ThaiPublica > คอลัมน์ > “ฟินแลนด์” โปร่งใส ใช่ “ไม่มี” คอร์รัปชัน

“ฟินแลนด์” โปร่งใส ใช่ “ไม่มี” คอร์รัปชัน

8 กรกฎาคม 2013


Hesse004

หากนึกถึงประเทศที่ดู “โปร่งใส” ไม่ค่อยปรากฏข่าวอื้อฉาวหรือเรื่องราวทุจริตใหญ่โต ดูเหมือนว่าประเทศแถบสแกนดิเนเวียจะครองแชมป์มาโดยตลอด

สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ และฟินแลนด์ คือกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียที่ถูกจัดอยู่ใน Top Five ในเรื่องภาพลักษณ์ประเทศโปร่งใส เพราะทั้งหมดที่ว่ามานี้มีดัชนี CPI หรือ Corruption Perception Index อยู่ในระดับที่สูงมาก

เมื่อปีที่แล้ว องค์กรความโปร่งใสสากล (Transparency International) หรือ TI ได้ปรับวิธีการคำนวณและอธิบายดัชนี CPI ใหม่ โดยจัดอันดับประเทศโปร่งใสมากที่สุดไปยังน้อยที่สุดด้วยสเกลที่ละเอียดขึ้น คือ คิดค่าดัชนีจาก 0-100

ประเทศใดได้คะแนนความโปร่งใสเข้าใกล้ 0 แสดงว่าประเทศนั้นเต็มไปด้วยข้าราชการขี้ฉ้อ นักการเมืองขี้โกง มีการจ่ายสินบนทั่วทุกหัวระแหง แถมยังถูกชักเปอร์เซ็นต์เวลาทำงานกับหลวง

ในทางกลับกัน หากประเทศใดที่ได้คะแนนความโปร่งใสเข้าใกล้ 100 หมายความว่าประเทศนั้นมีความโปร่งใส รัฐบาลเต็มไปด้วยสุจริตชน มีคนดีเข้ามาบริหารบ้านเมือง จนทำให้ภาพลักษณ์เรื่องความโปร่งใสของประเทศออกมาดี

CPI 2012 ได้สะท้อนภาพลักษณ์ของประเทศแถบสแกนดิเนเวียไว้อย่าง “สวยหรู” โดยเดนมาร์กและฟินแลนด์ต่างครองแชมป์ร่วมกันด้วยคะแนน CPI สูงถึง 90 ขณะที่สวีเดนได้คะแนนรองลงมาอยู่ที่ 88 ส่วนนอร์เวย์ได้ 85

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าตัวเลขความโปร่งใสของ TI ยังมีข้อถกเถียงในวงวิชาการด้านคอร์รัปชันศึกษากันอยู่ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว วิธีวัดคอร์รัปชันด้วย Perception หรือ การรับรู้ อาจไม่สะท้อนสภาพปัญหาการคอร์รัปชันที่แท้จริงในสังคมออกมาได้

ประเด็นดังกล่าวแม้แต่คนฟินน์เองก็ยังตะหงิดๆ ติดใจอยู่ว่า…จริงหรือไม่ที่ประเทศพวกเขานั้นไม่มีการคอร์รัปชันเลย?

ผู้เขียนขอยกบทความเรื่อง Finnish Corruption: Subtle, but by no means non existent1 ซึ่งสะท้อนปัญหาคอร์รัปชันในฟินแลนด์ออกมาว่า แท้จริงแล้ว รูปแบบคอร์รัปชันในฟินแลนด์มีลักษณะ “ซ่อนรูป” และเต็มไปด้วยความซับซ้อนโยงใยของกลุ่มชนชั้นนำ

บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดย Veera Luoma-Aho2 นักข่าวสาวชาวฟินน์ ซึ่งตั้งคำถามว่า จริงหรือไม่ที่ประเทศของเธอนั้นมีอัตราการคอร์รัปชันน้อยกว่าประเทศอื่นๆ

Luoma-Aho เริ่มต้นด้วยการวิจารณ์ดัชนี CPI ของ TI ว่ายังไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างแท้จริง หากแต่สะท้อนเพียงพฤติกรรมการเรียกรับสินบนของคนในสังคม

เธอเองยอมรับว่า หากวัดการคอร์รัปชันในลักษณะนี้แล้ว ฟินแลนด์ต้องเป็น “เต้ย” อย่างแน่นอน เพราะเมื่อเทียบคดีเรียกรับสินบนกับประเทศอื่นแล้ว พบว่า แต่ละปีมีคดีเรียกรับสินบนในฟินแลนด์แค่ 15 คดี เท่านั้น!

พฤติกรรมเรียกรับสินบน (Bribery) เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะการคอร์รัปชันระดับเล็กๆ (Petty Corruption) ซึ่งผู้กระทำความผิดโดยส่วนใหญ่คือเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในตำแหน่งไม่สูงมาก

ในบทความดังกล่าว “ฟันธง” เลยว่า ทุกคนในประเทศนี้ต่างรู้ดีว่าพฤติกรรมการจ่ายสินบนไม่เป็นที่นิยม และข้าราชการที่นี่ไม่มีใครถูกซื้อได้!

เห็นอย่างนี้แล้ว น่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง สำหรับประเทศที่ปลูกฝังค่านิยมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้โกง หรือเห็นแก่เงินสินบน

แต่อย่างไรก็ตาม เราอาจต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นประกอบด้วย โดยเฉพาะเงินเดือนที่จูงใจในอาชีพรับราชการจนไม่มีใครอยากจะโกง

แม้ชาวฟินน์จะภูมิใจในการไม่ข้องแวะเรื่องสินบน แต่สิ่งที่ยัง “คาใจ” อยู่กลับเป็นการคอร์รัปชันที่มีลักษณะ “ซ่อนรูป” ซึ่งเกี่ยวโยงกับภาคการเมือง

หากจะว่าไปแล้ว “นักการเมือง” ดูจะเป็นอาชีพที่ถูก “ยี้” มากที่สุด ไม่เว้นแม้แต่ในฟินแลนด์เอง

Luoma-Aho อ้างถึงงานของ Paavo Isaksson ซึ่งได้เขียนหนังสือเรื่อง Korruptio ja julkinen valta หรือแปลเป็นอังกฤษในชื่อ Corruption and Public Power ซึ่งตีแผ่พฤติกรรมการคอร์รัปชันซ่อนรูปของฟินแลนด์ในรูปแบบต่างๆ

คำว่า “คอร์รัปชันซ่อนรูป” หรือ Hidden forms of corruption เป็นเรื่องที่ทำให้พฤติกรรมคลุมเครือของผู้ใช้อำนาจรัฐกลายเป็น “ข้อกังขา” ขึ้นมาว่า พฤติกรรมดังกล่าวจะถูกตีตราว่าเป็นเรื่องคอร์รัปชันได้หรือไม่ และถ้าเป็นการคอร์รัปชันแล้ว เราจะลงโทษหรือเอาผิดได้อย่างไร

ความยากและซับซ้อนตรงนี้เอง ที่ทำให้นิยามคอร์รัปชันโดยทั่วไปไม่สมารถครอบคลุมกับพฤติกรรมบางอย่างของผู้ใช้อำนาจรัฐได้

เข้าทำนองที่ว่า “แม้จะผิดศีลธรรม แต่ก็ไม่ผิดกฎหมาย”

อันที่จริงแล้ว พฤติกรรมคลุมเครือในการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง ครอบครัว หรือพรรคพวกตนเองนั้น วิชาคอร์รัปชันศึกษาเรียกว่า “ผลประโยชน์ทับซ้อน” หรือ Conflict of Interest บางครั้งก็เรียก Grey zone Corruption หรือ คอร์รัปชันสีเทาๆ

แน่นอนว่า การคอร์รัปชันเป็นการละเมิดกฎหมาย การเรียกรับสินบนก็เช่นกัน ล้วนมีความผิดทางอาญา แต่ถ้าพฤติการณ์ที่ไม่ละเมิดกฎหมาย ทว่ากลับเป็นเรื่องการใช้อำนาจรัฐอย่างผิดทำนองคลองธรรมแล้ว …สิ่งนี้จะถูกเรียกว่าคอร์รัปชันได้หรือไม่?

ชาวฟินน์รู้ดีว่าพฤติกรรมคอร์รัปชันสีเทาๆ ของชนชั้นปกครองนั้นอยู่ในรูปของสายสัมพันธ์ที่มีมาตั้งแต่วัยเยาว์ หรือสมัยที่เรียนโรงเรียนเดียวกัน

…พฤติกรรมดังกล่าว เรียกว่า Old boy networks

Old boy networks หรือ สายสัมพันธ์จำพวกรุ่นพี่รุ่นน้องจากรั้วสถาบันการศึกษาเดียวกัน เปรียบเสมือน “ประตู”ที่เปิดให้มีการใช้อำนาจรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับรุ่นพี่รุ่นน้อง แม้ว่าผลประโยชน์ที่ได้อาจจะไม่เห็นในรูปของเงินสินบนก็ตาม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น รุ่นพี่ที่เป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงอาจจะโปรโมตรุ่นน้องตัวเองขึ้นมาเป็นปลัดกระทรวงหรือคณะกรรมการชุดต่างๆ และเมื่อมีโครงการที่จะต้องจัดซื้อจัดจ้าง สายสัมพันธ์ตรงนี้ก็จะถูกต่อเชื่อมโยงไปยังเพื่อนร่วมรุ่นรั้วโรงเรียนเดียวกันที่ทำธุรกิจกับรัฐ และด้วยสายสัมพันธ์ดังกล่าวจึงทำให้เพื่อนได้โครงการเหล่านั้นไป โดยอาจอาศัยข้อมูลภายในหรือ Insider Information จาก Old boy networks สร้างความได้เปรียบในการประมูล

…Old boy networks จึงมีลักษณะคล้ายๆ กับระบบอุปถัมภ์ในสังคมเอเชีย

ในสังคมฟินแลนด์คำว่า hyvä veli –verkosto มีนัยยะเดียวกับ Old boy network ซึ่งชาวฟินน์จะใช้คำนี้เรียกเฉพาะพรรคพวก พี่ๆ น้องๆ ที่สนิทสนมกันเป็นพิเศษ หรือ Dear brother/sister

ทุกวันนี้ปัญหาคอร์รัปชันมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งพฤติกรรมคอร์รัปชันซึ่งเป็นเรื่องผิดจริยธรรม กลับอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ไม่ผิดกฎหมาย

พฤติกรรม Old boy networks ทำให้นึกถึงคำคมของ John Dalberg- Acton ที่กล่าวไว้ว่า
“Power tends to corrupt; absolute power corrupts absolutely.”

หมายเหตุ : 1 โปรดดูFinnish Corruption: Subtle, but by no means non existent
2 Luoma-Aho เป็นนักข่าวในสังกัดหนังสือพิมพ์ Helsingin Sanomat ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์แทบลอยด์เจ้าใหญ่ที่สุดในแถบสแกนดิเนเวีย