ThaiPublica > เกาะกระแส > PIER ชี้ระวังนโยบายอุ้มเอสเอ็มอีนานไป หวั่นสร้าง “บริษัทผีดิบ : Zombie Firms” เบียดบังทรัพยากรบริษัทเกิดใหม่

PIER ชี้ระวังนโยบายอุ้มเอสเอ็มอีนานไป หวั่นสร้าง “บริษัทผีดิบ : Zombie Firms” เบียดบังทรัพยากรบริษัทเกิดใหม่

12 พฤศจิกายน 2019


เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ หรือ PIER วิเคราะห์งบการเงินรายปีของบริษัทกว่า 750,000 ราย ตั้งแต่ปี 2549-2559 ผลการศึกษาสะท้อนโครงสร้างของภาคธุรกิจที่น่าเป็นห่วงในหลายด้าน ทั้งการกระจุกตัวของรายได้ที่สูงอย่างต่อเนื่อง การผูกขาดทางธุรกิจที่รุนแรงขึ้น และพลวัตที่ลดลง แนะนำให้ส่งเสริมการแข่งขัน เพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อ ควบคู่ไปกับการยกระดับผลิตภาพของภาคธุรกิจไทย

ดร.อาชว์ ปวีณวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับคณะนักวิจัยศึกษาเกี่ยวกับภาคธุรกิจไทย พบว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 5% มีรายรับรวมสูงถึง 85% ของรายรับทั้งหมดของภาคธุรกิจไทย และการกระจุกตัวในลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอย่างน้อยกว่า 10 ปีแล้ว ในขณะที่บริษัทขนาดกลางมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ แต่มีปัญหาข้อจำกัดด้านสินเชื่อ ส่วนบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากมีปัญหาผลิตภาพที่ค่อนข้างต่ำและเข้าไม่ถึงสินเชื่อด้วย โดยจากผลการศึกษา มีนัยเชิงนโยบาย 3 ประการ ที่น่าสนใจดังนี้

เร่งพัฒนาผลิตภาพเอสเอ็มอี – ลดอำนาจตลาดกลุ่มทุน

ประการแรก บริษัทขนาดกลางจำนวนหนึ่งมีสัดส่วนสินเชื่อที่ค่อนข้างต่ำ แม้ว่าจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูง สะท้อนถึงบริษัทเหล่านี้อาจเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงหรือมีข้อจำกัดด้านสินเชื่อ นโยบายที่ช่วยให้บริษัทในกลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นจะช่วยทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่บริษัทขนาดเล็กจำนวนมากมีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต่ำ ชี้ให้เห็นปัญหาผลิตภาพของบริษัทกลุ่มนี้ นอกจากนี้ บริษัทขนาดเล็กเหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพการบริหารเงินทุนหมุนเวียนที่ต่ำกว่าบริษัทขนาดใหญ่ค่อนข้างมาก เช่น การหมุนเวียนเงินสด ที่กว่าจะเปลี่ยนเงินสดเป็นวัตถุดิบและสินค้าและขายสินค้ากลับมาเป็นเงินสดช้ากว่าบริษัทขนาดใหญ่ถึง 4 เดือน ดังนั้น ในการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การใช้นโยบายที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่ออย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องใช้นโยบายอื่นๆ ที่จะช่วยยกระดับผลิตภาพของบริษัทควบคู่ไปด้วย

ประการที่สอง อำนาจตลาดของบริษัทไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และสำหรับบริษัทในกลุ่มทุนมีอำนาจตลาดสูงกว่าบริษัททั่วไป และจะมีแนวโน้มเพิ่มเร็วกว่าด้วย ทั้งนี้ บริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงสุด 5% แรกของประเทศอยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีก ค้าส่ง ร้านอาหาร โรงแรม และการผลิตอาหาร

ส่วนอุตสาหกรรมที่มีอำนาจตลาดสูงขึ้นมากที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือ การขนส่งทางน้ำ ตัวแทนธุรกิจจัดการเดินทางและธุรกิจจัดนำเที่ยว คลังสินค้า ธุรกิจบันเทิงและภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ ส่วนธุรกิจที่มีอำนาจตลาดลดลง ได้แก่ โทรคมนาคม สิ่งพิมพ์ กิจกรรมกีฬาและความบันเทิง กิจกรรมบริการสารสนเทศ และร้านอาหาร

ทั้งนี้ อำนาจตลาดส่งผลทางลบต่อประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากร โดยทำให้บริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงขาดแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ขาดแรงจูงใจและความสามารถในการส่งออก โดยบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงจะลดการลงทุนหรือผลิตภาพลงเฉลี่ยปีละ 6% ขณะที่การส่งออกบริษัทที่อำนาจตลาดสูงจะส่งออกน้อยกว่าประมาณ 3% เทียบกับบริษัทที่มีอำนาจตลาดต่ำกว่า และยังพบอีกว่าจะมีแนวโน้มส่งออกติดต่อกัน 2-3 ปี ลดลงประมาณ 4-5% ดังนั้น การเพิ่มการแข่งขันภายในประเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่ง รวมไปถึงผู้กำกับดูแลด้านการแข่งขันควรที่จะนำมิติด้าน “โครงสร้างความเป็นเจ้าของ” มาพิจารณาประกอบการดำเนินนโยบายด้วย

“บริษัทผีดิบ” เบียดบังการลงทุนของคนอื่นเกือบ 1:1

ประการที่สาม พลวัตธุรกิจไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยอายุเฉลี่ยของบริษัทไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 และการมีอยู่ของบริษัทผีดิบ หรือ Zombies Firms ซึ่งมีทั้งบริษัทขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี โดยมีสัดส่วนสินทรัพย์ประมาณ 5% ของสินทรัพย์ในภาคธุรกิจทั้งหมด  เทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วถือว่ายังอยู่ระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำ แต่แนวโน้มในปัจจุบันจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่มากขึ้น ส่งผลทางลบต่อโอกาสที่บริษัทใหม่จะเข้าสู่ตลาดและต่อการเติบโตของบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน การมีบริษัทเหล่านี้เพิ่มขึ้นในสัดส่วน 1% จะทำให้การลงทุนของบริษัททั่วไปลดลง 0.8% และทำให้การลงทุนของบริษัทใหม่อายุต่ำกว่า 5 ปีลดลง 0.9%

ดังนั้น นโยบายที่ทำให้บริษัทเก่าที่ไม่สามารถทำกำไรได้ออกจากตลาดเร็วขึ้น เช่น การปรับปรุงกฎหมายล้มละลาย ซึ่งในกรณีของต่างประเทศ หรือนโยบายที่ช่วยให้บริษัทใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น อาทิ การแก้ไขกฎระเบียบเพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการตั้งบริษัทใหม่ จะช่วยทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการที่บริษัทใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้นจะช่วยยกระดับการแข่งขันในตลาดให้เพิ่มขึ้นและลดอำนาจตลาดของบริษัทอีกด้วย

ส่วนเหตุผล ลักษณะ และวิธีการคงอยู่ของ Zombie Firms เหล่านี้ สถาบันฯ กำลังศึกษาอยู่ว่ามีลักษณะอย่างไรและเป็นใคร เนื่องจากในการศึกษาของต่างประเทศ เหตุผลมักจะมีความหลากหลาย เฉพาะเจาะจงค่อนข้างมากในแต่ละประเทศ ตัวอย่างในบางประเทศจะมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพของกฎหมายล้มละลายที่ล่าช้า ทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่ได้อยากจะเข้าสู่กระบวนการ หรือรัฐบาลบางประเทศอาจจะอุดหนุนบริษัทเหล่านี้เอาไว้ ไม่อยากให้ล้มลงไป เพราะจะกระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมได้

ส่วนในมุมของธุรกิจมีวิธีหาทางออกหลากหลายวิธี เช่น การกู้เงินมาใช้จ่ายหรือการขายสินทรัพย์บางส่วนออกไป หรือแม้แต่เพิ่มเงินทุนของเจ้าของเข้ามา แต่เบื้องต้นอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนบริษัทผีดิบสูง ได้แก่ การก่อสร้าง โรงแรม กิจกรรมกีฬาและความบันเทิง กิจกรรมผลิตโลหะพื้นฐาน และการศึกษา

สุดท้ายถามว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไรว่าจะอุ้มเอสเอ็มอีดีหรือไม่ หรือควรจะปล่อยไป ไม่ให้แย่งทรัพยากรของบริษัทอื่นๆ งานวิจัยนี้จะตอบว่าการทำนโยบายช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก มันมีต้นทุนอีกด้านหนึ่งเหมือนกัน คือด้านหนึ่งการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าตลาดได้ แข่งขันได้ จนเติบโตขึ้นมาก็เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่อีกด้านถ้าเอสเอ็มอีนั้นไม่สามารถเติบโตได้ มันก็มีต้นทุนต่ออุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ เพราะไปกีดกันทรัพยากรบางส่วนเอาไว้ไม่ให้ไปหาบริษัทที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ดังนั้นในทางนโยบายต้องตัดสินปัจจัยต้นทุนเหล่านี้ด้วย” ดร.อาชว์กล่าว

ทั้งนี้ นโยบายภาครัฐหลายๆ ด้านดำเนินมาถูกทางแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านการยกระดับผลิตภาพของ SMEs ที่ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กำหนดให้เป็นตัวชี้วัดหลักตัวหนึ่ง หรือด้านการแก้ปัญหาการล้มละลายและการเริ่มต้นธุรกิจที่ประเทศไทยได้มีการพัฒนามาตามลำดับ ในการจัดอันดับ Ease of Doing Business โดยธนาคารโลก ในหัวข้อ Resolving insolvency และ Starting a business ประเทศไทยได้อันดับดีขึ้นจาก 75 เป็น 39 และจาก 45 เป็น 24 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาในบทความนี้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสและประโยชน์ที่จะได้รับจากการปรับปรุงและแก้ไขนโยบายอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาคธุรกิจไทย