ThaiPublica > คอลัมน์ > รวมเรื่องมหากาพย์ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” (6)

รวมเรื่องมหากาพย์ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” (6)

6 กรกฎาคม 2017


บรรยง พงษ์พานิช

บทความนี้เขียนเมื่อเมื่อสี่ปีก่อน ตอนที่เริ่มเขียน Facebookใหม่ๆ ผมได้เขียนบันทึกความทรงจำในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ไว้อย่างยาว 7 ตอน ในวาระที่ครบ 20 ปี ผมขอเอามารวบรวมไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่งนะครับ เผื่อคนที่สนใจและยังไม่ได้อ่าน

วิกฤตต้มยำกุ้ง ภาคที่6 สร่างไข้…ฟื้นฟูกำลัง

หลังจากให้ยาแรงหลายๆ ขนาน เศรษฐกิจไทยก็เริ่มตั้งหลักได้ สถาบันการเงินมั่นคงขึ้น ที่แย่รัฐเข้าจัดการ ค่าเงินมีเสถียรภาพ ไม่หวือหวา ภาคการส่งออกเริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะพวกที่ใช้แรงงาน และ local content เป็นต้นทุนหลัก เพราะต้นทุนลดตั้ง 40% พอแก้ปัญหาการเงิน ออกจาก NPL ได้ก็ไปโลด จนเศรษฐกิจกลับมาโตได้ 4.4% ในปี 2542 และ 4.8% ในปี 2543 หลังจากติดลบ 1.4% และ 10.5% ในปี 2540 และ 2541

ก่อนจะเข้าฉากฟื้นฟูต่อ มีคนอยากให้ลงรายละเอียดฉากที่พระเอก IMF ถองหน้านางเอกไปสองที ว่าที่เล่าคราวที่แล้วน้อยไปหน่อย ไม่สมกับเป็นฉากบู๊ดุเดือดที่ด่ากันมาตั้งสิบกว่าปี เค้าหาว่าผมซูเอี๋ยช่วยพระเอก

เรื่องแรก คือ นโยบายการคลัง (fiscal policy) ซึ่ง IMF เลือกให้ยาแรง คือ กำหนดให้ไทยต้องเกินดุลงบประมาณในปีงบฯ 2540/2541 ทันที 1% ของGDP ทั้งนี้เพราะเหมือนเป็นสูตรสำเร็จ เนื่องจากวิกฤติในประเทศกำลังพัฒนาก่อนหน้านี้มักเกิดจากความไร้วินัยการคลัง (ฟังดูคุ้นๆ กับปัจจุบันไหมครับ) ถึงแม้ของเราไม่ใช่ วิกฤติเกิดในภาคเอกชน แต่ก็เกิดการเป็นห่วงว่าเงินที่รัฐต้องใช้เพื่อแก้ระบบการเงินอาจมากมายเสียจนหนี้สาธารณะอาจจะพุ่งพรวด (โชคดีที่ตลาดทุนมาช่วยแบ่งเบาภาระไปเยอะ) ซึ่งถ้าเกิด Fiscal Crisis (แบบที่กรีซกำลังเจอนั่นแหละ) ซ้ำขึ้นมาอีก ICU ก็จะเอาไม่อยู่ ลองคิดดูสิครับ เศรษฐกิจก็หดตัว ภาษีก็เก็บได้น้อยลง ยังบังคับให้เกินดุลงบประมาณ รัฐก็เลยต้องรัดเข็มขัดเต็มที่ ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เลย ทำให้หดตัวแรงกว่าที่ควร แต่พอเห็นว่าเอาอยู่ หนี้ไม่ไหล เขาก็ยอมให้ขาดดุลได้ 5.5% ในปีงบฯ 2541/2542 และอีก 5% ในปี 2542/2543 ถ้ามองอีกมุมเหมือนเค้าให้เราใส่เข็มขัดนิรภัยนั่งรถ พอไม่เกิดอุบัติเหตุ เราก็ด่าแม่เขาว่าทำให้อึดอัดเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์

เรื่องที่สอง คือ เรื่องอัตราดอกเบี้ย หลังวิกฤติอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับค่าเงินที่ลดลง (เป็นสูตรตายตัวอยู่แล้ว) เงินเฟ้อสูงขึ้นไปถึงกว่า 10% ในช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน 2541 แล้วค่อยๆ ลดลงตามเสถียรภาพค่าเงิน เป็นสูตรอยู่แล้วที่ถ้าเงินเฟ้อสูงก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยไปสู้ อีกอย่างถ้าดอกเบี้ยสูงหวังว่าเงินจะไม่ไหลออก แต่ผู้เชี่ยวชาญบางฝ่ายก็คิดว่า เงินเฟ้อเป็นเรื่องของ cost push ขึ้นไม่ขึ้นดอกเบี้ย demand ก็แทบไม่มีอยู่แล้ว เงินไหลก็ไม่เกี่ยว เพราะให้ราคาเท่าไหร่เขาก็จะเอาคืน ที่ไหลได้ไหลไปหมดแล้ว ที่เหลือไม่มีจ่ายไม่มีให้ไหล ในที่สุด เถียงกันอยู่นาน ก็ยอมลดดอกเบี้ยจาก MLR 15.5% ตอนกรกฎาคม 2541 เหลือ 11% ตอนปลายปี 2541 และเหลือ 8% ปลายปี 2542 แต่นั่นแหละครับดอกเบี้ยสูงอยู่กว่าปีก็ทำคนเดือดร้อนกันทั่ว

ทั้งสองเรื่องคุณ Neiss พระเอกหัวเกรียนหัวหน้าทีม IMF ก็ยอมรับในภายหลังว่าอาจจะเป็นยาแรงไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีเจตนาชั่วอย่างที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด ก็แหม จะให้พระเอกเป็นอย่าง Superman ในหนัง ทำอะไรก็ถูกก็เป๊ะไปทั้งหมดได้อย่างไร พวกวิจารณ์มันง่ายกว่าเยอะ เข้าทำนอง “รู้อะไรไม่เท่า รู้งี้”

ขอตัดฉากชะแว้บเข้าสู่บรรยากาศเลือกตั้งต้นปี 2544 หลังจากที่ทุกอย่างเริ่มเข้าสู่ภาวะสงบ เศรษฐกิจโตได้รวม 9.2% ในสองปี 2542-2543 แต่เทียบกับลบไป 12% ก่อนหน้า ชาวประชาต้องกัดลูกปืนกันเลือดกลบปากทั่วหน้า ย่อมไม่เป็นที่นิยมชมชอบ ยิ่งสังคมนี้เป็นสังคมที่เกิดอะไรขึ้นมีความลำบากเกิดขึ้นก็พร้อมที่จะโทษคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง รัฐบาลชวน 2 โดนแรงกดดันจนต้องยุบสภาฯ ปลายปี 2543 แล้วจัดเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ครั้งแรกเมื่อ 6 ม.ค. 2544 แล้วก็เป็นไปตามคาด คือฝ่ายรัฐบาลเดิมแพ้ยับ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้รับเลือกแค่ 129 คน พรรคใหม่อย่างไทยรักไทยคว้าแชมป์ได้ 250 จาก 500 ครึ่งหนึ่งเป๊ะๆ เลยได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล

เรื่องนี้ทำให้ระลึกถึงคุณปู่ Winston Churchill ซึ่งเป็นสุดยอดวีรบุรุษสงคราม นำอังกฤษร่วมชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเดือน เม.ย. 1945 แต่กลับนำพรรค Conservative แพ้เลือกตั้งยับให้กับพรรคแรงงานเมื่อกรกฎาคม 2545 หลังจากนั้นแค่ 2 เดือน ในอัตรา 197:393 ที่นั่ง เกือบเท่ากับของเราเป๊ะ ต้องรอจนปี 1951 กว่าคุณปู่จะชนะกลับมาเป็นนายกฯ ได้อีกที ของเราปชป.ต้องรอกว่า 7 ปี จึงได้เป็นรัฐบาลอีกที หลังอุบัติเหตุในค่ายทหาร

ถ้าใครจำได้ สโลแกนไทยรักไทยก็คือ “คิดใหม่ ทำใหม่” ซึ่งเลียนมาจาก “New Deal” นโยบายเศรษฐกิจแบบ Keynesian ของประธานาธิบดี FDR ที่พลิกฟื้นความตกตำ่ทางเศรษฐกิจจาก Great Depression ในช่วงทศวรรษ 1930s พระเอกทั้งหลายตั้งแต่ นายกฯ ดร.ทักษิณ ทีมเศรษบกิจ ดร.สมคิด ดร.ทนง คุณพันธุ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ หมอมิ้ง หมอเลี้ยบ และอีกหลายๆ ท่าน ต่างก็คิดก็งัดมาตรการต่างๆ มามากมาย เพื่อกระทุ้งเศรษฐกิจให้กลับมาเดินหน้าได้อีก ถึงแม้เศรษฐกิจในปี 2544 จะเติบโตแค่ไม่ถึง 2% อันเกิดจากภาวะเศรษฐกิจโลก แต่หลังจากนั้นก็เติบโตได้เฉลี่ยประมาณ 5% ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ได้สูงส่งน่าตื่นเต้นอะไร ค่อนข้างตำ่ด้วยซำ้สำหรับกลุ่ม Emerging Market

แต่ถามว่าทำไมถึงได้รับการตอบรับดีมากในวงกว้าง ชนะเลือกตั้งท่วมท้นทุกครั้งตั้งแต่นั้นมา

นโยบายและมาตรการของรัฐบาลทักษิณตลอด 5 ปีมีมากมายหลายร้อยอย่าง ซึ่งก็แน่นอนมีทั้งที่ผมชอบมาก ชอบน้อย เฉยๆ ไม่ค่อยชอบ ไม่ชอบเลย ไปจนถึงเบือนหน้าหนี ซึ่งก็เหมือนกับนโยบายทุกๆ รัฐบาลแหละครับ ในที่นี้ผมจะเอ่ยถึงเฉพาะที่นึกได้และชอบเท่านั้น (ไม่ใช่เพื่อสอพลอใดๆ หรอกครับ ไม่งั้นผมก็ต้องออกมาเทิดทูนเรื่องจำนำข้าวทุกวันไปแล้ว แต่เพื่อความเสมอภาคน่ะครับ)

เรื่องแรกที่จะชม ไม่ใช่เรื่องนโยบายหรอกครับ แต่เป็นเรื่องของประสิทธิภาพของนโยบาย และการผลักดันให้นโยบายมีผลในทางปฏิบัติ ด้วยความเป็นนักบริหาร ทำให้สามารถบริหารจัดการให้กลไกราชการ ซึ่งด้อยประสิทธิภาพลงทุกวัน ลุกขึ้นมามีประสิทธิผลได้บ้าง (เรียกว่า จากห่วยมาก มาเป็น ห่วยน้อยหน่อย) ก็เลยทำให้เกิดผลได้ดีกว่าบริหารแบบนักการเมือง (เฮ้ย..ไอ้เตา…นี่เอ็งเล่นข้าราชการทีเดียวหลายล้าน กับนักการเมืองอีกหลายพันพร้อมกันเลยนะ โดนเอานิ้วดีดคนละทีเอ็งก็เละและ) นับว่าเป็นรัฐบาลที่มีประสิทธิผลที่สุดชุดหนึ่งตั้งแต่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ (เต็มรึยังหว่า…) ก็ว่าได้ ถึงจะรั่วเยอะไหลเยอะ แต่ประสิทธิผลเพิ่มก็พอชดเชยได้บ้าง

เรื่องที่ผมชอบมากที่สุด แน่นอนครับเป็นเรื่อง “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ซึ่งถือเป็นนโยบายสาธารณะที่ดีที่สุดในรอบหลายสิบปีเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากเป็นการ redistribution (กระจายรายได้แล้ว) ยังเป็นประชานิยมสร้างสรรค์อีกด้วย คือ ไม่แค่กินแล้วถ่าย แต่ทำให้เพิ่มผลผลิต (เพราะสุขภาพแข็งแรง) และยังมีประโยชน์ด้านอื่นอีก เช่น พอไม่ต้องห่วงเรื่องสุขภาพ คนก็สามารถทุ่มให้การศึกษาบุตรธิดา (เสียดายที่ระบบการศึกษาเรารองรับได้ไม่ดีพอ) และยังช่วยให้เกิดการเคลื่อนย้ายเข้าเมือง (urbanization) ทำให้ Arthur Lewis Model เกือบจะใช้การได้ เสียแต่มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาแทรก เลยทำให้ dual track development ไม่ได้ผลเต็มที่ (วันหน้าคุยกันเรื่องนี้อีกที)

อีกเรื่องหนึ่งที่ดีในด้าน redistribution ก็คือ ก่อนหน้านี้ งบประมาณมักกระจุกอยู่แต่ส่วนกลาง กลายเป็นว่าภาษีไม่กระจายให้รากหญ้า คุณถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง ทีมเศรษฐกิจของภัทรฯ เคยจัดหมวดหมู่งบประมาณฯ พบว่า ในช่วง 5 ปีของรัฐบาลทักษิณ มีการเพิ่มงบฯ ส่วนที่ไปสู่รากหญ้าจาก 18% เป็น 24% เรียกว่าเพิ่มปีละกว่าแสนล้านบาทเลยทีเดียว เมื่อรวมกับเรื่องนอกงบอื่นๆ เช่น เงินให้กู้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เพิ่มกว่าห้าเท่าตัว (หลายแสนล้านบาท) ประกอบกับการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญใหม่ ทำให้ชาวรากหญ้าได้รับเพิ่มมากมาย เข้าใจถึงคะแนนนิยมแล้วยังครับ

เรื่องแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็เป็นเรื่องสำคัญที่ถึงแม้มีนโยบายมาช้านาน แต่รัฐบาลนี้แหละครับที่ผลักดันได้สำเร็จเป็นรูปธรรม การนำ ปตท. เข้าตลาดเมื่อปลายปี 2544 นอกจากจะทำให้ ปตท. ได้รับเงินก้อนสำคัญไปฟื้นฟูกิจการและบริษัทในเครือโดยไม่ต้องรบกวนงบประมาณฯ ทำให้เจริญรุ่งเรืองมาถึงวันนี้ ยังเป็นการปลุกตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่แสนซบเซาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง (จาก index 280 จนเป็น 1450 ทุกวันนี้ เรื่องนี้ก็สร้างหนังเรื่องยาวได้อีกเรื่อง) การท่าอากาศยานก็เข้าตลาดฯ ได้เงินทุนไปสร้าง “สุวรรณภูมิ” จนเสร็จ เปิดเป็นศรีสง่าของประเทศ ถึงแม้จะสร้างแพงไปบ้าง ก็แค่ไม่กี่หมื่นล้านบาทเอง

ส่วนนโยบายใน “ทักษิโณมิกส์” อื่นๆ ก็มีที่ผมเห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้าง เห็นด้วยครึ่งเดียวบ้าง เอาที่ไม่ชอบบ้าง ส่วนใหญ่มักเป็นพวกที่แทรกแซงกลไกตลาด เอารัฐไปทำสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น Elite Card หรือพวกที่เลี่ยงบาลีหนี้สาธารณะ ที่ผมว่าแย่จนต้องเบือนหน้าหนีก็คือเรื่อง “กองทุนวายุภักษ์” ซึ่งกลายเป็นว่าเป็นการกู้ยืมของรัฐที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงที่สุด แถมเอาทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องจำนวนมากไปประกันผูกติด จนทำให้ขาด Policy Flexibility ไปอีกมาก เพียงเพื่อที่จะไม่ต้องนับเป็น “หนี้สาธารณะ” แถมตลาดทุนก็ไม่ได้ส่งเสริม เพราะผลตอบแทนดีเสียจนพวกธนาคารแย่งซื้อไปเสียหมด เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะสิ้นปีนี้รัฐจะต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับสารพิษตกค้างรายนี้ เลิกเสียเถอะครับ อย่าดันทุรังต่ออายุ หรือขยายตัว (ยิ่งแย่ใหญ่) ถึงแม้จะทำให้หนี้สาธารณะปูดเล็กน้อย (สงสัยต้องจัดเรื่องนี้เป็นหนังใหญ่อีกสักเรื่อง แค่ฉายตัวอย่างก็ดูสยองขวัญแล้ว แถมถ้าไม่เลิก รอบปฐมทัศน์ ผมจะออกบัตรเชิญคุณ Moody’s กับคู่ของคุณ Standard&Poor มาชม… แล้วก็ถูกประณามว่าเป็นพวก “บ่อนทำลายชาติ” เหมือนพวกที่ออกมาเตือนเรื่องให้ระวังข้าวเน่า ข้าวเสีย)

สรุปว่า ในช่วง 5 ปีเศษ ของรัฐบาล “ทักษิณ” ประเทศไทยก็มีพัฒนาการฟื้นฟูมาตามลำดับ การเติบโตถึงแม้จะไม่น่าตื่นเต้นมากนัก แต่ในด้านการกระจายก็ดีขึ้นตามสมควร เสถียรภาพด้านต่างๆ ก็ดี ธปท. ก็สามารถกู้ความน่าเชื่อถือกลับมา ทำให้ระบบการเงินแข็งแรง ถึงแม้คุณชายเต่าพระเอกคนหนึ่งของผมจะโดนเตะกระเด็นออกจากวังบางขุนพรหม แล้วแทนที่ด้วยคุณชายคนใหม่ ก็ยังมีอิสระในการดำเนินนโยบายได้ตามสมควร จนกระทั่ง 18 ธันวาคม 2549 สมัยขิงแก่แหละครับ ถึงจะโดนรัฐสั่งให้ออกมาตรการมหัศจรรย์ที่เกือบทำให้ตลาดหุ้นพังครืนทั้งตลาด (ก็คุณชายท่านย้ายไปเป็นรัฐนี่ครับ) เดชะบุญที่ท่านไม่ดื้อรั้น สั่งให้ ธปท. (ที่เป็นอิสระ) ยกเลิกมาตรการในวันรุ่งขึ้น เราถึงได้ยังมีตลาดหุ้นที่ยังเป็นสากลอยู่ทุกวันนี้ ผมชื่นชมนโยบาย ธปท. ในวันที่ 19 ธ.ค. 2549 จริงๆ อย่างไม่ประชดนะครับ เพราะนานทีจะมีผู้ใหญ่ที่เป็นลูกผู้ชาย ยอมกลับลำนโยบายเมื่อรู้ชัดว่าจะนำความเสียหายมาให้ (หวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าผู้ใหญ่ที่เป็นลูกผู้หญิงจะยอมกลับลำเรื่องนโยบายจำนำข้าวเสียที เพราะชัดเสียยิ่งกว่าชัดแล้วว่าจะนำความเสียหายใหญ่หลวงมาให้) ถึงตอนนี้ เลยขอยกคุณชายอุ๋ยให้เป็นพระเอกอีกคน

ชักเลอะเทอะออกนอกเรื่องไปไกล ก็เลยขอปิดฉากเรื่องการฟื้นฟูเสียเลย พรุ่งนี้น่าจะเป็นตอนอวสาน ว่าด้วยบทเรียนที่ประเทศไทย และพวกเราได้รับจากวิกฤติที่มีต้นทุนราคาแสนแพงในครั้งนี้

เขียนเสร็จเหลือบไปดูผลงานตอนที่แล้ว คนดูโหรงเหรงกว่าทุกตอนที่ผ่านมา แต่ถึงขั้นนี้แล้ว ก็ต้องว่าต่อให้จบให้ได้นะครับ อ่านแล้วแวะมาคุยมาเถียงกันบ้างนะครับ

(อ่านต่อตอนที่ 7)
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 13 กรกฎาคม 2556