ThaiPublica > คอลัมน์ > การเคลื่อนหลุดทางสังคม (Social Dislocation) : ทัศนะของบรูซ อเล็กซานเดอร์ ถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเสพติด

การเคลื่อนหลุดทางสังคม (Social Dislocation) : ทัศนะของบรูซ อเล็กซานเดอร์ ถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเสพติด

31 กรกฎาคม 2018


ณัฐเมธี สัยเวช

บรูซ เค. อเล็กซานเดอร์ (Bruce K. Alexander) เป็นนักจิตวิทยาและศาสตราจารย์กิตติคุณผู้โด่งดังจากการทดลอง Rat Park (สวนหนู) ที่เขาและคณะทำงานจากมหาวิทยาลัยไซมอน เฟรเซอร์ ประเทศแคนาดา ทำการทดลองในช่วงปลายทศวรรษ 1970 (ค.ศ.) และนำเสนอผลการทดลองในปี ค.ศ. 1981 การทดลองดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบการเลือกดื่มระหว่างน้ำธรรมดากับน้ำที่มีสารมอร์ฟีนผสมอยู่ของหนูสองกลุ่ม กลุ่มแรก เป็นหนูที่ถูกขังไว้ในกรงในห้องแล็บ กลุ่มที่สอง เป็นหนูที่ใช้ชีวิตอยู่ใน “สวนหนู” ซึ่งก็คือที่อยู่อาศัยที่กล่าวโดยง่ายคือมีทุกสิ่งที่อย่างที่จะทำให้เจ้าหนูในการทดลองมี “ชีวิตที่ดี” ซึ่งผลการทดลองปรากฏว่าหนูที่อยู่ในกรงอย่างโดดเดี่ยวนั้นจะดื่มน้ำที่ผสมมอร์ฟีนมากกว่าหนูที่อยู่ในสวนหนู

สภาพกรงขังหนู
ที่มาภาพ: http://bit.ly/2M3FyeF
สภาพของสวนหนู
ที่มาภาพ: http://bit.ly/2M3FyeF
สภาพของสวนหนู
ที่มาภาพ: http://bit.ly/2M3FyeF

ผลการทดลองดังกล่าวได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาการเสพติด (addiction ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การติดยาเสพติด แต่หมายถึงพฤติกรรมการเสพติดโดยรวม) โดยให้ความสนใจกับอิทธิพลที่สังคมมีต่อพฤติกรรมการเสพติดมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการติดยาเสพติด ที่แต่เดิมนั้นเชื่อกันว่าเป็นเพราะสารเคมีในยาเสพติด ซึ่งนั่นหมายความว่า ความเข้าใจอันคลาดเคลื่อนที่มีมาอย่างยาวนาน อาจได้นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างไม่ถูกต้องมายาวนานพอๆ กัน เพราะไปใส่ใจแต่เรื่องของคนกับสิ่งที่คนเสพติด แต่ไม่ได้สนใจเรื่องคนกับสภาพแวดล้อมซึ่งอาจนำไปสู่การเสพติดได้

ต่อมา ในหนังสือชื่อ The Globalization of Addiction: A Study in Poverty of the Spirit (2008) หรือ โลกาภิวัตน์ของการเสพติด: การศึกษาเรื่องความยากจนทางจิตวิญญาณ อเล็กซานเดอร์ได้เสนอ “ทฤษฎีภาวะการเคลื่อนหลุดทางสังคมของการเสพติด” (dislocation theory of addiction) เพื่อนำมาอธิบายถึงสาเหตุของพฤติกรรมการเสพติดในสิ่งต่างๆ รวมถึงการเสพติดยาเสพติด ซึ่งทฤษฎีภาวะการเคลื่อนหลุดทางสังคมฯ ที่อเล็กซานเดอร์เสนอนั้นมาจากการผนวกแนวคิดเรื่องการเคลื่อนหลุดทางสังคมที่คาร์ล โปลานยี (Karl Polanyi) กล่าวไว้ในหนังสือ The Great Transformation: The Political and Economic Origins of Our Time ที่เผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 1944 (ฉบับแปลภาษาไทยตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2016 ภายใต้ชื่อว่า เมื่อโลกพลิกผัน) เข้ากับการศึกษาของตัวเอง

อนึ่ง อเล็กซานเดอร์ยืนยันว่าการนำเรื่องการเคลื่อนหลุดทางสังคมมาอธิบายถึงสาเหตุของพฤติกรรมการเสพติดนั้นไม่ใช่ทฤษฎีของโปลานยีโดยตรง เพราะเมื่อตอนที่โปลานยีเสนอแนวคิดนี้นั้น เขาไม่ได้กล่าวถึงมันในฐานะสาเหตุของพฤติกรรมการเสพติด แต่เขากล่าวถึงมันในฐานะผลจากการแพร่ขยายของวัฒนธรรมที่อยู่ภายใต้สังคมตลาดเสรี

อันที่จริงแล้ว เราอาจอธิบายการเคลื่อนหลุดทางสังคมอาจให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นด้วยคำว่าความรู้สึกแปลกแยก ผิดที่ผิดทาง หรือรู้สึกว่าตัวเองนั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับตลาดเสรีแล้ว ความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งหนึ่งทั้งที่ตัวเองก็อยู่ในสิ่งนั้นย่อมเกี่ยวพันกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และหากถามว่าวัฒนธรรมภายใต้สังคมตลาดเสรี (หรือคุณจะเรียกมันว่าทุนนิยมก็ได้) นั้นทำให้คนเราตกอยู่ในภาวะเลื่อนหลุดจากสังคมได้อย่างไร ก็อาจตอบได้โดยง่ายว่า เพราะสิ่งที่จะทำให้ยูโทเปียหรือดินแดนอุดมคติตามแนวคิดตลาดเสรีเกิดขึ้นได้ก็คือมนุษย์นั้นต้องเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เป็นปัจเจกชนโดยสมบูรณ์ เพื่อทุกคนจะได้แข่งขันกันอย่างเต็มที่โดยเสรีจนกว่ามือที่มองไม่เห็น (invisible hand) ของอดัม สมิท จะนำพาตลาดเข้าสู่ดุลยภาพ

ทว่า ตัวตนในอุดมคติเช่นนั้นขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคม อเล็กซานเดอร์กล่าวถึงสิ่งที่นักจิตวิเคราะห์อย่างอีริก อีริกสัน (Erik Erikson) เรียกว่า “บูรณาการทางจิตสังคม” (psychosocial integration) อันหมายถึงภาวะที่มนุษย์สามารถดำรงสมดุลของการเป็นปัจเจกชนและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หรือก็คือภาวะที่มนุษย์รู้สึกถึงการมีตำแหน่งแห่งที่ในสังคมนั่นเอง ในขณะที่โปลานยีเสนอว่าวัฒนธรรมอันเกิดจากตลาดเสรีก่อให้เกิดการเคลื่อนหลุดทางสังคม อเล็กซานเดอร์เสนอเพิ่มเติมว่าวัฒนธรรมตลาดเสรีนั้นไปทำลายบูรณาการทางจิตสังคม จึงส่งผลให้เกิดการเคลื่อนหลุดทางสังคมตามมา

เพื่อให้เข้าใจกันได้มากขึ้น เพราะเขียนเองมาถึงตรงนี้แล้วก็รู้สึกว่ายังยากที่จะเข้าใจ จึงขอลองอธิบายเพิ่มเติมว่าภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางของตลาดเสรีโดยไม่มีการควบคุมอย่างเหมาะสมเพราะโดยแนวคิดแล้วรัฐต้องเข้าไปมีบทบาทน้อยที่สุด สิ่งที่สุดท้ายที่เราได้มาในทุกวันนี้ไม่ใช่ยูโทเปียที่ทุกคนล้วนมั่งมีตามความสามารถ แต่คือดิสโทเปียของความเหลื่อมล้ำที่แบ่งสังคมออกเป็นชนชั้นต่างๆ อย่างคลุมเครือ ชนชั้นในลักษณะนี้น่ากลัวว่าชนชั้นในสมัยศักดินาเพราะว่าเป็นสิ่งที่เราเห็นไม่ชัดเจน มันถูกพรางไว้ใต้ถ้อยคำสวยหรูว่าทุกคนเป็นคนเท่ากัน แต่ความเป็นจริงคือเราเห็นได้ทุกวันว่ามีคนที่ต่างกับเราราวอยู่กันคนละโลกเศรษฐกิจ ทั้งที่บางทีคนเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นใครที่ไหนไกลแต่เป็นเพื่อนเราเองด้วยซ้ำ คำว่าตลาดบนและตลาดล่างที่ใช้ในเชิงแบ่งแยกรสนิยมอาจเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงสภาวะดังกล่าว

การเติบโตของตลาดเสรีที่ไม่มีการควบคุมจนทำให้การกระจายรายได้เป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมได้สร้างรอยแยกไปจนถึงระดับของวัฒนธรรมและรสนิยมในแต่ละชนชั้น มิหนำซ้ำในแต่ละชนชั้นก็ยังแยกย่อยไปมีระดับบน-กลาง-ล่างของตัวเองอีกทีหนึ่ง สังคมเช่นนี้ทำให้เราโดดเดี่ยวได้แม้กระทั่งในขณะที่นั่งอยู่ท่ามกลางผู้คนที่รายล้อม และภายใต้ลักษณะดังกล่าวนี้ สังคมที่สงบไม่เคยสงบจริงดังภาพที่ผิวหน้า แต่คือสงบอยู่บนความตึงเครียดจากการเคลื่อนหลุดทางสังคมที่พร้อมจะปะทุเป็นความวุ่นวายได้เสมอ

ในมุมมองของอเล็กซานเดอร์ การเคลื่อนหลุดจากสังคมที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงบูรณาการทางสังคมนี้เองที่ทำให้เกิดการแสวงหาสิ่งทดแทนในรูปแบบต่างๆ และการเสพติดสิ่งต่างๆ ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ยาเสพติดก็เป็นหนึ่งในสิ่งทดแทนเหล่านั้น เขายกตัวอย่างทางประวัติศาสตร์มากมายมาสนับสนุนข้อเสนอนี้ เช่น ข้อเขียนที่อีริก ฮอบส์บอว์ม (Eric Hobsbawm) นักประวัติศาสตร์ มีต่อแรงงานยากจนในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งมองว่าสุราเป็น “หนทางที่เร็วที่สุดในการพาแรงงานยากจนเหล่านี้ไปพ้นจากเมืองแมนเชสเตอร์” อันเป็นที่ที่ “…พวกเขาต้องพบกับภัยพิบัติทางสังคมที่ตนเองไม่เข้าใจ ความยากจน การเอารัดเอาเปรียบ และการถูกไล่ต้อนไปอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรมที่รวมเอาทั้งเปล่าเปลี่ยวและความเสื่อมทรามไว้ด้วยกัน” หรือข้อเขียนของนักเขียนอย่างชาร์ลส์ ดิกเคนส์ (Charles Dickens) สมัยยังทำงานเป็นนักข่าวอิสระในกรุงลอนดอนช่วงทศวรรษ 1830 ที่แม้จะยอมรับในความเลวร้ายของการดื่มเหล้ายินในกลุ่มแรงงานยากจน แต่เขาก็เห็นว่าความยากจนและความสกปรกนั้นเลวร้ายยิ่งกว่า ดังที่ดิกเคนส์บอกว่า “หากสังคมที่ต่อต้านการเสพของมึนเมาจะสามารถแนะนำซึ่งยาอันสามารถถอนพิษจากความหิวโหย ความสกปรก และอากาศเสีย หรือสามารถก่อตั้งสถานแจกจ่ายน้ำจากแม่น้ำลิธี (Lethe, แม่น้ำแห่งการลืมเลือนในปรโลก, ผู้เขียน) บรรจุขวดโดยไม่คิดมูลค่า โรงเหล้ายินก็คงจะกลายเป็นอดีตไปในที่สุด”

อย่างไรก็ดี ภาวะการเคลื่อนหลุดทางสังคมที่ว่านี้มิได้เกิดแต่เฉพาะในหมู่คนยากจนแต่อย่างใด หากแต่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกชนชั้นในสังคม

มุมมองของบรูซ อเล็กซานเดอร์ ที่มีต่อภาวะการเสพติดโดยไม่ได้มองเพียงเรื่องการกระทำส่วนบุคคลหรือฤทธิ์ของตัวยาแต่มองไปถึงอิทธิพลของสภาพแวดล้อมหรือกระทั่งโครงสร้างสังคมที่มีผลให้เกิดพฤติกรรมการเสพติดนั้นยังมีอีกมาก และจะขอนำมาเล่าสู่กันฟังเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป