ThaiPublica > คนในข่าว > ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำที่มีอิทธิพลมากที่สุดของโลก

ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำที่มีอิทธิพลมากที่สุดของโลก

29 มีนาคม 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ที่มาภาพ : http://www.sfgate.com/news/article/Here-are-10-critics-of-Vladimir-Putin-who-died-11025728.php#photo-12602391

ถ้ารัสเซียมีหนังสือประเภท Who’s Who คงจะเขียนถึงประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin) ในทำนองนี้ “เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 1952 ที่เมืองเลนินกราด บิดาชื่อ วลาดิเมียร์ สปิริโดโนวิช ผู้บาดเจ็บสาหัสในสงครามโลกครั้งที่ 2 มารดาชื่อ มาเรีย อีวานอฟวา เป็นคนงานโรงงานอุตสาหกรรม ในปี 1975 สำเร็จการศึกษาด้านนิติศาสตร์จาก Leningrad State University เขียนวิทยานิพนธ์เรื่อง ประเทศที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่งกับกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในปี 1972 เข้าทำงานกับตำรวจลับ KGB เมื่อปี 1975 และปี 1985-1990 ถูกส่งไปประจำที่เมือง Dresden เยอรมันตะวันออก

ในปี 1991 ปูตินถูกเรียกตัวกลับมาทำงานที่สำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เดือนสิงหาคม 1991 ลาออกจาก KGB ในช่วงปี 1991-1996 เป็นหัวหน้า ฝ่ายต่างประเทศ สำนักงานนายกเทศมนตรีเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ต่อมาย้ายมาที่มอสโคว์ ทำงานในตำแหน่งต่างๆ ของรัฐบาลรัสเซีย ปี 1998 อยู่ในคณะทำงานของประธานาธิบดี บอริส เยลต์ซิน ปี 1998 เป็นหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง FSB ที่ตั้งขึ้นใหม่มาแทน KGB ปี 1999 ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และปี 2000 ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในปี 2014 ปูตินสมรสใหม่กับนักกีฬายิมนาสติกชื่อ Alina Kabayena”

อดีตสายลับ KGB

วลาดิเมียร์ ปูติน เป็นผู้นำรัสเซียที่ในอดีตเคยทำงานเป็นสายลับของ KGB ตำรวจลับที่มีชื่อเสียงของอดีตสหภาพโซเวียต ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นนักศึกษา ปูตินสนใจและตื่นเต้นกับอาชีพการเป็นสายลับ เมื่ออายุ 16 ปี ปูตินเข้าไปสำนักงานของ KGB และถามว่าจะต้องทำอย่างไร จึงจะได้ทำงานกับ KGB เจ้าหน้าที่ KGB บอกเขาว่า หากไม่ได้เป็นทหาร ก็ต้องเรียนด้านกฎหมาย ทำให้เขาตัดสินใจเข้าเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Leningrad State University ปูตินเคยให้สัมภาษณ์นักเขียนรัสเซียว่า

“สิ่งที่ทำให้ผมตื่นเต้นที่สุดกับอาชีพสายลับคือ คนคนเดียวสามารถทำงานบรรลุผลสำเร็จในสิ่งที่ทั้งกองทัพอาจจะทำไม่ได้”

ก่อนจะขึ้นมาเป็นผู้นำการเมือง ปูตินไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อน เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ระดับกลางด้านข่าวกรองของ KGB มาเป็นเวลา 17 ปี แต่มียศทางทหารแค่พันโท การที่ KGB มอบหมายให้ไปทำงานที่เยอรมันตะวันออกในช่วงปี 1985-1990 นอกจากจะทำให้ปูตินพูดภาษาเยอรมันได้คล่องแคล่วแล้ว ยังทำให้ปูตินมีประสบการณ์โดยตรง ที่ได้เห็นวาระสุดท้ายอันเป็นจุดจบของสงครามเย็น ได้เห็นการล่มสลายของเยอรมันตะวันออก ที่มีเศรษฐกิจการวางแผนโดยรัฐ ปูตินเองก็ยอมรับว่า เศรษฐกิจไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเศรษฐกิจแบบกลไกตลาด

ในเวลานั้น สหภาพโซเวียตถือว่าเยอรมันตะวันออกเป็นจุดยุทธศาสตร์ของสงครามเย็น โซเวียตมีทหารรัสเซีย 380,000 คน และขีปนาวุธพิสัยกลาง อยู่ในเยอรมันตะวันออก เมืองเบอร์ลินเป็นจุดร้อนระอุของความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ แต่งานข่าวกรองที่ใหญ่โตที่สุดคือ การทำงานของตำรวจลับเยอรมันตะวันออกที่มีชื่อว่า Stasi ที่มีสายลับมากมาย เพื่อหาข่าวในหมู่คนเยอรมันตะวันออก KGB ก็มีเจ้าหน้าที่หลายพันคน ทำงานที่สำนักงานใหญ่ในเบอร์ลินตะวันออก และมีสำนักงานที่เมือง Dresden

มีข้อมูลน้อยมากเรื่องหน้าที่การงานของปูตินที่เมือง Dresden นักวิเคราะห์เห็นว่า หน้าที่หลักของ KGB คือมองหาสายลับใหม่ๆ และการขโมยเทคโนโลยีจากตะวันตก ที่เมือง Dresden มีบริษัทคอมพิวเตอร์ของเยอรมันตะวันออกชื่อ Robotron ที่ผลิตคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่และเป็นศูนย์วิจัย Microchip ภารกิจของปูตินคงจะอาศัยบริษัท Robotron เพื่อส่งช่างเทคนิคไปตะวันตก และมองหาคนที่จะมาเป็นสายลับ จากพนักงานของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ของตะวันตก ที่มาติดต่อกับ Robotron

สำนักงาน KGB เมือง Dresden ที่มาภาพ: bbc
ปูตินกลับไปเยือนเมือง Dresden ในปี 2006 ที่มาภาพ : bbc

แต่ประสบการณ์ของปูตินในเมือง Dresden ซึ่งเป็นช่วงการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน มีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาด้านความคิดของปูติน BBC เคยมีบทความเขียนไว้ว่า จะเข้าใจปูตินในปัจจุบัน ต้องเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 26 ปีมาแล้ว ในคืนวันที่ 5 ธันวาคม 1989 เยอรมันตะวันออก หลังจากกำแพงเบอร์ลินพังทลายไปแล้ว 1 สัปดาห์ ฝูงชนบุกเข้าไปสำนักงานตำรวจลับ Stasi เมือง Dresden หลังจากนั้นก็บุกไปอาคารที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม ที่เป็นสำนักงาน KGB

ปูตินที่เป็นเจ้าหน้าที่ KGB ได้ออกมาพูดเตือนฝูงชนว่า “อย่าบุกเข้ามาในอาคารนี้ พวกสหายของผมมีอาวุธครบ และได้รับอนุญาตให้ใช้อาวุธในกรณีฉุกเฉิน” คำพูดของปูตินทำให้ฝูงชนถอนตัวไป แต่ปูตินรู้ดีว่า เขาได้เผชิญกับสถานการณ์ที่อันตรายมาก ในเวลาต่อมา ปูตินเคยเล่าเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า เขาเองโทรศัพท์ไปหน่วยรถถังกองทัพแดงเพื่อขอการคุ้มครอง แต่ได้รับคำตอบว่า “เราทำอะไรไม่ได้หากไม่มีคำสั่งจากมอสโคว์ และมอสโคว์ก็เงียบ” ประสบการณ์ในเยอรมันตะวันออกให้บทเรียนแก่ปูตินหลายอย่าง เช่น อะไรคือตัวอย่างของเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง อะไรคือจุดอ่อนของผู้นำการเมือง และทำไมจู่ๆ ผู้นำการเมืองก็ถูกประชาชนล้มได้อย่างง่ายดาย

ผู้นำที่เปลี่ยนรัสเซียและโลก

ปูตินเป็นผู้นำรัสเซียที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง โดยดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำการเมืองติดต่อกันถึง 17 ปี ในการสำรวจความเห็นคนรัสเซียในปี 2014 หลังจากที่รัสเซียผนวกดินแดนไครเมียของยูเครนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ปูตินได้รับคะแนนนิยมถึง 85.9% การสำรวจในปี 2015 ปูตินได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 89% ทำให้ปูตินกลายเป็นผู้นำการเมืองที่ได้รับความนิยมมากสุดในโลก ทั้งๆ ที่เมื่อขึ้นมามีอำนาจใหม่ๆ ในปี 1999-2000 ปูตินเป็นผู้นำการเมืองที่เก็บตัว ไม่สนใจเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ให้กับตัวเอง อาจเป็นเพราะว่า การฝึกฝนในสมัยการทำงานกับ KGB ทำให้เขาวางตัวเป็นบุรุษที่ลึกลับ บุรุษที่ไม่มีโฉมหน้าปรากฏต่อสาธารณะ

เมื่อปูตินขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกในปี 2000 รัสเซียตกอยู่ในสภาพที่ยากลำบาก ทั้งกลไกรัฐและเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะงักงัน สถานการณ์ประเทศแบบนี้ จำเป็นต้องอาศัยแรงกระตุ้นจากผู้นำการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และความรักชาติ เมื่อขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้ไม่นาน เดือนสิงหาคม 2000 เรือดำน้ำนิวเคลียร์ Kursk ก็เกิดอุบัติเหตุจมลงในทะเล Barents ในปี 2002 พวกก่อการร้ายชาวเชเชนบุกเข้ายึดโรงละครในมอสโคว์ หน่วยปฏิบัติการณ์พิเศษรัสเซียใช้วิธีการปล่อยก๊าซพิษทางท่ออากาศ ทำให้คนเสียชีวิต 130 คน เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ส่งผลกระทบต่อความนิยมที่มีกับปูตินเลย คงเป็นเพราะคนรัสเซียรู้สึกว่า ประเทศกำลังต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง และรัสเซียต้องมีนโยบายต่างประเทศแบบชาตินิยม

แต่สิ่งที่เป็นเรื่องความโชคดีของปูติน คือ การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำให้นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลปูตินสามารถดำเนินการอย่างได้ผล ราคาน้ำมันเพิ่มจากบาร์เรลละ 22 ดอลลาร์ในปี 2002 เป็น 50 ดอลลาร์ในปี 2005 และ 91 ดอลลาร์ในปี 2008 และคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องมา 5 ปี ทำให้ช่วง 2001-2007 เศรษฐกิจรัสเซียเติบโตปีละ 7% ในระยะเวลาแค่ 6 ปี เศรษฐกิจรัสเซียมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 1999 ที่เป็นการสิ้นสุดของยุคประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน

รัสเซียมักถูกเรียกว่าเป็น “รัฐปิโตรเลียม” (Petrostate) ประเทศที่มีสภาพแบบนี้มักล้มเหลวในการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง รัสเซียส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติโดยมีสัดส่วนถึง 50% ของการส่งออกทั้งหมด ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นสร้างความรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นกับรัสเซียสมัยปูติน ทำให้รัสเซียสามารถชำระหนี้สินต่างประเทศจนหมดในปี 2005 สังคมเกิดคนชั้นกลางรุ่นใหม่ๆ รัฐสามารถจ่ายเงินบำนาญเพิ่มขึ้นแก่ประชาชน ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจทำให้คนรัสเซียได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า รัสเซียจึงกลายเป็นตัวอย่างของประเทศที่โชคดีในยุคสมัยใหม่

ช่วงที่ทำงานกับ KGB ในเยอรมันตะวันออก ปูตินคงจะได้รับอิทธิพลความคิดจากตัวอย่างด้านเศรษฐกิจของเยอรมันตะวันตก ปูตินเป็นคนที่สนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจเสรีตามกลไกตลาด แต่ต้องมีการกำกับดูแลและควบคุมโดยรัฐ แต่เขาต่อต้านขัดขวางการที่พวกมีอำนาจควบคุมเศรษฐกิจจะเข้ามามีอำนาจทางการเมือง ที่เรียกกันว่าพวก Oligarch พวก Oligarch คือนักธุรกิจรัสเซียที่สร้างความมั่งคั่งขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากการแปรรูปทรัพย์สินของรัฐ คนกลุ่มนี้เกิดขึ้นหลังจากสหภาพโซเวียตล้มสะลาย พวก Oligarch ที่พยายามจะเข้ามามีอำนาจทางการเมืองถูกจับกุม เช่น นาย Mikhail Khodorkovsky เจ้าของบริษัทน้ำมัน Yukos หรือไม่ก็ต้องลี้ภัย เช่น นาย Boris Berezovsky

ส่วนกลุ่มคนที่มีอำนาจในรัสเซียปัจจุบัน ไม่ใช่พวก Oligarch แต่เป็นพรรคพวกที่เคยร่วมงานกับปูตินในสมัยที่ทำงานกับ KGB และที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก แน่นอนว่า พรรคพวกปูตินที่มีตำแหน่งสูงๆ คงจะมีฐานะที่มั่งคั่ง แต่จะร่ำรวยขนาดไหน แหล่งเงินได้มาจากไหน หรือฝากไว้ที่ไหน ไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่พวกมีอำนาจในปัจจุบันจะยึดหลักปฏิบัติอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ไม่อวดมั่งมีหรือใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย มีหนังสือเขียนเปิดโปงว่าปูตินเป็นคนร่ำรวยที่สุดในโลก ซึ่งก็อาจจะเป็นการเขียนกันแบบที่เกินความจริง แต่ที่แน่นอนก็คือ พรรคพวกของปูตินที่พ้นจากตำแหน่งระดับสูงของรัฐบาลไปแล้ว ไม่มีใครต้องไปอาศัยเงินสวัสดิการรายเดือนจากรัฐแม้จะมีอำนาจมานาน 17 ปีต่อเนื่องกัน

แต่คนทั่วไปมีความเข้าใจน้อยมากว่าปูตินเป็นคนที่มีความคิดอย่างไร เช่น ปูตินเป็นผู้นำที่มีแนวคิดปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองหรือไม่ เป็นนักเสรีนิยมหรือนักอนุรักษนิยม ปูตินต้องการเปลี่ยนแปลงรัสเซียหรือว่าต้องการสร้างความสงบมั่นคงให้กับรัสเซีย เพราะที่ผ่านๆ มารัสเซียประสบปัญหาความปั่นป่วนมาหลายปี แต่ที่แน่นอนอย่างหนึ่ง คนที่เคยทำงานกับ KGB มาแล้ว คงไม่ใช่คนที่มีแนวคิดจะเร่งสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในรัสเซียในเร็ววัน

ในประเทศตะวันตก หนังสือเกี่ยวกับปูตินมักจะตั้งชื่อว่า The New Tsar, The Man Without Face หรือ Mr. Putin: Operative in the Kremlin เพื่อสะท้อนภาพลักษณ์ของปูตินว่า เป็นผู้นำเผด็จการ หรือผู้นำรัสเซียที่เป็นสายลับ KGB แฝงตัว คนรัสเซียเองก็มีคำพูดว่า คนที่เคยเป็น KGB มาแล้ว ก็จะเป็นตลอดไป แต่การที่นักวิเคราะห์ตะวันตกมองว่าปูตินเป็นผู้นำมีแนวโน้มเผด็จการ หรือใช้อำนาจเด็ดขาด ก็อาจจะสะท้อนความจริงบางส่วน

รัสเซียในสมัยปูตินมีสภาพเป็น “รัฐคู่ขนาน” (Dual State) ด้านหนึ่ง รัสเซียมีระบอบการเมืองที่มีรัฐธรรมนูญเป็นทางการ มีการปกครองที่ยึดหลักกฎหมาย และมีเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง การที่รัสเซียเป็นประเทศที่มีเรื่องอื้อฉาวด้านคอร์รัปชัน เหตุผลหนึ่งเพราะ สื่อมวลชนในรัสเซียมีเสรีภาพมากในการเปิดโปงเรื่องนี้ แต่อีกด้านหนึ่ง ผู้มีอำนาจของรัสเซียก็มีอภิสิทธิ์ที่จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงกันข้ามโดยไม่ต้องรับผิดใดๆ เหมือนกับว่า ผู้มีอำนาจมีระบบกฎหมายของตัวเอง

สภาพแบบรัฐคู่ขนานดังกล่าว คือสิ่งที่อธิบายพัฒนาการการเมืองรัสเซีย หลังจากการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ คือ รัสเซียอยู่ในพื้นที่สีเทา ไม่ชัดเจนว่าจะพัฒนาไปเป็นประเทศที่ปกครองโดยยึดหลักกฎหมายหรือจะเป็นประเทศที่มีการปกครองแบบที่เรียกกันว่า “อำนาจนิยมแต่เสรี” หรือ “ประชาธิปไตยที่มีการควบคุม”

แต่นักวิเคราะห์เห็นว่า รัสเซียในสมัยปูตินไม่ต้องการให้มีระบบการเมืองที่เลียนแบบสหรัฐฯ หรืออังกฤษ แต่เป็นระบบการเมืองที่สะท้อนธรรมเนียมดั้งเดิมและสถานการณ์ของรัสเซีย เจ้าหน้าที่รัฐบาลรัสเซียเคยเรียกระบอบการเมืองรัสเซียว่า “ประชาธิปไตยที่มีอธิปไตย” (Sovereign Democracy) คือ นโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาลอาศัยการสนับสนุนจากคนรัสเซีย ไม่ใช่ถูกกำหนดจากต่างประเทศ ปูตินก็เคยกล่าวว่า ถ้าไม่มีเสรีภาพ ไม่มีประชาธิปไตย รัสเซียก็จะไม่มีเสถียรภาพและนโยบายเศรษฐกิจที่ยั่งยืน แต่รัสเซียก็จะเป็นคนตัดสินใจเองเรื่องการก้าวไปสู่การเป็นประชาธิปไตย

หลังจากที่ขึ้นเป็นผู้นำรัสเซียมาแล้ว 17 ปี ปูตินทำให้รัสเซียเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากประเทศที่เคยเต็มไปด้วยความปั่นป่วนทางการเมือง และทรัพยากรด้านพลังงานของรัฐถูกแปรรูปไปสร้างความมั่งคั่งให้กับพวก Oligarch กลายมาเป็นรัสเซียใหม่ที่ความยิ่งใหญ่ในอดีตหวนกลับคืนมา จนนิตยสาร Forbes ยกย่องให้ปูตินเป็นผู้นำการเมืองที่มีอิทธิพลมากที่สุดของโลกติดต่อกัน 4 ปี ตั้งแต่ปี 2013-2016 ทั้งนี้เพราะบทบาทรัสเซียในปัจจุบันส่งผลกระทบไปทุกมุมของโลก ตั้งแต่สงครามกลางเมืองในซีเรีย จนถึงการพยายามแฮ็กข้อมูลของพรรคเดโมแครตเพื่อช่วยโดนัลด์ ทรัมป์ ให้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ