ThaiPublica > คอลัมน์ > มาตรการกระตุ้นการคลัง ใครได้ ใครเสีย

มาตรการกระตุ้นการคลัง ใครได้ ใครเสีย

28 พฤศจิกายน 2019


ธนิสา ทวิชศรี [email protected] สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็มเรื่อง “มาตรการกระตุ้นการคลัง ใครได้ ใครเสีย” เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ที่มาภาพ: https://www.pier.or.th/?post_type=abridged&p=7013

ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การตัดสินใจทางเศรษฐศาสตร์ และการออกนโยบายนั้นเต็มไปด้วยการตัดสินใจที่มี tradeoff (สิ่งที่ต้องแลกมา) ทั้งสิ้น

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้ผ่านมาทั้งวิกฤติเศรษฐกิจโลก (global financial crisis) ในปี 2009 ภัยน้ำท่วมที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 70 ปี และความผันผวนทางการเมือง ทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะเปราะบาง หนึ่งในเครื่องมือที่รัฐบาลไทยได้หยิบมาใช้เพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้เข้าสู่ภาวะถดถอย คือ มาตรการกระตุ้นทางการคลัง โดยในช่วงที่ผ่านมามีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหลากหลาย เช่น ช้อปช่วยชาติ รถคันแรก บ้านหลังแรก บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ ล่าสุดโครงการบ้านมีดาวน์ ซึ่งแต่ละมาตรการล้วนแล้วแต่มีต้นทุนมาจากงบประมาณ หรือเม็ดเงินภาษีของประชาชน

เมื่อการทำมาตรการกระตุ้นการคลังมีต้นทุน ดังนั้นในการออกแบบมาตรการฯ ควรต้องกำหนดเป้าหมายให้มีความเหมาะสม คุ้มค่าและตรงจุด ซึ่งผู้ออกนโยบายมักจะต้องเผชิญกับ tradeoff ในสองเรื่องหลัก คือ

1) กระตุ้นการเติบโตที่มากกว่าหรือการกระจายอย่างทั่วถึง (growth versus distribution) และ 2) กระตุ้นการเติบโตในระยะสั้นหรือระยะยาว (short-term versus long-term) (รูปที่ 1) หากนโยบายเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยกระตุ้นให้ได้ multiplier (ตัวคูณ) ระยะสั้นให้มากที่สุด มาตรการที่ออกแบบก็จะมุ่งเน้นไปยังกลุ่มผู้ที่มีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายสูง ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่มีรายได้ หรือทรัพย์สินสูงอยู่แล้ว ก็จะเกิด tradeoff กับนโยบายที่มีการกระจายสวัสดิการให้ทั่วถึงกลุ่มคนทุกระดับรายได้

นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดต้นทุนเสียโอกาส คือเงินงบประมาณที่ไม่ได้นำมาใช้เพื่อการลงทุนเพื่อพัฒนาอื่นๆ เช่น การลงทุนในทุนมนุษย์ การวิจัยและพัฒนา (R&D) หรือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (infrastructure) ซึ่งผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนในมาตรการข้างต้นนี้ก็คือคนไทยในอนาคต ดังนั้น การใช้งบประมาณให้คุ้มค่าโดยคำนึงถึง tradeoff ระยะยาวก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

บทความนี้จะวิเคราะห์ผลของมาตรการกระตุ้นทางการคลังของไทยที่ผ่านมาต่อครัวเรือนใน 2 มิติ ได้แก่ 1) กลไกของมาตรการกระตุ้นการคลังผ่านมาตรการคืนภาษี (โดยในที่นี้จะหยิบมาพูดแค่สามรูปแบบ) และ 2) tradeoff ของแต่ละมาตรการ โดยก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจถึงปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจบริโภคและออมของครัวเรือน

การตัดสินใจบริโภคและออมของครัวเรือน

ครัวเรือนมีการวางแผนการบริโภคตลอดเวลาทั้งช่วงชีวิต โดยปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ที่ครัวเรือนต้องตอบทุกวันคือการวางแผนการบริโภคและการออม (consumption and saving) ซึ่งเงินออมคือทรัพยากรที่ครัวเรือนจัดสรรไว้สำหรับการบริโภคในอนาคต เราจึงคิดถึงปัญหาการจัดสรรการบริโภคและการออมได้ง่ายๆ ว่าคือการจัดสรรทรัพยากรระหว่างการบริโภควันนี้และวันพรุ่งนี้ พฤติกรรมการบริโภคและออมของครัวเรือนขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัยหลัก ดังนี้

    1) อายุของครัวเรือน
    2) ระดับสินทรัพย์
    3) ระดับรายได้ และความคาดหวังรายได้ในอนาคต
    4) ระดับหนี้และสภาพคล่องของครัวเรือน ซึ่งรูปแบบการบริโภค การออมก็มีความแตกต่างตามช่วงอายุด้วย

นอกจากนี้ ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ระหว่างช่วงเวลา (elasticity of intertemporal substitution) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ ค่าความยืดหยุ่นฯ จะบอกถึงการตอบสนองของครัวเรือนต่อนโยบายกระตุ้นทางการคลัง ซึ่งพบว่าครัวเรือนไทยมีความยืดหยุ่นของอุปสงค์ระหว่างช่วงเวลาสูง นั่นคือ หากครัวเรือนมีการเปลี่ยนแปลงของรายได้หรือราคาที่มากพอ ครัวเรือนจะเลือกบริโภคในระดับที่สูงในปัจจุบันโดยยอมแลกกับการบริโภคที่มีความราบเรียบและแน่นอนในอนาคต (โดยการมีเงินออมที่มากเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของรายได้) ดังนั้น การออกนโยบายกระตุ้นด้วยการลดหย่อนภาษีชั่วคราว ครัวเรือนไทยจะมีแนวโน้มที่จะเลื่อนหรือยืมอุปสงค์ในอนาคตมาเพื่อใช้จ่ายในปัจจุบันค่อนข้างสูง1

มิติที่ 1 กลไกของมาตรการกระตุ้นโดยการคืนภาษีรูปแบบต่างๆ2

ในบทความนี้จะเน้นที่มาตรการลดหย่อนภาษี 3 ประเภท คือ 1) นโยบายคืนภาษีรายได้บุคคลธรรมดา 2) นโยบายคืนภาษีอุปโภคบริโภคทั่วไป และ 3) นโยบายคืนภาษีสินค้าคงทน (เช่น รถยนต์ บ้าน)

มาตรการคืนภาษีรายได้บุคคลธรรมดา (income tax rebate)

กลไกหลักของมาตรการนี้ในการกระตุ้นอุปสงค์ของครัวเรือน คือ กลไกรายได้ (income effect) (รูปที่ 1) ส่งผลให้ครัวเรือนมีกำลังซื้อมากขึ้นจากรายได้ที่เพิ่มขึ้น ผู้ออกนโยบายสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของนโยบายดังกล่าว ณ ช่วงที่นโยบายมีผลบังคับใช้ได้โดยนโยบายจะต้องเกิดขึ้นโดยที่ครัวเรือนไม่ได้คาดคิดมาก่อน เพราะหากครัวเรือนมีการคาดการณ์มาก่อน ครัวเรือนจะปรับแผนการบริโภคและออมเพื่อให้การบริโภคมีความราบเรียบ ตัวอย่างเช่น หากครัวเรือนคาดการณ์ว่าจะมีการคืนเงินภาษีเงินได้ในอนาคต ครัวเรือนก็อาจใช้จ่ายล่วงหน้าก่อนที่จะได้เงินคืนจริง

มาตรการคืนภาษีสินค้าบริโภค (consumption tax rebate)

กลไกการทำงานของการคืนเงินภาษีสินค้าบริโภคผ่านสองช่องทางหลัก คือ กลไกรายได้ และกลไกราคา (price or substitution effect) การลดหรือคืนภาษีสินค้าชั่วคราวนั้นส่งผลให้ราคาสัมพัทธ์ (relative price) ของการบริโภคในปัจจุบันต่อการออม (หรือการบริโภคในอนาคต) เปลี่ยนไป สำหรับกลไกราคาจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ของครัวเรือนให้มากขึ้นอีกทางโดยการดึงอุปสงค์ในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากต้นทุนในการบริโภคที่ลดลงชั่วคราว จึงเป็นอีกแรงส่งหนึ่งที่ทำให้ครัวเรือนบริโภคมากขึ้น

มาตรการคืนภาษีหรือให้เงินสนับสนุนสินค้าอุปโภคบริโภคมีความแตกต่างจากมาตรการคืนภาษีเงินได้ ไม่เพียงแต่ในเรื่องกลไกการทำงาน ในมิติของครัวเรือนก็มีความแตกต่างเนื่องจากครัวเรือนจะต้องมีการใช้จ่ายเพื่อบริโภคก่อนเพื่อที่จะได้รับภาษีเงินคืน จึงเป็นข้อดีของการคืนเงินภาษีประเภทนี้เพราะสามารถรับประกันได้ว่าเงินที่รัฐบาลจ่ายออกไปก่อให้เกิดการใช้จ่ายจริง อย่างไรก็ดี หากครัวเรือนมีการคาดการณ์ว่าจะเกิดนโยบายมาก่อน ก็จะมีการอั้นอุปสงค์และไม่ได้เกิดการกระตุ้นที่แท้จริง

นโยบายการคืนภาษีหรือให้เงินสนับสนุนสินค้าคงทนที่เป็นสินทรัพย์ขาดสภาพคล่อง (tax rebate on durables)

มาตรการคืนภาษีหรือให้เงินสนับสนุนสินค้าคงทน เช่น รถ บ้าน อุปกรณ์ไฟฟ้า ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เนื่องจากการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทนมักเป็นค่าใช้จ่ายแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจขาลง เนื่องจากมีลักษณะ procyclical หรือเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกับวงจรเศรษฐกิจ

กลไกการทำงานของการคืนเงินภาษีสินค้าคงทนจะทำงานผ่าน 3 กลไกหลัก คือ กลไกรายได้ กลไกราคา และกลไกสินทรัพย์ (wealth effect) เนื่องจากลักษณะพิเศษของสินค้าคงทนที่เป็นได้ทั้งสินค้าอุปโภคและสินทรัพย์ ซึ่งมีความแตกต่างจากการออมหรือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องในมิติของการเสื่อมค่าและต้นทุนในการแปรสินทรัพย์มาเป็นเงิน (liquidate) ดังนั้น หากต้นทุนในการถือครองสินทรัพย์ เช่น รถยนต์หรือบ้าน ลดลง จะส่งผลให้ครัวเรือนดึงอุปสงค์ของสินทรัพย์อื่นๆ ที่ครัวเรือนถือครองด้วย

นอกจากนี้ ปัจจัยทางกายภาพ ได้แก่ ลักษณะของตัวสินค้าเองที่มีขนาดใหญ่ และแบ่งแยกทางกายภาพไม่ได้ (indivisibility) ก็ส่งผลให้มาตรการนี้มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นอุปสงค์ได้มากกว่ามาตรการอื่น เนื่องจากครัวเรือนไม่สามารถเลือกซื้อบ้านหรือรถทีละน้อยได้ จึงทำให้การเลื่อนอุปสงค์นั้นต้องเลื่อนทั้งหมด ไม่สามารถเลื่อนเพียงเล็กน้อยเหมือนสินค้าไม่คงทนได้

มิติที่ 2 tradeoff ในแต่ละมาตรการ

นโยบายกระตุ้นการคลังในประเทศไทยที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักเป็นนโยบายลดหย่อนภาษี หรือการให้เงินสนับสนุนในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น นโยบายรถคันแรก ชิมช้อปใช้ และ ช้อปช่วยชาติ ขณะเดียวกันบางนโยบายก็อาจถือเป็นนโยบายแบบผสม เช่น ชิมช้อปใช้หรือช้อปช่วยชาติ (รูปที่ 3)

มาตรการรถคันแรก

ครัวเรือนไทยมีความยืดหยุ่นของอุปสงค์ระหว่างเวลาสูง เมื่อมีการลดราคารถยนต์ชั่วคราว ครัวเรือนจำนวนมากจะยอมลดการใช้จ่ายในอนาคตเพื่อมาซื้อรถยนต์ที่ราคาถูกลง โดยดึงอุปสงค์ของรถยนต์ในอนาคตและอุปสงค์สินค้าอื่นๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตมาใช้ ในมิติของผู้บริโภค ผู้บริโภคก็ได้รับอานิสงส์จากราคารถยนต์ที่ถูกลง โดยยอมแลกกับการบริโภคสินค้าอื่นๆ หรือการออมที่ต่ำลงในอนาคต3

หากพิจารณาในมิติของการกระจายสวัสดิการ รถยนต์ถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย (luxury goods) ในประเทศไทย ทำให้ผู้ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้กระจุกอยู่ที่กลุ่มผู้มีรายได้สูง (4-5th quintiles income) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อรถยนต์อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีต้นทุนภายนอกที่เกิดจากการใช้รถยนต์ (externality) รวมถึงมลพิษทางอากาศ และความแออัดในการใช้สินค้าสาธารณะ (public goods) ได้แก่ ถนนและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ส่งผลให้กลุ่มที่ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการก็ต้องมาแบกรับต้นทุนภายนอกที่เกิดจากมาตรการนี้ด้วย

มาตรการชิมช้อปใช้

มาตรการชิมช้อปใช้แบ่งออกเป็น 3 เฟส โดยในเฟส 1 และ 2 เป็นการให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ลงทะเบียนจำนวน 1,000 บาท และมีโอกาสได้รับเงินชดเชยคืน 15-20% ของเงินที่ใช้ซื้อสินค้าหรือบริการในรายการที่กำหนด ขณะที่เฟส 3 ซึ่งกำลังลงทะเบียนอยู่ขณะนี้เป็นการให้สิทธิรับเงินชดเชยคืนเพียงอย่างเดียว

ชิมช้อปใช้เฟส 1 และ 2 เป็นมาตรการคืนภาษีแบบผสม คือ มีการให้เงินสนับสนุนเป็นก้อนรวม (lump sum) และให้เงินคืน (rebate) ภายหลังหากใช้จ่ายซื้อสินค้าหรือบริการที่ร่วมรายการ การให้เงินสนับสนุนแบบเป็นก้อนรวมเทียบได้กับการคืนภาษีรายได้โดยที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ ซึ่งมีข้อดีเพราะคนในทุกระดับรายได้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน เงินสนับสนุนที่ให้นั้นก็ช่วยกระตุ้นการซื้อผ่านกลไกรายได้ ส่วนมาตรการที่ให้เงินคืนสำหรับสินค้าบางรายการ ก็จะเป็นการใช้กลไกราคาเข้ามาเพิ่มอุปสงค์ของสินค้าที่ร่วมรายการ โดยมีการดึงอุปสงค์จากอนาคต และอุปสงค์ในช่วงเวลาเดียวกันของสินค้าอื่นที่มีลักษณะเป็นสินค้าทดแทน (substitution goods) มา

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่าระบบการคัดเลือกผู้ที่ได้รับเงินสนับสนุนผ่านการลงทะเบียนออนไลน์ในเวลากลางคืน อาจยังไม่ค่อยเหมาะสมเนื่องจากกลุ่มเป้าหมายอาจไม่ใช่ผู้ที่จำเป็นต้องใช้เงินมากที่สุด แต่กลับเป็นกลุ่มคนที่เลือกตัวเองเข้ามา (self-selection) ซึ่งมักเป็นกลุ่มคนที่มีความละเอียดซับซ้อนในการใช้จ่ายมากกว่าผู้อื่น มีความสามารถในการใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างคล่องตัวและอดทนรอลงทะเบียนถึงจะลงทะเบียนได้สำเร็จ เพราะต้องใช้ความเร็วแข่งกับผู้อื่นด้วย

มาตรการช้อปช่วยชาติ

มาตรการช้อปช่วยชาติ ให้สิทธิประโยชน์สำหรับผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการนำค่าใช้จ่ายในการช้อปปิ้งของสินค้าร่วมรายการ ได้แก่ ยางรถยนต์ หนังสือ และสินค้า OTOP ไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุด 15,000 บาท

มาตรการช้อปช่วยชาติถือเป็นการคืนภาษีแบบผสม เพราะเป็นการละเว้นภาษีอุปโภคบริโภคผ่านการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อย่างไรก็ดี ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีฐานภาษีรายได้สูงกว่า

นอกจากนี้ การออกนโยบายช้อปช่วยชาติในเวลาเดียวกันทุกปียังมีผลต่อการคาดการณ์ล่วงหน้าของครัวเรือนอีกด้วย ซึ่งหากครัวเรือนมีการคาดการณ์นโยบายล่วงหน้า ก็อาจมีการชะลอการใช้จ่ายในช่วงอื่นเพื่อที่จะมารอซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงที่มีนโยบายเพื่อให้ได้ต้นทุนในการบริโภคที่ต่ำลงด้วย ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการกระตุ้นลดลง หรือทำให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่าเพราะไม่ได้ก่อให้เกิดการกระตุ้นอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ นโยบายยังอาจก่อให้เกิดผลลัพธ์ข้างเคียงที่ไม่ตั้งใจ เช่น ครัวเรือนมีการใช้จ่ายเกินตัว เนื่องจากความซับซ้อนในการคำนวณผลตอบแทนจากการลดหย่อน ผู้บริโภคอาจเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองได้เงินคืนมากกว่าที่ตนเองได้จริง และนำไปสู่การใช้จ่ายเกินตัว อย่างไรก็ดี นโยบายนี้ก็มีข้อดีคือส่งเสริมให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของใบกำกับภาษีและส่งเสริมให้ผู้ขายมีการออกใบกำกับภาษีอย่างถูกต้อง

มองมาตรการกระตุ้นทางการคลัง: ข้อควรพิจารณาในการกำหนดนโยบาย

1) คำนึงถึง tradeoff ระหว่างการบริโภคและการออมหรือลงทุนของครัวเรือน หากเป้าหมายคือการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเพียงอย่างเดียว การคืนภาษีหรือให้เงินสนับสนุนการซื้อสินค้าคงทน เช่น บ้านหรือรถ เป็นมาตรการที่มีประสิทธิผลมากที่สุด รองลงมาคือการคืนภาษีสินค้าบริโภคอื่นๆ และการคืนภาษีเงินได้ อย่างไรก็ดี รถยนต์ถือเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่ง เมื่อราคาสัมพัทธ์ถูกลงเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น ย่อมส่งผลให้การออมในรูปแบบสินทรัพย์อื่นลดลงด้วย

2) คำนึงถึง tradeoff ระหว่าง growth (การเจริญเติบโต) และ distribution (การกระจาย) โดยการเน้นการกระตุ้นการเติบโตให้ได้ multiplier ระยะสั้นสูงที่สุดก็อาจต้องแลกมากับการกระจายสวัสดิการที่ทั่วถึง เช่น นโยบายรถคันแรกมีการกระตุ้นในระยะสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายคือกลุ่มรายได้สูงที่มีแรงซื้อ แต่สวัสดิการก็ไปกระจุกอยู่ที่กลุ่มรายได้สูงเช่นกัน หากเปรียบเทียบในเรื่องของการเข้าถึง มาตรการชิมช้อปใช้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่มีรายได้ในทุกระดับมากกว่า เพราะมีการให้เงินคืนแบบเป็นก้อนรวม

3) คำนึงถึงผลลัพธ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ (unintended consequences) เช่น การกระตุ้นอุปสงค์สินค้าอย่างหนึ่งอาจทำให้เกิดการลดลงของอุปสงค์สินค้าและสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ (substitution effects) หรืออาจทำให้เกิดต้นทุนภายนอกที่ผู้ที่ไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการต้องแบกรับ

4) คำนึงถึงการเข้าถึงนโยบาย (accessibility) ตัวอย่างเช่น โยบายชิมช้อปใช้นั้นมีการเข้าถึงค่อนข้างทั่วถึงทุกระดับรายได้ อย่างไรก็ดีนโยบายนี้ก็ยังมีกำแพงเทคโนโลยีที่ทำให้คนบางกลุ่มเข้าถึงได้ยาก

5) คำนึงถึง tradeoff ระยะสั้นและระยะยาวในการใช้งบประมาณ หากเปรียบเทียบกับการใช้เงินงบประมาณจำนวนเดียวกันในการลงทุนในสาธารณูปโภคหรือปรับปรุงทุนมนุษย์ เช่น ทางด้านการศึกษา ทางด้านสุขภาพ หรือการส่งเสริมการลงทุนในทรัพย์สินที่แตะต้องไม่ได้ เช่น การวิจัยและพัฒนา เป็นการลงทุนที่ไม่ได้เห็นผลทันตาออกมาในรูปของตัวเลข GDP ที่พุ่งขึ้นภายในหนึ่งไตรมาสแต่ multiplier ในระยะยาวอาจจะมากกว่าที่เราเห็นได้

6) คำนึงถึงการกระจายสวัสดิการในมิติช่วงรายได้ มิติอายุของครัวเรือนเพิ่มเติมในการทำนโยบาย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของนโยบาย เช่น กลุ่มครัวเรือนวัยกลางคนเป็นกลุ่มที่มีอุปสงค์รถยนต์มากที่สุด ก็จะได้รับประโยชน์จากนโยบายมากที่สุด

7) มีการเก็บข้อมูลหรือจัดทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อใช้สนับสนุนในการออกแบบนโยบาย และประเมินประสิทธิภาพหรือความคุ้มค่าของนโยบายที่ทำ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นการคลังแต่ละมาตรการใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ข้อมูลหรือ insight ที่ได้จากนโยบายเหล่านี้ยังคงมีจำกัด ตัวอย่าง เช่น นโยบายชิมช้อปใช้ โดยรูปแบบของนโยบายทำให้คนที่เข้าร่วมจำกัดอยู่ที่คนที่มาลงทะเบียนเองเท่านั้น ซึ่งข้อดีคือมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการใช้จ่าย แต่หากต้องการปรับปรุงการเข้าถึงให้ทั่วถึงมากขึ้น อาจพิจารณากลไกการให้เงินอื่นๆ เช่น การให้เงินแบบสุ่ม ซึ่งจะเกิดการกระจายเม็ดเงินได้ทั่วถึงมากกว่า

อีกตัวอย่างหนึ่งในการให้เงินคืนที่ทั่วถึงคือการให้ภาษีเงินได้คืนของรัฐบาลสหรัฐที่มีระบบการให้คืนแบบ built in ไปกับการให้ภาษีคืนทั่วไป ทำให้ลดขั้นตอนและต้นทุนของผู้ได้รับเงินคืน

นอกจากนี้ หากมีการวางแผนการเก็บข้อมูลหรือแบบสำรวจที่เป็นระบบ ทั้งก่อนและหลังนโยบายควบคู่กันไป ก็จะช่วยให้ภาครัฐมีข้อมูลที่จะสามารถนำมาใช้ในการประกอบการตัดสินใจในการออกแบบนโยบายในอนาคตได้ดีขึ้น

หมายเหตุ :

    1. หากครัวเรือนมี EIS ต่ำ ครัวเรือนจะอยากมีการบริโภคที่ราบเรียบมากกว่าการบริโภคเยอะๆ ณ ช่วงเวลาหนึ่งๆ และจะไม่ได้มีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนทางรายได้หรือราคามากนัก แต่มักนำเงินเหล่านั้นไปใช้หนี้หรือออมมากกว่าเพื่อปรับปรุง balance sheet ของครัวเรือนให้มีการบริโภคที่สูงขึ้นอย่างราบเรียบในอนาคต

    2. บทความนี้จะกล่าวถึงเพียงมาตรการคืนภาษี อย่างไรก็ดี เราสามารถพูดถึงการให้เงินสนับสนุน (subsidy) ในบริบทเดียวกัน โดยเปรียบการให้เงินสนับสนุนได้กับ negative tax

    3. ในมุมของฝั่งอุปทาน หากมองจากการกระจายรายได้ไปสู่ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ก็จะเห็นได้ว่ารายได้นั้นไปกระจุกอยู่ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ และยังเป็นการดึงอุปสงค์รายสินค้าอื่นๆ หรือสินทรัพย์การลงทุนประเภทอื่นๆ มาที่อุตสาหกรรมรถยนต์อีกด้วย อย่างไรก็ดี สินค้าประเภทที่เป็น complementary กับรถยนต์ก็จะได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์รถยนต์และการใช้รถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นอีก

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์