ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > TMB Make THE Difference “โครงการท่วม-อยู่-ได้” พลังการเปลี่ยนให้ชุมชนรับมือน้ำอย่างยั่งยืน

TMB Make THE Difference “โครงการท่วม-อยู่-ได้” พลังการเปลี่ยนให้ชุมชนรับมือน้ำอย่างยั่งยืน

12 กรกฎาคม 2017


นายบุญทักษ์ หวังจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี เป็นประธานส่ง-รับมอบโครงการท่วม-อยู่-ได้ ที่ รร.บ้านหนองจอก ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ภายใต้แนวคิด TMB Make THE Difference ของทีเอ็มบี ที่เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะทำให้ตัวเองดีขึ้น ชุมชนดีขึ้น และสังคมดีขึ้นได้ การปลุกจิตสำนึกให้พนักงานมีจิตอาสาเป็นก้าวสำคัญของการให้ จากปีแรกที่พนักงานเริ่มมีประมาณหลักร้อยจนถึงปัจจุบันมีพนักงานร่วมโครงการจิตอาสาประมาณ 5,000 คน

“ช่วงแรกที่เริ่มโครงการให้พนักงานทำกิจกรรมจิตอาสา เขาอาจจะมาเพราะเกรงใจผม แต่ตอนนี้ผมต้องมา (เป็นประธานในพิธี/ร่วมกิจกรรม) เพราะผมเกรงใจเขา” นายบุญทักษ์ หวังจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบีกล่าวหลังจากส่ง-มอบโครงการท่วม-อยู่-ได้

ด้วยความเชื่อว่าทุกคนสามารถ Make THE Difference ได้ และธนาคารทีเอ็มบีมีสาขาทั่วประเทศ รายได้และธุรกรรมทางการเงินของแบงก์มาจากชุมชน ดังนั้น ทีเอ็มบีต้องคืนกลับสังคมในรูปแบบต่างๆ ตามบริบทและพื้นที่ ด้วยการให้พนักงานทำโครงการจิตอาสา

“โครงการท่วม-อยู่-ได้” เป็นโครงการที่ทีมอาสาสมัครทีเอ็มบีทำใน 3 พื้นที่ที่น้ำท่วมซ้ำซาก ได้แก่ โครงการแปลงผักลอยน้ำที่โรงเรียนบ้านหนองจอก จังหวัดสุราษฎร์ธานี, คิดส์สนุก ต้านน้ำท่วม โรงเรียนอนุบาลป่าบอน จังหวัดพัทลุง และสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้น้อง โรงเรียนบางตะพาน จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ชีวิตอยู่กับน้ำท่วมนานๆได้

ทั้ง 3 โครงการเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมทุกปี แล้วแต่ว่าจะท่วมมากท่วมน้อยท่วม แม้จะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐและจากประชาชนคนไทยด้วยกัน ส่วนใหญ่เป็นอาหารแห้งที่สามารถเก็บตุนได้ แต่บางครั้งน้ำท่วมต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน อาหารสดที่ใช้ปรุงอาหารไม่มี คนในพื้นที่มีความพยายามที่จะปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ที่ลอยน้ำได้ เพื่อให้สามารถเก็บกินได้ในช่วงน้ำท่วม

กิจกรรมในครั้งนี้จึงเป็นการส่ง-รับ มอบ “โครงการท่วม-อยู่-ได้ แปลงผักลอยน้ำ” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 โครงการข้างต้น โดยอาสาสมัครทีเอ็มบี สำนักงานเกษตรอำเภอพุนพิน และชาวชุมชนอำเภอพุนพิน ได้ร่วมกับชุมชนสร้างแปลงปลูกผักลอยน้ำในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ภายใต้แนวคิด TMB Make THE Difference แนวทางการเปลี่ยนแปลงชุมชนให้ดีขึ้น เพื่อผลประโยชน์ของชุมชนอย่างแท้จริง

สภาพน้ำท่วมอาคารเรียนที่ อ.พุนพิน
นายสังเวียน ถ้อยทัด ผู้ใหญ่บ้าน ต.ท่าสะท้อน ในช่วงที่เผชิญภาวะน้ำท่วม

โครงการนี้ได้รับการต่อยอดจากนายสังเวียน ถ้อยทัด ผู้ใหญ่บ้าน ต.ท่าสะท้อน ร่วมกับทีมอาสาทีเอ็มบีและชุมชนในท้องที่ร่วมกันคิดร่วมกันทำ เพื่อให้ชุมชนอยู่กับน้ำได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากแม่น้ำตาปี เป็นแม่น้ำที่มีความยาวประมาณ 232 กิโลเมตร เชื่อมโยงกันหลายจังหวัด โดยเกิดจากเทือกเขาหลวงในอำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช ไหลผ่าน อำเภอฉวาง อำเภอบ้านนาสาร อำเภอเวียงสระ อำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอพระแสง อำเภอเคียนซา อำเภอพุนพิน และอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ไหลออกสู่ทะเลที่อ่าวบ้านดอน แม่น้ำตาปีจึงเป็นที่รวมน้ำจากคลองสาขาต่างๆ ในช่วงน้ำหลากจะไหลเอ่อล้นตลิ่งและท่วมทุกปีในช่วงเดือนพฤศจิกายน บางครั้งนานถึง 2 เดือนและท่วมสูง จึงเป็นความลำบากของการใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ

คลองสาขาที่สำคัญ 6 สาย ได้แก่

  • คลองสินปุน ต้นน้ำอยู่ในเขตจังหวัดกระบี่ ไหลมารวมกับแม่น้ำตาปี ทางฝั่งซ้ายในตำบลสินปุน อำเภอพระแสง
  • คลองอิปัน ต้นน้ำมาจากอำเภอทับปุด จังหวัดพังงา ไหลมารวมกับแม่น้ำตาปีทางฝั่งซ้ายในตำบลสินปุน อำเภอพระแสง
  • คลองพุนพิน แยกจากฝั่งซ้ายของแม่น้ำตาปี ใกล้สะพานรถไฟพระจุลจอมเกล้า ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน ไปออกทะเลที่อ่าวบ้านดอน
  • คลองท่ากูบ ต้นน้ำมาจากบ้านขุนทะเล ไหลมารวมกับแม่น้ำตาปีทางฝั่งขวา
  • คลองมะขามเตี้ย ต้นน้ำมากจากบึงขุนทะเล ไหลมารวมกับแม่น้ำตาปี ทางฝั่งขวาใกล้ตลาดบ้านดอน อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี
  • คลองขวาง แยกจากฝั่งซ้ายตรงกันข้ามกับหน้าตลาดบ้านดอน อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ไปบรรจบกับคลองพุนพิน ที่ตำบลลิเล็ด อำเภอพุนพิน
  • ยังมีคลองอื่นๆ เช่น คลองศก ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากอุทยานแห่งชาติเขาสก คลองยัน ซึ่งมีต้นกำเนิดจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง, คลองพุมดวง เป็นต้น
การทำแปลงผักลอยน้ำ

นายบุญทักษ์กล่าวว่าโครงการนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรม “เปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืน” เป็นกิจกรรมของ ไฟ-ฟ้า โดยมูลนิธิทีเอ็มบีจัดทำขึ้น 37 โครงการทั่วประเทศ ที่อาสาสมัครทีเอ็มบีร่วมกับชุมชนช่วยกันคิด ศึกษาปัญหา วิเคราะห์ วางแผน กำหนดแนวทาง และลงมือทำ เพื่อให้เกิดการ “เปลี่ยน” ที่ดีขึ้นของชุมชน ภายใต้แนวคิด Make THE Difference

“โครงการนี้ใช้โรงเรียนเป็นศูนย์เรียนรู้ เด็กนักเรียนมีส่วนร่วมในการทำทุกขั้นตอน ทำให้เขาเรียนรู้ในการทำแปลง ปลูกผัก และการหาคำตอบในเรื่องราวที่เขาทำอยู่ รวมทั้งผลผลิตที่ออกมาขายได้ เด็กจะเรียนรู้วิธีหารายได้ การออมเงิน เป็นการปลูกฝังวินัยการใช้ชีวิตตั้งแต่เด็กจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง” นายบุญทักษ์กล่าว

“โครงการท่วม-อยู่-ได้” ทั้ง 3 โครงการ มีรูปแบบการจัดการที่ต่างกันตามบริบท สภาพพื้นที่ และความต้องการ ทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนสามารถรับมือเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่และดำเนินชีวิตได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบนวิถีของชุมชนแต่ละพื้นที่ได้แก่

1. โครงการท่วม-อยู่-ได้ แปลงผักลอยน้ำที่โรงเรียนบ้านหนองจอก ตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นการปรับวิถีชีวิตของชาวชุมชนให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติ อยู่กับน้ำท่วมขังนาน เนื่องจากบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำตาปี ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำ บางพื้นที่น้ำท่วมสูงถึง 3 เมตร ด้วยการสร้างแปลงผักลอยน้ำ นวัตกรรมที่อยู่สู้กับภัยพิบัติโดยภูมิปัญญาชุมชน

นายสังเวียน ถ้อยทัด ผู้ใหญ่บ้าน ต.ท่าสะท้อน เล่าว่า ในปี 2552 น้ำท่วมใหญ่และนาน ทำให้ขาดแคลนอาหารสด จึงคิดวิธีจะทำแปลงผัก ที่เลี้ยงหมูเลี้ยงไก่เลี้ยงปลา ที่ลอยน้ำได้ ตอนแรกทำเพื่อบริโภคในครัวเรือน ด้วยการใช้โฟมจากบ่อเลี้ยงกุ้งที่ไม่ใช่แล้ว ก้อนละ 5 บาท มาทำแปลงลอยน้ำ ในช่วงน้ำไม่ท่วมก็วางอยู่บนพื้น เมื่อน้ำมาก็สามารถลอยน้ำได้ หลังจากทดลองจนใช้ได้และอยู่กับน้ำท่วมได้จริง เพื่อนบ้านก็นำไปใช้บ้าง จนนำมาสู่โครงการท่วม-อยู่-ได้ โดยมีโรงเรียนบ้านหนองจอกเป็นศูนย์เรียนรู้เชิงปฏิบัติการเกษตรนวัตกรรมใหม่ จัดสร้างแปลงผักลอยน้ำขนาด 8 เมตร จำนวน 9 แปลง ปลูกผักหลายชนิด เช่น ผักบุ้งจีน ผักกาด แตงกวา ผักคะน้า ฯลฯ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ครูและนักเรียนเพื่อขยายโอกาสในการพึ่งพาตนเอง รวมทั้งอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้าน

“ราคาโฟมบ่อเลี้ยงกุ้งจากก้อนละ 5 บาท ตอนนี้ปรับราคาขึ้น เพราะคนต้องการมากขึ้นเป็นก้อนละ 20-30 บาท ต้นทุนแปลงผักลอยน้ำจากเดิม 150 บาท (ขนาด 1 เมตร คูณ 1 เมตร) ตอนนี้ขยับเป็น 300-500 บาทแล้ว เราก็พยายามที่หาวัสดุอื่นที่จะมาลดต้นทุนอยู่” นายสังเวียนกล่าว

โครงการท่วม-อยู่-ได้ คิดส์สนุก ต้านน้ำท่วม โรงเรียนอนุบาลป่าบอน อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง
นักเรียนลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อทำแผนที่รับมือสถานการณ์น้ำท่วมในศูนย์เรียนรู้ฯ พร้อมจัดทำเป็น QR Code

2. โครงการท่วม-อยู่-ได้ คิดส์สนุก ต้านน้ำท่วม โรงเรียนอนุบาลป่าบอน อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง โดยสิ่งที่ “เปลี่ยน” เพื่อให้ชีวิตดีขึ้น คือ การพัฒนาทักษะชีวิตให้เยาวชนในการรับมือกับสถานการณ์ภัยพิบัติ เรียนรู้การใช้ชีวิตเพื่อช่วยเหลือตัวเองและครอบครัวให้อยู่รอดจากภัยพิบัติที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง เข้าใจถึงปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น โดยจัดทำฐานเรียนรู้ในโรงเรียนอนุบาลป่าบอน เช่น รู้เรา รู้น้ำ รู้อยู่กับน้ำ ภัยพิบัติน้ำท่วม ขนำลอยน้ำ ฯลฯ

3. โครงการท่วม-อยู่-ได้ สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้น้อง โรงเรียนบางตะพาน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสิ่งที่ “เปลี่ยน” เพื่อให้ชีวิตดีขึ้น คือ การสร้างเสริมอาชีพ เพิ่มรายได้ให้เด็กๆ อย่างยั่งยืน เนื่องจากในช่วงอุทกภัยผู้ปกครองมักขาดรายได้ เช่น การปรับปรุงแปลงเกษตรของโรงเรียน เพื่อลดภาระรายจ่าย และเพิ่มรายได้นักเรียนในอนาคตด้วยการพัฒนาทักษะด้านการทำขนม เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังได้จัดทำแผนที่รับมือสถานการณ์น้ำท่วมในศูนย์เรียนรู้ฯ พร้อมจัดทำเป็น QR Code โดยมีข้อมูลเตรียมความพร้อมเบื้องต้น ข้อควรปฏิบัติ กรณีประกาศภัยพิบัติ แสดงพื้นที่ซึ่งมีโอกาสเกิดภัย รวมทั้งประเมินความเป็นไปได้เรื่องความรุนแรงของอุทกภัย ด้วยการวิเคราะห์จากข้อมูลปริมาณน้ำฝน น้ำท่า และลักษณะภูมิประเทศ

(ดูข้อมูลเพิ่มเติม)

กิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืน

ภายใต้แบรนด์ TMB Make THE Difference เพื่อชุมชนและสังคม ผ่าน “ไฟ-ฟ้า (FAI-FAH)” เป็นโครงการแห่งการให้ที่ยั่งยืนของทีเอ็มบี ด้วยการเปิดศูนย์การเรียนรู้สำหรับเยาวชน ไฟ-ฟ้า แห่งแรกบนถนนประดิพัทธ์ในปี 2553 ยึดแนวทางการพัฒนาเยาวชน ซึ่งเป็นรากฐานของสังคม โดยมอบโอกาสและปลูกฝังให้เยาวชนในชุมชนอายุ 12-17 ปี ได้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ผ่านการเรียนรู้ และการทำกิจกรรมสร้างสรรค์เชิงศิลปะ หรือ Arts of Living โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นการจุดประกายให้เกิดพลังผลักดันที่นำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงพัฒนามุมมองชีวิตของตนเองให้ดีขึ้น ไปจนถึงการนำความรู้ที่ได้รับจากไฟ-ฟ้า ไปพัฒนาชุมชน และสังคมรอบข้างให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมีศูนย์ไฟ-ฟ้า 4 แห่ง ได้แก่ ไฟ-ฟ้า ประดิพัทธ์, ไฟ-ฟ้า ประชาอุทิศ, ไฟ-ฟ้า จันทน์ และไฟ-ฟ้า บางกอกน้อย

โดยมีเยาวชนมาเรียนรู้ที่ศูนย์ “ไฟ-ฟ้า” มากกว่า 60,000 ครั้งต่อปี และ “ไฟ-ฟ้า” ยังได้ขยายการเรียนรู้ไปสู่โรงเรียนต่างๆ โดยมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการมากกว่า 140,000 คน ในปี 2559 ที่ผ่านมา

การให้คืนกลับสู่สังคม กิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืน จึงเป็นการต่อยอดแนวความคิดของโครงการ “ไฟ-ฟ้า” ที่ส่งต่อพลังแห่งการให้ไปยังพนักงานทีเอ็มบี โดยเฉพาะพนักงานสาขาทั่วประเทศในการคืนกลับให้ชุมชน โดยแบ่งเป็น 2 เฟส ดังนี้

เฟสที่ 1: จุดประกายพลังการให้คืนของพนักงานทีเอ็มบี โดยเฉพาะพนักงานสาขาทั่วประเทศ
ปี 2553-2556 เป็นการทำโครงการภายใต้แนวความคิดที่จะจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ หรือการสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างพนักงานทีเอ็มบีทั่วประเทศ ลูกค้า เยาวชน และชุมชน โดยใช้อุปกรณ์ในการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ในกล่องไฟ-ฟ้า (FAI-FAH In A Box) ส่งให้พนักงานและสาขาที่สนใจอยากร่วมกิจกรรม และส่งต่อการให้ไปยังชุมชน ภายในกล่องมีอุปกรณ์กิจกรรมศิลปะต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิดของ “ทีเอ็มบี บลู แพลนเน็ต” หนึ่งในโครงการ “ให้คืน” สู่สังคมอย่างอย่างยั่งยืน ผ่านการใส่ใจและดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น ภายใต้แนวคิด TMB Make THE Difference หรือเปลี่ยน… เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น

เฟสที่ 2: เปลี่ยนแปลงชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของชุมชนอย่างแท้จริง
ปี 2557 -2559 เป็นการต่อยอดการ “ให้คืน” ด้วยความพร้อมของพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานสาขาที่เป็นผู้จุดประกายและลงมือทำงาน “เปลี่ยน” ชุมชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยเลือกชุมชนที่อยู่ใกล้สาขา เริ่มตั้งแต่การเข้าไปในชุมชนเพื่อสำรวจปัญหาต่างๆ จุดประกายให้คนในชุมชนออกมาช่วยกัน “เปลี่ยน” ร่วมกับทีมอาสาสมัคร ช่วยกันคิด วางแผน และกำหนดแนวทางในการ “เปลี่ยน” เพื่อให้เหมาะกับชุมชนหรือตอบสนองความต้องการของชุมชนนั้น โดยกิจกรรมเปลี่ยนชุมชนอย่างยั่งยืนมี 4 โครงการในปี 2557 เพิ่มเป็น 18 โครงการในปี 2558 และล่าสุดในปี 2559 รวม 37 โครงการ โดยมีชุมชนที่ได้รับผลประโยชน์กว่า 65 ชุมชน มีชาวชุมชนร่วมกิจกรรมกว่า 50,000 คน

ประโยชน์ที่ชุมชนได้รับแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มผลงานหลัก คือ ชุมชนมีรายได้เสริมเกิดเงินทุนหมุนเวียน มีศูนย์เรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ที่ยั่งยืน สร้างเสริมสุขภาวะและสิ่งแวดล้อมที่ดีในชุมชน รวมทั้งอนุรักษ์และต่อยอดวัฒนธรรมชุมชน

ในปี 2560 กิจกรรมเปลี่ยนชุมชนเพื่อความยั่งยืน อยู่ในระหว่างดำเนินการเพื่อเปลี่ยนชุมชน ผ่าน 37 โครงการทั่วประเทศ โดยในเฟสแรกของปีนี้ จำนวน 17 โครงการ รวมถึง

    1. ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงมิตรไมตรีก้าวหน้า พระโขนง กรุงเทพฯ ปรับปรุงพื้นที่ชุมชนไมตรีก้าวหน้า เขตพระโขนง ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้เชิงเกษตร ให้แก่นักเรียนและผู้สนใจทั่วไป ด้วยการรวบรวมองค์ความรู้เชิงเกษตรกรรมจากภูมิปัญญาในชุมชน พร้อมเสริมความรู้เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชน
    2. เรารักษ์สิ่งแวดล้อม ริมคลองแสนแสบ มักกะสัน กรุงเทพฯ ปรับภูมิทัศน์ รอบโรงเรียนวัดดิสหงสาราม ชุมชนมักกะสัน และส่งต่อองค์ความรู้จากโรงเรียนสู่ชุมชน เช่น การคัดแยกขยะ การปลูกจิตสำนึกเรื่องลดขยะในบ้าน การใช้ถุงผ้า เป็นต้น
    3. เสริมพลังเด็กสร้างสุข ชุมชนราชวัลลภ กรุงเทพฯ พัฒนาศักยภาพกลุ่มเด็กสร้างสุข ให้มีความเป็นผู้นำ ผ่านโปรแกรม Leadership โดยไฟ-ฟ้า เพื่อให้เด็กๆ เป็นแกนนำโครงการต่างๆ เพื่อชุมชนตนเองได้ ร่วมกับสถานีเยาวชนวิทยุออนไลน์ เสริมทักษะเด็กๆ ในโครงการดีเจน้อย
    4. ถุงนิทานเสริมสมองเพื่อน้อง คลองเตย กรุงเทพฯ จัดทำสื่อพัฒนาสมองเพื่อเสริมทักษะด้านพัฒนาการต่างๆ แก่เยาวชนมูลนิธิบ้านเด็กอ่อนในสลัม คลองเตย ปรับปรุงห้องเลี้ยงเด็กให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมสมองและจินตนาการร่วมกับสถาปนิกจากอาศรมศิลป์
    5. รักษ์ตลาดน้อย เขตสัมพันธ์วงศ์ กรุงเทพฯ ฟื้นฟูคุณค่าของย่านเก่าแก่ชุมชนตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้แก่คนในชุมชน จัดทำแผนที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชุมชนตลาดน้อย ทำป้ายบอกทางและประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยว เช่น ท่าเรือราชวงศ์ สถานีรถไฟหัวลำโพง ฯลฯ
    6. สวนผักริมคลอง ปี 2 เคหะรังสิต กรุงเทพฯ ปรับปรุงพื้นที่ว่างเปล่าริมคลองรังสิต ย่านคลอง 6 ให้เป็นสวนผักสำหรับชุมชน เช่น ปลูกมะนาวพันธุ์สีชมพูสลับกับแปลงผักสวนครัว พัฒนาให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ริมคลอง
    7. ฟื้นฟูชุมชนบ้านบุ สร้างการท่องเที่ยวยั่งยืนปี 2 ชุมชนบ้านบุ กรุงเทพฯ จัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวเพิ่ม 2 เส้นทาง เพื่อแก้ปัญหาการเดินทางโดยรถ ได้แก่ เส้นทางจักรยานร่วมกับสมาคมจักรยานแห่งประเทศไทย และเส้นทางทางน้ำร่วมกับกองทัพเรือ เพิ่มจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น จุดถ่ายภาพ จุดหน้าบ้านน่ามอง เสริมความแข็งแกร่งของกลุ่มแม่ค้าในตลาดไร้คานให้มีจำนวนมากขึ้น
    8. ลานค้าชุมชนบ้านปรกฟ้า อำเภอเกาะจันทร์ จ.ชลบุรี สร้างพื้นที่ลานค้าชุมชนบ้านปรกฟ้า เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มแม่บ้าน วิสาหกิจชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนพื้นที่ทำอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร ได้มีสถานที่นำผลิตผล หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปมาจำหน่าย สร้างรายได้สามารถพึ่งตนเองได้
    9. ผักผู้รู้ ปี 2 ร.ร.ญสส.๘๐ จ.ชลบุรี ต่อยอดด้วยการจัดอบรมยุวเกษตรกร ให้สามารถถ่ายทอดความรู้ สู่รุ่นน้อง เรื่องสหกรณ์โรงเรียน การขาย การตลาด ช่วยพัฒนาแบรนด์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าจากแปลงเกษตร สถานที่นำผลิตผล หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปมาจำหน่าย สร้างรายได้สามารถพึ่งตนเองได้
    10. ฟื้นฟูผ้าทอมัดหมี่ ชุมชนสายห้วยแก้ว อำเภอมัดหมี่ จ.ลพบุรี จัดตั้งกองทุนจักรเย็บผ้า เพื่อเป็นต้นทุนให้กับสตรีที่ทำอาชีพเย็บผ้า พัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านทอผ้ามัดหมี่
    11. ลานเล่น 3 วัยสวรรค์ร่มรื่น ชุมชนบ้านสวรรค์ร่มรื่น จ.นครสวรรค์ จัดอบรม อสม. เรื่องการสร้าง สุขภาวะที่ดีให้ผู้สูงวัยและเด็ก ปรับปรุงพื้นที่ว่างเปล่าให้เป็นลานเล่น 3 วัยทั้งเด็ก วัยรุ่นและผู้สูงอายุ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ของคนในชุมชน
    12. เปิดโลกกว้างให้น้องผู้พิการทางสายตา มูลนิธิคนตาบอด จ.ขอนแก่น ให้ความรู้เรื่องสวนบำบัดแก่ ครูในโรงเรียนสอนคนตาบอด ปรับปรุงพื้นที่รอบโรงเรียนเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้ของเยาวชนที่บกพร่องทางสายตา เช่น แปลงผักที่มีกลิ่น ให้เยาวชนได้ฝึกประสาทสัมผัส รู้จักวิธีปลูกผักเพื่อเป็นอาชีพเสริม
    13. เกษตรอินทรีย์เพื่อชีวิตใหม่ ชุมชนบ้านจิก อำเภอเหล่าเสือโกก จ.อุบลราชธานี ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ เช่น เกษตรอำเภอ โรงพยาบาลประจำตำบล จัดตั้งกลุ่มคนกล้าเปลี่ยน เป็นตัวแทนชุมชนในการปลูกผักอินทรีย์ไว้รับประทานในบ้าน ปรับปรุงพื้นที่ฐานการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ให้ครบวงจร
    14. สร้างคุณค่า สร้างอาชีพ บ้านเด็กอุดร ปี 2 จ.อุดรธานี จัดอบรมเรื่องการสร้างคุณค่า โดยให้รุ่นพี่ถ่ายทอดประสบการณ์และสร้างแรงบันดาลใจแก่รุ่นน้อง จัดกิจกรรมที่ฝึกให้รุ่นน้องเป็นผู้ให้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้เยาวชนที่จะต้องออกไปเรียนรู้นอกโรงเรียน
    15. ท่วม-อยู่-ได้: แปลงผักลอยน้ำที่โรงเรียนบ้านหนองจอก อำเภอพุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อช่วยเยียวยาชุมชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยซ้ำซาก ในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการจัดทำแปลงผักลอยน้ำ
    16. ท่วม-อยู่-ได้: สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้น้อง โรงเรียนบางตะพาน อำเภอเมือง จ.นครศรีธรรมราช สร้างอาชีพโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปของชุมชนเพื่อเป็นรายได้เสริมแก่นักเรียน เนื่องจากช่วงอุทกภัยผู้ปกครองมักขาดรายได้
    17. ท่วม-อยู่-ได้: คิดส์สนุก ต้านน้ำท่วม โรงเรียนอนุบาลป่าบอน อำเภอป่าบอน จ.พัทลุง จัดทำศูนย์เรียนรู้ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จัดทำแผนที่ คู่มือรับสถานการณ์น้ำท่วมของท้องถิ่น การเตรียมการ ข้อควรปฎิบัติและการรับมือขณะมีอุทกภัย ฯลฯ