ThaiPublica > คอลัมน์ > รวมเรื่องมหากาพย์ “วิกฤติต้มยำกุ้ง”(1): 16 ปีแห่งความหลัง

รวมเรื่องมหากาพย์ “วิกฤติต้มยำกุ้ง”(1): 16 ปีแห่งความหลัง

6 กรกฎาคม 2017


บรรยง พงษ์พานิช

บทความนี้เขียนเมื่อเมื่อสี่ปีก่อน ตอนที่เริ่มเขียน Facebookใหม่ๆ ผมได้เขียนบันทึกความทรงจำในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ไว้อย่างยาว 7 ตอน ในวาระที่ครบ 20 ปี ผมขอเอามารวบรวมไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่งนะครับ เผื่อคนที่สนใจและยังไม่ได้อ่าน

วันนี้ตื่นแต่เช้าตรู่ สิ่งแรกที่นึกถึงก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้เมื่อ 16 ปีที่แล้ว เป็นอันว่าได้เล่าเรื่องเก่าอีกวัน (สงสัยจะแก่จริง)

2 ก.ค. 2540 ผมถูกโทรศัพท์ปลุกตั้งแต่ตีห้าครึ่ง โดยอาจารย์เปี๋ยม (ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ) โทรมาบอกว่า แบงก์ชาติปลุก CEO ธนาคารทุกคนให้ไปประชุมตอน 7 โมงเช้า น่าจะมีการลดค่าเงิน ปรากฏว่า อ.เปี๋ยมคาดผิดไปนิดหนึ่ง เขาไม่ได้ลดค่าเงิน แต่เขาลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งมันก็ลอยลง ลอยลง อย่างรวดเร็ว จาก 25 บาทต่อ US$ เป็น 40 เป็น 50 ไปโน่นเลย

นั่นเป็นฉากเริ่มต้นของหนังยาวที่ชาวไทยจำได้ดี เพราะเป็นหนังที่รวบรวมทั้ง drama, thriller, adventure, โศกเศร้ารันทด, สยองขวัญ ครบทุกรสชาติ (ยกเว้น comedy เพราะขำไม่ออกเลยจริงๆ)

16 ปีผ่านไป เรามาย้อนดูอีกทีว่าเกิดอะไรขึ้น ใครกันวะ (ที่ไม่ใช่กู) ทำให้มันฉิบหาย

หลายคนโทษพ่อมดการเงิน คุณพี่ Soros และชาวคณะ hedge fund ที่ทยอยโจมตีค่าเงินบาทหลายระลอก หลายคนโทษ ธปท. ที่ต่อสู้ยิบตาจนหมดหน้าตัก บางคนไพล่ไปโทษจีน ที่บิ๊กจิ๋ว (พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ) ส่งคนไปขอยืมแค่หมื่นล้านเหรียญแล้วไม่ให้ มีแม้กระทั่งมาโทษผมว่าเป็นที่ปรึกษาควบรวม “ไทยทนุ-ฟินวัน” แล้วไม่สำเร็จ ฯลฯ เวลาผ่านไป เรามาดูว่าเกิดอะไรขึ้น ใครทำกันวะ เราเรียนรู้อะไร

ทั้งหมดต่อจากนี้เป็นการวิเคระห์ของผมและทีมภัทรฯ เชื่อไม่เชื่อพิจารณากันเองนะครับ

“วิกฤติเศรษฐกิจ 2540 มีสาเหตุจากปัญหาการลงทุนผิดพลาดอย่างกว้างขวางทั่วไป ในระบบเศรษฐกิจไทย ในภาคเอกชน โดยใช้แหล่งเงินทุนที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นปัญหาสะสมมากว่า 5 ปี (1991-1996)”

ความจริงเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจนี้ ผมเล่ามาหลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระ จนแทบจะเป็นจุดขายหลักอันหนึ่งของผม (หาอ่านได้ในหลายที่ เช่น ไทยพับลิก้า) แต่วันนี้จะลองไล่ในเวอร์ชันใหม่ โดยมุ่งประเด็นว่า ใครทำ ใครผิด

  • มันต้องเริ่มไปโทษโน่นเลยครับ คุณปู่ Reagan กับ คุณป้า Thatcher ที่ริเริ่ม deregulation (ผ่านคลายการควบคุมของรัฐ) ในช่วงต้นทศวรรษ 1980’s ทำให้เกิดการไหลเวียนของเงินทุนเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก เป็นจุดเริ่มต้นของ Globalization
  • แล้วคุณปู่ Reagan ก็ทำผิดซ้ำซ้อน เพราะไป force ให้เกิด Plaza Accord ในปี 1985 ทำให้ พี่ยุ่นถูกบีบให้ย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศ เพราะค่าเงินเย็น แข็งพรวดพราดจาก 300 มาเป็น 100 เยน ต่อเหรียญ
  • ทีนี้ก็มาถึงคิวของป๋าเปรม กับ ปู่สมหมาย ที่ดันทำให้ประเทศมีเสถียรภาพทั้งการเมือง การคลัง แถมเกิดซวย พบแก๊สธรรมชาติอีกเยอะแยะ แล้ว อ.เสนาะ อูนากูล ก็ดันผลักดันโครงการ Eastern Seaboard ได้สำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อเสียอีก พี่ยุ่นก็เลยทะลัก ย้ายฐานการผลิตเข้าไทยอย่างไม่บันยะบันยัง (ไม่ยักกะบันยง) จนเกิดยุค “โชติช่วงชัชวาล” ขึ้นอย่างช่วยไม่ได้ (1986-1990)
  • ไอ้พวกนักลงทุนสถาบันต่างชาติก็แย่ ตลาดหุ้นเราซบเซา เงียบสงบอยู่ดีๆ มาได้ 7 ปี หลังยุคราชาเงินทุน หุ้นราคาก็ดี P/E 3-4 ดันเข้ามาแย่งซื้อ หุ้นขึ้นอื้อ 60-70% ต่อปี ตลาดไทยเลยกลายเป็นแถวหน้าของ Emerging Market ในช่วง 1986-1991
  • พวกเจ้าประคุณนักลงทุนไทยก็ช่างโลภมาก ลงแชร์แม่ชม้อย แม่นกแก้ว Charter อยู่ดีๆ ดันย้ายแห่ตามมาลงตลาดหุ้น จนแชร์แม่ๆ ลูกโซ่ขาด ล้มระนาวเดือดร้อนกันไปทั่ว
  • ทางการไทยก็ห่วย ดันไปจัดตั้ง ก.ล.ต. ขึ้นในปี 1992 ทำให้เกิดความคาดหวังว่าระดับมาตรฐานตลาด บรรษัทภิบาล กฎเกณฑ์ต่างๆ จะถูกพัฒนาจนได้มาตรฐานสากล ไอ้พวกฝรั่งเลยเกิดความมั่นใจ แห่ทะลักเพิ่มอีกหลายเท่าทวีคูณ
  • ทีนี้ ไอ้เงินท่วมโลกพยายามจะเข้าไทยที่เนื้อหอมสุดๆ ทำได้ไม่ค่อยสะดวก เพราะควบคุมจุกจิก รัฐบาลท่านชวน-ธารินทร์ ก็เลยผลิตนวัตกรรมสุดสร้างสรรค์ BIBF ขึ้นในปี 1993 นัยว่าเพื่อเป็นไปตามกระแสเปิดเสรี เงินให้กู้ (ส่วนใหญ่ระยะสั้น) ก็เลยไหลทะลักเข้าไทยอย่างล้นหลาม (โดยไม่ต้องพึ่ง QE) จนศิริรวมได้เกือบหนึ่งแสนล้านเหรียญในปี 1996 (เกือบเท่า GDP ตอนนั้น)
  • ไอ้ตลาดหุ้นตัวร้ายก็ดันขยันสุดๆ ระดมทุนให้บริษัทไทยลงทุนได้มากมาย ตลาดแรกระดมได้ถึงเกือบล้านล้านบาท เลยเกิดเจ้าสัวไทยขึ้นอย่างมากมาย มีการลงทุนทุกหัวระแหง แทนที่จะต้องรอแต่ฝรั่ง ญี่ปุ่น นายแบงก์ ปูนฯ อย่างแต่ก่อน
  • ไอ้เตากับพวกภัทรนั่นแหละตัวดี ดัน underwrite หุ้นออกมาได้ตั้งเกือบ 500,000 ล้านบาท ในช่วง 1987-1996 แถมคุยโม้ว่าทำประโยชน์ ทั้งๆ ที่ไอ้ 500,000 ล้านนั่น มีค่าเหลือแค่หนึ่งในสามหลังเกิดวิกฤติ. (ถ้าถามว่าใครมีส่วนร่วมทำให้เกิดวิกฤติบ้าง ผมก็จะยกมือสุดแขน ถามว่ามีส่วนพลาดไหม ยอมรับว่ามาก แต่ถ้าถามว่าทำชั่วคิดชั่วไหม เถียงกันจนตายก็ไม่ยอมรับ)
  • ความจริงในช่วงประมาณ1992-1993 ธปท. เคยเป็นห่วง เรื่องโอเวอร์ฮีตของเศรษฐกิจ ถึงกับออกมาตรการจำกัดการขยายตัวของสินเชื่อ (สมัยคุณวิจิตร) แต่แป๊บเดียว ก็ถูกนักการเมืองขู่ฟ่อ เพราะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ไม่เติบโตเท่าที่ควร ก็เลยรีบถอนมาตรการแทบไม่ทัน เพราะกลัวโดนปลดเหมือนผู้ว่ากำจร สถิรกุล ที่บ้าหลักการไม่รู้จักลู่ลม
  • ตลาดหลักทรัพย์ก็กลัวไม่มีสินค้า อนุญาตให้อุตสาหกรรมพื้นฐานเข้าตลาดได้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม เป็นแค่กระดาษ แผนการเท่านั้น เช่น เหล็ก ทองแดง ฯลฯ พวกนี้เป็น NPL 100% ในภายหลัง
  • เศรษฐกิจไทยก็เลยติดเทอร์โบ บูมสุดขีดในช่วง 1987-1995 อัตราเติบโตเฉลี่ยร่วมสิบเปอร์เซนต์ ทุกคนร่าเริงแจ่มใส ชี้นกเป็นเงิน ชี้ไม้เป็นทอง ทำอะไรก็กำไร ได้เงินง่ายๆ
  • ความจริงตัวเตือนก็ค่อนข้างชัด current account ของเราติดลบ 7-8% (แปลว่าใช้มากกว่าสร้าง) ต่อเนื่องมาหลายปี แต่ก็ถูก finance ด้วยเงินกู้กับเงินซื้อหุ้น อย่างที่บอกแหละครับ แล้วนักเศรษฐศาสตร์ระดับอาจารย์ ระดับโหรฯ อีกหลายท่านก็ออกมานั่งยัน ยืนยัน นอนยัน ว่าไม่มีอะไรน่ากลัว เพราะเราเอามาลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องดี พอผลผลิตออก เราก็จะมั่งคั่ง คืนเขาแล้วยังจะเหลือเยอะ ถึงเวลาพ้นกับดักการพัฒนาเสียที เอ้าเฮ…ลงทุนเข้าไป
  • ทีนี้พอครึ่งหลังปี 1996 อาการชักออก ภัทรฯ (โดยคุณธีระพงษ์ วชิรพงษ์) ทำวิเคราะห์พบว่า บจ.ในตลาดฯ มีถึงกว่า 180 บริษัทที่มี EBITDA ตำ่กว่า ดอกเบี้ยจ่าย (แปลว่าดอกเบี้ยยังจ่ายไม่ได้เลยอย่าว่าแต่คืนเงินต้น NPL แหงๆ) รวมแล้วประมาณว่า 32% ของเงินกู้ของ บจ. ทั้งหมดจะเป็น NPL
  • สามพวกก็เห็นอาการก่อน คือ ธนาคารต่างประเทศที่ให้กู้ระยะสั้นเริ่มเรียกคืน นักลงทุนสถาบันต่างประเทศเทขายจนหุ้นตกระเนระนาดตั้งแต่ต้นปี 96 แล้วพวกนกแร้ง (hedge fund) ก็เข้าโจมตีค่าเงินเป็นระลอก ตั้งแต่ปลายปี 96 สถาบันการเงินเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง คนขาดความมั่นใจ
  • เช่น ทุกครั้งที่เริ่มเกิดวิกฤติ เราจะต้องตั้งสมมติฐานก่อนว่าเป็นวิกฤติสภาพคล่อง (liquidity crisis) วิกฤติความมั่นใจ เลยต้องแก้โดยการอัดเงินสู้ เรียกร้องให้มั่นใจ ซึ่งก็เลยเรียกร้องได้แต่คนไทย ฝรั่งเขาไม่มั่นใจด้วย เช่น มีนักเศรษฐศาสตร์ชั้นยอดของ CLSA วิเคราะห์ว่าไทยไปไม่รอดแน่ ก็ส่งสันติบาลเข้าค้นบ้าน จะเนรเทศ จนเขาต้องเผ่น แล้วก็เลยโด่งดังระดับโลกในเวลาต่อมา The Economist ดันขึ้นหน้าปกว่า The Fall of Thailand เราก็ห้ามขายในประเทศ (นี่แหละครับผมถึงสงบเสงี่ยมเจียมตัว ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ กลัวถูกเนรเทศน่ะ บ้านก็เพิ่งสร้างเสร็จ แม่ก็อายุ 90 แล้ว)
  • แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงมันเป็นวิกฤติการดำรงอยู่ solvency crisis (เรียกง่ายๆ ว่าเจ๊งอย่างกว้างขวางแหละครับ) ถึงเวลาเงินก็หมดหน้าตัก ความมั่นใจหลอกๆ ก็สร้างไม่ได้อีกต่อไป เอวังก็เกิดในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ไงครับ
  • ถามว่า แล้วอะไรมันผิดไปวะ ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ชั้นครูทั้งหลายที่ ธปท. รวมทั้งท่านโหรเศรษฐกิจทั้งหลายจึงดูไม่ออก

    ผมยกให้ Fixed Foreign Exchange Rate เป็นผู้ร้ายอันดับหนึ่งของหนังเรื่องนี้ พอเราเปิดเสรีให้เงินไหลเข้ามาทุกทาง แต่ไม่เปิดเสรีค่าเงิน มันก็เลยบิดเบี้ยวเงินเฟ้อก็ไม่สูง เพราะพวก tradable goods ราคาไปตามตลาดโลก แต่เหมือนลูกโป่งแหละครับ พออัดเงินเข้า ราคาของ non-tradables ก็เกิดฟองสบู่ (ได้แก่พวกอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก โรงพยาบาล สาธารณูปโภค ฯลฯ) ก็เลยกำไรมาก การลงทุนภาคนี้พุ่ง โดยใช้เงินกู้ระยะสั้นจากต่างประเทศมาลงระยะยาวในกิจการที่ไม่มีรายได้ต่างประเทศ อุปสงค์แท้จริงก็ไม่มี ลงทุนไปเยอะ แต่ output ไม่เพิ่ม มันก็เลยเจ๊งไม่เป็นท่าอย่างที่เห็น ผมยังนึกขอบคุณคุณพี่ Soros อยู่เลย ถ้าท่านไม่มา เราอาจจะยื้อได้อีกพัก แต่สุดท้ายก็แป้กอยู่ดีและจะเจ็บใหญ่ เจ็บหนักกว่านี้แน่นอน (นี่คือประโยชน์แท้จริงของ hedge fund คือช่วยตรวจช่วยปรับความผิดปกติในระบบเศรษฐกิจ)

    ที่เขาว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ที่เกิดอย่างโด่งดัง เริ่มที่เรา แล้วเป็นโรคระบาดไปทั่ว เกาหลี มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ติดโรคไปหมด จริงๆ แล้วไม่ใช่โรคระบาดหรอกครับ มันกินของแสลงเหมือนๆ กัน คือไอ้ fixed exchange rate นี่แหละครับ มันเลย “อาหารเป็นพิษ” ไปทั่ว

    เห็นไหมครับ การไปบิดเบือนกลไกตลาดในบางครั้ง แม้จะทำโดยเจตนาดี เจตนาบริสุทธิ์ ก็สามารถทำให้เกิดผลร้ายได้ยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ ผมก็ได้แต่หวังว่าการบิดเบือนตลาดข้าวครั้งยิ่งใหญ่ในครั้งนี้จะไม่ก่อปัญหาวิกฤติร้ายแรงใดๆ ท่านน่าจะเก่งกาจสุดยอดจน “เอาอยู่ ” ทั้งควบคุมตลาดโลกได้ ลดรั่วไหล สร้างประสิทธิภาพ (อ้าว…ไอ้เตา แวะไปอีกละ…เดี๋ยวโดนเนรเทศหรอกมึง)

    วันนี้ฝอยยาวมากกก…ตั้งแต่เจ็ดโมงเช้ายันสิบโมง ยังไม่ได้ว่าถึงกระบวนการแก้ปัญหาและบทเรียนเลย ต้องยกยอดวันหน้าอีกแล้ว แค่ควานหาคนผิดก็ปาเข้าไปครึ่งโลก นี่ถ้าจับเข้าคุก ยึดทรัพย์ได้หมด ก็คงคุก ทรัพย์ล้นคลัง ไม่ต้องกู้ 2 ล้านล้าน ดันไปไล่เอาจากคุณเริงชัยคนเดียว เลยไม่ได้อะไร เพราะท่านไม่มี ไม่เคยโกง

    ไปทำงานละ ไม่รู้ว่าโดนไล่ออกจากงานกับโดนเนรเทศนี่ อย่างไหนจะเกิดก่อนกัน

    (อ่านต่อตอนที่ 2)
    หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุก Banyong Pongpanich วันที่ 2 กรกฎาคม 2556