ThaiPublica > คอลัมน์ > ข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจครัวเรือนในประเทศไทย

ข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจครัวเรือนในประเทศไทย

17 มีนาคม 2017


อาชว์ ปวีณวัฒน์ [email protected] มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็มเรื่อง “ข้อจำกัดด้านการกู้ยืมและการตัดสินใจเป็นผู้ประกอบการของครัวเรือนไทย” เผยแพร่ใน website ของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=3800

วิสาหกิจขนาดย่อม (small enterprises หรือ SEs) เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมูลค่าผลผลิตจาก SEs ในปี พ.ศ. 2557 คิดเป็นร้อยละ 27.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และก่อให้เกิดการจ้างงานคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 72.5 ของการจ้างงานโดยวิสาหกิจทั้งหมด การสนับสนุนการดำเนินงานและการผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่จึงเป็นนโยบายที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ

ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ การตัดสินใจทำธุรกิจของครัวเรือนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ (1) ความสามารถในการประกอบธุรกิจ ซึ่งหมายรวมถึงการมีแผนการทางธุรกิจที่ดี ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ หรือมีทักษะในการทำธุรกิจ และ (2) เงินทุนที่เพียงพอในการเริ่มต้นทำธุรกิจ ซึ่งอาจมาจากเงินทุนส่วนตัว และ/หรือจากการกู้ยืม

ในทางทฤษฎีนั้น หากไม่มีอุปสรรคใดๆ ในการเข้าถึงเงินทุน การตัดสินใจทำธุรกิจจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการเท่านั้น และไม่ควรขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของครัวเรือน เนื่องจากครัวเรือนที่มีความสามารถสูง แต่มีเงินทุนไม่เพียงพอ สามารถที่จะขอสินเชื่อจากธนาคารเพื่อมาทำธุรกิจได้ตราบใดที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในธุรกิจนั้นสูงกว่าอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ครัวเรือนโดยทั่วไป โดยเฉพาะที่มีรายได้น้อยหรือมีฐานะทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ มักเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้ครัวเรือนดังกล่าวไม่สามารถกู้ยืมเพื่อนำมาลงทุนเริ่มต้นธุรกิจได้ ด้วยเหตุนี้ การตัดสินใจทำธุรกิจรวมทั้งขนาดของธุรกิจจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของครัวเรือน โดยครัวเรือนที่มีฐานะทางการเงินที่ดีจะมีโอกาสในการเริ่มต้นทำธุรกิจมากกว่าและสามารถขยายธุรกิจได้ง่ายกว่าครัวเรือนที่มีฐานะทางการเงินที่ด้อยกว่า

ดังนั้น ในสถานการณ์ที่ข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นอุปสรรคสำคัญของการประกอบกิจการภาคครัวเรือน จะพบว่าปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจทำธุรกิจของแต่ละครัวเรือนนั้น มักขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของครัวเรือนเอง นั่นคือ ไม่สามารถกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการลงทุนได้

Paulson and Townsend (2004) ได้ศึกษาประเด็นนี้โดยใช้ข้อมูล Townsend Thai Data ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการสำรวจข้อมูลแบบตัวอย่างซ้ำของครัวเรือนในชนบทของประเทศไทย จาก 4 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ลพบุรี บุรีรัมย์ และ ศรีสะเกษ ผลการศึกษาพบว่า ครัวเรือนที่มีฐานะทางการเงินที่ดี มีโอกาสที่จะเริ่มต้นทำธุรกิจมากกว่าครัวเรือนที่มีฐานะทางการเงินที่ด้อยกว่า นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนของครัวเรือนที่ตอบแบบสอบถามว่าธุรกิจสามารถทำกำไรได้มากขึ้นหากมีการขยายกิจการ พบว่าสัดส่วนดังกล่าวจะลดลงตามระดับสินทรัพย์ของครัวเรือน แสดงว่าฐานะของครัวเรือนช่วยลดความเสี่ยงที่ครัวเรือนอาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านการลงทุนในการประกอบธุรกิจ

อีกหนึ่งการศึกษาโดย Pawasutipaisit and Townsend (2011) ซึ่งใช้ข้อมูล Townsend Thai data เช่นกัน พบว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในธุรกิจของครัวเรือนมีความสัมพันธ์ในทางลบกับระดับสินทรัพย์ของครัวเรือน กล่าวคือ ธุรกิจของครัวเรือนที่มีระดับสินทรัพย์ต่ำจะให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยในอัตราที่สูงกว่าธุรกิจของครัวเรือนที่มีระดับสินทรัพย์สูง ดังในรูปที่ 1 ที่แสดงความสัมพันธ์เชิงลบระหว่างอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในธุรกิจของครัวเรือน (แกนตั้ง) และระดับสินทรัพย์ของครัวเรือน (แกนนอน) นอกจากนี้ ยังพบว่าธุรกิจของครัวเรือนจำนวนมากให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ย (เส้นสีแดง) อีกด้วย ซึ่งสะท้อนว่าหากครัวเรือนในกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระดับอัตราดอกเบี้ยปกติเพื่อนำมาขยายกิจการ จะสามารถได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นได้

งานวิจัยของทั้ง Paulson and Townsend (2004) และ Pawasutipaisit and Townsend (2011) ชี้ให้เห็นว่าข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการประกอบธุรกิจของครัวเรือนไทย ทำให้บางครัวเรือนที่มีความสามารถสูงแต่มีฐานะทางการเงินที่ไม่ดีนัก ไม่สามารถรวบรวมทุนได้เพียงพอที่จะเริ่มทำธุรกิจ ผลการศึกษายังชี้ว่า ครัวเรือนจำนวนหนึ่งมีความสามารถในทางธุรกิจสูง โดยวัดจากผลตอบแทนจากการทำธุรกิจที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ย แต่ครัวเรือนเหล่านี้กลับไม่สามารถขอสินเชื่อเพื่อนำมาขยายกิจการได้ ดังนั้น หากภาครัฐต้องการสนับสนุนครัวเรือนที่มีความสามารถสูงเหล่านี้ นโยบายที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน เช่น การค้ำประกันสินเชื่อ หรือการร่วมลงทุน น่าจะมีประสิทธิผลมากกว่านโยบายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ช่วยเฉพาะผู้ที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้แล้ว แต่ไม่ได้ช่วยให้ครัวเรือนกลุ่มใหม่ๆ ที่มีระดับสินทรัพย์ต่ำสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มขึ้นได้

หมายเหตุ:ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์