ThaiPublica > คอลัมน์ > รวมเรื่องมหากาพย์ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” (5)

รวมเรื่องมหากาพย์ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” (5)

6 กรกฎาคม 2017


บรรยง พงษ์พานิช

บทความนี้เขียนเมื่อเมื่อสี่ปีก่อน ตอนที่เริ่มเขียน Facebookใหม่ๆ ผมได้เขียนบันทึกความทรงจำในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ไว้อย่างยาว 7 ตอน ในวาระที่ครบ 20 ปี ผมขอเอามารวบรวมไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่งนะครับ เผื่อคนที่สนใจและยังไม่ได้อ่าน

“ต้มยำกุ้ง” ตอนที่ 5 ว่าด้วย กฎหมายขายชาติ และ อิทธิฤทธิ์ IMF(พ่อพระ หรือ พ่อมด กันแน่)

บทความ 4 ลงโรงไปหลายวัน คนดูโหรงเหรงกว่าตอนก่อนๆ แถมคนเขียนบทไม่ค่อยว่าง กับเถลไถลไปทำข่าวกีฬาบ้าง สารคดีเกษตรเรื่องข้าวบ้าง เรื่องโรงงานอุตสาหกรรมบ้าง การเงินเรื่องหุ้นบ้าง เลยหายไปหลายวัน

มีกฎหมายที่ออกในช่วง 2541-2542 รวม 11 ฉบับ ซึ่งเป็นไปตาม Letter of Intent ที่มีกับ IMF แล้วถูกโจมตีอย่างสาดเสียเทเสียมากมายว่าเป็น “กฎหมายขายชาติ” เป็นการปล้นชาติเอาไปดื้อๆ มีกระทั่งกล่าวหาว่าเอาไปแลกตำแหน่งใหญ่ใน WTO ให้กับอดีตรองนายกฯ ท่านหนึ่งเลยทีเดียว (ช่างผูกเรื่องกันได้อย่างสวดยวด) และแน่นอนครับ พอเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนพระเอก เอาดอลลาร์ขว้างหัวคืนให้ IMF ก่อนกำหนด พร้อมกับตะโกนสำทับไปด้วยว่า “กลับไป…มึงไม่ใช่พ่อ” ก็เป็นธรรมเนียมที่ต้องทบทวน ตั้งกรรมการขึ้นมา นัยว่าจะรื้อจะยุบกฎหมายชุดนี้เสียให้หมดตามกระแสสังคม แต่แล้วหวยก็ออกพลิกล็อก เมื่อสรุปว่า “ดีแล้ว ชอบแล้ว” เพียงแต่แก้ไขปรับปรุงบางส่วนที่บกพร่องเล็กน้อยก็พอ จนมีข่าวว่าไอ้ IMF นี่โคตรร้าย บ้างก็ว่าแอบกลับมายัดเงิน บ้างก็ว่าใช้อิทธิพลในเวทีโลกมาบีบเรา

วันนี้เรามาดูกันว่าไอ้กฎหมาย 11 ฉบับนี้มันเป็นยังไง ดีเลว ชั่วร้ายขนาดไหน ส่งผลดีผลร้ายต่อระบบโดยรวมอย่างไร ต่อคนกลุ่มไหน คนรวย คนจน เศรษฐี ชาวบ้าน นักธุรกิจดี นักธุรกิจห่วย คนไทย ต่างชาติ ต่างกันอย่างไร

ขอเริ่มด้วยสถานะความเสียหายที่เกิดจาก จากการลงทุนผิดพลาดสะสมยาวนาน ใช้แหล่งทุนผิด และถูกซำ้เติมด้วยค่าเงินที่ลดลงประมาณ 40% ทำให้ภาคเอกชนไทย จำนวนมากอยู่ในภาวะล้มละลาย มี NPL ในระบบรวม 45% (ประมาณ 2.5 ล้านๆ) รวมกับทรัพย์สินที่ติดอยู่กับ ปรส. อีก 850,000 ล้าน มากกว่าขนาด GDP (ประมาณ 3 ล้านล้านในขณะนั้น) เสียอีก อย่างที่เคยบอก ทรัพย์สินที่เป็น NPL จะมีปัญหามาก เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของกันแน่ ไม่สามารถสร้างผลผลิตได้ หรือได้ก็ไม่เต็มที่ ไม่มีการขยายตัว มีแต่จะเสื่อมสภาพเพราะขาดการบำรุงและถูกริดรอนปล้นชิง

ภารกิจสำคัญที่จะต้องทำในการสะสางซากปรักหักพังไปทั่วอย่างนี้ พอจะสรุปได้ดังนี้

  • หยุดเลือดให้ได้ คือหยุดภาวะตื่นตระหนก ให้สถาบันการเงินตั้งหลักได้ มีสเถียรภาพค่าเงิน (ซึ่งก็ทำไปแล้วในตอนก่อนๆ)
  • ทำให้ economic asset ยังคงผลผลิตได้อยู่ เพื่อให้ไม่เกิดการหดตัวอย่างรุนแรง (ปี 2540-2541 GDP หดตัวรวมถึง 12% ต้องใช้เวลาถึงอีก 4 ปี กว่าจะกลับมาที่เดิม) ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานและการบริโภค ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนจนเดือดร้อนมาก และพยายามให้ economic value เสื่อมถอยน้อยที่สุด
  • ต้องสะสางความเป็นเจ้าของ ว่าใครจะได้อะไรในซากปรักหักพังนี้บ้าง หรือพูดอีกมุมหนึ่งก็คือ แบ่งปันความเสียหาย ซึ่งเจ้าภาพที่ต้องรับก็หนีไม่พ้นว่าเป็นเจ้าของกิจการ เจ้าหนี้ทั้งหลาย ทั้งการเงินการค้า รัฐ (ซึ่งหมายถึงประชาชนทั้งหมดนะครับไม่ใช่เฉพาะพวก ครม.) ส่วนพวกแรงงานกับผู้บริโภคก็จะได้รับผลไม่น้อย ทั้งๆ ที่แทบไม่มีบทบาทในเวทีต่อรองเลย
  • ในการสะสางนั้นจะต้องยึดหลักให้ความเป็นธรรม ให้เป็นภาระรัฐน้อยที่สุด และไม่ให้เกิดภาวะ Moral Hazard (แปลง่ายๆ ว่าอย่าให้คนห่วยได้ดี เพราะมันจะส่งเสริมให้คนอยากห่วยอยากชุ่ยแล้วนำไปสู่วิกฤติอีก ไม่รู้แปลถูกไหม ใครรู้ช่วยที)
  • ที่สำคัญฝุดๆ จะต้องหาแหล่งทุนเพิ่มให้ได้ เพราะทุนเดิม (Equity) พังพินาศย่อยยับแทบสิ้น ถ้าไม่มีทุนถึงฟื้นก็อ่อนแอ เจ๊งอีกได้ง่ายๆ และไม่มีทางขยายตัวได้ ซึ่งแหล่งทุนในประเทศพังยับแทบทั้งสิ้น (แม้แต่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็ยับ) ตลาดทุนก็ยังไม่พัฒนา (และก็พึ่งพาต่างชาติกว่าครึ่งอยู่แล้ว) รัฐก็กระเป๋ากลวง จะให้ ธปท. พิมพ์แบงก์ดื้อๆ เหมือน QE ไอ้กันก็กำลังเจอวิกฤติศรัทธา ไม่น่าจะมีใครเชื่อถือ ค่าบาทน่าจะไหลลงไปแถวๆ 100 บาทต่อเหรียญ ดังนั้นก็เลยเหลือทางเลือกเดียว คือต้องทำทุกวิถีทางที่จะอ้อนวอนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนให้ได้ (อ้อนวอนนะครับ ไม่ใช่อนุญาต) และทุนจะสัญชาติใดไม่เห็นสำคัญ ขอให้ลงทุนในไทย จ้างงานไทย สร้าง GDP ไทย แก้ปัญหาในเมืองไทย พัฒนาเทคโนโลยีไทย ก็เป็นแต่ประโยชน์เท่านั้น ผู้ที่เสียหายก็มีแต่เจ้าของกิจการไทยที่ทำเจ๊ง เลยต้องสูญเสีย กับพวกห่วยที่ไม่ต้องการแข่งกับคนเก่ง ถ้าใครยังไม่เข้าใจ รุณากลับไปอ่านเรื่อง Wimbledon ที่โพสต์เมื่อวันจันทร์นะครับ
  • สิ่งที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด คือการยึดทรัพย์สินหรือกิจการมาเป็นของรัฐ แล้วรัฐเข้าดำเนินการเสียเอง ซึ่งผมขอประกาศความเชื่อมั่นเป็นครั้งที่ 100 ว่า “ถ้าให้รัฐทำ ก็มีแต่ ห่วย กับ หาย”
  • เห็นไหมครับ ภารกิจที่ต้องทำมันยากกว่าการรับจำนำข้าวอย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน แถมเป้าประสงค์ก็ยังมีมากมาย ซับซ้อน บางครั้งก็ขัดกันเอง และผมก็ดีใจและคิดว่าถูกต้องแล้ว ที่ไม่มีเป้าประสงค์ไหนที่จะสงวนธุรกิจไว้ให้เศรษฐีไทยเลย (โดยเฉพาะที่ห่วยๆ ทำเจ๊งแล้วเอาแต่โวยวายโทษคนอื่น)

    ทีนี้จะทำให้เกิดกระบวนการที่ว่าได้โดยรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ นอกจากจัดตั้งองค์กรต่างๆ ขึ้นมาทำแล้ว มันจำเป็นจะต้องมีสถาบัน มีกฎหมาย มีกระบวนการที่นำไปสู่เป้าหมายที่ว่า และให้คงอยู่เพื่อป้องกันหรือแก้วิกฤติครั้งต่อไป นั่นก็คือกฎหมาย 11 ฉบับนี่แหละครับ น่าสังเกตว่า มาเลเซียซึ่งไม่เคยพึ่ง IMF เลย (ดร.มหาเด่ย์ ด่า IMF ทุกวันว่า “ไม่ใช่พ่อ” มาก่อนเราตั้งหลายปี) ยังลุกขึ้นมาปรับปรุงกฎหมายพวกนี้ในช่วงนั้นเลย ทั้งๆ ที่ระบบกฎหมายเดิมเขาดีกว่าเรามากเพราะเคยเป็นอาณานิคม

    ผมจะไม่ลงรายละเอียดกฎหมายแต่ละฉบับนะครับ แต่จะวิเคราะห์รวมเป็นกลุ่มๆ ซึ่งมีอยู่ 4 กลุ่ม ดังนี้

    กลุ่มที่ 1 มีอยู่ 5 ฉบับ เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยการล้มละลาย การแก้ไข การแบ่งทรัพย์ การเข้าดูแลควบคุมกิจการ การบังคับคดี ขายทอดตลาด ซึ่งทุกฉบับมุ่งที่จะให้กระบวนการเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และรวดเร็ว ไม่ใช่ต้องใช้เวลากัลปาวสานอย่างแต่ก่อน ซึ่งทำให้ดีขึ้นมากมายแต่ก็ยังไม่ดีพอ เดี๋ยวจะกลับมาว่ากัน

    กลุ่มที่ 2 มีอยู่ 4 ฉบับ ส่งเสริมให้ต่างชาติได้เข้ามาลงทุนได้มากขึ้น ประกอบธุรกิจได้มากขึ้น มีทรัพย์สิน เช่น คอนโด ที่ดินเพื่ออยู่อาศัยในจำนวนจำกัดได้ เช่าทรัพย์สินระยะยาวได้ ซึ่งในทัศนะของพวกค่อนเสรีนิยมอย่างผม ย่อมเห็นเป็นเรื่องดีทั้งนั้น ยังคิดว่าดีไม่พอด้วยซำ้ น่าจะเปิดให้มากกว่านี้ หรือเปิดหมดเสียด้วยซ้ำ ผมนึกไม่ออกว่านายทุนไทยกับนายทุนต่างชาติ เศรษฐีไทยกับเศรษฐีต่างชาติ จะดีเลวต่างกันอย่างไร ถ้าฝรั่งมาแย่งกว้านซื้อที่ดินเกษตร ชาวนาชาวสวนก็ย่อมขายได้ราคาดีกว่ามีเจ้าสัวไทยไม่กี่คนที่กว้านซื้ออยู่ดี (จะแก้ต้องไม่ให้กว้านทั้งหมด) ถ้าฝรั่งจะมาแย่งซื้อคอนโดหรู (ผมไม่เห็นเขาแย่งซื้อแฟลตดินแดงนี่ครับ) ก็มีแค่เศรษฐีไทยที่เดือดร้อนต้องซื้อแพงขึ้น แต่คอนโดที่ค้างคาก็ได้สร้างต่อ มีการจ้างงาน มีกำไรไปจ่ายพนักงานเพิ่ม ถ้ามาซื้อกิจการคุณภาพของก็มักจะดีขึ้น ประสิทธิภาพเพิ่ม เทคโนโลยีทันสมัย ลูกจ้างเก่งขึ้น รวยขึ้น ลูกค้าดีขึ้น ยกตัวอย่าง บล.ภัทร ที่ต้องขายให้ฝรั่ง เพราะบริษัทแม่ไม่รอด พอเปลี่ยนเป็น Merrill Lynch ทุกคนดีขึ้นเก่งขึ้น ได้เรียนรู้มากมาย ผมถึงกับใช้คำว่า “มิน่าล่ะ มันถึงครองโลก” ที่สำคัญรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ลูกค้าก็ได้รับบริการคุณภาพมาตรฐานสากล นี่ถ้าไม่มีวิกฤติพวกเราก็คงจะยังโง่งมงายอยู่เหมือนเดิม เพราะไม่ได้โอกาสที่จะเรียน จะรู้ เรียนกันไปเองแบบ “ตาบอดคลำช้าง”

    กฎหมายกลุ่มที่ 3 มีอยู่ฉบับเดียว คือ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ที่เอื้อให้การแปรรูปเป็นไปได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่ได้บังคับให้แปรรูปแต่อย่างใด เพราะการแปรรูปถือเป็นนโยบายสำคัญมาตั้งแต่แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 เพียงแต่ไม่ค่อยทำ เพราะมันขัดผลประโยชน์ผู้มีอำนาจ ก็เลยให้มีกฎหมายให้ทำได้สะดวก การแปรรูปฯ เลยถูกตราหน้าว่าเป็นการขายชาติ NGO พวกประชาสังคม พากันค้านหัวชนฝา กรีดเลือดค้าน เข้าทางพวกนักกินเมืองได้อย่างน่าอัศจรรย์ เรื่องแปรรูปรัฐวิสาหกิจนี้เป็นเรื่องยาว มีประโยชน์มาก ผมต้องขอแยกไว้ว่ากันวันหน้า ใน 30 ปีที่ผ่านมามีการแปรรูปกว่า 30,000 รายการ ใน 120 ประเทศทั่วโลก ไม่รู้ว่ามันจะตั้งหน้าตั้งตา “ขายชาติ” กันอย่างทั่วถึงทุกมุมโลกได้อย่างไร

    กฎหมายฉบับสุดท้ายเป็นเรื่องประกันสังคม ปรับปรุงการคุ้มครอง รวมทั้งสิทธิประโยชน์ผู้เอาประกัน ถูกรวมมาเป็นกฎหมายขายชาติได้อย่างสุดมั่ว ไม่เกี่ยวกันเลย ไม่รู้ว่าผู้ประท้วงกลัวว่า 10 ฉบับมันดูน้อยไป หรือไปดูหมอมาว่าต้องเลข 11

    โดยรวมผมค่อนข้างมั่นใจว่ากฎหมายทุกฉบับเป็นเรื่องดี อย่างน้อยดีขึ้น ผมกลับคิดว่าเราต่อรองมากไปเสียด้วยซำ้ เลยยังไม่ได้มาตรฐานสากล เช่น ลูกหนี้ยังมีอำนาจต่อรองมากเกินไป เอาเปรียบเจ้าหนี้ (โดยเฉพาะรายย่อย) ได้มาก คนคิดว่าเจ้าหนี้ได้เปรียบลูกหนี้ แต่ในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม มีหลายรายที่ลูกหนี้สามารถใช้เทคนิคกฎหมายร่วมมือกับเจ้าหนี้ใหญ่ ทำให้เจ้าหนี้ย่อยเสียหายกว่าครึ่ง โดยที่ผู้ถือหุ้นยังเหลือเป็นหมื่นล้านบาท กระบวนการก็ยังล่าช้า ยื้อได้เป็น 10 ปี ยึดทรัพย์ก็ร่วม 5 ปี ล้มละลายแค่ 3 ปีก็พ้น มีการล็อบบี้กันวุ่นวายทุกขั้นตอน ทั้งการร่าง วุฒิสภา สื่อ ฯลฯ (แถมมีการนินทาหนาหูว่าลูกหลานของผู้มีส่วนสำคัญในการยกร่างประกอบอาชีพรับแก้หนี้ รวยปลิ้น) ในเวลานั้น NPL ทั้งระบบร่วมครึ่ง ในทางการเมืองพอรับได้ เพราะต้อง protect ตามสมควร แต่ผลข้างเคียงทำให้ต้นทุนตัวกลางการเงินสูงขึ้น และการเข้าถึงทรัพยากรของ SMEs และรากหญ้าเป็นปัญหา มาวันนี้น่าจะยกขึ้นมาปรับปรุงได้แล้วครับ เพราะ NPL เหลือไม่ถึง 5% ไปคุ้มครองโดยต้นทุนของทั้งระบบมันไม่คุ้มครับ (อีกและ รายละเอียดขอว่ากันวันหน้า)

    นอกจากเรื่องกฎหมายขายชาติ มีมาตรการอีกสองด้านของ IMF ที่ถูกโจมตีมาก ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าพลาดและปรับปรุงไปในภายหลัง คือ เรื่องวินัยการคลังและอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นเรื่องไม่ได้ตั้งใจให้แย่ แต่พระเอกดันเผลอเดินสะดุดขา แถมเอาศอกกระทุ้งเข้าเบ้าตานางเอก ทำเอาตาเขียว แต่ก็หอมแก้มขอโทษโดยการผ่อนคลายมาตรการเข้มข้นต่างๆ ลงอย่างรวดเร็วหลังจากเสถียรภาพกลับมา

    วันนี้เขียนยาวอีกแล้ว อ่านทวนดูรู้สึกว่าไม่ค่อยมัน สงสัยเรตติ้งจะตกเยอะครับ

    ตอนหน้าพระเอกชุดสุดท้าย (พวกไทยรักไทย) จะออกโรงเพื่อมาฟื้นฟู (รวมทั้งฟื้นฝอย) แล้วก็คงจะสรุป บทเรียนเป็นตอนอวสานเสียที นอกจากเรตติ้งจะยังดีมีแฟนเรียกร้อง ก็อาจขยายเป็นสองตอนนะครับ

    (อ่านต่อตอนที่ 6)
    หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 12กรกฎาคม 2556