ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กรมศุลกากร (2): 12 ปี พ่อค้าจ่ายค่าปรับ 3.5 หมื่่นล้าน – คนกรมศุลฯ รับรางวัลกว่าหมื่่นล้าน

กรมศุลกากร (2): 12 ปี พ่อค้าจ่ายค่าปรับ 3.5 หมื่่นล้าน – คนกรมศุลฯ รับรางวัลกว่าหมื่่นล้าน

7 กันยายน 2012


หลายตัวชี้วัดบ่งบอกว่าการทุจริตในกรมศุลกากรเป็นปัญหาใหญ่ที่มีการกล่าวถึงมาโดยตลอด ถึงแม้จะหาหลักฐานมาพิสูจน์ค่อนข้างยาก แต่ถ้าทำโพลสำรวจความคิดเห็นทีไร กรมศุลกากรจะติดอันดับ 1 ใน 5 ของหน่วยงานที่มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุด

เช่นเดียวกัน หากถามคนคลังว่า ถ้าให้เลือกได้ อยากโอนย้ายไปทำงานกรมในสังกัดกระทรวงการคลังแห่งใดมากที่สุด ก็เป็นกรมศุลกากรอีก ด้วยเสียงเล่าอ้างและข้อเท็จจริงที่ปรากฏ กรมนี้มีผลประโยชน์ทั้งที่อยู่บนโต๊ะและใต้โต๊ะ แต่ละปีจึงมีเม็ดเงินสะพัดในกรมศุลกากรคิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท

มีเรื่องเล่าขานกันในหมู่ข้าราชการกระทรวงการคลังว่า “บางครั้งแค่เจ้าหน้าที่แกล้งหลิ่วตา ทำไม่รู้ไม่ชี้ ปล่อยสินค้าเข้า-ออก ก็ได้ค่าน้ำร้อนน้ำชา และในทางตรงกันข้าม ถ้าขยัน ลุกขึ้นมาไล่บี้ภาษีพ่อค้า ตรวจย้อนหลัง 10 ปี หากคดีถึงที่สุด พ่อค้ายอมจ่ายค่าปรับ เจ้าหน้าที่ก็จะได้เงินรางวัลเป็นส่วนแบ่ง สรุปคือ ทำงานที่นี่ ไม่ทำหน้าที่ก็ได้เงิน ทำหน้าที่ก็ได้เงิน จึงมีแต่ได้กับได้”

ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันจึงเป็นปัญหาเรื้อรังที่ฝังรากลึกอยู่ในกรมศุลกากรมาช้านาน จนเกือบจะกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปแล้ว ตั้งแต่โบราณกาล กระทรวงการคลังก็พยายามส่งเสนาบดีเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

ผลสำรวจความเห็นกรมศุลกากร

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2555 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ร่วมกับหอการค้าต่างประเทศ จัดงานสัมมนา “ถกปัญหาการจ่ายเงินสินบนและรางวัลกรมศุลกากร” เพื่อหยิบยกขึ้นมาประเด็นให้รัฐบาลแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในกรมศุลกากร

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหน่วยงานดูแลรับผิดชอบงานป้องกันและปรามปราบการทุจริตในแวดวงราชการโดยตรง ปี 2553 ป.ป.ช.จึงไปว่าจ้าง รศ.ดร.ประธาน วัฒนวาณิชย์ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำวิจัยหัวข้อ “การจ่ายเงินสินบนและรางวัลแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่โดยภาพรวมทั้งระบบ” โดยเฟสแรก เน้นที่ระบบการจ่ายเงินสินบนรางวัลของกรมศุลกากร

รายงานวิจัยของสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า การจ่ายเงินสินบนและรางวัลของกรมศุลกากร เดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ, สร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย และยังเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ไปรับเงินสินบนจากพ่อค้า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การจ่ายเงินสินบนและรางวัลก่อให้เกิดพฤติกรรมบิดเบือนจากสิ่งที่ควรกระทำ (Moral hazard) หลายประการ เช่น เจ้าหน้าที่มุ่งเน้นปฏิบัติหน้าที่เฉพาะงานที่ได้เงินรางวัล ละเลยงานที่ไม่มีผลตอบแทน การจ่ายเงินรางวัลในอัตราที่สูงก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในหมู่ข้าราชการ เพราะผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับข้าราชการบางกลุ่มที่ทำหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดเท่านั้น

กระบวนการสร้าง “สายเทียม” รับเงินสินบน-รางวัล 55%

ตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัล กำหนดว่า กรณีที่ไม่มีผู้แจ้งความนำจับ เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมจะได้รับเงินรางวัล 30% ของมูลค่าสินค้าที่จับกุมได้ หรือค่าปรับ 4 เท่า รวมภาษีนำเข้า แต่ถ้ามีผู้แจ้งความนำจับ สายลับที่แจ้งจะได้เงินสินบน 30% ส่วนเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมได้เงินรางวัล 25% รวมทั้งเจ้าหน้าที่และสายสืบรับเงินสินบนรางวัล 55%

การกำหนดส่วนแบ่งเงินสินบนและเงินรางวัลในอัตราที่สูง งานวิจัยของธรรมศาสตร์ระบุว่า “เป็นมูลเหตุจูงใจและที่มาให้เจ้าหน้าที่กระทำการทุจริต และมีการทำหลักฐานเท็จ สร้าง “สายเทียม” เพื่อหวังเงินสินบนเพิ่มเติม”

ความหมายคือ แทนที่เจ้าหน้าที่จะได้เงินรางวัลแค่ 30% หากไปสร้างหลักฐานเท็จว่ามีผู้มาแจ้งความนำจับ เงินรางวัลจะเพิ่มเป็น 55%

อย่างไรก็ตาม การจ่ายสินบนและรางวัลในอัตราที่สูง ได้ไปผูกโยงกับค่าปรับ หรือมูลค่าของกลางที่จับกุมได้ หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าผู้ประกอบการสำแดงเท็จ หรือหลีกเลี่ยงการเสียภาษี เช่น แจ้งราคาต่ำ เสียภาษีไม่ตรงกับพิกัดอัตราภาษี ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร 2469 มาตรา 27 ระบุว่า ผู้กระทำผิดต้องจ่ายค่าปรับ 4 เท่าของมูลค่าสินค้ารวมภาษีนำเข้า และมีโทษอาญาจำคุก โดยไม่มีการพิจารณาว่าผู้กระทำความผิดมีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีหรือไม่ ถ้าตรวจพบว่ามีการกระทำความผิด ต้องจ่ายค่าปรับ 4 เท่า สถานเดียว ไม่มียกเว้นหรือลดหย่อนโทษ

สวมวิญญาณนักล่า ตั้งทีมไล่จับผิดพ่อค้า

รายงานวิจัยระบุว่า จากการโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรมากมายหลายอัตรา กฎระเบียบไม่ชัดเจน มีความคลุมเครือ การนำสินค้าผ่านพิธีการศุลกากรมีความยุ่งยาก สลับซับซ้อน

ประเด็นนี้จึงกลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ โดยการตั้งทีมไล่บี้ภาษีผู้นำเข้า-ส่งออก ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการตกเป็นเหยื่อ ถูกเจ้าหน้าที่จับดำเนินคดีไปหลายหมื่นราย

หากต่อสู้คดีในชั้นศาลแล้วแพ้ ต้องจ่ายค่าปรับ 4 เท่า แต่ถ้ายอมความในชั้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมศุลกากร ค่าปรับจะลดเหลือ 2 เท่า และไม่มีโทษอาญา ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่อยากจะมีเรื่องกับเจ้าหน้าที่ จึงเลือกใช้บริการคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรมศุลกากร

สินบนเงินรางวัล กรมศุลกากร

12 ปี เจ้าหน้าที่รับเงินสินบนรางวัลกว่าหมื่นล้าน

ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและสายสืบ รับเงินสินบนและรางวัลไปทั้งสิ้น 10,343 ล้านบาท และผู้ประกอบการถูกยึดสินค้าขายทอดตลาดและจ่ายค่าปรับ คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 35,000 ล้านบาท

ในยุคที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรและสายสืบเฟื่องฟูสุดขีด รับเงินสินบนและรางวัลมากที่สุด เกิดขึ้นในช่วงปี 2544-2548 ผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำเข้าและผู้ผลิต อาทิ กลุ่มผู้ผลิตยางรถยนต์ กลุ่มยานยนต์ เหล็ก สุรา ยาสูบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ต่างถูกปรับกันถ้วนหน้า

จนกระทั่งกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้อดทนต่อไปไม่ไหว ปี 2552 ทำเรื่องร้องเรียนไปที่หอการค้าไทยและต่างประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จากนั้นก็รวมตัวกันทำหนังสือถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายศุลกากร หลังจากนั้น ตัวเลขการจ่ายเงินสินบนรางวัลจึงลดลงมาเหลือแค่ 503 ล้านบาท

กระบวนการแก้ไขกฎหมายศุลกากรเริ่มขึ้นโดยแบ่งเป็น 2 เฟส คือ 1. ปรับปรุงบทลงโทษ โดยให้พิจารณาโทษตามความหนัก-เบาของความผิด จากเดิมกฎหมายกำหนดให้จ่าย 4 เท่า สถานเดียว ไม่มีการลดหย่อน 2. ลดแรงจูงใจเจ้าหน้าที่ โดยการปรับลดส่วนแบ่งเงินสินบนและรางวัล และกำหนดเพดานในการจ่ายเงินสินบนและรางวัลขั้นสูงสุดเอาไว้ด้วย

ร่างแก้ไขกฎหมายศุลกากรเฟสแรกยังไม่ทันจะเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 9 พฤษภาคม 2554 รัฐบาลอภิสิทธิ์ประกาศยุบสภา ร่างแก้ไขกฎหมายศุลกากรจึงถูกตีกลับมาดองอยู่ที่กระทรวงการคลังกว่า 1 ปี ซึ่งตามกระบวนการของกฎหมาย กระทรวงการคลังต้องส่งร่างแก้ไขกฎหมายศุลกากรไปขอนโยบายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าจะดำเนินการสานต่อนโยบายของรัฐบาลชุดก่อนหรือไม่ แต่จนถึงขณะนี้ เรื่องนี้ก็ยังเงียบหายไป (อ่านต่อตอนต่อไป)