถดถอยลงเรื่อยๆ
ท้ายที่สุดแล้ว วิบากกรรมของนายเตเมร์จะเป็นอย่างไร จะตามรอยถูกถอดถอนแบบนางรุสเซฟฟ์ หรือไม่ …จะต้องไปแก้ต่างในชั้นศาลแบบนายลูลา หรือไม่นั้น คงเป็นวิบากกรรมส่วนตัวของประธานาธิบดีวัย 75 ปี ผู้นี้
…แต่วิบากกรรมหมู่ที่ได้รับ เห็นจะหนีไม่พ้นประชาชนชาวบราซิลที่ต้องจ่ายภาษีให้รัฐอยู่ทุกวัน โดยที่ตัวเองก็มิได้รู้อิโหน่อิเหน่อะไรเลย