ThaiPublica > คอลัมน์ > รวมเรื่องมหากาพย์ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” (3)

รวมเรื่องมหากาพย์ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” (3)

6 กรกฎาคม 2017


บรรยง พงษ์พานิช

บทความนี้เขียนเมื่อเมื่อสี่ปีก่อน ตอนที่เริ่มเขียน Facebookใหม่ๆ ผมได้เขียนบันทึกความทรงจำในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ไว้อย่างยาว 7 ตอน ในวาระที่ครบ 20 ปี ผมขอเอามารวบรวมไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่งนะครับ เผื่อคนที่สนใจและยังไม่ได้อ่าน

บทความตอนที่สอง คนมา share มา like เหลือ 600 จากตอนแรก 1400 แต่คิดดูยังน่าคุ้มทุน เลยตัดสินใจถ่ายทำภาค 3 (ถ้าลดตำ่กว่า 500 ก็คงต้องลาโรง เดี๋ยวเจ๊งเหมือนหนังท่านมุ้ย)

ตอนนี้น่าจะวิชาการหน่อยนะครับ เพราะจะว่าถึงกระบวนการแก้ปัญหาของเหล่าพระเอกทั้งหลายที่มาร่วมชุมนุมกัน ใช้เวลาร่วม 2 ปีกว่าจะตั้งหลักเดินได้อีก

ผมและ ดร.ศุภวุฒิ ค่อนข้างโชคดีที่มีโอกาสรับรู้ค่อนข้างใกล้ชิดในระดับริงไซด์ (ไม่ได้เพื่อเอาอินไซด์ไปหาประโยชน์อะไรนะ…ดักคอพวกจิตอกุศลไว้ก่อน) เพราะเราทำวิเคราะห์ วิจัยไว้เยอะ ตั้งแต่ก่อนวิกฤติ มีข้อมูลที่ทางการไม่มีอยู่เยอะ แค่ปลายปี 96 เราก็ค่อนข้างฟันธงว่าประเทศไทยน่าจะกำลังเดินหน้าเข้าสู่วิกฤติการเงิน ถึงจะมีความหวังบ้างว่าอาจจะมี soft landing (คำเพราะที่ไม่เคยเห็นมีใครทำได้สำเร็จ…รอดูจีนละกัน) แต่ก็ดูริบหรี่ เพราะการกัดลูกปืน (bite the bullets) ก่อนเกิดฉิบหายไม่เป็นที่นิยมของชาวประชา ไม่เคยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไหนทำได้ (จีนถึงมีหวังไง)

ฝ่ายวิจัยของภัทรฯ ทำเปเปอร์เรื่องนี้ไว้เยอะตั้งแต่ปลายปี 96 อ.เปี๋ยมถึงกับแวะไป World Bank ที่ DC เพื่อหาข้อมูลบทเรียนของวิกฤติที่เกิดก่อนเรา เช่น เม็กซิโก สวีเดน เราค่อนข้างมั่นใจว่าค่าเงินเอาไม่อยู่ แล้วสถาบันการเงินก็จะต้องมีปัญหาแน่ (ตอนที่แล้วเล่าถึงงานวิเคราะห์ของคุณธีระพงษ์ วชิรพงศ์ แล้ว) น่าเสียดายที่เราตัดสินใจไม่เผยแพร่บทความอย่างกว้างขวาง เพราะกลัวว่าท่านๆ จะหาว่ามาทำลายความมั่นใจของมหาชนที่พวกท่านกำลังสร้างกันอยู่ แล้วพอเกิดวิกฤติก็คงถูกใส่เกลียวเขาให้เป็นแพะ เป็นตัวการ ถูกรุมกระทืบตามธรรมเนียมสังคมไทย เหมือนพวกวิจารณ์เรื่องข้าวเน่า ข้าวเสีย ที่ทำให้ข้าวไทยขายไม่ออกไง (อ้าว…แวะไปอีกและ ไอ้เตา)

เราได้เอาเปเปอร์ของเราไปนำเสนอให้กับลูกค้าสำคัญหลายคน รวมทั้งทางการ ทั้งคลัง ทั้งแบงก์ชาติ ซึ่งบ้างก็เชื่อบ้างก็ไม่เชื่อ เพราะคนอื่นๆ โหรเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงสุดยอด ท่านก็ต่างยืนยันว่าไม่น่าห่วง เรายังโชติช่วงอยู่ โดยเฉพาะทางการประสานเสียงเดียวกันว่า “รู้แล้ว กำลังแก้อยู่ พวกมึงหุบปากได้ไหม อย่าโวยวายไป” สำหรับลูกค้าที่เชื่อก็ปิด position เงินกู้ต่างประเทศ หรืออาจสร้าง position ตรงข้ามบ้าง ทำให้ไม่เจ็บหนัก แก้ไม่ยากภายหลัง และแน่นอน เราต้องเสนอต่อบริษัทชินคอร์ป ซึ่งเป็นลูกค้าสำคัญที่สุดรายหนึ่งตลอดมา ดร.ทักษิณ ท่านเห็นด้วยกับงานวิเคราะห์ของเรา ทำให้ไม่มีความเสียหายจากค่าเงินเลย ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าท่านได้อินไซด์จาก ดร.ทนง ก่อนลดค่าเงิน ไม่น่าจะมีมูลความจริง เพราะท่าน clear position ตั้งแต่ต้นปี ก่อนวิกฤติตั้งนาน ท่านเชื่อเราต่างหาก

ที่น่าเจ็บใจ น่าเขกกบาลสุดแรงก็คือตัวเราเอง ทำเป็นแสนรู้ขนาดนี้ ปิด position เงินกู้ต่างประเทศ แต่เราก็ยังคาดการณ์ความรุนแรงของวิกฤติผิดไปเยอะ เพราะ บงล.ภัทรธนกิจทำเพียงแค่หยุดการเติบโต ผมไม่สามารถ convince ให้หดตัวอย่างรวดเร็วรุนแรงได้ เราถึงต้องปิดตัวเองลงในปลายปี 2542 (ยื้อต่อได้แค่ 2 ปีเศษ)

พอเกิดวิกฤติ เราก็เลยได้มีโอกาสร่วมให้ข้อมูลความเห็นกับทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ได้พบพูดคุยกับ ทีม IMF, World Bank, ADB คุณ Kerrigan (อดีตประธาน FED NY ที่ปรึกษาคุณธารินทร์) แม้กระทั่ง Krugman ผู้โด่งดังจากวิกฤตินี้ แวะมาเมืองไทยยังแวะคุยกับเรา ส่วนทางการเราก็ได้ร่วมให้ข้อมูลรวมทั้งเสนอมาตรการต่างๆ ที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์ ทั้งที่ถามมา หรือเราเสนอหน้าเอง (ก็รักชาติ อยากช่วยชาตินี่ครับ) ส่วนใหญ่ก็เป็น ดร.ศุภวุฒิแหละครับ ผมคอยติดตามเพราะสอดรู้สอดเห็น และขอยืนยันว่าเราไม่เคยได้รับข้อมูลที่ไม่สมควรเป็นการตอบแทนใดๆ เลย

เล่าเบื้องหลังการถ่ายทำเสียยืดยาวขอกลับเข้าสู่ฉากหลักครับ

พอเปลี่ยนรัฐบาลเพราะแก๊งงูเห่า ลงนาม LOI ฉบับที่ 2 เมื่อ 25 พ.ย. 2540 ทาง IMF ก็ส่งทีม rescue นำโดยพระเอกหัวเกรียน Hubert Neiss มาประจำประเทศไทย ร่วมกับรัฐแก้ปัญหา ซึ่งแน่นอนที่สุด ระยะแรกจะต้องหยุดยั้งความระส่ำระสาย สร้างเสถียรภาพให้เกิดให้ได้ โดยเฉพาะระบบการเงิน ซึ่งเป็นทั้งต้นเหตุและเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจอยู่

วิกฤติครั้งนั้นเป็นวิกฤติภาคเอกชน ซึ่งกู้หนี้ยืมสินระยะสั้นจากต่างประเทศมาลงทุนแล้วไม่มีผลผลิตออกมาให้คุ้มกับที่ลง พอเขาขอเงินคืนก็เลยคว่ำ (ไม่เหมือนภาครัฐนะครับ เจ๊งแค่ไหนก็ยื้อต่อได้ เช่น Airport Link, Elite Card เงินภาษีซะอย่าง ไอ้เตา…ไปอีกละ กลับม้าาา) ทีนี้พอลดค่าเงินก็เลยเจ๊งลึกใหญ่ เพราะกู้เขามา 100,000 ล้านเหรียญ ตอนกู้ได้บาท 2.5 ล้านล้าน แต่พอเขาขอคืนที่ 50 บาทต่อเหรียญ ต้องคืน 5 ล้านล้าน ส่วนใหญ่ก็ต้องชักดาบ ไม่มีคืน ถ้าเป็นเอกชนก็พักหนี้ เจรจากันไป แต่ถ้าเป็นสถาบันการเงินเบี้ยวไม่ได้ ระบบล่ม รัฐจึงต้องเข้าช่วย เข้าคำ้ ต่อท่ออัดเงินเข้าไปตลอด เงินสำรองก็เหี้ยน เลยต้องไปแปะ IMF ไงครับ (มาเลเซียโชคดีที่คว่ำโดยยังไม่โดนโจมตี ไม่ทันได้สู้ สำรองไม่ร่อยหรอ คุณพี่มหาเด่ย์ เลยทำเท่ได้ ไม่ต้องพึ่ง แถมด่า IMF ทุกวัน ใช้ Capital Control แก้ปัญหาแทน แถมโชคดีนำ้มันขึ้น เลยฟื้นเร็ว ขืนเราทำตามเละหยั่งเขียดแน่ ไม่รู้ป่านนี้ฟื้นหรือยัง)

ถึงจะทำงานกันอย่างหนัก แต่กว่าจะสร้างเสถียรภาพได้ก็ล่วงไปไตรมาส 2 ปี 2541 ค่าเงินเริ่มขึ้นจาก 55 บาทต่อเหรียญมาอยู่แถวสี่สิบต้นๆ แล้วก็เริ่มดุลยภาพแถวนั้น ไม่ผันผวนมากอีกร่วมสิบปี ก่อนจะค่อยๆ แข็งขึ้นมาให้ผู้ส่งออกที่ไม่เคยคิดจะปรับปรุงผลิตภาพร้องโอ๊กอยู่ทุกวันนี้

จากนี้จะขอเล่าการแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ ไม่เล่าตามไทม์ไลน์แล้วนะครับ

เรื่องแรกที่สำคัญที่สุด คือเรื่องระบบสถาบันการเงิน ตอนเกิดวิกฤติ มีเงินให้กู้ทั้งระบบอยู่ประมาณ 6 ล้านล้านบาท ซึ่งโดยเฉลี่ย สถาบันการเงินจะมีเงินกองทุนอยู่ประมาณ 12% คือ 700,000 ล้าน สุดท้าย NPL เราไปหยุดที่เฉลี่ย 45% คือ 2.7 ล้านล้านบาท โดยทั่วไปในวิกฤติเศรษฐกิจ NPL recovery rate อย่างเก่งก็ได้ 55% (สวีเดน ส่วนเม็กซิโกได้แค่สี่สิบกว่าๆ เอง) คือจะเสียหายครึ่งหนึ่งซึ่งก็คือ 1.35 ล้านล้าน ซึ่งมากกว่าเงินกองทุนอยู่ 650,000 ล้าน โดยหลักแล้วรัฐที่เป็นผู้คำ้ประกันเงินฝากและหนี้สินจะต้องรับภาระส่วนนี้ (นี่ประเมินคร่าวๆ นะครับ เพราะจริงๆ รัฐเสียหายรวมจากการแก้ปัญหาสถาบันการเงิน 1.4 ล้านล้านบาท จากกองทุนฟื้นฟูฯ ไม่รวมดอกเบี้ย อาจได้คืนบ้างจากทรัพย์สินที่มีอยู่…ธปท. น่าจะประกาศบ้างเป็นระยะนะครับ เหมือนที่เรียกร้องให้เขาประกาศเรื่องข้าวน่ะครับ) และไม่มีสถาบันการเงินไทยไหนเลยที่มี NPL ตำ่กว่า 40% และมีเงินกองทุนเกิน 15% สรุปได้ว่า ทุกแห่งมีเงินทุนติดลบ ซึ่งแปลว่า ในที่สุดจะเจ๊งเรียบ รัฐซึ่งเป็นผู้คำ้จะต้องเข้ายึดเป็นของรัฐหมด

เรื่องความเสียหายเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การที่จะต้องมีระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพเพื่อหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจสำคัญกว่า และถ้าทุกธนาคารเป็นของรัฐทั้งหมด ลองนึกภาพว่า เรามีแต่ธนาคารอิสลาม ธนาคาร SMEs อาคารสงเคราะห์ ออมสิน สิครับ มันเป็นที่ยอมรับทั่วโลก แล้วว่าถ้ารัฐทำ ไม่ห่วย ก็เ-ี้ย หรือของขาด ทีนี้เลยเป็นโจทย์ใหญ่แสนยากของคลัง ธปท. และ IMF ว่าทำอย่างไรจึงจะให้ระบบคงอยู่ และยังเป็นของเอกชนในสัดส่วนที่สูง โดยที่จะต้องไม่เข้าไปอุ้มผู้ถือหุ้น หรือผู้บริหาร อย่างไม่สมควร ซึ่งพระเอกของเราทำได้สำเร็จ เป็นเรื่องของฝีมือ เก่ง บวกด้วยเฮงด้วยอีกนิดหน่อย ขอขยายให้ฟัง

  • ขั้นแรกถึงจะเจ๊งหมด ก็ต้องแกล้งบอกว่ายังไม่เจ๊งก่อน เพราะไหนๆ รัฐก็คำ้แล้ว วิธีการก็คือ แทนที่จะให้บันทึกความเสียหายทั้งหมดในคราวเดียว ก็ยอมว่า ถ้าหนี้ค้างยังไม่ถึง 12 เดือน ก็ถือว่ายังไม่เสียมาก (แค่ตุๆ) ไม่ต้องตั้งสำรองเต็มที่ แถมการตั้งสำรองก็ให้เวลาตั้งสามปีห้าปี มาตรฐาน BIS ยกเว้นให้ก่อน ซึ่งเป็นการซื้อเวลา ให้ไปแก้คุณภาพสินทรัพย์ทางหนึ่ง กับให้ไปหาเงินมาเพิ่มทุนที่ติดลบอีกทางหนึ่ง (ดูเผินๆ คล้ายโครงการจำนำข้าวที่บอกว่าไม่ขายไม่ขาดทุน เพียงแต่วัตถุประสงค์ ความโปร่งใส ชัดเจนกว่าเยอะ)
  • กระนั้นก็ตาม ถ้าธนาคารไหนไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้ฝากเงิน และผู้ให้กู้ได้ ต้องใช้เงินช่วยที่ ธปท. ต่อท่อให้เกินระดับทำให้ท่อแทบแตก รัฐก็จะเข้าควบคุมและยึดเป็นของรัฐ รวมทั้งหลังจากให้เวลาแล้วถ้าใครยังแก้ไขเงินกองทุนไม่ได้ก็ถูกยึด ถูกยุบ ถูกรวม เหมือนกัน จึงจะเห็นได้ว่า ในที่สุด กว่าครึ่งก็ค่อยๆ เดินพาเหรดมามอบตัวเป็นของรัฐ เช่น ธนาคารศรีนคร นครหลวงไทย นครธน มหานคร แหลมทอง สหธนาคาร รัตนสิน กรุงเทพพาณิชย์ ฯลฯ เป็นเครื่องยืนยันว่าเงินกองทุนติดลบจนเกินกว่ามูลค่าของ license หรือ franchise value ใดๆ (เดี๋ยวนี้มีค่าเป็นหมื่นล้านบาท) เลยไม่มีใครใส่ทุนให้
  • ทีนี้ก็มีเรื่องโชคช่วยบ้าง ปลายไตรมาสแรกของปี 2541 ตลาดหุ้นกลับฟื้นตัวคึกคักขึ้นมา เพราะนักลงทุนเริ่มมั่นใจในแนวทางแก้ไข และเห็นเสถียรภาพเริ่มกลับมา ธนาคารกสิกรไทยก็ริเริ่มรีบออกหุ้นเพิ่มทุน (ซึ่งที่ทำได้เร็ว ก็เพราะที่ปรึกษาเก่งอะ คือ ภัทร กับ Goldman Sachs) ผมยังจำได้ถึงความยากลำบากในการขายหุ้นครั้งนั้น เพราะเป็นการขายหุ้นแรกจากประเทศที่เกิดวิกฤติ ผมร่วมเดินทางรอบโลกไปโรดโชว์ (อ้อนวอนให้เขาซื้อ) กับคุณปั้น (คุณบัณฑูร ล่ำซำ) ไปจนค่อนโลกแล้วยังไม่มีใครยอมจองเลย แถมธนาคารกรุงเทพฯ รีบประกาศ ทำบ้าง กว่าจะขายได้หมด เลือดตาแทบกระเด็น นำ้ลายแห้งเหือดไปหลายเดือน meeting หลายร้อยครั้ง (ลองนึกถึงคุณปั้นที่ต้องพูดมากกว่าผมอีก 5 เท่า แถมเป็นคนไม่พูดมาก ขนาดผมชอบพล่ามทั้งวันยังเสร็จเลย) การขายหุ้นธนาคารกสิกรไทย จำนวน 376 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 88 บาท ได้เงิน 33,088 ล้านบาท (ตัวเลขพวกนี้จำได้ขึ้นใจ ไม่ต้องค้นเลยครับ ผมเชื่อว่าคุณปั้นก็จำได้เหมือนกัน) ตามด้วยการขายหุ้นแบงก์กรุงเทพ อีก 43,000 ล้านในเดือนถัดมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของวิกฤติ แล้วหลังจากนั้นตลาดหุ้นก็รูดม่านปิดสนิทอีกเป็นปี กว่าจะมีใครขายหุ้นได้อีก
  • ส่วนธนาคารที่เหลือที่ตกรถไฟ ก็มีอาการพะงาบๆ ต่ออีกพัก จนรัฐต้องออกมาตรการ 14 ส.ค. 2541 เพื่อช่วยเพิ่มทุนให้แบบวัดครึ่ง กรรมการครึ่ง แต่กว่าจะเพิ่มได้จริงก็ข้ามปี เช่น ไทยพาณิชย์ ที่มีคุณชุมพล ณ ลำเลียง (พระเอกคนที่ 5) เข้ามาช่วยฟื้นฟู หลังจากที่ท่านเอาปูนซีเมนต์ไทยซึ่งก็เซแซ่ดไปเหมือนกันตั้งหลักได้ดีแล้ว ก็เพิ่มทุนทีเดียว 65,000 ล้าน ในเดือน พ.ค. 2542 แต่ก็เลยมีรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด จนกระทั่งทรัพย์สินฯ ต้องเอาที่ดินโรงพยาบาลรามาธิบดีไปแลกกลับมาในภายหลัง ธนาคารอื่น เช่น ทหารไทย กรุงศรี ก็ทยอยเพิ่มทุนได้ จนระบบเริ่มมีเสถียรภาพ โดยยังคงมีธนาคารเอกชนเป็นหลักอยู่สี่ห้าแห่ง
  • แต่อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารก็ยังคงไม่ยอมขยายตัว มัวแต่ซ่อมแซม แต่งตัว เข็ดขี้อ่อน ขี้แก่ ทำให้เศรษฐกิจไม่ค่อยขยายตัวจนกระทั่งสมัยรัฐบาลท่านทักษิน ที่ใช้ธนาคารกรุงไทยที่มีคุณวิโรจน์ นวลแข เข้ามาเป็นอัศวินขี่ม้าขาวแบบไอเวนโฮ (ถ้าใครจำโฆษณาได้) ลุยปล่อยสินเชื่อนำร่องจนทุกแบงก์ต้องลุกออกมาจากกระดองเพื่อแข่งขันบ้าง

วันนี้ว่าเรื่องแก้สถาบันการเงินแค่ฉากเดียวก็ยาวลาก คนดูหลับไปครึ่งโรง แถม ผอ. สร้างไม่ได้ทำอะไรมาครึ่งวันแล้ว สงสัยต้องยกไปภาคต่ออีก น่ากลัวพรุ่งนี้ก็ยังจบไม่ลง เดิมทีตั้งใจจะเขียนสั้นๆ ระลึกถึง 2 ก.ค. 2540 เท่านั้น ไหงไถลมาได้ตั้งหลายวันก็ไม่รู้ ยิ่งเล่ายิ่งมัน (คนเล่า)

แต่เอาเถอะครับ มาถึงขั้นนี้แล้ว ถึงมีคนอ่านแค่สิบคนก็จะเขียนต่อให้จบ เพราะเป็นประสบการณ์ช่วงที่มีค่าที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิตผม ตั้งใจจะเขียนบันทึกกันลืมไว้ตั้งนานแล้ว ไม่ได้เริ่มเสียที เพิ่งจะมีคนหลอกให้เล่นเฟซบุ๊กมาสองเดือน เลยยิ่งเขียนยิ่งมัน เพราะมีคนคอยคุยด้วยตลอดเวลา อ่านแล้วมาเมนต์มาคุยกันบ้างนะครับ ด่าทอมาบ้างก็ได้ ถ้าพบตรงไหนไม่เข้าท่า เจอกันพรุ่งนี้ครับ

(อ่านต่อตอนที่4)

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 6กรกฎาคม 2556