ประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ จากการวางโครงสร้างเศรษฐกิจ ผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับแรก ในปี 2504 จนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากสังคมเกษตรกรรม มาสู่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอย่างเต็มตัว
ผลของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทำให้ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตด้านเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อคนเพิ่มขึ้น ถ้าจะวัดมาตรฐานจากเส้นความยากจนที่คนหนึ่งจะต้องมีรายได้เฉลี่ยต่อปีขั้นต่ำที่ประมาณ 20,000 บาท ก็พบว่าประเทศไทย มีคนจนลดลง จากปี 2531ที่ประเทศไทย มีคนจนทั้งสิ้น 22.1 ล้านคน แต่ปี 2553 พบว่ามีคนจนเหลืออยู่ประมาณ 5.1 ล้านคน ซึ่งก็ดูเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทย
แต่ขณะที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว คนเป็นจำนวนมากกลับรู้สึกว่าเงินในกระเป๋าของตัวเองกลับไม่ได้เพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของตัวเลขเศรษฐกิจที่เติบโต มีช่องว่างทางรายได้ มีช่องว่างทางชนชั้น กลายเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ
ไทยพับลิก้าเรดิโอวันนี้ จิรัฐิติ ขันติพะโล และกมล ชวาลวิทย์ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวไทยพับลิก้า จะมาพูดคุยกันว่าสังคมไทย มีปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่จริงอย่างที่หลายๆคนรู้สึกหรือไม่ และถ้ามี เราควรจะแก้ไขอย่างไร
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จากข่าวในซีรีส์ “ปฏิรูประบบภาษี เพื่อสังคมไทยเสมอหน้า”