ThaiPublica > คอลัมน์ > บทเรียนชีวิตจากตำราเศรษฐศาสตร์ (ตอนที่ 1): ผู้อ่อนไหวคือผู้ชนะ

บทเรียนชีวิตจากตำราเศรษฐศาสตร์ (ตอนที่ 1): ผู้อ่อนไหวคือผู้ชนะ

1 ธันวาคม 2017


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ: https://pixabay.com/en/coins-banknotes-money-currency-1726618/

จากที่ผู้เขียนร่ำเรียนเศรษฐศาสตร์มา 9 ปี และใช้ชีวิตมาจะครบ 30 ปีแล้ว พบว่าแม้หลายอย่างในตำราจะไม่ค่อยมีประโยชน์โดยตรงนักในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะมัน “obvious” (ชัดเจน) อยู่แล้ว หรือมันซับซ้อนเกินไป แต่สิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิตจริงมักจะโผล่เข้ามาอย่างเป็นประจำ คอยย้ำอยู่นั่น มันทำให้เราคิดว่า “อืม…เป็นอย่างนั้นจริงๆ อีกแล้วแฮะ”

บทความซีรีย์นี้จะหยิบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากตำราเศรษฐศาสตร์ที่ผมมองว่ามีประโยชน์ต่อชีวิตจริงมาเล่าผ่านประสบการณ์จริง เผื่อจะไปเป็นประโยชน์ต่อชีวิตผู้อ่านไม่มากก็น้อยครับ

ตอนที่ 1: ผู้อ่อนไหว (อย่างสมเหตุสมผล) คือผู้ชนะ

โดยปกติแล้วการเป็น “คนอ่อนไหว” เป็นอะไรที่ไม่ค่อยมีใครต้องการเป็นกันเท่าไรนัก

แต่ในระบบเศรษฐกิจ ผมคิดว่าคนอ่อนไหวคือผู้ชนะที่แท้จริง

ความอ่อนไหวที่ว่านี้ผมหมายถึงความอ่อนไหวต่อราคา หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกกันอย่างเต็มๆ ว่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา (price elasticity of demand) ซึ่งวัดกันที่ความเปลี่ยนแปลงของความต้องการสินค้าของผู้บริโภคเมื่อราคาสินค้าชิ้นนั้นเปลี่ยนแปลง

ยกตัวอย่างเช่น คุณซื้อข้าวแกงน้อยถุงลงเมื่อมีการขึ้นราคา หรือคุณเลิกสนใจรถยนต์รุ่นนี้ไปเลยเมื่อโปรโมชันไม่ดีพอ

นั่นก็คือ หากคุณอ่อนไหวต่อราคามาก แค่ราคาเปลี่ยนนิดเดียวมันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคุณ ราคาจะต้องดีจริงไม่เช่นนั้นคุณจะแทบไม่ซื้อเลย

บางคนอาจจะมองว่าคนจำพวกนี้น่าจะไม่มีความสุข เพราะจะไม่ได้ซื้ออะไรเลย แต่ผมคิดว่าถ้าเราอ่อนไหวแบบสมเหตุสมผล ไม่ซีเรียสเกินไป จะทำให้เรากลายเป็นผู้บริโภคที่ได้เปรียบกว่าผู้บริโภคอื่นๆ และจะเหลือเงินเอาไปทำอะไรอย่างอื่นได้อีกมากเลยทีเดียว

และที่สำคัญที่สุดคือ ผมคิดว่าเราอ่อนไหวได้ง่ายขึ้นในยุคดิจิทัล

ทุกวันนี้รีเทลเลอร์มีความสามารถในการแบ่งแยกราคาขาย (price discrimination) ได้มากขึ้น ผมเองไม่ทราบว่าทำไมแต่อาจเป็นเพราะกระแส e-commerce กำลังมาแรง และรีเทลเลอร์เริ่มใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อจัดกลุ่มลูกค้าได้เก่งขึ้น

การ price discriminate ก็คือเขาพยายามที่จะตั้งราคาต่างกันสำหรับสินค้าชิ้นเดียวกัน การทำเช่นนี้ทำให้เขาได้กำไรโดยรวมมากกว่าการตั้งราคาเดียวแล้ววัดดวง ซึ่งมีโอกาสที่จะชวดกำไรจากคนที่มองว่าราคาสูงเกินไป สู้ตั้งหลายราคา ขายบางคนที่ราคาต่ำหน่อย ก็ดีกว่าไม่ได้ขาย อย่างนี้เขาจะรีดกำไรได้จากทุกคน

ผลก็คือหากผู้บริโภคอย่างเราเล่นตัวนิดหน่อย ขยันหาช่องทางลดราคา หรือส่งสัญญาณว่าเราเป็นพวกอ่อนไหว หลายครั้งคุณจะได้ส่วนลดแบบไม่น่าเชื่อและแทบไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากมาย

เรียกได้ว่าเป็นการโต้ตอบอย่างมีศักดิ์ศรีในฐานะผู้บริโภค

วิธีดั้งเดิมตั้งแต่รุ่นพ่อแม่คือสมัครรับคูปองส่วนลดที่มาทางไปรษณีย์แล้วนำไปลดราคาที่ร้าน วิธีนี้ก็ยังทำได้แต่มีต้นทุนทางเวลาสูง

ในยุคปัจจุบันมีวิธีอื่นที่น่าจะดีกว่า เช่น สมัครสมาชิกรับส่วนลดด้วยอีเมล หรือแอปลิเคชันในฝั่งสหรัฐฯ ชื่อ ibotta ทำการคืนเงินเป็นส่วนลดเล็กๆ น้อยๆ จากการแสกนใบเสร็จด้วยกล้องมือถือ ได้ทีละไม่มากแต่ท้ายปีรวมแล้วซื้ออะไรชิ้นใหญ่ๆ ได้เลยทีเดียว อีกเทคโนโลยีที่น่าจะเห็นกันมากขึ้นคือเว็บแอปที่สแกนอินเทอร์เน็ตเพื่อหาคูปองโค้ดมาทดลองให้กับตะกร้าของเราแบบอัตโนมัติอย่าง Honey เป็นต้น

วิธีสุดท้ายที่อัตโนมือกว่าเพื่อนแต่อยากให้ทุกคนลองคือวิธี “ขอแค่เอ่ย” ถามไปตรงๆ เลยว่ามีส่วนลดไหมทั้งๆ ที่เราแน่ใจว่าร้านนี้ไม่น่าจะมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านค้าออนไลน์เล็กๆ ที่ไม่น่าจะมีแคมเปญใหญ่ๆ การถามแค่ส่งข้อความไปใช้เวลาคุณเพียง 5 วินาทีเท่านั้น แต่อาจมีผลตอบแทนที่ยิ่งกว่าคุ้ม หรืออย่างมากก็แค่ไม่มีส่วนลด

ทั้งนี้เราไม่ได้ต้องการเป็นคนขี้เหนียวและไม่ได้ต้องการเสียเวลาทั้งวันไปกับการง่วนหาส่วนลด

เรา “อ่อนไหว” ก็เพียงเพราะเราต้องการเป็นผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบน้อยที่สุดในโลกที่ธุรกิจพยายามจะรีดกำไรจากกระเป๋าเรามากที่สุดเท่านั้นเอง

ติดตามบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายได้ที่ www.settakid.com ครับ