ต่อกรณีนายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป พร้อมทนายความยื่นหนังสือ ต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 โดยขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกรมศุลกากร กรณีตั้งข้อกล่าวหารถเมล์เอ็นจีวีที่บริษัทเตรียมนำมาส่งมอบให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นรถเมล์ที่ผลิตและประกอบในประเทศจีน ถือเป็นการสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ แต่ พ.ร.บ.ห้ามนำของที่มีการแสดงกำเนิดเป็นเท็จเข้ามา พ.ศ. 2481 บังคับใช้กับสินค้าหัตถกรรม ไม่สามารถนำมาใช้กับรถยนต์ได้ นอกจากนี้ยังให้สัมภาษณ์ว่ากรมศุลกากรไม่มีสิทธิยกเลิกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ที่ออกโดยกระทรวงอุตสาหกรรมการค้าระหว่างประเทศของมาเลเซีย เนื่องจากกรมศุลกากรยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าบริษัทซุปเปอร์ซาร่าสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร และนายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ในฐานะรองโฆษกกรมศุลกากร ได้ชี้แจงกรณีประธานบริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 โดยมีประเด็นหลักๆ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ต่อกรณีที่ประธานบริษัทเบสท์รินฯ ให้ความเห็นว่ากรมศุลกากรกระทำการเกินอำนาจหน้าที่ และกรมศุลกากรไม่มีอำนาจสั่งให้บริษัทซุปเปอร์ซาร่าวางเงินประกันค่าปรับจากการนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีลอต 99 คัน ซึ่งปัจจุบันยังจอดอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง
นายชัยยุทธ กล่าวว่า ตามประมวลระเบียบปฏิบัติของกรมศุลกากร ว่าด้วยเรื่องของการลดหรือยกเว้นอากรสำหรับสินค้าที่นำเข้าภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนนั้น ตนได้ตรวจสอบรายละเอียดของประมวลระเบียบปฏิบัติฯ ดังกล่าวที่เกี่ยวกับการยกเว้นวางเงินประกันค่าปรับ ระบุว่า “กรณีรายการข้อมูลในใบขนสินค้าขาเข้า ที่เป็นหลักฐานประกอบ และต้นฉบับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าไม่ถูกต้อง ตรงกัน และมีเหตุอันควรสงสัย หรือจำเป็นต้องสอบถามหน่วยงานที่ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และหากสินค้านั้นไม่ได้เป็นสินค้าต้องห้าม หรือต้องจำกัดในการนำเข้า และไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการฉ้อฉล อาจสั่งการให้ปล่อยสินค้านั้นไปก่อน และชักตัวอย่างไว้ โดยให้วางประกันให้คุ้มกับค่าภาษีอากรตามอัตราปกติ กรณีนี้ไม่ต้องวางประกันค่าปรับ”
หากพิจารณาจากข้อความตามที่ระบุในประมวลระเบียบปฏิบัติฯ ฉบับดังกล่าวแล้วจะเห็นว่า การที่ผู้นำเข้าจะไม่ต้องวางประกันเงินค่าปรับนั้น ต้องเป็นกรณีการลงบันทึกข้อมูลในใบขนสินค้า เอกสารประกอบ หรือต้นฉบับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ข้อความไม่ตรงกัน และจะต้องไม่มีข้อสงสัยเรื่องการฉ้อฉล แต่ในกรณีของบริษัทซุปเปอร์ซาร่านั้น ไม่ใช่ประเด็นของการบันทึกรายละเอียดของสินค้าในใบขนสินค้า เอกสารประกอบ หรือต้นฉบับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าไม่ตรงกัน แต่เป็นกรณีของสินค้าที่นำเข้ามาโดยไม่สอดคล้องกับเอกสารที่ผู้นำเข้าสำแดง (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
ดังนั้น ในกรณีผู้นำเข้าไม่ต้องวางเงินประกันค่าปรับนั้นจะต้องไม่มีข้อสงสัยในเรื่องการฉ้อฉล แต่กรณีนี้กรมศุลกากรตั้งข้อกล่าวหาว่ารถเมล์เอ็นจีวีที่นำเข้ามา 489 คัน เป็นสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีน ผ่านประเทศมาเลเซีย ก่อนนำเข้ามาประเทศไทย ประธานบริษัทเบสท์รินจึงไม่สามารถนำตามประมวลระเบียบปฏิบัติข้อนี้มากล่าวอ้างต่อกรมศุลกากรได้ ในทางตรงข้าม หากเจ้าหน้าที่ศุลกากรไม่ให้บริษัทวางเงินประกันค่าปรับ เจ้าหน้าที่ศุลกากรอาจมีความผิด ฐานไม่ปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติตามข้อตกลงอาเซียน
“ยืนยันว่ากรมศุลกากรไม่ได้ทำเกินอำนาจหน้าที่ หากเราไม่ทำ ถือว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามระเบียบข้อตกลงอาเซียน” นายชัยยุทธกล่าว
ประเด็นที่ 2 ประธานบริษัทเบสท์รินฯ ให้สัมภาษณ์ว่า Form D เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ประเทศทั่วโลกไม่มีใครสามารถตัดสิทธิ Form D ได้ นอกจากประเทศที่ออก Form D
นายชัยยุทธ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นคณะทำงานและหัวหน้าทีมเจรจาในการทำข้อตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเอกสารที่ประเทศสมาชิกตกลงกันว่าให้ใช้เป็นหลักฐานหนึ่งในการผ่านพิธีการศุลกากร ทั้งนี้เพื่อขอรับสิทธิหรือยกเว้นภาษีตามข้อตกลง AFTA แต่ไม่ใช่เอกสารที่จะพิสูจน์ว่าสินค้านั้นจะได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรหรือไม่
ยกตัวอย่าง บริษัท ก. ขอ Form D มาได้ แต่ถ้าบริษัท ก. ไม่ได้นำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิก ก็จะไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนำเข้า ดังนั้น ในการพิจารณาว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับตัวสินค้าที่นำเข้าว่ามีถิ่นกำเนิดจากประเทศสมาชิกหรือไม่ Form D เป็นเพียงเครื่องมือที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตัดสินใจพิจารณาสิทธิยกเว้นภาษีได้รวดเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น
ส่วนประเด็นที่ว่าศุลกากรทั่วโลกไม่มีใครตัดสิทธิประโยชน์ Form D ได้ ยกเว้นประเทศที่เป็นผู้ออก Form D เท่านั้น นายชัยยุทธชี้แจงว่า การพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นอำนาจของประเทศผู้นำเข้าสินค้า ไม่ได้เป็นอำนาจของประเทศผู้ส่งออก หากประเทศผู้นำเข้ามีความเห็นว่าสินค้านำเข้าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษี และมีการใช้ Form D ในทางที่ผิด มีการฉ้อฉล ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ประเทศผู้นำเข้าโดยกรมศุลกากรมีสิทธิปฏิเสธไม่ให้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้ จากนั้นก็ทำเรื่องแจ้งประเทศที่ออก Form D เพื่อให้ยกเลิกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าต่อไป
นายชัยยุทธ กล่าวต่อว่า หลายครั้งที่ตนได้ยินข่าวกรมศุลกากรกักรถเมล์ไว้ 99 คัน จริงๆ แล้วกรมศุลกากรไม่ได้กักรถเมล์เลย บริษัทซุปเปอร์ซาร่าสามารถมานำรถเมล์ออกไปได้ หลังจากบริษัทซุปเปอร์ซาร่ายื่นใบขนสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์นำเข้ารถเมล์ลอตนี้ต่อศุลกากรแล้ว จนถึงขณะนี้บริษัทซุปเปอร์ซาร่ายังไม่ได้มาติดต่อกรมศุลกากรเพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรดำเนินการตรวจปล่อยสินค้า กรมศุลกากรเองก็รออยู่ เมื่อไหร่บริษัทซุปเปอร์ซาร่าจะมาติดต่อขอนำรถเมล์ออกจากท่าเรือแหลมฉบัง กรมศุลกากรเคยทำหนังสือถึงบริษัทซุปเปอร์ซาร่าตามที่อยู่ซึ่งจดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไปรษณีย์ แต่ถูกตีกลับ(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
“เมื่อเช้านี้ผมก็ได้รับหนังสือจากบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า ขอให้กรมศุลกากรพิจารณายกเว้นการวางเงินประกันค่าปรับ ผมก็ตรวจดูหัวจดหมาย ก็เป็นที่อยู่เดียวกับที่กรมศุลกากรส่งหนังสือไป แต่ก็ไม่เข้าใจทำไมจดหมายถึงตีกลับ ไม่มีผู้รับ เราไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะติดต่อให้บริษัทนำรถเมล์ออกไป แต่การนำรถเมล์ออกไปก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กรมศุลกากรกำหนด”
ประเด็นที่ 3 ต่อกรณีที่ประธานบริษัทเบสท์ริน กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์ว่า กรมศุลกากรไม่มีพยานหลักฐาน ทุกวันนี้มีแต่คำบอกเล่านั้น
นายชัยยุทธ กล่าวว่า ในส่วนของพยานหลักฐานที่จะดำเนินคดีกับบริษัทซุปเปอร์ซาร่ามีทั้งภาพถ่าย บางส่วนได้จากการส่งเจ้าหน้าที่ศุลกากรเดินทางไปตรวจสอบที่ประเทศมาเลเซียได้หลักฐานมากพอสมควร ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อสรุปสำนวนคดีให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ยังไม่สามารถนำหลักฐานออกมาแสดงต่อสาธารณชนได้ เพราะเกรงว่าจะเสียรูปคดี ตามขั้นตอนในการดำเนินคดีของกรมศุลกากร หลังจากสรุปสำนวนคดีเสร็จ หากผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับข้อกล่าวหาของกรมศุลกากร ก็จะต้องส่งฟ้องศาล
“อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ขอนำหลักฐานบางส่วนออกมาแสดง เพื่อให้สาธารณชนได้เห็นว่ากรมศุลกากรมีหลักฐานยืนยันสินค้าลอตนี้มีต้นทางมาจากประเทศจีนจริง ไม่ได้เป็นการนำเข้าชิ้นส่วนรถเมล์เอ็นจีวีมาประกอบในโรงงานประเทศมาเลเซียตามที่สำแดง แต่ขนลงเรือเดินทางมาจากประเทศจีน เมื่อถึงประเทศมาเลเซีย ขับรถเมล์เอ็นจีวี วิ่งลงมาจากเรือมาจอดที่ท่าเรือแคลง ประเทศมาเลเซีย นี่เป็นเพียงหลักฐานหนึ่งเท่านั้นที่กรมศุลกากรรวบรวมมาได้ เหตุที่ต้องนำภาพถ่ายออกมาแสดง ต้องการให้ทุกฝ่ายคลายข้อสงสัย จริงๆ แล้วกรมศุลกากรไม่ได้มั่ว ไม่ได้คิดไปเอง ไม่ได้มโน เรามีหลักฐานมากกว่านี้ แต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะนำมาเผยแพร่ได้ทั้งหมดในขณะนี้ และที่สำคัญ เรื่องนี้จริงๆ ไม่ใช่เอกสาร แต่เป็นตัวสินค้า ต้องพยายามพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นสินค้าที่มาจากประเทศจีน” นายชัยยุทธ กล่าว
ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงกรณีที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะยกเลิกการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน เนื่องจากมีปัญหาการสำแดงภาษีเป็นเท็จ ว่า ตนเคารพผลสรุปการตรวจสอบโดยกรมศุลกากรต่อกรณีที่มีการสำแดงแหล่งกำเนิดสินค้าเป็นเท็จ วันนี้ก็ไม่มีการให้รับ ต่อไปต้องเป็นเรื่องของกระบวนการสอบสวน ต้องว่าไปตามหลักฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก ส่วน ขสมก.จะทำโครงการจัดซื้อรถเมล์ขึ้นมาใหม่ก็ให้ดำเนินการมาในภายหลัง
“นี่คือปัญหาของประเทศของเรา ถ้าทุกคนบอกตรงกันว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์ ก็ต้องมองทั้งในแง่ของการจับตาจากภายนอกและจากภาคีภาครัฐอีกทั้งยังต้องไปดูด้วยว่าในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้น จะแก้ไขเรื่องของผู้ให้และผู้รับผลประโยชน์ได้อย่างไร ตอนนี้ก็ไล่ปรับแก้ไปมากแล้ว แต่ปัญหานี้ยังมีอยู่ แต่ผมอาจจะยืนยันไม่ได้ว่า มันแก้ไขได้ 100% หรอก มันก็ดีขึ้น ดีขึ้น ไปเรื่อย ๆ ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ขณะนี้ ขสมก. เตรียมทำหนังสือบอกเลิกสัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน แจ้งบริษัทเบสท์รินฯ ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เนื่องจาก ขสมก. ได้ปรับบริษัทเบสท์รินฯ ส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีล่าช้าไปจนครบวงเงินประกัน 330 ล้านบาทแล้ว