ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อโครงการ “ชิมช้อปใช้ ” เป็นมากกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ…

เมื่อโครงการ “ชิมช้อปใช้ ” เป็นมากกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ…

7 ตุลาคม 2019


gxHo

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย, นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง และนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงความพร้อมมาตรการ “ชิมช้อปใช้”

ปรากฏการณ์ “ชิมช้อปใช้” ที่มีผู้ลงทะเบียน 10 ล้านคน มีเงินใน “เป๋าตัง” คนละ 1,000 บาท นับเป็นการส่งผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผลทันตาทันใจรัฐบาล การใช้เงินกระฉูดตามเป้าหมายในระยะเวลาสั้นๆ ทั้งการ “ชิม” “ช้อป” และ “ใช้”

ข้อมูลของธนาคารกรุงไทยรายงานจากพื้นที่ต่างๆ สะท้อนถึงการใช้จ่ายที่กระจายทั่วประเทศ เป็นการส่งอำนาจซื้อตรงจาก “เป๋ารัฐ สู่เป๋าตังประชาชน” ที่ถึงมือผู้รับแบบไม่รั่วไหล สามารถยืนยันตัวตน ยืนยันการใช้เงินกับร้านค้า ว่าใช้ที่ไหน อย่างไร ใช้เท่าไหร่ พื้นที่ไหนมีการใช้หนาแน่นหรือเบาบาง พื้นที่ไหน”ช้อป”เยอะ พื้นที่ไหน”ชิม”เยอะ บอกได้หมด

เป็น Big Data ที่ภาครัฐสามารถนำไปต่อยอดตอบโจทย์การพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคตได้

จึงเป็นการก้าวกระโดดของการเชื่อมต่อนโยบายภาครัฐให้ปฏิบัติได้จริงในเวลาที่รวดเร็ว ที่สำคัญไม่รั่วไหล ตรวจสอบได้ และโปร่งใส ทั้งนี้เป็นผลจากการวางโครงสร้างพื้นฐานของระบบการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประชาชนเข้ามาร่วมจำนวนมากและครอบคลุมทุกพื้นที่ เป็นการยกระดับดิจิทัลอีโคโนมี ที่จะนำประเทศไทยก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0

หากเทียบกับโครงการ “แจก” ของภาครัฐที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินเสมอว่า เงินที่ตั้งใจใส่ “กระเป๋า” ให้กลุ่มต่างๆ กลับบิดเบี้ยว ถึงมือผู้รับเหลือแค่ไม้ไอติม เพราะมีเงินรั่วไหลตกหล่นระหว่างทาง

ครั้งนี้จึงได้ปิดจุด pain point ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ มีการสแกนหน้ายืนยันตัวตน รวมทั้งร้านค้าที่ลงทะเบียน รู้ว่าอยู่ที่ไหน ยืนยันตัวตนได้เช่นกัน จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว

โครงการ “ชิมช้อปใช้” จึงเป็นมากกว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เล่าเบื้องหลังของการทำระบบให้บริการ “ชิมช้อปใช้” ว่ามาจากแนวคิดรัฐบาลต้องการหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เสนอหลายเรื่อง “ชิมชอปใช้” ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้เสนอไป โดยรัฐบาลมีความคาดหวังสูงว่าโครงการนี้สามารถกระจายไปในหลายๆ พื้นที่ของประเทศได้จริง เป็นการดึงคนให้เที่ยวในประเทศแทนที่จะไปเที่ยวต่างประเทศ เป็นความพยายามที่รัฐต้องการให้เงินไปตามพื้นที่ต่างๆ และเป็นความเร่งด่วนที่ไม่อยากให้เศรษฐกิจชะลอลงเร็ว เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยับเพิ่มขึ้น 0.15 %

“ตอนแรกมีความกังวลว่าจะได้รับความนิยมแค่ไหนอย่างไร และรัฐบาลก็กังวลว่าจะมีกลไกอะไรที่ตรวจสอบได้เพราะมันเป็นการใช้เงินภาษีประชาชน ดังนั้นสิ่งที่จะให้มีเลยอันแรกคือร้านค้าที่เข้ามาร่วม หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้คือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เขามีรายชื่อสถานท่องเที่ยว สถานที่โดดเด่น สถานที่ซื้อของในประเทศ เข้ามาร่วม ขณะเดียวกันจุดที่ลงทะเบียนร้านค้า กรมบัญชีกลางเป็นผู้ดูแล ให้คลังจังหวัดเป็นคนรับลงทะเบียน การดึงร้านค้าเข้ามาในระบบ เมื่อราชการเป็นคนจ่ายเงิน ต้องพิสูจน์ทราบได้ว่ามีตัวตนจริง”

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

“ก็เลยเป็นที่มาว่าจังหวัดต้องมีคลังจังหวัด เจ้าหน้าที่ ททท. เจ้าหน้าที่แบงก์กรุงไทย ในรับการลงทะเบียน ร้านค้าก็ต้องเปิดบัญชีกับธนาคารกรุงไทย และก็ต้องพิสูจน์ว่าร้านค้าแต่ละจุดอยู่ในพื้นที่ไหน สามารถจับแผนที่ กูเกิลแมปได้ เพื่อต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่ารองรับสำหรับผู้ที่จะไปท่องเที่ยว ผู้ที่ไปใช้จ่ายจริงๆ ที่จะให้บริการตามจังหวัดแก่ผู้ที่ลงทะเบียนไว้ เทคโนโลยีก็ต้องพิสูจน์รายชื่อเหล่านี้ได้ ไม่ใช่ว่าติดตั้งเครื่องอีดีซีแล้วถอดไปที่ไหน เสียบที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ลงทะเบียนไว้อีกที่หนึ่ง แต่ถ้าใช้แอปพลิเคชันนี้จะรู้ว่าร้านค้าอยู่จุดไหน พื้นที่ไหน ณ จุดที่มีการใช้ ซึ่งเราได้พัฒนาการจับโลเคชัน”

ในส่วนของผู้ลงทะเบียนที่รัฐบาลต้องการอำนวยความสะดวก ไม่ต้องไปที่สาขาแบงก์กรุงไทย สามารถลงทะเบียนทำได้เลยในแอปพลิเคชัน แต่ด้วยข้อจำกัดในการพิสูจน์ทราบตัวตน ที่ทางกรมการปกครองไม่สามารถโพรไวด์รูปได้ เพราะมีข้อกังวลกฎระเบียบว่าการเอารูปมาใช้ต้องมีลายเซ็นเป็นลายลักษณ์อักษร เซ็นด้วยอิเลกทรอนิกส์ก็ไม่ได้ เสียบบัตรก็ไม่ได้ เลยทำให้เราต้องมาใช้ทางออกของ ธปท. คือยืนยันกับบัตรประชาชน ถ่ายรูปจากบัตร ก็ต้องเข้าใจว่าบัตรประชาชนใบหนึ่งอายุ 10 ปี มีความเสื่อม ความโทรม การเปลี่ยนทรงผม อ้วนขึ้น ผอมลง ทำศัลยกรรมหน้า ซึ่งเราใช้เทคโนโลยีระดับโลกในการจับไบโอเมตริก เป็นเทคโนโลยีจากจีน ใช้เกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยว่าต้องมีความมั่นใจในระดับไหน

การลงทะเบียนมีคนอาจจะสับสนในการลงทะเบียน แต่ก็ถือว่าเป็นโครงการที่มีคนที่เยอะที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยในช่วงสั้นๆ ที่สุด วันละ 1 ล้านคน ถ้าเป็นบริษัททั่วไปกว่าจะได้ลูกค้า 1 คน ต้องใช้เวลาเป็นปีๆ ต้องถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ อาจจะขลุกขลักบ้างแต่สะท้อนให้เห็นว่า โครงการชิมช้อปใช้เป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานของระบบการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประชาชนเข้ามาร่วมจำนวนมากและครอบคลุมทุกพื้นที่ เป็นการยกระดับดิจิทัลอีโคโนมีขึ้นไปอีก

“แน่นอนอาจจะขลุกขลักบ้าง แต่ทางทีมงานกรุงไทยได้อำนวยความสะดวกในเรื่องคอลเซ็นเตอร์ สาขา ถ่ายรูปที่เป็นขั้นตอนตามกฎหมาย เวลาส่งไฟล์ถ้าไฟล์มันใหญ่ก็อาจจะเป็นระบบที่แน่นหน่อย แต่มีท่อที่เดินได้อาจจะรถติดบ้าง แต่ระบบไม่ล่มเลย”

ส่วนการใช้ซื้อของ มีร้านค้าลืมเปิดโลเคชันบ้าง หรือร้านค้าเจ้าของร้านลงทะเบียนไว้กับมือถือ แท็บเล็ต แต่เอาติดตัวไปด้วย พอเปิดขายวันแรกๆ ลูกจ้างไม่รู้ ก็บอกว่ามีคนหลอก แต่ปรากฏว่าเจ้าของไปกรุงเทพฯ เราก็รับเรื่องเรียนทุกช่องทาง ทันทีที่มีการโพสต์ในโซเชียลมีเดีย เราก็ตรวจเช็ค ตื่นตัว ไม่ได้รอ เรามีข้อมูลว่าประชาชนไม่ได้รับความสะดวก เราก็ส่งคนลงพื้นที่ทันที

หรือในเรื่องของโกง เราก็จับสัญญาณได้ด้วย เราก็ดำเนินการปิดถุงเงินและเราก็แจ้งคลังในการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เช่น มีการรับทอนเงิน ชักจูงคนมาที่ร้านและบอกว่าไม่ต้องซื้อของหรอก คุณมาที่ร้าน เราคิดค่าทำเรื่อง 200 บาท คุณเอาเงินทอนไป 800 บาท ก็มีเยอะมากหลายจุด บางที่เชื้อเชิญกันด้วยโซเชียลมีเดีย บางที่เชื้อเชิญด้วยปากต่อปาก เราทราบก็ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ทันทีเพื่อไม่เกิดการทุจริตขึ้น

นายผยงกล่าวต่อว่า การลงทะเบียนครั้งนี้เป็นการทดสอบระบบมากกว่า เป็นการขึ้นทะเบียนประชาชน เมื่อใดที่รัฐบาลพยายามจัดสรร ออกโครงการอื่นๆ ก็มีฐานข้อมูลทั้งในด้านพื้นที่ ลักษณะจังหวัด ว่าชอบชิม หรือชอบช้อป หรือชอบใช้ หรือบางจังหวัดที่คนไม่นิยมไป รัฐก็จะเห็นข้อมูล รัฐสามารถที่จะคิดต่อยอดว่าจะไปพัฒนาจังหวัดนั้นๆ อย่างไร ไปโฟกัสให้ถูกจุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อระบบสังคมเศรษฐกิจมาก ที่จะนำข้อมูลมาบูรณาการต่อยอดต่อไป

เช่น ไปเชื่อมเอสเอ็มอีบัญชีเดียว ว่ากิจการค้าขายดีไม่ดีอย่างไร ในอนาคตเจ้าของกิจการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น เพราะมีข้อมูลที่หมุนเวียนในระบบสามารถยกระดับได้ ได้ทรัพยากรไปใช้

นี่คือจุดเริ่มต้นของไทยแลนด์ 4.0 ในสเกลที่ใหญ่มากๆ ที่มีจำนวนประชาชน 10 ล้านคน 1 แสนร้านค้า

โครงการนี้ใช้เวลาแค่ 2 เดือนในการวางระบบต่างๆ เป็นมิติใหม่ในการทำงานประสานข้ามกระทรวง ข้ามหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงาน เป็นโครงการใหญ่ที่รองลงจากเลือกตั้ง และเชื่อว่าจะเป็นพื้นฐานในการต่อยอดไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป

“แบงก์กรุงไทยได้ทำระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินไว้ สามารถจะที่พิสูจน์ได้ว่าผู้ลงทะเบียนเอาเงินไปใช้ที่ไหน ใช้จริงไหม หากไม่มีก็จะเป็นความยากว่าเขาไปใช้ที่ไหน ใช้อย่างไร ใช้จริงๆหรือไม่”

ด้านนายกฤษณ์ ฉมาภิสิษฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า “ชิมช้อปใช้มมาเร็วมาก รัฐบาลมองว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอ อยากจะเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในชุมชนอย่างรวดเร็วและโปร่งใส ตรวจสอบได้ แบงก์กรุงไทยจึงเป็นผู้วางระบบ เดิมเรามีแอปถุงเงินอยู่แล้ว และแอปเป๋าตัง โดยถุงเงินคือฝั่งของร้านค้า จากเดิมเรามีร้านค้าธงฟ้าและร้านถุงเงินบางส่วน เมื่อรวมกับชิมช้อปใช้ตอนนี้ประมาณ 150,000 ร้านค้า

ส่วนแอปเป๋าตัง เรามีลูกค้าอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว พอเอาคนมาเพิ่มอีก 10 ล้านคน ทีมไอทีจึงต้องปรับ เตรียมความพร้อมในการวางระบบ เริ่มมาจากการวางหน้าเว็บไซต์ ให้คนลงทะเบียนอย่างไร แต่เรารู้ว่าหากคนทะลักเข้ามา 10 ล้านคน ระบบอาจจะรองรับไม่ไหว เราก็เลยแบ่งเป็น 10 วัน วันละ 1 ล้านคน ซึ่งเราดูว่าวันละ 1 ล้าน ไอทีประมวลผลระบบสามารถรองรับได้ พอหลังจากนั้น 3 วัน ลูกค้าได้โค้ดมาก็โหลดเป๋าตังส์ อันนั้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่ต้องมีความพร้อมในการโหลด

ทีมไอทีต้องทำการบ้านอย่างหนักในการเตรียมความพร้อม และเราก็มีการสื่อความไปที่สาขาทั่วประเทศ ให้พนักงานสาขาพร้อมที่จะช่วยเหลือลูกค้าในกรณีโหลด ติดขัด พนักงานจะช่วยได้ อย่างการสแกนใบหน้า face reccognation ข้อมูลมันลิงก์กับกรมการปกครอง บางทีภาพมันไม่ตรงกัน ภาพอาจจะเก่ามาก หรือมีการศัลยกรรมหน้าใหม่ ก็มีการมาพิสูจน์ยืนยันใหม่ เพราะฉะนั้นจึงต้องทำ KYC: Know Your Customer เพราะโครงการนี้เป็นการเอาเงินรัฐมาจ่าย จึงจำเป็นต้องมีระบบความปลอดภัยขั้นสูงสุดเพื่อให้โปร่งใส ตรวจสอบได้

“ขณะเดียวกันฝั่งมาร์เก็ตติงเองเรามีเวลาสั้นมากในการสร้างการรับรู้ เพราะคนไม่เข้าใจหรอกว่าชิมช้อปใช้คืออะไร จะลงทะเบียน จะใช้อย่างไร จึงสร้างการสื่อสารส่งลงไปที่ลูกค้า เราทำหนังโฆษณาชิปช้อปใช้ หนังออกก่อนหนึ่งวันที่จะลงทะเบียน มีดาราแกรมมี่ 4 คน โฆษณาออกวันอาทิตย์ วันจันทร์ลงทะเบียน แต่ก่อนหน้านี้คุณผยง ศรีวณิช กรมบัญชีกลาง ผู้ว่า ททท. ออกโรดโชว์เพื่อโปรโมทให้ประชาชนเข้าใจและตื่นตัวในโครงการนี้ พอหนังโฆษณาออกก็เริ่มมีเวิร์ดออฟเมาท์ คนพูดต่อๆ กัน พอมีการลงทะเบียนวันแรกปุ๊บ ก็มีการพูดต่อกันไปเรื่อยๆ ณ วันนี้หนังโฆษณาเรื่องนี้ได้ยอดคนดู 29 ล้านวิว”

นอกจากนี้เราก็ใช้อินฟลูเอนเซอร์ในโลกโซเชียลมาสอนลูกค้าในการโหลดว่าทำอย่างไร ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งในการสื่อสารให้ถึงประชาชนผู้ใช้ได้

“เราเห็นผลว่าหลังเปิดให้ลงทะเบียนวันแรก เวลา 13.00 คนเต็ม 1 ล้านคน วันที่สอง เต็มที่ 8 โมงเช้า วันที่สามเต็มที่ 6 โมงเช้า วันที่สี่ตีสาม…มันเป็นกระแส จากนั้นคนเริ่มออกเดินไปใช้เงิน เราก็เห็นสภาพที่ว่าบางจังหวัดของเกลี้ยงหมดชั้นวางของ และบางแห่งก็มีคนเข้าแถว คนออกันเต็ม เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเงินที่รัฐจ่ายไปไปสะพัดทั่วประเทศตามที่รัฐวางเป้าหมาย ร้านค้าขายของได้มากขึ้น เงินก็ยิ่งหมุนหลายรอบในชุมชน เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีมาก”

พร้อมกล่าวต่อว่า “ความสำเร็จของโครงการนี้เป็นการร่วมมือกันของหลายหน่วยงาน กรมบัญชีกลาง ททท. กรุงไทย หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนก็ตื่นตัว ที่สำคัญคือการเอาเทคโนโลยีมาใช้ เป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไปอีกระดับหนึ่ง แม้ช่วงแรกในการลงทะเบียนอาจจะยากนิดหนึ่ง การสแกนใบหน้า ระบบนี้เป็นการวางระบบความปลอดภัยขั้นสูงสุดในการจ่ายเงิน เพื่อให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ แม่นยำ เมื่อมีการสร้างฐานข้อมูลนี้แล้ว ในอนาคตจะเป็นการต่อยอด G wallet โครงการอื่นๆ ได้”

อย่างโครงการชิมช้อปใช้ ต่อที่ 1 เริ่มที่ 1,000 บาท ต่อที่สองท็อปอัปเงิน 30,000 บาทในการใช้ จะได้เงินคืน 15% คือ 4,500 บาท เพราะฉะนั้นโครงการนี้ประชาชนจะได้จริงๆ ต่อหัว 5,500 บาท

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เอาเทคโนโลยีมายกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับให้บริการดิจิทัลแบงกิง และเป็น open banking platform ให้กับแบงก์กรุงไทย ขณะเดียวกันในอนาคตหากภาครัฐอาจจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ จะมีการเปิด G wallet เกิดขึ้นเป็นกระเป๋าที่ 3-4-5 ซึ่งจะเป็นกระเป๋าตังส์เล็กๆน้อยๆ ในแอปเป๋าตังได้ทันที

วันนี้ผู้ลงทะเบียนมี 10 ล้านคน สามารถเพิ่มเป็น 20 -30 ล้านคนในอนาคต จะทำให้แพลตฟอร์มนี้ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ และเราจะเห็นว่ามันเป็นยุคที่เริ่มขับเคลื่อนด้วยดิจิตอลอย่างแท้จริง เงินที่อยู่ในกระเป๋าจะทำให้เงินสะพัด เป็นการลดเรื่องของการโกงด้วยเทคโนโลยี ด้วยการสแกนใบหน้า จะช่วยป้องกันได้ ดังนั้นทุกอย่างจึงต้องแม่นยำมากๆ

“ขณะเดียวกันในแง่หลังบ้านของแบงก์กรุงไทย ด้วยระบบกลไกของ AI เราจะเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าเราที่เป็นประชาชนมากขึ้น สามารถแบ่งเซกเมนต์เทชันได้ พอแบ่งเซกเมนต์ได้ เราจะรู้ความต้องการลูกค้าและตอบโจทย์เขาได้ถูกต้อง เช่น มนุษย์เงินเดือนคนที่สามารถใช้จ่ายได้ 30,000 บาท เขาอาจจะสนใจการลงทุนการออมแล้ว หรือคนที่ไปใช้ต่างจังหวัดสนใจเรื่องการกินเป็นพิเศษ ทำโปรโมชั่นในอนาคตได้”

ร้านค้า จ.นครนายก

นายกฤษณ์กล่าวต่อว่า ระหว่างการให้บริการระบบชิมช้อปใช้ แบงก์กรุงไทยใช้ทีมไอที ทีมโซเชียลมอนิเตอร์ 24 ชม. แบ่งงานเป็นกะ เรารู้ว่าลูกค้าจะมีปัญหาคนจะอินบ็อกซ์มาที่กรุงไทยแคร์ในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เรามีทีมเข้าไปตอบคำถาม และเรามีหนังโฆษณาที่ปิดท้ายด้วยฮาวทู ทำให้คนจะเข้าใจระดับหนึ่ง เรามีอินฟลูเอนเซอร์อธิบายและมีคนมาช่วยพูดในโซเชียลเยอะมากเลย จึงช่วยลดความไม่เข้าใจลง และทำให้ช่องว่างน้อยลง

“แต่ในหน้างานจริงๆ วันแรกๆ ที่มีลูกค้าที่มีปัญหาบางส่วน เช่น การสแกนใบหน้า ตรงนี้เรามีทีมโซเชียล ทีมงานคอลเซ็นเตอร์ ตอบคำถาม รวมทั้งช่องทางอื่นๆ สาขาที่เข้ามาช่วยจัดการเรื่องนี้ ลดเรื่องความไม่เข้าใจและทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น

ด้วยระบบที่เราไม่คิดว่าคนจะทะลักเข้ามาขนาดนี้ วันแรกขลุกขลักบ้าง แต่ที่ผ่านมาสะท้อนว่าระบบเรารองรับได้ อย่าง ตีสองลงทะเบียนได้ 1 ล้านคน แสดงว่าชั่วโมงละ 500,000 คน”

โครงการนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นที่เราเห็นว่า การที่เราเอาเทคโนโลยีมาช่วย เมื่อวางโครงสร้างเรียบร้อยแล้ว อนาคตหากจะทำอะไร สปีดก็จะเร็วขึ้น ในอดีตที่ผ่านมา การที่รัฐให้เงินไปยังประชาชนมันใช้เวลา ระหว่างทาง อาจจะเป็นการละลาย แต่วันนี้ด้วยระบบเทคโนโลยี มันไปถึงผู้ใช้จริงๆ โดยตรงภายในระยะเวลาอันสั้นมาก เพราะเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบโจทย์ ทำให้เศรษฐกิจหมุนได้เร็วขึ้น ชุมชนฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

พร้อมย้ำว่า “กรุงไทยเรามีหมวก 2 ใบ ใบหนึ่งต้องทำเพื่อประชาชน ลงทุนกลับไปที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อรองรับการให้บริการประชาชน ตามสโลแกน เคียงข้างไทยเคียงข้างคุณ เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ ยิ่งเราต้องไปไทยแลนด์ 4.0 บางคนก็บอกว่าเรายัง 0.4 แต่วันนี้ด้วยโครงการชิมช้อปใช้ เราเห็นว่าระบบของแบงก์กรุงไทยพร้อมและเมื่อรัฐมาเชื่อม ทำให้แบงก์กรุงไทยเป็นอีกกลไกที่มาสนับสนุน เราพร้อมปรับตัวไปกับโครงสร้างหลักของประเทศ”

“วันนี้เรามี KrungthaiNext เหมือนเป็นบ้าน และวันนี้เรามี open banking คือแอปเป๋าตัง เปรียบเสมือนคอนโดมิเนียม มีช่องๆ สามารถใส่อะไรเข้ามาได้ เป็น open banking platform ที่เปิดรองรับลูกค้าในอนาคต ลูกค้าของเราเหมือนกับคอนโดฯ ปล่อยเช่าก็ได้ หรือทำได้สารพัด นี่คือโลกอนาคต ส่วนที่เป็น traditional banking ที่ต้องทำอยู่แล้ว นั่นคือลูกค้าปัจจุบันของเราก็ยังคงทำต่อไป”

ดังนั้น การทำมาโครงการชิปช้อปใช้ คนเข้ามา 10 ล้านคนที่อยู่เป๋าตัง เราเห็นพาวเวอร์ของมัน ภายในระยะเวลา 10 วัน คน 10 ล้านเข้ามาในระบบของกรุงไทย ในเวลาไม่ถึง 1 เดือน และเป็นการสร้าง open banking platform ขึ้นมา มันเป็นโลกใหม่ เราเลือกที่จะดิสรัปต์เพื่อสร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้น

เมกาโฮม รังสิต จ.ปทุมธานี
ร้านขายของชำ จ.สมุทรปราการ
ท็อปส์ โรบินสัน จ.ชลบุรี
ท็อปส์ โรบินสัน จ.ชลบุรี
โลตัส บางแค ประชาชนรอสแกนเนื่องจากมีเครื่องเดียว