ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รัฐบาล“ประยุทธ์ ” ส่งท้ายปีแจกเงินคนจนยันเศรษฐี รวม 2 รายการ หวังเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ กว่า 4 หมื่นล้าน

รัฐบาล“ประยุทธ์ ” ส่งท้ายปีแจกเงินคนจนยันเศรษฐี รวม 2 รายการ หวังเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ กว่า 4 หมื่นล้าน

30 พฤศจิกายน 2016


เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติวงเงินงบประมาณ 12,750 ล้านบาท ให้ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายเงินแก่กลุ่มคนจนที่ไม่ใช่เกษตรกรจำนวน 5.4 ล้านรายที่มาลงทะเบียน “โครงการเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ” โดยมอบหมายให้นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นผู้พิจารณาว่าจะให้เบิกจ่ายจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ของปี 2560 ไปก่อน โดยรัฐบาลจะจัดงบฯ ปี 2561 มาชำระหนี้คืนให้ในภายหลัง สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่อปีไม่ถึง 30,000 บาท แจกหัวละ 3,000 บาท หากรายได้ต่อปี 30,000 บาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 100,000 บาท แจกหัวละ 1,500 บาท ซึ่งเป็นนโยบายที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจากมติ ครม. วันที่ 27 กันยายน 2559 ให้สำนักงบประมาณจัดงบกลางในปี 2560 วงเงิน 6,540 ล้านบาท ผ่านแบงก์รัฐ 3 แห่ง นำไปแจกให้กลุ่มเกษตร 2.9 ล้านราย ซึ่งได้รับเงินไปก่อนหน้านี้แล้ว

รวม 2 มาตรการ สำนักงบประมาณต้องจัดวงเงินงบประมาณ 19,290 ล้านบาท มาจ่ายให้กลุ่มคนจนที่อยู่นอกระบบภาษีมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 100,000 บาท จำนวนทั้งสิ้น 8.3 ล้านราย

กระตุ้นท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการแจกเงิน สำหรับผู้ที่อยู่ในฐานภาษีสรรพากรประมาณ 10 ล้านคน ล่าสุด ที่ประชุม ครม. วันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 มีมติอนุมัติมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยให้นำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1-31 ธันวาคม 2559 มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2559 จำนวน 15,000 บาท เพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้ที่เคยมีมติอนุมัติให้นำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 – วันที่ 31 ธันวาคม 2559 มาหักลดหย่อนภาษีจำนวน 15,000 บาท รวม 2 รายการ ผู้เสียภาษีสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวมาหักลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท

นอกจากนี้ ทางกระทรวงการคลังยังเตรียมมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย หรือที่เรียกว่า “ช็อปช่วยชาติ” โดยให้นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2559 มาหักลดหย่อยภาษีได้อีก 30,000 บาท คาดว่าจะนำเสนอที่ประชุม ครม. วันอังคารที่ 6 ธันวาคม 2559

thaipublica-มาตรการลดภาษี

หากนำโครงสร้างผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมสรรพากรในปี 2557 (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90-91 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 1 เมษายน 2558) มาวิเคราะห์ หากในปี 2559 มีผู้มายื่นแบบแสดงรายการผู้เสียภาษีเงินได้ใกล้เคียงปี 2557 ประมาณ 10.3 ล้านคน มีประมาณ 4 ล้านราย จ่ายภาษีให้กับสรรพากร ที่เหลือ 6.3 ล้านราย ได้รับยกเว้นภาษี เพราะมีรายได้ต่อปีไม่ถึง 150,000 บาท จึงไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนภาษีทั้ง 2 รายการ เพราะปกติไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว

ดังนั้น กลุ่มผู้เสียภาษีที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวและช็อปช่วยชาติ จึงเป็นกลุ่มคนที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี แต่จะได้รับประโยชน์มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับฐานรายได้ที่ต้องนำมาคำนวณภาษีอัตราก้าวหน้าในแต่ละช่วงเงินได้ ยกตัวอย่าง ผู้ที่มีเงินได้สุทธิเกิน 4 ล้านบาทขึ้นไป (ปัจจุบันขยายเป็น 5 ล้านบาทขึ้นไป) ไม่ว่าจะซื้อทัวร์ พักในโรงแรม 5 ดาว จ่ายเงิน 100,000 บาท ก็นำมาหักลดภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30,000 บาท แต่เนื่องจากคนกลุ่มนี้จ่ายภาษีที่อัตรา 30-35% หากนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักลดหย่อนจะประหยัดเงินค่าภาษี 9,000-10,500 บาท เป็นต้น ถ้าจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการตามโครงการช็อปช่วยชาติอีก 30,000 บาท นำมาหักลดหย่อนภาษีได้อีก ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินค่าภาษีอีก 9,000-10,500 บาท รวม 2 รายการ ช่วยประหยัดเงินค่าภาษีได้สูงสุด 21,000 บาท แต่เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีประมาณ 30,000 คน ก็จะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้ไปประมาณ 630 ล้านบาท

ส่วนกลุ่มผู้เสียภาษีที่มีรายได้สุทธิในช่วง 150,001-300,000 บาท จ่ายเงินค่าที่พักในโรงแรม ซื้อแพ็คเกจทัวร์ 30,000 บาท และจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการตามโครงการช็อปช่วยชาติอีก 30,000 บาท สามารถนำมาหักลดหย่อนและจะช่วยประหยัดค่าภาษีได้รายละ 1,500 บาท รวม 2 รายการ จ่ายเงินตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 60,000 บาท ประหยัดเงินค่าภาษีแค่ 3,000 บาท เนื่องจากคนกลุ่มนี้เสียภาษีที่อัตรา 5% จึงนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักภาษีได้น้อย แต่ผู้เสียภาษีกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดถึง 2 ล้านคน หากเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่มีรายได้ 4 ล้านบาทขึ้นไป มีประมาณ 30,000 ราย ได้รับประโยชน์จากค่าลดหย่อนสูงถึง 21,000 บาท เพราะเสียภาษีที่อัตรา 35% ของรายได้สุทธิ

หากผู้เสียภาษีกลุ่มนี้มาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีทั้ง 2 รายการ คาดว่าจะทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้ไม่เกิน 6,000 ล้านบาท และถ้าหากผู้เสียภาษี 4 ล้านคน มาใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีทั้ง 2 รายการ คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไม่เกิน 23,310 ล้านบาท และถ้ารวมกับมาตรการแจกเงินคนจนอีก 19,290 ล้านบาท คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 42,600 ล้านบาท