ThaiPublica > เกาะกระแส > เวที “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคเหนือ (ตอนจบ) ขอรัฐเบรกอีคอมเมิร์ซต่างชาติ เอสเอ็มอีภูธรไม่มีพื้นที่แข่งขัน

เวที “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคเหนือ (ตอนจบ) ขอรัฐเบรกอีคอมเมิร์ซต่างชาติ เอสเอ็มอีภูธรไม่มีพื้นที่แข่งขัน

17 พฤศจิกายน 2020


ต่อจากตอนที่ 1 เวที “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคเหนือ (ตอน 1) รัฐต้องช่วย SME จริงจัง ใช้เงินให้ตรงจุด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามรุนแรงไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนทั้งในสังคมโลกและประเทศไทยอย่างน้อย 3 ด้าน คือ การใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการทำงาน สถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงมีผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ประชาชนในสังคมต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และปรับตัว เตรียมความพร้อม ที่จะใช้ชีวิตอยู่ในภาวะปกติใหม่ (new normal) หลังวิกฤติโควิด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การดำรงชีวิตอยู่บนความพอดีในทุกๆ ด้าน ไม่มากไปไม่น้อยไป จะทำให้โลกมีความสมดุล และประชาชนมีภูมิคุ้มกัน จะสามารถผ่านภาวะวิกฤตินี้ไปได้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงเห็นความสำคัญในการนำแนวพระราชดำริมาสืบสาน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้มีรูปแบบการพัฒนาการขับเคลื่อนสังคมไทยที่สมดุลหลังวิกฤติโควิด-19 และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษา วิเคราะห์ในเชิงวิชาการว่าสังคมโลกและประเทศมีทิศทางในการปรับเปลี่ยนอย่างไร ประชาชนมีความพร้อมต่อการปรับเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะประเทศไทยควรศึกษาว่า รูปแบบการขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ เพื่อให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงควรเป็นอย่างไร

แปดองค์กร อันประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย, สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และสำนักข่าวไทยพับลิก้าเป็นผู้ประสานงาน ได้ริเริ่ม โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” เพื่อที่จะช่วยกันมองและหารูปแบบ/โมเดลการขับเคลื่อนสังคมไทย ด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริเพื่อให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงและนำประเทศผ่านวิกฤติในครั้งนี้

โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” กำหนดออกรับฟังความเห็นทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคใต้ที่หาดใหญ่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น ภาคเหนือที่เชียงใหม่ ภาคตะวันออกที่ชลบุรี จากนั้นคณะวิชาการจะได้ทำการรวบรวมทั้งงานทางวิชาการและความคิดเห็นของประชาชน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลและประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบในเดือนพฤศจิกายน

โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนไปแล้ว 2 ครั้ง คือ ที่หาดใหญ่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ขอนแก่นเมื่อวันที่ 1 กันยายน และที่เชียงใหม่วันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญที่สรุปได้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับฟังความเห็นจากวงเสวนาเชียงใหม่ คือ โครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมากยังเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจุบันหรือไม่ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีของรัฐบาล ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง จึงต้องมีแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างจริงจัง และใช้เงินช่วยเหลือให้ตรงเป้า

  • เวที”คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคใต้ (ตอน 1): รัฐต้องเข้าใจ เข้าถึงแต่ละบริบทพื้นที่ เพื่อพัฒนาช่วยเหลือตรงเป้าอย่างรู้เท่าทัน
  • เวที “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคใต้ (ตอนจบ) : คิด ทำ เปลี่ยน เพื่อก้าวต่อ ด้วย “โอกาส-แข่งขันได้”
  • เวที “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคอีสาน (ตอน 1): เอกชนคิด ทำ เปลี่ยน ปัญหาเป็นโอกาส ขอรัฐแค่อำนวยความสะดวก
  • เวที “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคอีสาน (ตอนจบ): ภาคเกษตรมีอนาคต แต่เกษตรกรต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ นโยบายรัฐต้องตรงจุด
  • ด้านผู้แทนหอการค้าได้ให้ข้อมูลสภาพการพัฒนาในระดับจังหวัด โดยหลายจังหวัดในภาคเหนือไม่ได้รับงบประมาณจากรัฐ ทำให้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านต้องพัฒนาด้วยการพึ่งพาตนเอง แต่กลับทำให้กลายเป็นจุดแข็ง เพราะในช่วงการระบาดของโควิดได้รับผลกระทบน้อยและอยู่รอดได้พร้อมเสนอแนะว่า

    งบประมาณรัฐลงไม่ถึงพึ่งตัวเองจนมีจุดแข็ง

    นายยชญ์สุธา วิชัยธนพัฒน์ ประธานหอการค้า จังหวัดเพชรบูรณ์

    นายยชญ์สุธา วิชัยธนพัฒน์ ประธานหอการค้า จังหวัดเพชรบูรณ์ สะท้อนมุมมองว่า ด้วยที่ตั้งของจังหวัดทำให้สถานะของเพชรบูรณ์ไม่ชัดเจนระหว่างการเป็นเมืองของภาคเหนือหรือภาคอีสาน เพราะบางครั้งการแบ่งตามภาคเพชรบูรณ์เป็นจังหวัดในภาคเหนือ แต่การที่เขตจังหวัดติดกับภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ทำให้บางครั้งถูกนับรวมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และที่สำคัญมักจะถูกมองข้ามเสมอ เห็นได้ชัดจาก 1) งบประมาณที่จัดสรรจากรัฐจะลงไปที่เชียงใหม่ พิษณุโลก หรือไปลงที่เมืองหลักเพื่อให้ไหลลดหลั่นลงมา แต่ไม่เคยไหลมาถึงเพชรบูรณ์ 2) การส่งสินค้าไม่ว่าจะเป็นผลไม้หรือ อาหารก็ไม่ผ่านเพชรบูรณ์ และไม่ส่งตรงมาที่เพชรบูรณ์แต่ข้ามจังหวัดหรืออ้อมจังหวัด ยกตัวอย่าง การส่งลำใยไปอีสานต้องส่งไปที่กรุงเทพก่อนแล้วกลับไปที่อีสานผ่าน โคราช ผ่านขอนแก่น ไม่ผ่านเพชรบูรณ์ หรือการส่งไส้กรอกอีสานต้องส่งไปกรุงเทพฯ แล้วมาที่เชียงใหม่ ไม่ผ่านเพชรบูรณ์

    “เพชรบูรณ์เป็นเมืองปิด ไม่มีเปิด เราปิดเลย แต่กลับเป็นข้อดี ทำให้ต้องช่วยตัวเองมาตลอด ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีการคิดใหม่ทำใหม่ พึ่งพาตัวเองมีการขยายถนน มีการสร้างแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ มากมาย ทั้งเขาค้อ ภูทับเบิก เป็นการทำในระดับเล็ก ไม่มีงบประมาณ ค่อยๆ พัฒนา และไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะฉะนั้นการระบาดของโควิดจึงไม่มีผลต่อเพชรบูรณ์ เพชรบูรณ์ตอนนี้คืออันดับ 1 ของการท่องเที่ยวของประเทศ แม้ยังไม่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังอยู่ได้ สำหรับเพชรบูรณ์ถือว่าดีมาก เพราะยืนด้วยขาตัวเองมาโดยตลอด”

    ส่วนแนวทางการฟื้นฟู นายยชญ์สุธาเห็นว่าต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อน โดยขอเสนอให้ประกาศพักชำระหนี้ทั้ง 3 เดือน ก่อนหน้านี้มีพักชำระหนี้มารอบหนึ่งเริ่มจะดีขึ้นแล้ว แต่ภาวะเศรษฐกิจยังซึมเซา จึงขอให้พักหนี้อีกสักรอบเป็นเวลา 3 เดือน เพราะหากพักหนี้นานกว่านี้รัฐบาลอาจจะแย่ แต่หากไม่ช่วยตอนนี้ เอสเอ็มอีแย่

    “เมื่อเอสเอ็มอีที่มีปัญหาจะขอกู้ใหม่ ก็ไม่ได้รับเงินกู้เพราะมองว่าประสบการณ์ไม่ดีแล้ว แล้วยังมีประวัติเครดิตอีก 3 ปี ก็อยากให้ลบประวัติ ลบข้อมูลนี้ไปเลย เรื่องนี้เคยเคยขอ ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย) มาหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับความเห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าเป็นกฎหมาย แต่พอเกิดโควิดมากฎหมายทุกอย่างควรยกเลิก เมื่อก่อนเราประชุมต้องเห็นหน้ากัน ถึงจะลงลายเซ็นถึงจะเบิกเงินได้ เดี๋ยวนี้ไม่ต้องประชุมผ่านออนไลน์ก็เบิกเงินได้ กฎหมายต้องปรับให้ทันหลังยุคโควิด โควิดเป็นแค่สัญญาณเบื้องต้นที่จะให้เราปรับตัวให้ทันยุคเมกะเทรนด์”

    น่านมุ่งพัฒนาท่องเที่ยวคุณภาพ

    นายพันธ์พัฒน์ พิชา รองประธานหอการค้า จังหวัดน่าน
    นายพันธุ์พัฒน์ พิชา รองประธานหอการค้า จังหวัดน่าน ให้ข้อมูลว่า ช่วงใช้มาตรการล็อกดาวน์ น่านเดือดร้อนเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้า ค้าขายไม่ได้ เอกชนมีปัญหาหนัก แต่หลังผ่อนคลาย การท่องเที่ยวของน่านกลับมาขยายตัว มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ตอนนี้เงินหมุนในระบบเริ่มมีมากขึ้น ช่วงนี้ก็ถือว่าดีขึ้น

    โดยรวมน่านเป็นจังหวัดติดชายแดน ซึ่งการส่งออกไปลาวยังปกติ และไม่ได้ตกลงจากปีที่แล้ว เพราะลาวยังมีความจำเป็นต้องใช้ของจากไทยอีกมาก ส่วนด้านท่องเที่ยวหลังเปิดโควิดเติบโตมาก ซึ่ง เชื่อว่าโตมากกว่าปีที่แล้วด้วย ที่พักเต็มตลอด น่านเป็นจังหวัดที่ท่องเที่ยวเติบโต ในจังหวัดอื่นอาจะมีขายโรงแรม แต่ที่น่านจะสร้างโรงแรม เพราะไม่พอรองรับ การท่องเที่ยวเป็นภาคธุรกิจหนึ่งที่จะพัฒนาได้ ส่วนภาคเศรษฐกิจโดยรวมอื่นๆ ก็ยังโตตามภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ ผลไม้ต่างๆ ก็ขายได้ดี

    น่านเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่งบประมาณลงมาพัฒนาไม่ได้ สาเหตุข้อแรก น่านเป็นพื้นที่ภูเขา ข้อสองกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าไม้ ที่ใช้มาตั้งแต่ 30-40 ปีที่แล้ว บางพื้นที่กว่าจะขออนุมัติจาก ครม. ได้ใช้เวลา 20 ปี แม้ตอนนี้มีพื้นที่ งบประมาณก็ยังลงได้ยาก ด้วยความเป็นพื้นที่มีความลาดชันสูงเกิน 30% งบประมาณลงได้ยากต้องหาวิธีแก้ไข ยกตัวอย่าง อำเภอเมืองน่าน ออกนอกเมืองไปเพียง 30 กิโลเมตร ไม่มีเอกสารสิทธิ์แล้ว เพราะฉะนั้นการพัฒนาจะลำบาก

    ด้านการเกษตร น่าน มีที่ปลูกข้าวน้อยไม่ถึง 10% ต้องซื้อข้าวจากจังหวัดอื่นเข้ามาปีละประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท ต้องซื้อหมู ไก่ ไข่ปีละ 300-400 ล้านบาท แต่มีพืชไร่ คือ ข้าวโพด อย่างไรก็ตามน่านไม่มีน้ำ แม้เป็นเขาเป็นต้นน้ำ การปลูกข้าวโพดต้องอาศัยน้ำฝน ระยะหลังภาคเอกชน หอการค้าได้ผลักดันให้ปลูกกาแฟ ซึ่งเริ่มไปได้ดี กาแฟ ไผ่ ยางพาราเริ่มเข้ามา

    “กาแฟเริ่มไปได้ดี ตอนนี้ผลผลิตกาแฟของน่านไม่พอขาย สมาคมผู้รับซื้อกาแฟมารับซื้อถึงประมาณ 2,000 กว่าตัน และมีการจองซื้อล่วงหน้าเกือบหมด ทำให้ขายในตลาดโดยตรงเพียง 40-50 ตัน กาแฟชื่อดังของน่าน Geisha คือ ราชินีของกาแฟ ราคากิโลกรัมละ 10,000 บาท ปีนี้มีการจองซื้อเต็มหมดแล้ว กลายเป็นว่าพื้นที่ปลูกกาแฟน่านกำลังไปได้ดี และได้ส่งเสริมสินค้าใหม่ขึ้นมาคือโกโก้ ซึ่งก็ไปได้ดีอีก”

    น่านได้พยายามเลี่ยงการปลูกข้าวโพด โดยการหาผลผลิตที่มีตลาดรองรับ เป็นการส่งเสริมจากภาคเอกชน หอการค้า การเปลี่ยนแปลงจากข้าวโพดมาสู่พืชอื่น ต้องใช้เวลา มีการส่งเสริมเกษตรรุ่นอายุน้อยขึ้นมาด้วยการส่งเสริมพืชตัวใหม่ เนื่องจากเกษตรรุ่นเก่ามีวิถีชีวิตกับการปลูกข้าวโพดมานาน 50-60 ปี

    ด้านการท่องเที่ยวไปได้ด้วยดี และปล่อยเติบโตไปตามระบบ เพราะการท่องเที่ยวของน่านระยะหลังได้ปรับให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพสูง ที่พักของน่านมีราคาสูงในช่วง high season ช่วงเทศกาลที่พักราคาแพงเต็มก่อนระดับราคาอื่น ที่พักราคาไม่ถึง 1,000 บาทกลับว่าง สะท้อนว่ากลุ่มลูกค้าที่เข้ามา เป็นกลุ่มลูกค้าตลาดบน กลางถึงบนที่มีกำลังซื้อสูง

    ส่วนสายการบินปัจจุบันมีแอร์เอเชียเพียงรายเดียว แม้มีเสียงสะท้อนว่าราคาแพง แต่ก็เต็ม ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์มีผู้เดินทางไปกลับกรุงเทพฯประมาณ 8,000-10,000 เต็ม แสดงให้เห็นว่าปริมาณคนที่เข้ามามีกำลังซื้อสูงมาก นี่คือเป็นจุดแข็งของน่าน

    ปรับใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง

    นายโกวิทย์ ทรงคุณ ประธานหอการค้า จังหวัดสุโขทัย
    นายโกวิทย์ ทรงคุณ ประธานหอการค้า จังหวัดสุโขทัย ให้ข้อมูลว่า ต้องการให้ช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีกเพราะทุกรายต้องการได้เงินไปใช้จ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ติดขัดในบางเงื่อนไข ทำให้บางรายแม้ขอกู้ในวงเงินเพียงหนึ่ง ก็ไม่ได้รับการอนุมัติ ทำให้เศรษฐกิจส่วนตัวได้รับผลกระทบ ทั้งจากการระบาดของโควิด-19 นอกเหนือจากผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง

    สำหรับสุโขทัยยังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และคาดว่าในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าจะเจอปัญหาน้ำแล้งอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีโครงการทำน้ำขึ้นมาให้กับชาวบ้าน ในลักษณะเดียวกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกับได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาใช้ หลังจากได้ผลกระทบจากโควิด และทั้งจังหวัดสุโขทัยเริ่มทำทุกอำเภอจะเริ่มทำ โดยที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกับหอการค้าฯ ร่วมกันช่วยผู้ประกอบการและชาวบ้าน

    ต้องทบทวนทิศทางท่องเที่ยว

    นางสาวภคนันท์ วินิจชัย ผู้อำนวยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่

    นางสาวภคนันท์ วินิจชัย ผู้อำนวยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเชียงใหม่ กล่าวว่า หลังจากมีการปลดล็อกดาวน์ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น ตัวเลขของเดือนกรกฎาคมนักท่องเที่ยวชาวไทยเกือบเท่าปีที่แล้วก็คือ 4 แสนกว่าคน ขาดไปเพียง 1.5% เท่านั้น สำหรับเดือนสิงหาคมก็เช่นเดียวกัน ต่างจากปีที่แล้ว 2.37% แต่รายได้ก็น่าวิตกอยู่ จำนวนนักท่องเที่ยวเกือบเท่าเดิมแต่ว่ารายได้ยังติดลบอยู่ประมาณกว่า 20% ของกลุ่มชาวไทย

    ในยุคแรกๆ ที่เริ่มส่งเสริมการท่องเที่ยว รายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นเพียงรายได้เสริม พอปัจจุบันจีดีพีของเชียงใหม่ในสัดส่วนกว่า 60% มาจากการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้รับผลกระทบจึงรุนแรง แต่จากการสอบถามชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว เช่น บ้านไร่กองขิง ซึ่งแต่ละปีรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เดินทางมาท่องเที่ยวเอง มาพักโฮมสเตย์ หรือเป็นกลุ่มที่มาศึกษาดูงาน พบว่าไม่ได้รับกระทบเลย เพราะชุมชนทำการท่องเที่ยวเป็นส่วนเสริม ไม่ได้ทำเป็นการท่องเที่ยวเป็นอาชีพหลัก ชีวิตก็ยังคงดำรงอยู่ได้ ยังปลูกผัก ทำเกษตรเหมือนเดิม

    “เราอาจจะต้องมาทบทวนกันว่า จริงๆ แล้วเราควรจะมองท่องเที่ยวเป็นแบบไหน ที่ผ่านมาเราเน้นการท่องเที่ยวที่จะต้องสร้างรายได้ ซึ่งไม่เป็นไปกับแนวทางเดียวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เราจะต้องไปขาย คู่แข่งเรามีมากมาย สด ใหม่กว่า เช่น เวียดนาม อะไรที่สด ใหม่กว่าจะได้รับความสนใจเสมอ”

    สำหรับแนวทางของเมืองไทย หากยังจะทำท่องเที่ยวอยู่ อาจจะต้องสร้างความแข็งแกร่งให้ชุมชนด้วยองค์ความรู้ ภูมิปัญญาต่างๆ เพื่อที่จะได้มีความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ เป็นอัตลักษณ์ที่สามารถดึงดูดให้คนมาท่องเที่ยวอยู่ ประกอบกับคนวัยหนุ่มสาวที่กลับมาจากการใช้แรงงานที่อื่นๆ มาอยู่บ้านก็จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น คิดว่าน่าจะเป็นทางที่ยั่งยืนตลอดไป

    นอกจากนี้ ควรมีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่จะมาเพิ่มผลผลิต เพิ่มช่องทางการขยายเพื่อที่จะได้ราคาขึ้น ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากการงานลานนาเอ็กซ์โปล่าสุด มีกลุ่มผู้ประกอบการไปจัดบูธขายของ ในส่วนของ ททท. เชียงใหม่ได้ไปคัดโรงแรม 4-5 ดาวจำนวน 12 แห่งไปร่วม โดยมีเป้าหมายเจาะกลุ่มคนไทยที่นิยมไปเที่ยวต่างประเทศและยังเดินทางไม่ได้ มีการขายออนไลน์ ในเวลาเพียง 2 ชั่วโมงสามารถทำยอดขายได้ 3.8 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนว่าหากสามารถพัฒนาช่องทางการขายให้เข้ากับพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไปก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ดียิ่งขึ้น

    นายโชตวิทย์ ธิมาทาธีรโรจน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาของจังหวัดเชียงใหม่

    นายโชตวิทย์ ธิมาทาธีรโรจน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาของจังหวัดเชียงใหม่ ให้ข้อมูลผลกระทบจากการระบาดของโควิดต่อผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวว่า จากจำนวนห้องพักมีมากกว่า 6 หมื่นห้อง บริษัทธุรกิจนำเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ 1,573 แห่ง จำนวนมัคคุเทศก์ภายในจังหวัด 6,200 คน ปางช้างทั้งหมด 80 ปาง ช้างทั้งหมด 900 เชือก ความเสียหายประมาณ 3-4 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมีธุรกิจรถเช่าประมาณ 100 แห่ง รถทั้งหมด 2,500 คัน ธุรกิจอาหารและสถานบันเทิงจำนวน 12,800 แห่ง ร้านขายของที่ระลึก สินค้าหัตถกรรมจำนวน 10,000 แห่งและบริษัทรับจ้างออร์แกไนซ์จำนวน 50 บริษัทได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง

    อย่างไรก็ตามมีตัวเลขเป็นแรงบวกน่าสนใจ คือ จากนโยบายภาครัฐที่ประกาศวันหยุดยาวมี ช่วงวันที่ 4-7 กรกฎาคม จำนวนคนไทยที่เที่ยวไทยเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ที่สามารถจัดเก็บจำนวนตัวเลขได้มีทั้งหมด 47,583 คน เป็นนักท่องเที่ยวเดินทางด้วยรถยนต์เองทั้งหมด 5,818 คน ท่องเที่ยวโดยรถประจำทางประมาณ 10,370 คน เดินทางโดยรถไฟ 9,040 คน นักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยสารเครื่องบิน 22,355 คน มีการจองทั้งหมด 7,957 ห้อง

    ส่วนในช่วงวันหยุดชดเชยและช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาตั้งแต่ 25 -28 กรกฎาคม นักท่องเที่ยวที่เข้ามามีจำนวน 66,271 คน เป็นตัวเลขคร่าวๆ แล้วช่วงต้นเดือน 4-7 กันยายน เพิ่มขึ้นอีกเป็น 110,438 คน ก็เป็นตัวเลขที่น่าสนใจ ซึ่งคาดว่าถ้ารัฐบาลประกาศวันหยุดมาอีกเพิ่มอีก 2 ช่วงอาจจะสูงมากกว่านี้ คาดการณ์ว่าอาจจะ 2 แสนคนขึ้นไป ส่วนความร่วมมือในภาคีของท่องเที่ยวเชียงใหม่ เกิดกลุ่ม We Love Chiang Mai เป็นการรวมตัวของกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่แล้วก็โดยการนำของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ริเริ่มขึ้นมา ก็เป็นการสร้างกิจกรรมหรือกระบวนการให้ดึงดูดคนเข้ามาเที่ยวเชียงใหม่มากขึ้น เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์

    ยกระดับเกษตรสู่ออร์แกนิก

    ดร.พัฒนา นุศรีอัน เกษตรและสหกรณ์ จังหวัดเชียงให

    ดร.พัฒนา นุศรีอัน เกษตรและสหกรณ์ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อเกิดการระบาดของโควิดแสดงให้เห็นและเกิดการยอมรับว่า ภาคการเกษตรเป็นภาคที่สำคัญที่สุดที่จะต้องเป็นแหล่งขุมทรัพย์ผลิตอาหาร และจุดเด่นของประเทศไทยคือ การเกษตรที่ผลิตได้ ซึ่งกระทรวงเกษตรเน้นการยกระดับมาตรฐานสินค้า เพราะสินค้าเกษตรต้องมีมาตรฐาน ปัจจุบันได้ดำเนินการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) แล้ว ต่อไป คือ เกษตรอินทรีย์

    สำหรับ พื้นที่การเกษตร จังหวัดเชียงใหม่ มี 1.8 ล้านไร่ พื้นที่เพาะปลูกมีเพียง 5 แสนไร่เอง มีผลผลิตปีหนึ่งไม่มากไม่เพียงต่อการรองรับคนเชียงใหม่และนักท่องเที่ยว และโดยที่เกษตรอินทรีย์คือเทรนด์อนาคต ธ.ก.ส. (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร) ได้ลงพื้นที่ช่วยส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีการตอบรับอย่างมาก ดังนั้นจะขยายพื้นที่ออกไปต่อเนื่อง ในปี 2564 นี้มีแผนที่จะทำชุมชนต้นแบบเกษตรอินทรีย์ทุกอำเภอของเชียงใหม่ โครงการนี้ได้ความเห็นชอบของสภาพัฒน์รอบแรกไปแล้ว

    “เราคาดหวังว่าเชียงใหม่จะต้องเป็นอินทรีย์และเป็นออร์แกนิกที่จะต้องมีทุกพืชทุกสินค้าด้านการเกษตร นโยบายของรัฐบาลที่เน้นเกษตรทฤษฎีใหม่ที่รัฐกำลังทุ่มเงินลงไปมหาศาลก็อยากจะให้สมาชิกเกษตรกรเองได้มาเข้าร่วมโครงการ”

    นางสาวพิชญาภา ตุ้มแปง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ เกษตรและสหกรณ์ จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายและระดับประเทศ ไทยเป็นครัวของโลก ด้านอาหารคือจุดแข็งของ แต่เกษตรกรไทยแม้มีความสามารถในการผลิต กลับขาดความเชี่ยวชาญในการขาย จึงน่าจะมีจุดรวบรวมในการขายสินค้าให้เกษตรกร ส่วนเรื่อง Young Smart ควรการทำเกษตรครบวงจร และเน้นคนรุ่นใหม่

    นายกลศาสตร์ เรืองแสน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดเชียงใหม่

    นายกลศาสตร์ เรืองแสน ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาคเกษตรได้รับผลกระทบทั้งจากปัญหาเฉพาะหน้าและระยะยาว ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้เข้าให้ความช่วยเหลือ โดยในกลุ่มชาวสวนลำไย ได้ช่วยเหลือเฉพาะหน้าด้วยการหาพื้นที่ขายให้ นอกจากนี้ได้พักชำระหนี้ ให้ 1 ปีจนถึง 31 มีนาคม 2564 เฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ด้านการปล่อยซอฟต์โลนในพื้นที่เชียงใหม่ใช้สินเชื่อที่ขอสนับสนุนไป 400 กว่าล้านบาท มีลูกค้าอยู่ที่เชียงใหม่ทั้งหมด 172,000 คน จากยอดคงค้าง สินเชื่อ 36,000 ล้านบาท

    ธ.ก.ส. ยังนำโครงการ New Gen Hug บ้านเกิด มาปรับเปลี่ยนเป็น Young Smart รองรับคนที่โยกย้ายกลับภูมิลำเนา โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาว ส่งเสริมให้เป็นเกษตรรุ่นใหม่ เพราะลูกค้าเกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุสูงวัย ค่าเฉลี่ย 55-70 ปี

    นอกจากนี้มีการให้สินเชื่อเพื่อเลี้ยงชีพวงเงินคนละไม่เกิน 3 หมื่นบาท สินเชื่อฉุกเฉินไว้แก้ปัญหาในครอบครัว โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำให้สำรวจความสามารถในการชำระหนี้ หรือ loan review แบ่งออกเป็นกลุ่ม คือ กลุ่มพอส่งได้ กลุ่มมีปัญหา กลุ่มไม่ไหวจริงๆ จากนี้เสริมความรู้เรื่องการบริหารหนี้ loan management เพราะแต่ละกลุ่มมีแนวทางการแก้ไขที่แตกต่างกัน

    ธกส.ยังมีโครงการอบรมเสริมความรู้ ทักษะ ทั้งการขาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สะอาดได้มาตรฐาน เพราะเชื่อว่าเมื่อลูกค้าตั้งหลักได้ ก็จะดึงให้ชุมชนเดินไปข้างหน้าได้ และกระจายวงสู่ระดับประเทศ

    รัฐต้องเบรกอีคอมเมิร์ซจีนก่อนเอสเอ็มอีไม่มีพื้นที่แข่งขัน

    นายสลิล ลิ้มเล็งเลิศ กรรมการผู้จัดการ สหพานิช จำกัด จังหวัดเชียงใหม่

    นายสลิล ลิ้มเล็งเลิศ กรรมการผู้จัดการ สหพานิช จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ ธุรกิจค้าปลีกเอกชน ให้มุมมองว่า ในช่วงที่ผ่านมานั้นการทำธุรกิจก็ค่อนข้างยากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนต่อไปจะมีอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน คือในส่วนของรัฐบาลกับส่วนของอุปสรรค เพราะการผลักดันเศรษฐกิจด้วยการใช้เงินอัดฉีดในระยะหนึ่งเงินจะหมด ขณะที่ปัญหายังมี

    รัฐบาลควรชะลอการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจก ทั้งโครงการรถไฟฟ้า โครงการ EEC เพราะเป็นการเงินภาษีของประเทศที่กระจุกตัวในพื้นที่ส่วนกลาง กรุงเทพมหานครและที่ชลบุรี ฉะเชิงเทรา เป็นหลักแต่เงินที่จะนำมาใช้กับต่างจังหวัดอื่นและ ด้านภาคชุมชนมีน้อย นโยบายของรัฐบาลควรต้องคำนึงถึงการลงไปถึงระดับไมโคร ภาคประชาชนให้มากขึ้น เพราะหากมุ่งตรงระดับแมคโครอย่างเดียว ก็ไม่แน่นอนว่าจะได้ผล ที่เห็นได้ชัดคือ EEC ที่ยังไม่เกิด

    “เรื่องที่รัฐบาลใช้เงินบางอย่าง ที่มีคนที่ได้เป็นคนส่วนน้อย เช่น เมกะโปรเจ็กต์ มี 4-5 บริษัทใหญ่ที่สามารถทำได้ แต่เงินไม่ถึงชาวบ้าน ทุกวันนี้กระจุกแต่ใน กทม. ภาษีทั้งหมดเอาไปลงให้ กทม. หมด คนต่างจังหวัดก็ต้องหนีไปทำงานกรุงเทพฯ เพราะในจังหวัดไม่มีธุรกิจใหญ่ๆ รองรับได้ จบปริญญาตรีมา จะทำงานที่เพราะไม่เจริญ นี่แค่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ต้องพูดถึงจังหวัดรองๆ ลำพูน ที่ไม่มีแรงงานใหญ่ๆ ที่รองรับได้”

    นอกจากนี้รัฐบาลต้องชะลออีคอมเมิร์ซต่างชาติ การที่รัฐบาลมีนโยบายปล่อยให้การขายสินค้าออนไลน์จากจีนมีผลกระทบ อาลีบาบาคือตัวทำลายเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง เอสเอ็มอีขายไม่ได้ อนาคตมืดมน เพราะว่าสิ่งที่ได้มาจากการแย่งชิงกับมาเลเซีย แล้วประกาศว่าอาลีบาบาเลือกมาไทย คือ การที่เปิดประตูให้จีนเข้ามาทำลายอุตสาหกรรมโดยที่ไม่รู้ตัว แล้วก็ชัดมาก เพราะวันนี้ไทยต่อท่อกับจีนโดยตรง มีอีคอมเมิร์ซ ปาร์ค ที่ กิโลเมตร 34 ขนาดใหญ่ มีโกดังพักสินค้า มีบริเวณปลอดอากร ซึ่งนับว่าอันตราย

    “เมื่อก่อนสั่งของจีน อาลีบาบา ใช้เวลา 2-3 อาทิตย์ คนไม่นิยม แต่วันนี้เขาเอาของมากองที่หน้าเราแล้วเรียบร้อย สินค้าที่ขายดี AI คิดให้หมดแล้วว่า คนไทยบริโภคสินค้าอะไรบ้างเอามากองหมดแล้ว แล้ววันนี้เวลาขายเราสั่งไป ของมาจากเมืองไทย มาหาเราเลย แข่งกับเอสเอ็มอีไทยได้สบายเลย แล้วเราก็รู้ว่าสิ่งที่จีนเราสู้เรื่องราคาไม่ได้ ต้องหยุดและไปหาสินค้าใหม่ ซึ่งมีน้อยลงทุกวัน นอกจากนี้สินค้าไทยที่ขายดี จีนลอกเลียนแบบหมด อีกทั้งข้อตกลงที่ว่า สินค้าราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ค้าขายออนไลน์ไม่ต้องเสียภาษี ส่งตรงจากโรงงานหรือค้าส่งจีนมาหาผู้บริโภคทางนี้ ผู้บริโภคพอใจกับราคาถูกมาก ออนไลน์จึงไปได้ไกล แต่ขณะเดียวก็ฆ่าเอสเอ็มอีไทย”

    “เราจะแข่งตรงไหนได้ เมื่อก่อนเรามีการค้าขายเป็นชั้น เป็นเลเยอร์ เป็นยี่ปั๊ว ซาปั๊ว สี่ปั๊ว มาวันนี้ออนไลน์ การค้าต่างอำเภอจะอยู่อย่างไร เมื่อก่อนเรายังมีร้านค้าอำเภอ ตำบล ซื้อจากร้านค้าส่งในตัวเมือง อำเภอเป็นชั้นๆ ไป เด็กทุกคนสามารถทำธุรกิจส่วนตัวได้ ซื้อแพงขายแพง ทุกเลเยอร์มีกำไร แต่ทุกวันนี้ออนไลน์ตัดธุรกิจหมดแล้ว แม้แต่ร้านใหญ่อย่างผมก็ถือว่าเป็นร้านไม่เล็กในเชียงใหม่ ยังเหนื่อยเลย”

    มหาวิทยาลัยรวมตัวเสริมทักษะ

    ผศ. ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    ผศ. ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า มหาวิทยาลัยทั้งกลุ่มมหาวิทยาลัยรัฐ ราชมงคลและราชภัฏ 44 แห่งทั่วประเทศ ทั้งเหนือ อีสานใต้ ภาคกลางและภาคตะวันออกจำนวน 44 แห่งที่มีอุทยานวิทยาศาสตร์ได้รวมตัวกันเพื่อทำหน้าที่เป็นสะพานในการเชื่อมเอาทรัพยากรที่ในมหาวิทยาลัย องค์ความรู้ต่างๆ เข้ามาช่วย

    โดยในปี 2563 ได้จัดตั้ง 2 โครงการใหญ่ ซึ่งตอบสนองได้พอดีกับวิกฤติที่เกิดขึ้น โครงการที่หนึ่ง คือการสร้างกำลังคน เป็นการทำให้คนที่อยู่ในภูมิภาคสามารถที่จะมีทักษะ หรือมี capacity ที่ดีขึ้นในการที่จะทำงาน มีอาชีพ ไม่จำเป็นต้องกลับไปที่ภาคกลาง ซึ่งหลังโควิดมีการย้ายกลับถิ่นฐานของคนจากกรุงเทพมหานครจำนวนพอสมควรและยังไม่ย้ายกลับไป

    ในโครงการแรก การสร้างคน แบ่งการสร้าง 4 ด้าน คือ 1) สร้างคนให้เป็นผู้ประกอบการเริ่มต้น ทั้งคนจบใหม่ บัณฑิตตกงาน นักศึกษา 2) สร้างคนให้มีทักษะที่จำเป็น ซึ่งร่วมกับหอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯมีตเกือบ 20 ทักษะที่ มีการเสริมทักษะทั้งแบบ upskill, reskill ส่วน 3) สร้างคนให้เป็นผู้จัดการนวัตกรรม ทั้งฝั่งรัฐร่วมเอกชน สร้างหลักสูตรที่ทำให้มีผู้จัดการนวัตกรรมที่อยู่ในระบบของประเทศมากขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ และ 4) สร้างให้นักวิจัย กลายเป็นนักนวัตกรรม คือเอางานให้ออกมาสู่เชิงพาณิชย์ ออกมาสู่ภาคสังคมมากขึ้น

    โครงการที่สอง เป็นเรื่องเศรษฐกิจท้องถิ่น (local economy) โดยตรง ด้วยการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยออกไปให้ชุมชน แบบไม่มีค่าใช้จ่าย ชุมชนสามารถเลือกได้ว่าต้องการองค์ความรู้ โนฮาว เทคโนโลยีแบบไหนจาก 44 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ รวมทั้งมีการสร้าง local startup ที่ทำร่วมกับวิสาหกิจชุมชน เฉพาะเชียงใหม่ที่เดียว มีวิสาหกิจชุมชนที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 404 ชุมชน และยังได้สร้าง change agent ที่มีความสำคัญมากในการที่จะทำให้สังคมหรือชุมชนทำธุรกิจแล้วยั่งยืน การทำให้มีความรู้ต่างๆ ที่ไม่เคยรู้ ทั้งด้านดิจิทัล ด้านการเงิน เติมเข้าไปเพื่อให้ธุรกิจหมุนได้

    ด้านเอสเอ็มอี ได้เข้าไปช่วย ในการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) และมีเงินให้เริ่มลงทุน R&D เลยเพราะผลจากการสำรวจหลังโควิดพบว่า 5 อันดับ ความต้องการของภาคเอกชน หนึ่งในนั้น คือ การใช้โอกาสนี้ทำ R&D เพื่อทำนวัตกรรมจะได้พ้นจากธุรกิจแบบเดิมที่แข่งขันด้วยราคา ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องแบรนด์ และอื่นๆ

    สำหรับเชียงใหม่ จากการทำวิจัยและแผนตามที่จังหวัดมอบหมายพบว่า เชียงใหม่ซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่อันดับที่สองของประเทศมี การบริโภคในท้องถิ่น (local consumption) น้อยมาก ประชากรเชียงใหม่มีราว 1.7-1.8 ล้านคน มีประชากรแฝง 2 แสนคน รวม 2 ล้านคน ที่อยู่ในเมืองมีไม่ถึงล้านคนที่มีกำลังจับจ่ายใช้สอย แต่ที่เศรษฐกิจอยู่ได้เพราะพึ่งพานักท่องเที่ยวปีละ 10 ล้านคน นักท่องเที่ยวไทย 7 ล้านคน นักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 ล้านคน

    การเกิดโควิดอาจจะทำให้ local consumption จากภายนอก 10 ล้านคนกลับมาเหมือนเดิมยากมาก หรืออาจใช้เวลานานกว่าจะกลับมา แผนการดึง local consumption แบบชั่วคราวที่ผูกกับการท่องเที่ยว ได้แก่ การจัด mega events เพื่อดึงคน ซึ่งกำลังวางแผนสำหรับปี 2564-2565 ด้วยการใช้ทรัพยากรหรือสิ่งทีมีอยู่ รวมทั้งการดึง local consumption ที่ไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว แต่ที่ยั่งยืนจริงต้องสร้าง local consumption ที่เป็นลักษณะของการจ้างงานตามระบบเศรษฐกิจ

    ดร.กรด เหล็กสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่าบริหาร สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

    ดร.กรด เหล็กสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่าบริหาร สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้มุมองมิติทางด้านสังคมการปรับตัวของคนไทยหลังจากเกิดโควิดว่า ต้องแบ่งเป็นคนไทยออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งคือส่วนที่อยู่ชนบท อีกส่วนคือส่วนที่อยู่ในเมือง ซึ่งส่วนที่กำลังสำคัญตอนนี้ คือ ที่อยู่ในชนบทและอยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีสถานการณ์ล่อแหลมอย่างมาก เพราะเมียนมายังมีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่เพิ่มขึ้น และประเทศไทยมีชายแดนติดกับเมียนมายาวหลายร้อยกิโลเมตร แล้วมีช่องทางการเข้าออกได้ง่าย

    ในขณะที่เรามุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ หากไม่มีภูมิคุ้มกันในการที่จะให้คนที่อยู่ข้างๆ เราที่เป็นเกราะให้กับเราได้เกิดการปรับตัวให้ถูกต้อง ถ้าเข้ามาได้แม้จำนวนน้อยก็จะเกิดการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว เพราะบางพื้นที่ในจังหวัดชายแดนประชาชนยังไม่รู้สึกว่าต้องระมัดระวังตัวจากโควิด จึงมองว่าน่าจะมีการเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มคนที่ยังเป็นเกราะ คนที่จะต้องช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ โดยเฉพาะในส่วนของชนบท ส่วนในเรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจตรงนั้นหลายๆ ท่านก็ได้พูดไปแล้ว

    นอกจากนี้เสนอว่าอุตสาหกรรมการส่งออก ไม่จำเป็นต้องเป็นระดับอุตสาหกรรมใหญ่ เป็นการส่งออกระดับสมาคมหรือเกษตรกรรายย่อยก็ได้ สามารถรวมกลุ่มกันได้ เนื่องจากมีเทคโนโยที่ก้าวหน้า เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชนตัวนี้ ที่สามารถติดต่อกับผู้ซื้อโดยตรงไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง แต่อาจจะต้องมีหน่วยงานหรือกลไกจากภาครัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง