ThaiPublica > คอลัมน์ > The Warm Glow Effect : ช่วยเขา…เพราะเราอุ่นใจ?

The Warm Glow Effect : ช่วยเขา…เพราะเราอุ่นใจ?

25 มีนาคม 2017


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/heart-stone-hand-love-shape-1908901/

วันนี้มีเรื่องเศรษฐศาสตร์ใกล้ตัวที่น่าคิดและกระทบพวกเราทุกคนมาเล่าให้ฟังครับ

พฤติกรรมการให้ การทำดี และการช่วยเหลือผู้อื่นนั้น นอกจากจะเป็นสิ่งที่ดีแล้ว ยังมีอะไรให้น่าคิดอีกมากมาย

ทำไมบางคนที่บริจาคเงินเพื่อการกุศลถึงต้องเปิดเผยชื่อตนสลักไว้ให้ผู้อื่นอ่าน แต่บางคนกลับไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ (anonymous donor)

ทำไมบางคนเวลาไปช่วยเหลือผู้อื่นมาแล้วต้องโพสต์รูปบอกทุกคนให้ทราบกันในเฟซบุ๊ก

ทำไมบางคนถึงยังชอบช่วยผู้อื่นในรูปแบบที่บางทีเราไม่เห็นด้วย หรือไม่ก็ในรูปแบบที่ไม่ว่าจะคิดยังไงก็ไม่มีทางก่อให้เกิดผลดีอะไรได้กับสังคมจริงๆ

คำถามน่าคิดเหล่านี้ล้วนมีต้นตอมาจากว่าครั้งสุดท้ายที่คุณช่วยเหลือผู้อื่น บริจาคเงิน ทำงานเพื่อสังคม หรือให้ของขวัญ…คุณจำได้ไหมว่าคุณทำไปเพราะอะไร?

บทความนี้จะชวนคุณผู้อ่านไปขบคิดถึงพฤติกรรมการให้และการช่วยเหลือผู้อื่นจากหนึ่งมุมมองเศรษฐศาสตร์กันครับ

ช่วยเขาเพราะเรา?

ปริศนาหนึ่งที่เคยทำให้นักเศรษฐศาสตร์ปวดหัวกันถ้วนหน้าคือ หากคนเรามีความเห็นแก่ตัวและมุ่งหวังผลประโยชน์แก่ตนเองแบบเดียวกับในโมเดลเศรษฐศาสตร์พื้นฐานทั่วไป ทำไมในโลกแห่งความเป็นจริงเราถึงได้พบเห็นการเสียสละเพื่อผู้อื่นแทบทุกวี่วัน

ในปี ค.ศ. 2015 ชาวอเมริกัน (ที่ถึงแม้ว่าจะถูกชาวโลกประณามว่าเป็นชาติที่เอาแต่ได้) บริจาคเงินรวมแล้วเกือบเท่า GDP ไทย

จากการจัดอันดับ World Giving Index โดย Gallup World Poll ที่สำรวจพฤติกรรมการให้หรือการช่วยเหลือเพื่อนร่วมสังคม พวกเขาติดอันดับหนึ่งหรือสองพอฟัดพอเหวี่ยงกับชาวพม่าเพื่อนบ้านของเราเองมาตลอด (ส่วนไทยเราอยู่อันดับที่ 19) ที่น่าสนใจคือ กลุ่มประเทศที่ใจบุญที่สุดนั้นมีทั้งประเทศที่ร่ำรวยที่สุดและประเทศที่ยากจนที่สุดปนกันอยู่

การให้ที่เต็มใจเหล่านี้แตกต่างจากการทำเพื่อสังคมในรูปแบบอื่น เช่น การชำระภาษี เนื่องจากคุณไม่ได้ถูกบังคับ มันเป็นการตัดสินใจของคุณล้วนๆ

จึงเกิดคำถามที่น่าสนใจว่า อะไรคือสิ่งที่คอยโน้มน้าวจิตใจคนเราให้คอยช่วยเหลือผู้อื่นทั้งๆ ที่มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการเอาตัวเองให้รอดเป็นอันดับแรก บ่อเกิดของความรู้สึกต้องการช่วยเหลือหรือการให้กับผู้อื่นคือบรรทัดฐานทางสังคม (Social Norms) ที่คอยตีกรอบไม่ให้เรานอกรีต ให้ทำตามธรรมเนียม? คือการใส่ใจผู้อื่นเพื่อเอาตัวรอด (Audience Effect) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นระหว่างมนุษย์เราวิวัฒนาการ? คือจริยธรรม (Ethics) ที่พ่อแม่หรือศาสนาพร่ำสอนเราแต่เล็ก? หรือ คือความรู้สึกเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้งสำคัญล้วนๆ (Pure Altruism) ?

ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ทั้งสิ้น แต่มีอยู่หนึ่งคำอธิบายที่ผมคิดว่ามีความน่าสนใจ และมีนัยต่อการรณรงค์ให้เกิดการให้เพิ่มมากขึ้นในสังคม และได้ถูกค้นพบแล้วในการทดลองนับครั้งไม่ถ้วน

นั่นก็คือ คนเราช่วยเหลือผู้อื่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าตัวเราเองรู้สึกดีไปกับ “การให้โดยเรา” ไม่ใช่แค่ช่วยเขาเพียงเพราะว่าเขากำลังได้ประโยชน์อย่างเดียว

นักเศรษฐศาสตร์ James Andreoni ตั้งชื่อความรู้สึกนี้ว่า “Warm Glow” หรือแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า “ความรู้สึกดีๆ อุ่นๆ ในใจ” ซึ่งผมคิดว่าหลายคนที่เคยช่วยผู้อื่นน่าจะเคยรู้สึกถึงมันไม่มากก็น้อยกันทั้งนั้น

ผลงานของ Andreoni ชี้ว่าคนส่วนมากไม่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นหรือ “ทำดี” เพียงเพราะว่าเรามีใจเป็นแม่พระหรือหวังดีล้วนๆ แต่เป็นการช่วยผู้อื่นเพราะเราแคร์ทั้งเขา (ต้องการให้เขาสบายขึ้น) และแคร์ทั้งเรา (รู้สึกดีในหัวใจเรา) ไม่ว่าจะเป็นเพราะเรารู้สึกดีกับตัวเราแบบบอกไม่ถูก ภูมิใจในตนเอง หรือเพียงแค่รู้สึกว่าเราเหนือกว่าคนอื่นแบบพวกอีโก้สูง

ทราบได้อย่างไรว่าคนเรามี Warm Glow

Andreoni ตั้งสมมติฐานว่า การให้นั้นอาจไม่ต่างจากกิจกรรมอื่นๆ ที่เราได้รับความสุขจากมัน ไม่ต่างจากการที่คุณไปดูภาพยนต์หรือไปเที่ยวขนาดนั้น คุณเองก็ได้รับความสุขจากกิจกรรมที่ชื่อว่า “การให้” เหมือนกัน

จุดสำคัญก็คือ หากมี Warm Glow Effect จริง เราจะได้รับความสุขจากการให้ในส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประโยชน์ที่ผู้อื่นได้รับเลยสักนิดเดียวด้วย

จากการทดลองแบบ double-anonymous ที่โด่งดังโดย Crumpler กับ Grossman พบว่ากว่า 57% ของผู้รับการทดลองเลือกที่จะบริจาคเงินเข้ามูลนิธิทั้งๆ ที่ทราบเงื่อนไขของการทดลองดีว่าหากเขาบริจาคเงิน X บาทให้กับมูลนิธินั้น มูลนิธินั้นจะถูกตัดงบบริจาคไปจำนวน X บาทเท่ากัน ซึ่งเป็น “perfect cancellation” ไม่มีผลใดๆ กับมูลนิธินั้น แม้จะทราบกฎข้อนี้ดี นอกจากจะมีคนจำนวนมากยังตัดสินใจบริจาคแล้ว ยังบริจาคราว 20% ของเงินทุน (ถือว่ามากพอสมควร) ที่ผู้ทำการทดลองให้เอาไว้ฟรีๆ อีกด้วย

อีกการทดลองที่น่าสนใจคือการให้ผู้เข้าทดลองเลือกระหว่าง:

    1) ทำงานพับกระดาษใส่ซองจดหมายเพื่อมูลนิธิสร้างโรงเรียนในประเทศยูกานดา หรือ
    2) ทำงานพับกระดาษใส่ซองจดหมายเพื่อแลกกับค่าจ้างจากคลินิกจักษุแพทย์แห่งหนึ่ง

หากมูลค่าของแรงงานในการพับกระดาษและใส่ซองให้กับมูลนิธินั้นต่ำกว่าค่าจ้างจากการทำงานในทางเลือกที่สอง (ที่ผู้เข้าทดลองสามารถเอาเงินก้อนนี้ไปบริจาคให้กับมูลนิธิได้ทีหลัง) ผู้เข้าทดลองที่หวังดีต่อมูลนิธิจริงๆ (pure altruism) จะต้องไม่เลือกทางเลือกแรก แต่ผลปรากฏว่าผู้เข้าทดลองส่วนมากไม่ได้แสดง pure altruism เท่านั้นแต่แสดง warm glow ด้วยโดยการเลือกกิจกรรมข้อ 1 ซึ่งเป็นทางเลือกที่ไร้ “ประสิทธิภาพในการให้” กว่า

มี Warm Glow แล้วไง?

ผมคิดว่าโดยรวมแล้วการช่วยเหลือผู้อื่นมันเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ไม่ว่า warm glow ของคุณจะเกิดขึ้นจากเหตุผลใดๆ ก็ตาม เช่น ไม่ว่าคุณจะรู้สึกดีแบบห้ามไม่ได้เพราะมันเป็นอะไรที่ต่อสายมาในสมองตั้งแต่เกิด หรือคุณรัก “หน้า” ของคุณในสังคม ทำดีเพื่อให้ไม่รู้สึกผิดต่อหน้าที่

เพราะฉะนั้น จะว่า warm glow เป็นความรู้สึกที่น่าอับอายก็คงไม่ถูกต้องเสมอไป บางทีการช่วยผู้อื่นเพราะตัวเองรู้สึกดีนั้นมันก็มีข้อดีแบบบังเอิญๆ เหมือนกัน

ข้อดีข้อแรกคือ มันเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ทำให้ทุกคนได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นทุกฝ่าย (Pareto Improvement) เมื่อคุณช่วยเขา เขาได้ประโยชน์ คุณเองก็ได้ประโยชน์ ทุกคนล้วนยืนอยู่ในความเป็นจริงที่ดีขึ้นกว่าก่อนที่คุณจะตัดสินใจช่วยเขา

ข้อดีข้อที่สองคือ ถึงแม้ว่าปรากฏการณ์ warm glow อาจก่อให้เกิดการให้ที่ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร (เนื่องจากทำดีเพียงเพราะภาพพจน์หรือทำดีโดยไม่ได้คิดถึง objective จริงๆ) มันสามารถทำให้เกิดประโยชน์กับสังคมได้ในกรณีที่หากไม่มี warm glow แล้วจะไม่มีการให้เกิดขึ้นเลยได้เหมือนกัน

ยกตัวอย่าง เช่น โปรเจกต์ระดมทุนเพื่อการกุศลบางทีจะต้องมี “เงินบริจาคขั้นต่ำ” ซึ่งหากคนบริจาครวมกันแล้วไม่มากพอบางโปรเจกต์จะไม่เกิด (เช่น การระดมทุนเพื่อซื้อเครื่องมือการแพทย์ที่แพงสุดๆ) หาก ROI ของการทำบุญครั้งนี้ (สมมติว่าแปลงออกมาเป็นเงินได้) ต่ำกว่า ROI ทางการเงินจากการเอาเงินไปลงทุนที่อื่นแบบเฉียดฉิว คงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่โปรเจกต์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้น ในทางกลับกัน หากมีความรู้สึกอุ่นๆ ในหัวใจ เข้ามาพัวพันกับ “สมการของการให้” เพียงแค่นิดเดียว โปรเจกต์ที่ “ROI กุศล” ไม่มากพอจะยังพอมีโอกาสเกิดขึ้นได้

บทเรียนที่ผมได้จากการค้นคว้าเกี่ยวกับ warm glow ไม่ใช่ว่าให้เรารู้สึกละอายใจในความเห็นแก่ตัวทุกครั้งที่รู้สึกอุ่นใจขึ้นมาเวลาเราช่วยผู้อื่น แต่ให้เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องปกติมนุษย์ทั่วไป และว่ามันมีพลังมหาศาลในการกำหนดว่าการให้ของเราจะมีปริมาณและประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ “เศรษฐ” ความคิด – settaKid.com ณ วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2559