จากของขวัญส่งท้ายปีเก่าด้วยมาตรการช็อปช่วยชาติให้กับคน 3 ล้านคน และของขวัญต้อนรับปีใหม่กับมาตรการภาษีสนับสนุนเอสเอ็มอีทำบัญชีเล่มเดียว ก่อนเข้าสู่โหมดปฏิรูปโครงสร้างภาษีของนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ภายใต้แนวคิด “กระจายความสุขให้ผู้เสียภาษีทุกกลุ่ม ลดความเหลื่อมล้ำ คืนความเสมอภาคกลับสู่สังคมไทย”
ที่ผ่านมากรมสรรพากรไม่เปิดเผยฐานข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งที่ไม่ใช่ข้อมูลลับ แต่ให้ดูกันเฉพาะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังและกรมสรรพากร อย่างไรก็ตามสำหรับจำนวนผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2557 โดยนำข้อมูลชุดนี้มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง และสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ข้อมูลสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ระบุว่า ปี 2558 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 65.7 ล้านคน แบ่งเป็น เพศชาย 32.3 ล้านคน เพศหญิง 33.4 ล้านคน ในจำนวนประชากรทั้งหมด พบว่าเป็นคนไทยที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน 64.2 ล้านคน ยังไม่ได้สัญชาติไทย แต่มีชื่อในทะเบียนบ้าน 674,026 คน มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกลาง 657,849 คน และอยู่ระหว่างการย้ายออก แต่ยังไม่ได้ย้ายเข้าทะเบียนบ้าน 159,222 คน
ขณะที่รายงานผลการสำรวจภาวการณ์การทำงานของสำนักงานสถิติเปิดเผยว่า ในไตรมาส 3 ปี 2558 มีคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป 55.3 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มคนที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 16.5 ล้านคน และกลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงาน 38.8 ล้านคน ในจำนวนนี้มีงานทำ 38.3 ล้านคน คนไทยที่เหลือ 27.4 ล้านคน ไม่มีงานทำ คนว่างงานกลุ่มนี้ประกอบไปด้วย คนที่ตกงาน 3.6 ล้านคน, คนชราและพิการทำงานไม่ได้ 7.3 ล้านคน, เรียนหนังสือ 4.4 ล้านคน, เป็นพ่อบ้าน แม่บ้าน 4.8 ล้านคน กลุ่มแรงงานที่รอฤดูกาล 8 หมื่นคน และอื่นๆ 7.3 ล้านคน(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
ทั้งนี้จากมูลของกรมการปกครอง สำนักงานสถิติแห่งชาติ มาเปรียบเทียบกับข้อมูลภาษีของกรมสรรพากร ปี 2557 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุด และเพื่อให้การวิเคราะห์เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงในเชิงสถิติ จึงใช้ฐานข้อมูลภาษีปี 2555 ที่เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลภาษี ปี 2557 แทน เนื่องจากกรมสรรพากรยังไม่ได้จัดส่งฐานข้อมูลสถิติทางภาษี ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าใช้สิทธิ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ 2540 ยื่นขอข้อมูลดังกล่าวต่อกรมสรรพากรเมื่อปี 2558 (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
จากข้อมูลของส่วนราชการทั้ง 3 แห่ง พบว่า คนไทย 65.7 ล้านคน ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90-91 ปีภาษี 2557 (ช่วงวันที่ 1 ม.ค. 2558 – วันที่ 1 เม.ย. 2558) จำนวน 10.3 ล้านคน เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลปี 2555 มีผู้มายื่นแบบเสียภาษีเพิ่มขึ้น 440,000 คน หรือเพิ่ม 4.45% ส่วนที่เหลือ 37.7 ล้านคน ไม่ยื่นแบบเสียภาษี
และผู้ที่ยื่นแบบเสียภาษีจำนวน 10.3 ล้านคน มีแค่ 4 ล้านคน จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีงบประมาณ 2558 ให้กรมสรรพากรเป็นเงิน 302,491 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 6.3 ล้านคน มายื่นแบบ ภ.ง.ด.90-91 แต่ไม่ต้องจ่ายภาษี เพราะมีรายได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาทต่อปี เปรียบเทียบกับปีภาษี 2555 ที่มีจำนวน 6.54 ล้านคน จะเห็นว่าคนกลุ่มนี้มีจำนวนลดลง 240,000 คน หรือลดลง 3.66%
แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้เสียภาษีกลุ่มที่มีรายได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาทต่อปี มีจำนวนลดลง น่าจะมาจากการปรับขึ้นเงินเดือน และการจ่ายเงินโบนัสประจำปี ยกตัวอย่าง ข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ได้รับการพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนตามปกติ เดือนละ 1,000 บาท 2 ปี ติดต่อกัน ก็จะทำให้ฐานเงินได้สุทธิเพิ่มเป็น 174,000 บาท ขยับขึ้นไปอยู่ในกลุ่มผู้มีเงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาทต่อปี และถ้าดูจากฐานข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่นำมาแสดง จะเห็นว่ามนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้สุทธิเกิน 150,000 บาทต่อปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกช่วงชั้นของเงินได้สุทธิ โดยเฉพาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาทต่อปี มีจำนวนคนเพิ่มมากที่สุดถึง 340,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 20.26%
ขณะที่กลุ่มคนรวยที่สุดของประเทศไทยมีรายได้สุทธิเกิน 4,000,000 บาทต่อปี ปรับเพิ่มเช่นกัน โดยในปีภาษี 2555 คนรวยกลุ่มนี้มีจำนวน 25,000 ราย ปีภาษี 2557 เพิ่มเป็น 30,000 ราย เพิ่มขึ้น 5,000 คน
ในจำนวนผู้มีเงินได้สุทธิที่มีอัตราการขยายตัวมากที่สุด คือ กลุ่มคนที่มีรายได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาทต่อปี หรือเงินเดือนเฉลี่ย 1,000,000 บาท มีจำนวนเพิ่มขึ้น 36.88% อันดับ 2 เป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้สุทธิ 750,001บาท- 1,000,000 บาทต่อปี มีจำนวนเพิ่มขึ้น 32.84% อันดับ 3 กลุ่มมนุษย์เงินเดือนมีรายได้สุทธิ 2,000,001-400,000 บาทต่อปี มีจำนวนเพิ่มขึ้น 28.89% อันดับ 4 กลุ่มคนรวยมีรายได้สุทธิเกิน 4,000,000 บาทต่อปี มีจำนวนเพิ่มขึ้น 21.41% และอันดับ 5 กลุ่มคนจนรายได้สุทธิ 150,001-300,000 บาทต่อปี มีจำนวนเพิ่มขึ้น 20.26%