ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 20 ปีไม่สาย ชำระความ “คอร์รัปชั่น” (1) : เบาะแสจากคนตาย

20 ปีไม่สาย ชำระความ “คอร์รัปชั่น” (1) : เบาะแสจากคนตาย

15 สิงหาคม 2011


ฌากส์ ชีรัก ถูกแฉว่ามีส่วนพัวพันกับการคอร์รัปชั่นในช่วงนั่งเก้าอี้นายกเทศมนตรีนครปารีส
ฌากส์ ชีรัก ถูกแฉว่ามีส่วนพัวพันกับการคอร์รัปชั่นในช่วงนั่งเก้าอี้นายกเทศมนตรีนครปารีส
(ที่มาของภาพ : www.nordeclair.fr)

ใครจะเชื่อว่าคนที่ตายไปแล้วจะกลับมีบทบาทสำคัญในการสั่นคลอนตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศได้ แม้จะไม่ถึงกับทำให้ตกจากเก้าอี้ผู้นำในทันทีทันใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนและเป็นจุดเริ่มที่ทำให้อดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2 สมัยต้องเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวนหลังพ้นเก้าอี้ผู้นำสูงสุดมาได้ไม่นาน

ซีรีส์ฉาวในแวดวงการเมืองฝรั่งเศสเรื่องนี้เริ่มแดงขึ้นจนเป็นที่สนใจของสาธารณชนในเดือนกันยายน ปี 2543 หลังพิธีฝังศพของ “ฌอง-คล็อด เมอรี่” นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และผู้มีบทบาทในพรรคแอร์เปแอร์ (RPR) เมื่อวิดีโอเทปสารภาพผิดของเขาถูกหนังสือพิมพ์ “เลอ มงด์” นำมาเผยแพร่ ซึ่งเนื้อหาในวิดีโอเทปดังกล่าวพาดพิงถึง “ฌากส์ ชีรัก” ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในขณะนั้นว่ามีส่วนพัวพันกับการคอร์รัปชั่นตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครปารีส

เมอรี่อัดวิดีโอเทปไว้ตั้งแต่ปี 2539 ก่อนหน้าที่จะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในปี 2542 โดยเขาอัดวิดีโอเทปในระหว่างที่ถูกสอบสวนคดีคอร์รัปชั่น ซึ่งเนื้อหาในคำสารภาพของเมอรี่เล่าถึงการนำเงินส่วนแบ่งที่ได้กลับมาภายหลังการประมูลงานภาครัฐ (Kickbacks) เพื่อนำไปใช้สนับสนุนพรรคแอร์เปแอร์ ซึ่งชีรักเป็นผู้ก่อตั้ง ตั้งแต่สมัยชีรักเป็นนายกเทศมนตรีนครปารีสระหว่างทศวรรษ 1980 ถึงต้นยุค 1990 จนหนุนส่งให้ชีรักประสบความสำเร็จทางการเมืองในเวลาต่อมา

บทบาทของเมอรี่ในขณะนั้นรับผิดชอบเรื่องการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาเป็นตัวกลางในการประมูลงานก่อสร้างต่างๆ ของศาลาว่าการปารีส และบริจาคเงินใต้โต๊ะที่ได้จากบริษัทผู้ประมูลให้กับพรรคแอร์เปแอร์ของชีรักแลกเปลี่ยนกับสัญญาจ้างงาน ซึ่งเม็ดเงิน kickbacks อยู่ที่ประมาณ 1.5 % ของมูลค่างานที่ประมูลได้

นอกจากนี้ เมอรี่ยังอธิบายถึงระบบกลโกงที่สลับซับซ้อน เพื่อตักตวงเงินจากสัญญาว่าจ้างโครงการก่อสร้างบ้านราคาประหยัดที่ได้เงินอุดหนุนจากประชาชนปารีส รวมถึงการเรียกรับเงินใต้โต๊ะจากการประมูลก่อสร้างและบูรณะโรงเรียน

โดยเมอรี่ระบุว่าชีรักมีส่วนรู้เห็นเรื่องนี้ทั้งหมด พร้อมกับแฉว่าเขาได้โอนเงินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์ไปยังธนาคารบางแห่งในสวิตเซอร์แลนด์ ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี แถมเมอรี่ยังอ้างว่าเคยมอบเงินสดราว 646,000 ดอลลาร์ (5 ล้านฟรังก์) ที่ใส่ในกระเป๋าเดินทางให้กับที่ปรึกษาของพรรคแอร์เปแอร์ สมัยที่ชีรักนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2529

บางฝ่ายกังขาว่าทำไมเมอรี่จึงสารภาพเรื่องนี้ ซึ่งเขาให้เหตุผลว่าเป็นเพราะชีรักผิดคำมั่นสัญญาที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ ประกอบกับเพื่อนๆ เตือนให้เขาทำเทปม้วนนี้เพื่อเผยแพร่ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เผื่อจะเป็นหลักประกันความปลอดภัยของเขาได้

แน่นอนว่า ฌากส์ ชีรัก ขณะยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในตอนนั้น ปฏิเสธข้อกล่าวหาของเมอรี่ โดยบอกว่าเป็นการใส่ร้าย เทปดังกล่าวถูกทำขึ้นโดยผู้ที่เสียชีวิตไปกว่า 1 ปี ทั้งยังเป็นการระบุถึงเหตุการณ์ที่ไม่น่าเชื่อที่ทึกทักว่าเกิดขึ้นมานานกว่า 14 ปีแล้ว

สาเหตุที่ม้วนเทปถูกเผยแพร่หลังการตายร่วม 1 ปี เป็นเพราะเมื่อฌอง คล็อด เมอรี่ บันทึกวิดีโอเทปความยาวประมาณ 1 ชั่วโมงแล้ว เขาได้มอบเทปม้วนนี้ไว้กับ “อาร์โนด์ ฮาเมอลัง” ผู้สื่อข่าวที่ช่วยจัดมุมกล้องและป้อนคำถามในบางช่วงบางตอน โดยเมอรี่มอบหมายให้นักข่าวผู้นี้เผยแพร่วิดีโอเทปต่อสาธารณะหากเมอรี่เสียชีวิตภายใต้สถานการณ์ที่มีเงื่อนงำ แต่ถึงแม้เมอรี่จะลาโลกเพราะมะเร็ง ฮาเมอลังก็ตัดสินใจเผยแพร่วิดีโอเทปของเขา เพียงแต่รอให้เวลาผ่านไป 1 ปี ซึ่งเขาถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม

ที่มาของภาพ : www.heraldo.es

ถึงแม้ว่าม้วนวิดีโอเทปจะไม่นับเป็นหลักฐานสำคัญในศาล เพราะมีข้อโต้แย้งว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่เทปจะถูกตัดต่อดัดแปลง แต่อย่างน้อยเบาะแสจากเทปม้วนนี้ก็อาจเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่เชื่อมโยงให้บรรดาเจ้าหน้าที่สืบสวนได้มองเห็นภาพว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงเวลาดังกล่าวและอาจปะติดปะต่อเรื่องอื้อฉาวที่อยู่รายรอบตัวของชีรักได้

ที่สำคัญ เทปม้วนนี้ยังช่วยกระตุกให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นในศาลาว่าการเทศบาลนครปารีส ซึ่งไม่เพียงในยุคชีรัก แม้แต่ในยุคของ “ฌอง ติแบรี” ทายาทที่ชีรักปลุกปั้นให้มารั้งเก้าอี้นายกเทศมนตรีปารีสต่อจากตัวเอง ก็ถูกกังขาว่าอาจมีส่วนพัวพันกับซีรีส์ทุจริตหลายกรณี

แม้แต่ภรรยาของติแบรี “ซาเวียร์” ก็เป็นตัวละครอีกหนึ่งที่ถูกกล่าวหาเรื่องบริหารจัดการงบประมาณผิดพลาด ซึ่งกรณีนี้ยังสร้างความลำบากมากขึ้นแก่ทีมบริหารของชีรักที่ถูกครหาว่าใช้เงินของรัฐว่าจ้างพนักงานที่ไม่มีตัวตนจำนวนหลายร้อยตำแหน่งระหว่างที่คุมศาลาว่าการปารีส

การเปิดเผยเทปสารภาพผิดของเมอรี่มีส่วนทำให้หลายฝ่ายหันมาจับจ้องกรณีนี้ รวมถึงศาลยุติธรรม โดยมีข่าวว่าในเดือนมีนาคม ปี 2544 ศาลได้ออกหมายเรียกชีรักเข้าให้ปากคำ เพราะมีหลักฐานเชื่อมโยงค่อนข้างชัดเจน

แต่ชีรักปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว พร้อมกับอ้างเอกสิทธิในฐานะประมุขแห่งรัฐ (head of state) เขาแย้งว่าการที่ศาลออกหมายเรียกเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศส ซึ่งให้ความคุ้มครองประธานาธิบดีไม่ต้องถูกดำเนินคดีในระดับที่ต่ำกว่ากบฏ