ThaiPublica > เกาะกระแส > ส่งท้ายปี 2561 มาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” มาแล้ว!

ส่งท้ายปี 2561 มาตรการ “ช็อปช่วยชาติ” มาแล้ว!

30 พฤศจิกายน 2018


เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร ชี้แจงกรณีที่มีกระแสวิพากย์วิจารณ์ “มาตรการช็อปช่วยชาติ” เป็นการช่วยนายทุนเจ้าของห้างสรรพสินค้ามากกว่าช่วยประชาชน ควรนำงบประมาณไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย และชาวบ้านระดับรากหญ้ามากกว่านั้น กรมสรรพากร ขอชี้แจงดังนี้

    1. มาตรการช็อปช่วยชาติ หรือมาตรการภาษี เพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม

    2. นอกจากนั้น การกำหนดประเภทสินค้า 3 ประเภท ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อนจากราคาผลผลิตตกต่ำ การพัฒนาทุนมนุษย์ และการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนโดยตรง จึงมีความคุ้มค่าที่จะดำเนินการ ซึ่งจะเห็นได้จากแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับการซื้อสินค้าแต่ละประเภท กรมสรรพากรกำหนดไว้ดังนี้

  • สินค้าประเภทยางล้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถจักรยาน กำหนดว่า วัตถุดิบต้องมาจากยางที่การยางแห่งประเทศไทยรวบรวม หรือรับซื้อจากเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้น
  • สินค้าประเภทหนังสือและ e-Book ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ และเป็นไปตามที่กรมสรรพากรได้เคยหารือกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยจะช่วยยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์ของประเทศผ่านการอ่าน
  • สินค้า OTOP ได้กำหนดให้ซื้อจากผู้ที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน แต่จะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ก็ได้ จึงมิได้จำกัดอยู่แค่ห้างสรรพสินค้า แต่จะช่วยกระจายรายได้ไปยังชุมชนต่างๆ อย่างทั่วถึง
  • นายปิ่นสายกล่าวต่อว่า “มาตรการช็อปช่วยชาติ” ของกระทรวงการคลังที่กำลังจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นมาตรการที่เปิดกว้างกว่าทุกครั้ง โดยมีการขยายสิทธิในการหักลดหย่อนภาษีให้ครอบคลุมถึงสินค้าประเภทหนังสือ และ e-Book ซึ่งปกติไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่ถ้าผู้เสียภาษีไปซื้อหนังสือ หรือ e-Book จากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร สามารถนำมูลค่าสินค้าที่ซื้อตามที่ระบุในใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษี มาหักลดหย่อนภาษีกับกรมสรรพากรได้

    ส่วนกรณีการซื้อสินค้า OTOP นั้น ก็ไม่จำกัดว่าจะต้องซื้อสินค้า OTOP จากร้านค้าที่จดทะเบียน VAT กับกรมสรรพากร หรือร้านค้าในห้างสรรพสินค้าเท่านั้น “เช็คช่วยชาติ” รอบนี้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องใช้สิทธิหักภาษีภายใต้โครงการช็อปช่วยชาติ สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้า OTOP จากร้านค้าที่จดทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนมาหักลดหย่นภาษีได้ด้วย

    สำหรับการซื้อยางล้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถจักรยาน ผู้ใช้สิทธิต้องขอใบกำกับภาษี และคูปองหักลดหย่อนภาษีจากร้านค้าด้วย โดยกรมสรรพากรและการยางแห่งประเทศไทยจะร่วมกันกำหนดสัดส่วนการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสม และออกคูปองหักลดหย่อนภาษีให้กับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ โดยซื้อยาง 1 เส้น ก็ได้รับคูปอง 1 ใบ ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา

    ต่อกรณีที่มีบริษัทประกันวินาศภัยแห่งหนึ่ง เร่งรัดให้ผู้เอาประกันนำส่งเบี้ยประกันสุขภาพก่อนวันที่ 1 ธันวาคม 2561 หากส่งข้อมูลการชำระค่าเบี้ยประกันช้า อาจไม่ได้รับสิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่เกิน 15,000 บาท) ประเด็นนี้ โฆษกกรมสรรพากรกล่าวว่า ตามระเบียบกรมสรรพากร กำหนดให้บริษัทประกันชีวิต หรือบริษัทประกันวินาศภัย ต้องนำส่งข้อมูลเกี่ยวกับเบี้ยประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้ให้แก่กรมสรรพากรภายในวันที่ 7 มกราคมของทุกปี ดังนั้น ผู้เอาประกันไม่จำเป็นต้องจ่ายเบี้ยประกันภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2561 ตามที่บริษัทประกันวินาศภัยรายนี้นำมากล่าวอ้าง ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากกรมสรรพากร กำหนดให้บริษัทประกันชีวิต และบริษัทปะกันวินาศภัย ทยอยส่งข้อมูลของผู้เอาประกันได้ถึงวันที่ 7 มกราคม 2562 ยืนยันผู้ที่ชำระค่าเบี้ยประกันสุขภาพสามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีได้ทุกราย

    ส่วนกระแสวิจารณ์โรงเรียนนานาชาติได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีหลายรายการนั้น นายปิ่นสายกล่าวว่า การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับสถานศึกษานั้นเป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการศึกษา โดยพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 กำหนดให้โรงเรียนเอกชน รวมทั้งโรงเรียนนานาชาติ ต้องแยกการจัดตั้งบริษัทผู้รับใบอนุญาตออกจากโรงเรียน ทั้งนี้ โรงเรียนจะได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีดังกล่าว และส่งรายได้ตามสัดส่วนที่กำหนดในกฎหมายเข้ามาที่บริษัท ส่วนบริษัทยังคงเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีอื่นที่เกี่ยวข้องตามปกติ