ThaiPublica > คอลัมน์ > ยาเสพติดในเวิ้งว้างของความเหลื่อมล้ำ

ยาเสพติดในเวิ้งว้างของความเหลื่อมล้ำ

30 มิถุนายน 2017


ณัฐเมธี สัยเวช

วิดีโอที่จัดทำจากเนื้อหาในหนังสือ ไล่ตามเสียงกรีดร้อง: วันแรกและวันสุดท้ายของสงครามยาเสพติด
(Chasing The Scream: The First And Last Days of the War on Drugs) ซึ่งเขียนโดย โยฮันน์ ฮารี (Johann Hari)

ผมเคยเขียนถึงหนังสือ ไล่ตามเสียงกรีดร้อง: วันแรกและวันสุดท้ายของสงครามยาเสพติด (Chasing The Scream: The First And Last Days of the War on Drugs) ซึ่งเขียนโดย โยฮันน์ ฮารี (Johann Hari) หนังสือเล่มดังกล่าวนั้นพยายามเสนอแนวทำความเข้าใจใหม่ต่อการเสพติด โยฮันน์ ฮารี ยกตัวอย่างมากมายมาเล่าเพื่อบอกกับเราว่า ใบหน้าที่แท้จริงของการเสพติดอะไรก็ตามคือความโหยหาความสัมพันธ์สักอย่างที่คนเราเอาตัวเองไปผูกพันธะด้วยได้

ตัวอย่างหลักๆ ที่ยกไปในคราวนั้นก็เช่นเดียวกับเนื้อหาที่ปรากฏในวิดีโอข้างต้น คือ โยฮันน์ ฮารี เล่าเรื่องของคนไข้สะโพกหักที่ตอนรักษาตัวนั้นจะได้รับไดอะมอร์ฟีน หรือก็คือเฮโรอีนบริสุทธิ์ที่รุนแรงกว่าที่หาได้ตามท้องถนน แต่เมื่อกลับไปอยู่กับครอบครัวแล้วพวกเขาก็ไม่มีการเสพติดหรือถอนยาแต่อย่างใด

หรือเรื่องของทหารอเมริกันในสงครามเวียดนามที่ตอนรบนั้นใช้เฮโรอีนกันเป็นว่าเล่น แต่เมื่อกลับมาอยู่กับครอบครัวแล้วก็ไม่ได้มีการติดยาแต่อย่างไร

และตัวอย่างที่น่าจะโด่งดังที่สุดก็คือการทดลอง “Rat Park” ของ ดร.บรูซ อเล็กซานเดอร์ ที่ค้นพบว่าหนูในกรงที่ได้รับการจัดให้มีสภาพแวดล้อมราวกับสวนสวรรค์จะไม่ดื่มน้ำที่ผสมยาเสพติดมากเท่าหนูที่ถูกทิ้งไว้ในกรงเพียงลำพัง ซึ่งแบบหลังนั้น แม้จะมีน้ำธรรมดาอยู่ด้วย แต่หนูผู้โดดเดี่ยวจะเลือกดื่มน้ำจากหลอดที่ผสมเฮโรอีนหรือโคเคนมากขึ้นเรื่อยๆ จนตาย

ตัวอย่างเหล่านี้ได้นำพาไปสู่การคิดถึงแนวทางการทำความเข้าใจใหม่ๆ ที่ว่า หากคนเรามีชีวิตที่ดี ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ดี (อย่างมีส่วนร่วมนะครับ ไม่ใช่โดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งสังคมและวัฒนธรรม อยู่ในสังคมที่มองไปทางไหนก็มีแต่คนมีชีวิตที่ดี) โอกาสในการเข้าไปพัวพันกับยาเสพติดจนถึงขั้นต้องพึ่งพาอย่างขาดไม่ได้นั้นก็คงจะน้อยลงไปด้วย

มุมมองดังกล่าว ทำให้ผมนึกถึงแนวคิด “ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ” หรือ Social Determinants of Health ซึ่งอธิบายได้คร่าวๆ โดยอิงจากนิยามขององค์การอนามัยโลกได้ว่าคือสภาวะแวดล้อมที่มนุษย์เกิด เติบโต ดำรงชีวิตอยู่ ทำงาน และแก่ชราไป โดยที่สภาวะแวดล้อมเหล่านั้นเกิดขึ้นจากรูปแบบของนโยบายทางการเมืองและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จนส่งผลให้คนหรือกลุ่มคนในสังคมนั้นมีสถานะทางสุขภาพที่แตกต่างกัน

หากจะกล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้นสักนิดก็คือ ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพเป็นการมองเรื่องสุขภาพของมนุษย์ในมุมที่ลึกขึ้น โดยจากที่มองแค่การดูแลตัวเองของคนคนเดียว ก็หันมาคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมในด้านต่างๆ ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการใช้ชีวิตจนส่งผลถึงสุขภาพของคนเราได้ ซึ่งทำให้การจะมีสุขภาพที่ดีหรือไม่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องของการกำหนดตัวเองโดยส่วนตัวเพียงอย่างเดียว แต่เศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งสังคมและวัฒนธรรม ก็มีส่วนร่วมในการกำหนดด้วย

ในปี ค.ศ. 2003 องค์การอนามัยโลกภูมิภาคยุโรปได้จัดให้การติดยาเสพติดเป็นหนึ่งในปัจจัยทางสังคมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยระบุว่าการพึ่งพาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และยาเสพติดผิดกฎหมาย ซึ่งนำไปสู่ภัยทางสุขภาพนั้น มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความด้อยเปรียบ (disadvantage) ทางเศรษฐกิจและสังคมในลักษณะที่ว่า ยิ่งมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำเท่าไหร่ ความเสี่ยงในการจะติดยาเสพติดเหล่านี้ก็สูงขึ้นเท่านั้น ซึ่งตรงนี้กลายเป็นปัญหาซ้ำซ้อน เพราะในขณะที่การใช้ยาเสพติดนั้นเป็นไปเพื่อผ่อนคลายจากความด้อยเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคม แต่การต้องพึ่งพายาเสพติดไปจนถึงระดับที่ขาดไม่ได้ก็จะทำให้ไม่สามารถขยับชั้นทางสังคมไปสู่จุดที่หลุดพ้นจากความด้อยเปรียบนั้นได้เช่นกัน

เช่นเดียวกันกับรายงานยาเสพติดโลกปี ค.ศ. 2007 ของสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งองค์การสหประชาชาติ ที่พบว่าประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมสูงกว่าจะมีแนวโน้มในการใช้ยาเสพติดมากกว่า หรือในรายงานฉบับปี ค.ศ. 2016 ที่บอกว่าความยากจนและการขาดการดำรงชีพอย่างยั่งยืนนั้นเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้ชาวนาชาวไร่หันไปเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกยาเสพติดผิดกฎหมาย

ทีนี้ เราลองมาดูกันคร่าวๆ ครับว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยเรานี่หน้าตาเป็นอย่างไร น่ารักหรือน่ากลัวขนาดไหน

จากรายงาน “8 ข้อเท็จจริง ความเหลื่อมล้ำในไทย” ของสถาบันอนาคตไทยศึกษา ที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2557 หากเราแบ่งคนไทยทั้งประเทศเป็น 10 กลุ่มตามระดับรายได้ แต่ละกลุ่มคือคนไทยจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ กลุ่ม 10 เปอร์เซ็นต์ที่มีรายได้สูงสุดนั้นมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 90,000 บาทต่อเดือน ขณะที่กลุ่ม 10 เปอร์เซ็นต์ที่มีรายได้น้อยสุดนั้นมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 4,300 บาทต่อเดือน หรือก็คือต่างกันประมาณ 21 เท่า และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ช่องว่างนี้ถ่างออกมากขึ้นจากเมื่อปี พ.ศ. 2529 หรือประมาณ 30 ปีที่แล้วด้วย

นั่นแค่ตัวอย่างเล็กๆ น้อยน่ะครับ เพราะถ้าคุณเข้าไปอ่านรายงานฉบับเต็ม ก็จะพบว่านอกจากในน้ำมีปลานามีข้าวแล้ว ในพัฒนาการทางเศรษฐกิจของเราก็ยังมีความเหลื่อมล้ำ ซ้ำยังอาจมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์กว่าข้าวในนาและปลาในน้ำนั่นเสียอีก จนทำให้จะเบ็ดจากพระราชาหรือปลาจากนักการเมืองนี่คนเราก็ต้องคว้าเอาไว้ทั้งหมด

เช่นนั้นแล้ว หากว่ากันตามแนวคิดจากหนังสือของโยฮันน์ ฮารี รวมทั้งแนวคิดเรื่องปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ ก็จะเห็นได้ว่าสังคมเรานั้นมีเชื้อที่พร้อมให้ไฟแห่งการเสพติดยาเสพติดปะทุขึ้นอยู่เสมอ นโยบายทางเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ปัญหา “รวยกระจุก-จนกระจาย” การไม่มีตาข่ายปลอดภัย (safety net) ไว้รองรับและช้อนรับไม่ให้คนตกไปอยู่ในจุดต่ำสุดของสังคมกอปรกับการไม่มีนโยบายที่ช่วยกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมทำให้ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยห่างออกจากกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สภาพเช่นนี้ทำให้คนในสังคมรู้สึกแปลกแยกต่อกันเนื่องจากมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันมากเกินไป และการจะบอกให้คนพอใจในสิ่งที่ตนมีนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ในโลกที่คนจำนวนมากเลือกไม่ได้เพราะมีไม่พอแต่คนกลุ่มหนึ่งเลือกไม่ถูกเพราะมีเกินพอ

สภาพเช่นนี้ทำให้ยาเสพติดเข้ามามีบทบาทได้ง่ายตั้งแต่ยาเสพติดถูกกฎหมายอย่างเหล้าและบุหรี่ที่ใช้เพื่อประโลมใจจากความด้อยเปรียบในสังคม ยาเสพติดผิดกฎหมายอย่างยาบ้าที่คนยากคนจนหลายคนจำเป็นต้องเสพเพื่อเพิ่มเรี่ยวแรงในการทำงาน หรือในที่สุดคือผันตัวไปเป็นผู้ขายเพราะหมดหนทางจะหารายได้ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ และไม่เพียงแต่คนจน ความเคร่งเครียดจากการต้องปีนป่ายและรักษาไว้ซึ่งระดับชั้นทางเศรษฐกิจและสังคมของตนทำให้แม้แต่คนมีเงินก็ยังต้องใช้ยาเสพติดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่กระนั้น โดยเปรียบเทียบแล้วคนยากจนก็ยังต้องจ่ายแพงกว่า และแรงกดดันทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องเผชิญก็ทำให้คนจนมีโอกาสจะกลายเป็นผู้ที่ใช้ยาเสพติดแบบใดแบบหนึ่งในระดับที่ต้องพึ่งพาอย่างขาดไม่ได้มากกว่าคนรวยอยู่ดี รวมทั้งส่งผลถึงการเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้อยากกว่าอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ บางที ในการจะแก้ปัญหายาเสพติดนั้น เราอาจต้องหันมามองปัจจัยเหล่านี้กันบ้าง

นอกเหนือจากความเปราะบางต่อการเกิดปัญหายาเสพติดแล้ว คนจนในสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ-ไม่มีตาข่ายปลอดภัย-ไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมศักยภาพอย่างเพียงพอย่อมไม่หยุดจนอยู่แต่เพียงในมิติของรายได้ หากแต่ความจนของพวกเขาจะแพร่กระจายอย่างไฟลามทุ่งไปในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องของการได้รับสารอาหารที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี การได้รับการศึกษาที่ดี มีคุณภาพ และสูงเพียงพอต่อการเข้าสู่งานที่ดีพอจะสร้างความมั่นคงให้ชีวิต

และในที่สุด ความยากจนในแต่ละมิติที่สะสมมานี้จะส่งผลให้คนต้องยากจนแม้กระทั่งในเรื่องสิทธิ์เสียงทางการเมืองด้วยสาเหตุอย่างพอไร้การศึกษาก็ไม่ใครฟัง การไม่สามารถผละงานไปทำการเรียกร้องใดๆ ให้ตัวเองได้ หรือต่อให้ไปได้ ความจนก็อาจทำให้คนมองว่ารับจ้างเคลื่อนไหวมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอีก ซึ่งความไร้สิทธิ์เสียงเช่นนี้จะทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันในสังคม ก่อกำเนิดซึ่งความขัดแย้งทางชนชั้นที่ฝังแฝงเร้นกายอยู่ และกลายเป็นรากฐานที่ง่อนแง่นจนไม่อาจสร้างสังคมประชาธิปไตย…หรือสังคมอื่นใดที่เข้มแข็งได้ทั้งสิ้น