ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > “บิ๊กตู่” แจกเงิน “คนจนในเมือง” 5.4 ล้านคน 12,750 ล้าน หัวละ 1,500- 3,000 บาท สั่งแบงก์ออมสิน-ธ.ก.ส.-กรุงไทย สำรองจ่ายล่วงหน้า

“บิ๊กตู่” แจกเงิน “คนจนในเมือง” 5.4 ล้านคน 12,750 ล้าน หัวละ 1,500- 3,000 บาท สั่งแบงก์ออมสิน-ธ.ก.ส.-กรุงไทย สำรองจ่ายล่วงหน้า

22 พฤศจิกายน 2016


thaipublica-โครงการลงทะเบียนคนจน

ด้วยนโยบายเพื่อช่วยเหลือคนยากจนของหลายรัฐบาล ส่วนใหญ่จะส่งไม่ถึงมือกลุ่มคนยากจนจริงๆ หรือได้รับก็ไม่ทั่วถึง เนื่องจากภาครัฐไม่มีฐานข้อมูล”คนจน” ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยใช้ฐานข้อมูลจากประกันสังคมและกรมบัญชีกลางแจกเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ให้กับข้าราชการและพนักงานบริษัทที่มีรายได้ไม่เกิน 150,000 บาท/ปี ส่วนกลุ่มคนจนที่อยู่นอกระบบไม่ได้รับอานิสงค์จากมาตรการนี้

เช่นเดียวกับรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำมาตรการช่วยคนจนเช่นกัน โดยวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังดำเนิน “โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 100,000 บาท มาลงทะเบียนผ่านสาขาของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทย ในระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 – 15 สิงหาคม 2559

ข้อมูลการลงทะเบียน “โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ” ผ่านธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส. มีทั้งหมด 8.3 ล้านราย แบ่งเป็นเกษตรกร 2.9 ล้านบาท และไม่ใช่เกษตรกร 5.4 ล้านราย (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

thaipublica-สรุปยอดลงทะเบียนคนจน

จากนั้น วันที่ 27 กันยายน 2559 ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้นำงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 6,540 ล้านบาท ไปจัดสรรให้กับเกษตรกรที่มาลงทะเบียนในโครงการนี้ กรณีมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จำนวน 1.51 ล้านราย ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐคนละ 3,000 บาท คาดว่าจะใช้เงินจากงบกลาง 2,010 ล้านบาท และรายได้เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท มีจำนวน 1.34 ล้านราย ได้รับเงินช่วยเหลือ 1,500 บาท คาดว่าจะใช้งบกลาง 4,530 ล้านบาท

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกร พร้อมกับอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณอีก 12,750 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาใช้ในมาตรการดังกล่าวนี้ โดยให้ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และกรุงไทย สำรองจ่ายไปก่อน จากนั้น ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 2561 มาจ่ายชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคารต่อไป

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกร หรือ “คนจนในเมือง” ประมาณ 5.4 ล้านราย ที่มาลงทะเบียนกับโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยผู้ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท จำนวน 3.1 ล้านคน ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐคนละ 3,000 บาท และผู้ที่มีรายได้ต่อปี ตั้งแต่ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท จำนวน 2.3 ล้านคน ได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 1,500 บาท การดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกรครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน เนื่องจากก่อนหน้านี้ที่ประชุม ครม. เคยมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังจัดงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรที่มาลงทะเบียนในโครงการนี้ไปแล้ว

สำหรับวิธีการโอนเงินนั้น ให้ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และธนาคารกรุงไทย โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ใช่เกษตรกรที่มาลงทะเบียนไว้กับธนาคารดังนี้

thaipublica-คนจนเมือง

1. กรณีผู้มีสิทธิ์เป็นลูกค้าของธนาคาร ให้ธนาคารโอนเข้าบัญชีของผู้มีสิทธิ์โดยตรง ผู้มีสิทธิ์สามารถตรวจสอบเงินในบัญชีของตนภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ธนาคารแจ้งการโอนเงิน หากไม่มีเงินโอนเข้าบัญชีให้ยืนยันสิทธิ์กับธนาคารที่ได้ลงทะเบียนไว้ และหากผู้มีสิทธิ์มีบัญชีเงินฝากมากกว่า 1 บัญชี ธนาคารจะทำการโอนเงินเข้าบัญชีที่มีการเคลื่อนไหวล่าสุด

2. กรณีผู้มีสิทธิ์ไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคาร ให้ผู้มีสิทธิ์ไปแสดงตัวและเปิดบัญชีเงินฝากที่สาขาธนาคารที่ไปลงทะเบียนตามโครงการฯ และสามารถตรวจสอบเงินในบัญชีหลังจากเปิดบัญชีภายใน 7 วัน หากไม่มีเงินโอนเข้าบัญชีให้ไปยืนยันสิทธิ์กับธนาคารที่ได้ลงทะเบียนไว้

ทั้งนี้ให้ธนาคารใช้หลักเกณฑ์การโอนเงินข้างต้น เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการโอนเงินให้เกษตรกรผู้มีสิทธิ์ ตามมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยด้วย คาดว่าจะเริ่มโอนเงินได้ภายในเดือนธันวาคม 2559

อนึ่ง มาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ตามมติ ครม. วันที่ 23 กันยายน 2559 และมติ ครม. วันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้กับผู้มีรายได้น้อยที่มาลงทะเบียน 8.3 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 19,290 ล้านบาท ดังนี้

1. ผู้ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท มีจำนวน 4.6 ล้านราย แบ่งเป็นเกษตรกร 1.5 ล้านราย คนจนในเมือง 3.1 ล้านราย ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลคนละ 3,000 บาท โดยรัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุนวงเงิน 13,830 ล้านบาท

2. ผู้ที่มีรายได้ต่อปี ตั้งแต่ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท จำนวน 3.6 ล้ายราย แบ่งเป็นเกษตรกร 1.3 ล้ายราย คนจนในเมือง 2.3 ล้านราย ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลคนละ 1,500 บาท รัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุน 5,460 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติมมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย