ThaiPublica > คอลัมน์ > รวมเรื่องมหากาพย์ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” (2)

รวมเรื่องมหากาพย์ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” (2)

6 กรกฎาคม 2017


บรรยง พงษ์พานิช

บทความนี้เขียนเมื่อเมื่อสี่ปีก่อน ตอนที่เริ่มเขียน Facebookใหม่ๆ ผมได้เขียนบันทึกความทรงจำในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ไว้อย่างยาว 7 ตอน ในวาระที่ครบ 20 ปี ผมขอเอามารวบรวมไว้ในที่นี้อีกครั้งหนึ่งนะครับ เผื่อคนที่สนใจและยังไม่ได้อ่าน

บทความ “16 ปีแห่งความหลัง” มีคนกดไลค์ กดแชร์ เกินพันเป็นครั้งแรกของบทความผม เป็นกำลังใจให้เล่าตอนต่อ เพื่อไม่ให้นานเกินรอ

กระบวนการแก้ไขและผลภายหลังของวิกฤติ ส่วนใหญ่เป็นที่รับรู้และมีการวิเคราะห์วิจัย หาอ่านได้เยอะแยะทั่วไป ที่จะเล่าจะเป็นส่วนที่ผมเกี่ยวข้อง ได้รู้ได้เห็น (บางเรื่องเป็น inside) คนอื่นไม่ค่อยได้เน้น และในมุมมองของผมเป็นส่วนใหญ่ ถ้าจะพาดพิงถึงใครโดยไม่เหมาะสมบ้างก็ขอกราบขออภัย และท้วงติงด่าทอกลับมาได้ (อย่าถึงกับฟ้องร้องเลย)

ตอนที่แล้วเล่าถึงสาเหตุ ความผิดพลาดที่คนครึ่งโลก รวมทั้งคนไทยครึ่งประเทศมีส่วนร่วม ทำให้เกิดวิกฤติ จนถึง 2 กรกฎาคม 2540 และผมยกให้ Exchange Rate Policy เป็นสาเหตุสำคัญที่สุด ทั้งๆ ที่เป็นนโยบายที่มีจุดประสงค์ที่ดี ทำให้เกิดผลดีในระยะหนึ่ง แต่นานไปก็ก่อให้เกิดการบิดเบือนในภาคส่วนต่างๆ

มีหลายท่านพยายามอธิบายว่า เป็นแผนการล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ ที่ไอ้พวกต่างชาติทั้งโลกมันร่วมกันวางแผน เอาเงินมาหลอกให้เรากู้ เอาเข้ามาแกล้งซื้อหุ้น แล้วขยิบตาพร้อมกันกระชากออก เสร็จแล้วก็ส่ง IMF เข้ามาทำทีเป็นช่วย แต่กลับบังคับให้เลวลงอีก ออกกฎหมายขายชาติ แล้วพวกมันก็เข้ามากวาดซื้อของดีๆ ในราคาถูกๆ

โอ้โห ฟังดูเสมือนหนึ่งไอ้พวกต่างชาติมันมีคนเดียว แก๊งเดียว Godfather คนเดียวสั่งได้หมด ทั้งแบงก์ไอ้กัน ยุโรป ญี่ปุ่น ออสซี่ กว่าร้อยแห่ง ประชุมร่วมวางแผนอย่างพร้อมเพรียง ร่วมกับกองทุนหุ้นอีกหลายร้อย แถมปฏิบัติการกว้างขวาง ในไทย เกาหลี มาเลย์ อินโด ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ผมขอบอกว่าทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory) อย่างนี้ ไม่มีทางเป็นจริงได้เลยแม้แต่นิดเดียว เป็นได้แค่เพียงพล็อตหนัง ที่ถ้าเป็นจริง เอาพ่อของเจมส์ บอนด์ 007 มาก็คงปราบไม่ได้ ในความเป็นจริง พวกแบงก์ นักลงทุน ทั่วโลกเสียหายรวมกันกว่าล้านล้านเหรียญ ไอ้พวกแร้งลง เช่น hedge fund, distressed fund (ซึ่งเป็นคนละพวก) ที่ตามมาถ้าได้กำไร ก็เป็นแค่หลักพัน หลักหมื่น นายแบงก์ fund manager เพื่อนเก่าผม ถูกไล่ออก ตกงานกันเป็นแถว อ่านถึงตอนนี้ ใครที่ยังปักใจเชื่อทฤษฎีที่ว่า น่าจะเลิกอ่านต่อได้นะครับ เดี๋ยวจะหงุดหงิดเสียเปล่าๆ

แวะไปทะเลาะกับคนเขาแล้ว ขอกลับมาสู่เหตุการณ์สำคัญๆ หลัง 2 กรกฎาคม 2540

  • ภาวะตื่นตระหนกเกิดขึ้นทั่วทั้งระบบ ค่าเงินลดฮวบ ตำ่กว่า 35 บาทต่อเหรียญใน 1 เดือน และมีทีท่าไหลลงต่อเนื่อง คนเริ่มถอนเงินฝาก โดยเฉพาะจากสถาบันการเงินขนาดเล็ก การค้าการเงินชะงักงันไปทั่ว
  • วันอังคารที่ 5 ส.ค. 2540 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้รัฐเข้าคุ้มครองรับประกันเงินฝากในสถาบันการเงินทุกแห่ง ตรงนี้มีเกร็ดเล่านิดหนึ่ง วันศุกร์ก่อนหน้าท่านนายกฯ (บิ๊กจิ๋ว พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ) ให้สัมภาษณ์ว่าจะประกันเงินฝาก ผมกับดร.ศุภวุฒิ (สายเชื้อ) เลยขอเข้าพบ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เพิ่งเข้ามาแทนคุณเริงชัย มะระกานนท์ ที่ถูกบีบให้ลาออกไป เพื่อวิเคราะห์ให้ท่านเห็นถึงต้นทุนของรัฐถ้าคำ้ประกัน โดยคำนวณให้ท่านดูว่าถ้า NPL ทั้งระบบ ขึ้นไปถึง 35% ความเสียหายที่รัฐต้องรับจะประมาณ 700,000 ล้านบาท และสถาบันการเงินทุกแห่งต้องตกเป็นของรัฐ เพราะเจ๊งเรียบ (ในความเป็นจริง เราคาดผิดครับ เพราะ NPL ปาเข้าไป 45% ความเสียหายเลยเป็น 1.4 ล้านล้าน ที่ยังเหลืออยู่ในกองทุนฟื้นฟูวันนี้ถึง 1.1 ล้านล้าน ไม่รวมดอกเบี้ย 16 ปีที่รัฐช่วยจ่ายไงครับ ส่วนสถาบันการเงินที่ไม่เจ๊งหมดต้องยกให้เป็นความฉลาดของรัฐ ธปท. IMF บวกกับความเฮงอีกนิดหน่อย ถ้าไม่กลัวยาวเกิน จะเล่าให้ฟังครับ) ท่านผู้ว่าฟังแล้วถึงกับอึ้งไป แล้วบอกสั้นๆ ว่า สงสัยต้องว่าไปก่อน แล้วค่อยไปแก้ปัญหาเอา วันรุ่งขึ้นก็มีมติ ครม. ดังกล่าว ความจริงมามองย้อนหลังผมเห็นด้วยว่าต้องคำ้ เพราะไม่อย่างนั้นสถานการณ์จะโกลาหลเอาไม่อยู่ และถ้าเริ่มมี deposit fligth ออกจากประเทศ ต้องไปตามพ่อ IMF มาด้วย เหมือนกรีซแหละครับ แล้วเราก็เห็นว่าประเทศพัฒนาแล้วทุกแห่งก็ทำเหมือนกันตอนเกิดวิกฤติโลกปี 2008
  • ในวันเดียวกัน (5 ส.ค.) มีการระงับการดำเนินการของบริษัทเงินทุนอีก 42 แห่ง รวมของเดิมเป็น 58 แห่ง
  • แล้วรัฐบาลไทยก็ตกลงเข้ารับการช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยลงนามใน Letter of Intent (LOI) ฉบับที่ 1 เมื่อ 14 ส.ค. 2540 เพื่อรับวงเงินช่วยเหลือ 17.2 พันล้านเหรียญ ซึ่งผมขอยืนยันว่า IMF เป็นอัศวิน เป็นพระเอกตัวจริงคนหนึ่ง (มีหลายคนเหมือนคุณชายวังบางขุนพรหม เอ๊ย จุฑาเทพ) ที่มาช่วยให้ไทยตั้งหลักเดินหน้าได้อีก ไม่ได้เป็นผู้ร้ายชาติชั่วเหมือนบางคนป้ายสี ถึงแม้บางครั้งพระเอกอาจพลั้งเผลอ ซุ่มซ่าม ขัดขา หรือเอาศอกกระทุ้งหน้านางเอกอย่างไม่ตั้งใจบ้าง แต่โดยรวม ถ้าไม่มี IMF นางเอกยับเยินกว่านี้แน่นอน (ไว้แล้วจะอธิบายภายหลังนะครับ)
  • ดูเหมือนสถานการณ์ก็ยังไม่กระเตื้องเท่าไหร่ แถมประเทศอื่นๆ ก็เป็นโรคลุกลามไปทั่ว เราเลยยิ่งทรุด เพราะกลัวว่า ถ้า 17.2 ไม่พอ คุณพี่ IMF คงไม่เหลือกำลังเพิ่มให้เท่าไหร่ คนก็เลยไม่เชื่อ
  • 22 ต.ค. 2540 ออก พ.ร.ก.ปฏิรูปสถาบันการเงิน เพื่อจัดการกับ บง. 58 แห่งที่ถูกพักการดำเนินการ
  • ดร.ทนง พิทยะ รมต.คลัง ลาออก 24 ต.ค. ปรับ ครม. ดึง ดร.โกร่ง (วีรพงษ์ รามางกูร) เป็น รองนายกฯ อ.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็น รมต.คลัง
  • 6 พ.ย. 2540 โดยไม่มีปี่มีขลุ่ย ท่ามกลางความงงงวยของทุกฝ่าย พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากการเป็นนายกฯ ตรงนี้มีเกร็ดนิดหนึ่ง ก่อนหน้านั้น วันอาทิตย์ที่ 19 ต.ค. มีผู้ใหญ่ตามผม กับ อ.เปี๋ยม ไปพบบิ๊กจิ๋วที่ทำเนียบตอน 7โมงเช้า เพื่อสรุปสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยมี รมต.เสนาะ (เทียนทอง) รมต.โภคิน (พลกุล) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร (เทวกุล) ร่วมอยู่ด้วย ผมจำได้ว่าท่านถึงกับอึ้ง แถมมาตรการต่างๆ ก็เป็นเรื่อง “กัดลูกปืน” (bite the bullets) อย่างรุนแรงขนาดเลือดกลบปากทั้งนั้น ผมยังจำได้ว่า ป๋าเสนาะ ซึ่งนั่งตรวจรายชื่อโยกย้ายของมหาดไทยเป็นส่วนใหญ่ ถึงกับเงยหน้ามาพูดว่า “อย่างนี้มันก็ฉิบหายจริงๆ สิ ไม่ใช่ไอ้ฝ่ายค้านสร้างเรื่อง” หลังจากนั้น 2 อาทิตย์ท่านก็ลาออก ซึ่งผมคิดว่านี่เป็นคุณูปการยิ่งใหญ่อันดับสอง ที่ท่านทำให้กับประเทศไทย (อันดับ 1 คือ นโยบาย 66/2523 ที่ทำให้ยุติสงครามก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศ) ท่านยังทำประโยชน์อื่นอีกแยะนะครับ
  • ระหว่างที่น้าชาติ (พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ) เตรียมตัวกลับมาเป็นนายกฯ อีกที ก็เกิดกรณีงูเห่า (ฝีมือเสธฯ หนั่น สนั่น ขจรประศาสน์) ทำให้คุณชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ เมื่อ 14 พ.ย. 2540 มีคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็น รมต.คลัง (พระเอกของผมโผล่เข้าฉากอีก 2 คน)
  • 8 ธ.ค. 2540 คณะกรรมการ ปรส. (องค์กรเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน) มีมติให้ปิดถาวรสถาบันการเงิน 56 แห่ง ให้เปิดดำเนินการต่อได้เพียง 2 แห่ง คือ บางกอกอินเวสเม้นท์ ที่ยักษ์ใหญ่ AIA เข้าอุ้ม กับ บงล.เกียรตินาคิน ที่เสนอแผนดีเสียจนปฏิเสธไม่ได้ (โดยมีภัทรฯ เป็นที่ปรึกษา…ขอโม้หน่อยนะครับ) นัยว่าเป็นไปตามคำแนะนำของ IMF ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันจนปัจจุบันว่าถูกต้องหรือเปล่า ในความเห็นผมพบว่าในภายหลัง NPL ของ บง. เหล่านี้ สูงถึงกว่า 70% และแม้สถาบันการเงินอื่นที่ไม่ได้ถูกปิดตอนนั้น เช่น ธนาคารหลายแห่ง ก็ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ต้องให้รัฐเข้ายึด รวมทั้ง บงล.ภัทรธนกิจ ที่ผมย้ายไปเป็น CEO ก็ยังต้องปิดตัวเองลงในปี 2542 (รายละเอียดเรื่องนี้ถ้ามีคนอยากรู้บอกมาเยอะๆ จะเล่าให้ฟังวันหน้านะครับ) ดังนั้น เรื่องปิดสถาบันการเงินนี้ ผมมั่นใจว่าเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว
  • สถานการณ์เริ่มเข้าสู่เสถียรภาพ แต่ค่าเงินยังไหลลงเรื่อยๆ จนตำ่สุดที่ 55.3 บาทต่อเหรียญ ช่วงต้นปี 41 ก่อนจะเริ่มปรับเข้าสูดุลยภาพที่ประมาณ 40 บาทต่อเหรียญ ช่วง พ.ค. และอยู่แถวนั้นอีกหลายปี
  • พ.ค. 40 หม่อมเต่า (ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล) พระเอกคนที่4 ของผม ก็ข้ามห้วยจากคลังมานั่งผู้ว่า ธปท. ผมว่าท่านได้ทำประโยชน์ใหญ่ๆ ในเรื่องนี้ 3 อย่าง (ในความเห็นผม) คือ กู้ศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือของ ธปท. กลับมา ร่วมกับคุณธารินทร์ทำให้สถาบันการเงินมีเสถียรภาพขึ้นไม่ต้องถูกยึดให้เป็นของรัฐทั้งหมด และได้นำระบบ Inflation Targetting มาใช้เป็นแกนของนโยบายการเงินจนทุกวันนี้ (ซึ่งทำให้รัฐบาลปัจจุบัน รวมทั้งพี่โกร่ง หงุดหงิดอยู่ทุกวันนี้) ส่วนเรื่องที่ท่านเจ้าคิด เจ้าแค้น อาละวาดจะจับคนเข้าคุกให้หมด ก็ถือว่าเป็นอีกเรื่องที่ผมลืมๆ แล้ว (คนไม่ลืมน่าจะมีเยอะนะครับ)

วันนี้เห็นจะต้องแค่นี้ก่อนครับ พรุ่งนี้จะว่าถึงกระบวนการแก้ปัญหาแต่ละเรื่อง เช่น เรื่องระบบการเงิน การขายสินทรัพย์ ปรส. การงบประมาณ กฎหมายขายชาติ นโยบายดอกเบี้ย ฯลฯ แล้วจึงจะสรุปบทเรียน หวังว่าน่าจะไม่เกินอีกสองตอน จะพยายามให้จบในสุดสัปดาห์นี้ ก่อนคุณชายจุฑาเทพจะจบนะครับ

(อ่านต่อตอนที่3)

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 4 กรกฎาคม 2556