ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 19-25 พ.ย. 2559
ไล่บี้ “เบส อรพิมพ์” ค่าตัวเกินระเบียบสำนักงบฯ – กองทัพปัด “ไม่ได้ใช้เป็นเครื่องมือ”
กลายเป็นประเด็นเดือดที่ทั้งสังคมออนไลน์และสื่อต่างๆ ไล่ล่าหาความจริง กับกรณีของ “เบส – อรพิมพ์ รักษาผล” นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ หลังจากที่มีการเผยแพร่คลิปการบรรยายครั้งหนึ่งไปทั่วโลกออนไลน์ จนเกิดความไม่พอใจขึ้นกับหลายๆ คน โดยเฉพาะชาวไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีกรณี “หมิ่นประมาทคนอีสาน”
ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องราวยังลามไปถึงค่าตัวของเบส ที่น่าเชื่อว่าอาจจะไม่เป็นไปตามระเบียบการจ่ายค่าบรรยายของหน่วยงานต่างๆ ที่มีการเชิญนักพูดสาวผู้นี้ไปบรรยาย โดยการเปิดเผยหลักฐานว่า ในการบรรยายที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มีเอกสารระบุว่าค่าบรรยายของเบสนั้นสูงถึง 30,000 บาท
แม้ตามระเบียบของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นจะระบุค่าบรรยายของวิทยากรไม่เกินชัวโมงละ 600 บาท และหากกรณีมีความจำเป็นต้องจ่ายค่าตอบแทนสูงกว่าอัตราที่กำหนด หัวหน้าส่วนงานที่จัดการประชุมสามารถกำหนดอัตราค่าตอบแทนได้ตามความเหมาะสมเฉพาะคราว โดยความเห็นชอบของอธิการบดี
แต่การค้นพบหลักฐานยืนยันในหลายแหล่งจนทำให้เชื่อได้ว่า ค่าตัวปรกติของเบส – อรพิมพ์ อยู่ที่ 30,000 บาท ก็ทำให้หวยไปออกที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เนื่องจากในการอบรมวิทยากรประชารัฐต้นแบบ ซึ่งระบุว่าเป็นการบรรยายในวันศุกร์ที่ 8 เมษายน 2559 ณ หอประชุมกิตติขจร กองทัพบก ซึ่งเป็นการบรรยายพิเศษเรื่อง เหตุผลความจำเป็นที่ คสช. เข้าควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน Road Map ของรัฐบาลและ คสช. ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ “รับงาน” จาก คสช. จนเป็นที่น่าสงสัยต่อไปว่า การเบิกจ่ายค่าจ้างวิทยากรนั้นเป็นไปอย่างไร จำนวนเท่าไหร่ เพราะในขณะที่ค่าตอบแทนการบรรยายของเบส – อรพิมพ์ อยู่ที่ 30,000 บาท แต่ตามระเบียบหลักเกณฑ์ อัตราค่าใช้จ่าย และแนวทางการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีของการฝึกอบรม สัมนา การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่กำหนดโดยสำนักงบประมาณนั้น อัตราค่าใช้จ่ายของวิทยากรที่ไม่ใช่บุคคลของรัฐจะอยู่ที่ชั่วโมงละไม่เกิน 1,600 บาท
ต่อเรื่องนี้ ก่อนหน้านั้น พ.อ. ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ากองทัพจ้างนางสาวอรพิมพ์ รักษาผล หรือ “เบส อรพิมพ์” ไปบรรยายในหน่วยงานของทหาร ว่า ขอยืนยันว่านางสาวอรพิมพ์ หรือเบส ไม่ได้เป็นเครื่องมือของกองทัพตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์แต่อย่างใด ซึ่งอยากให้มองว่านางสาวอรพิมพ์เป็นผู้หญิงเก่ง มีความกล้า และเป็นนักพูดที่ดีให้ข้อคิดอะไรต่างๆ ได้ รวมทั้งเป็นคนที่มีการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกัน กองทัพมีบทบาทในการปกป้องและเทิดทูนสถาบันฯ ดังนั้น กองทัพจึงเชิญนางสาวอรพิมพ์ มาเป็นวิทยากรในการบรรยาย และให้ข้อคิดเกี่ยวกับสถาบัน
รวมทั้งยังกล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นในเรื่องค่าตอบแทนวิทยาการนั้น ตนไม่ได้รู้รายละเอียดการจ่ายค่าตอบแทน ว่าจะจ่ายชั่วโมงละ 300 บาท 800 บาท หรือไม่ แต่ประเด็นคือ เราเชิญวิทยากรมาพูด ในบางครั้งวิทยากรท่านนั้นก็ไม่ได้เรียกค่าตัว เพราะเขาตั้งใจมาทำงานมาด้วยความสมัครใจ ซึ่งปกติแล้ววิทยากรก็จะมีเรทของการใช้งานซึ่งโดยหลักการของกระทรวงทบวงกรม ก็จะมีเรทเป็นของการจ่ายค่าตอบแทนวิทยากรอยู่แล้ว ทั้งนี้ ตามหลักการใช้งบประมาณในการบริหารราชการแผ่นดิน จะมีเรทในการจัดประชุมการจัดสัมมนา แต่เรทค่าตอบแทนน้องเบสนั้น ตั้งไว้ในการบรรยายภายนอกที่เป็นภาคเอกชนก็อีกเรื่องหนึ่ง
“อย่าไปมองเรื่องค่าตัว แล้วมาจับผิดกันว่ากองทัพบกต้องไปจ่ายเป็นชั่วโมงละ 30,000 บาท 2 ชั่วโมง 60,000 บาท อย่าไปมองประเด็นอย่างนั้น แต่อยากให้มองว่ากองทัพเอาวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถ มาบรรยายให้กับกำลังพลถึงการแสดงออกในการจงรักภักดี แต่ตอนนี้กระแสสังคมกลับกลายเป็นว่า พออธิบายไปเรื่องหนึ่ง ก็ไปขยายบิดเบือนไปอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่ามีกลุ่มคนที่จุดกระแสเรื่องเหล่านี้อยู่ เพื่อต้องการให้นำไปสู่ความแตกแยก” พ.อ. ปิยพงศ์ กล่าว
เตรียมเฮ คลังชง ครม. ฟื้น “ช็อปช่วยชาติ”
วันที่ 24 พ.ย. 2559 เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า กระทรวงการคลัง จะเสนอมาตรการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและเห็นชอบ โดยเป็นไปได้ที่จะมาตรการช้อปช่วยชาติเหมือนที่เคยดำเนินการเมื่อปีที่ผ่านมามาใช้ ที่ให้นำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการ ช่วง 7 วันสุดท้ายของปี มาลดหย่อยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมีแนวโน้มปีนี้จะปรับเพิ่มจำนวนวันให้มากกว่าปีก่อน เชื่อว่าช่วยกระตุ้นการบริโภคที่กำลังอยู่ในภาวะซบเซาให้ดีขึ้น ต่อเนื่องจากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและเอสเอ็มอีมาก่อนหน้านี้
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในไตรมา 4 ปีนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจจะซบเซามากว่า 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ดังนั้น จำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มเติม โดยกระทรวงการคลังกำลังจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอ รัฐบาล นอกจากนี้ กระทรวงการคลังได้เห็นชอบในหลักการแล้ว กรณีสมาคมผู้ประกอบการศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า เสนอให้ลดภาษีนำเข้าน้ำหอมและเครื่องสำอาง แต่การนำเสนอครม. เป็นหน้าที่ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
ผู้สื่อข่าวรายงาน มาตรการช้อปช่วยชาติ ที่ดำเนินการเมื่อปลายปี 2558 ให้สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อสินค้าหรือบริการครบ 15,000 บาท สามารถนำบิลค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งปีที่ผ่านมารัฐได้คืนภาษีเป็นเงิน 4,000 ล้านบาทจากมาตรการดังกล่าว แต่ได้ช่วยเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม วงเงินประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท เท่ากับรัฐบาลไม่ได้สูญเสียงบประมาณจากการจัดเก็บภาษีรายได้ในภาพรวม
ธรรมกาย “เสริมกำแพง” เตรียมรับ “จับธัมมชโย”-ขู่ “อย่าทำให้ตกใจ”
เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 24 พ.ย. 2559 ที่มหารัตนวิหารคต ภายในวัดพระธรรมกาย ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนกลางวงคณะศิษยานุศิษย์นับหมื่นคนที่นั่งสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร 8 ล้านจบ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กรณีอัยการเห็นควรสั่งฟ้อง 3 ข้อหา พระธัมมชโย ในคดีทุจริตสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
นายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย เปิดเผยว่า กรณีมีกระแสข่าวกล่าวว่าพระธัมมชโยเดินทางหลบหนีออกไปนอกประเทศยืนยันว่าพระธัมมชโยยังอยู่ภายในวัดพระธรรมกาย เนื่องจากมีอาการอาพาธ อยู่ในการดูแลของคณะแพทย์อย่างใกล้ชิด และการที่ต้องรักษาตัวดังกล่าว พระธัมมชโยจึงไม่สามารถเดินทางออกไปรับทราบข้อกล่าวหาได้ เป็นการทำตามได้ตามคำแนะนำของแพทย์ที่รักษา และยืนยันว่าพระธัมมชโยนั้น ไม่มีหนังสือเดินทาง จึงไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ประกอบกับท่านไม่ได้มีอาการอาพาธเพียงโรคเดียว แต่หลายโรค รักษาควบคู่กันไปกว่า 10 ปีแล้ว ไม่ใช่เฉพาะช่วงที่มีคดีความ ซึ่งเป็นสิทธิของผู้ป่วยที่จะเลือกสถานที่รักษา
“เช่นเดียวกัน หากพระธัมมชโยเป็นบิดามารดาท่าน ท่านป่วยลูกๆ ก็ต้องหาแพทย์มารักษาตามสถานที่ๆ ท่านต้องการ ซึ่งหากท่านไม่อาพาธ ท่านก็จะออกมานำสอบสมาธิ และนำปฏิบัติธรรม รวมทั้งการเทศน์ออกทางสถานีโทรทัศน์ดีเอ็มซี”
นายองอาจกล่าวด้วยว่า ช่วงนี้ เป็นช่วงเวลาที่ไม่น่าเชื่อว่า เหตุการณ์ของพระธัมมชโยจะเกิดขึ้นได้ เป็นการพยายามสร้างให้เกิดความวุ่นวายขึ้น ขอให้ทุกหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ อย่าทำให้คณะศิษยานุศิษย์ตกใจ เพราะหากตกใจยังไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ก่อนหน้านี้ ช่วงแรกอธิบดีดีเอสไอพร้อมคณะเดินทางมาพบหลวงพ่อในปี 2558 มาสอบสวนหลวงพ่อในฐานะพยาน และให้ข้อมูลไปหมดแล้ว พร้อมทั้งทนายที่เป็นผู้ให้ข้อมูล แต่ระยะหลังท่านอาพาธไม่สามารถเดินทางออกจากวัดได้ จึงไม่ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน ทำให้เป็นการขัดหมายเรียก จนนำไปสู่การออกหมายจับ ส่วนการรับเช็คสหกรณ์คลองจั่นท่านไม่ก็เคยพบเห็น
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ขณะนี้ที่ประตู 5 วัดพระธรรมกาย มีการก่ออิฐกำแพงเพื่อเสริมความสูงขึ้นไปอีก และมีเจ้าหน้าที่ รปภ. ผลัดเปลี่ยนเวรยาม คอยเฝ้าอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง
เดือดร้อนทั้งคนนั่งคนขับ สมาคมรถตู้ร้องขอกลับอนุสาวรีย์ชัย
วันที่ 24 พ.ย. 2550 เว็บไซต์สปริงนิวส์รายงานว่า นายบุญส่ง ศรีสกุล รักษาการนายกสมาคมธุรกิจรถตู้ต่างจังหวัดพร้อมคณะ ยื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอความอนุเคราะห์การย้ายรถตู้ต่างจังหวัดตามนโยบาย คสช. ผ่านนายพันศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชนศูนย์บริการประชาชน
นายบุญส่ง กล่าวว่า หลังจากที่ คสช. มีนโยบายในการจัดระเบียบรถตู้สาธารณะต่างจังหวัด ให้เข้าจอดตามสถานีต่างๆ 3 สถานีนั้น ทำให้ผู้โดยสารได้รับผลกระทบหลายกลุ่ม เช่น ผู้โดยสารจากต่างจังหวัดที่ต้องการมาทำธุระต่างๆ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไม่สามารถทำได้ เพราะต้องเดินทางมายังสถานีต่างๆ ทำให้เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงผู้สูงอายุที่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลเดือนละ 1-2 ครั้ง ขณะที่ผู้ประกอบการรถตู้ได้รับผลกระทบเนื่องจากลูกค้าลดลง รวมถึงสถานที่ใหม่ที่เปิดให้รถตู้ไปขายตั๋วคับแคบ โต๊ะขายตั๋วไม่เพียงพอและไม่เท่าเทียมกับรถตู้ของ ขสมก.
นายบุญส่งกล่าวว่า จึงขอเสนอแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการย้ายวินรถตู้ต่างจังหวัดกลับมาอยู่บริเวณใต้ทางด่วนอนุสาวรีย์ชัยฯ ทั้งสองฝั่ง เพื่อไม่ให้กีดขวางเส้นทางจราจร และเมื่อโครงข่ายระบบการคมนาคมของรัฐบาลเสร็จประมาณปี 2562 แล้ว จึงจะย้ายรถตู้ทั้งหมดเข้าสู่ระบบคมนาคมที่มีจุดเชื่อมต่อ ตามที่รัฐบาลได้วางโครงข่ายไว้แล้ว เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดรวมถึงเกิดความสบายใจทั้งสองฝ่าย
“อมรินทร์” สั่น ดึง “เสี่ยเจริญ” ซื้อหุ้นเพิ่มทุน 850 ล้านบาท
วันที่ 25 พ.ย. 2559 เว็บไซต์ Brand Inside รายงานว่า บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด หรือ AMARIN เจ้าของสื่อนิตยสารและสิ่งพิมพ์ในเครืออมรินทร์ และช่อง Amarin TV ประกาศแจ้งขอมติผู้ถือหุ้นเดิม เพิ่มทุนและขายหุ้นส่วนนี้ให้กับตระกูลสิริวัฒนภักดี ในราคา 850 ล้านบาท
การเพิ่มทุนครั้งนี้ อมรินทร์จะเพิ่มทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท โดยออกหุ้นสามัญเพิ่มจำนวนหุ้น 200 ล้านหุ้น มูลค่าราคาหุ้นละ 1 บาท แล้วขายให้กับ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท (รวมมูลค่า 850 ล้านบาท) โดยบริษัทวัฒนภักดีมีนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี (บุตรชายสองคนของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี) เป็นกรรมการ
หลังการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ บริษัทวัฒนภักดีจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของอมรินทร์ ด้วยสัดส่วนหุ้น 47.62% ส่วนครอบครัวอุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอมรินทร์ จะมีสัดส่วนหุ้นลดลงเหลือ 30.83% โดยบริษัทจะเรียกประชุมวิสามัญขอความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นเดิมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560
อมรินทร์ระบุว่า บริษัทขาดทุนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 ขาดทุนถึง 468.93 ล้านบาท จึงส่งผลต่อสภาพคล่องและกระแสเงินสด เพื่อใช้จ่ายค่าใบอนุญาตดิจิตอลทีวี ค่าเช่าโครงข่ายทีวี และชำระเงินกู้คืนไปยังสถาบันการเงิน บริษัทจึงต้องหาเงินทุนเพิ่ม
ส่วนเหตุผลที่เลือกกลุ่มสิริวัฒนภักดี เป็นเพราะมีความพร้อมด้านเงินทุน และมีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย
บริษัท วัฒนภักดี จำกัด มีทุนจดทะเบียน 9 ล้านบาทถ้วน โดยมีนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี ถือหุ้นใหญ่เกือบทั้งหมด ส่วนผู้ถือหุ้นรายอื่นคือ นางปภัชญา สิริวัฒนภักดี และ ม.ล.ตรีนุช สิริวัฒนภักดี
การเสนอขายหุ้นครั้งนี้ต่ำกว่าในราคาตลาดของหุ้นอมรินทร์ 43.11% (ราคาเฉลี่ยที่คำนวณ 7.47 บาท ขายในราคา 4.25 บาท)