ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เทียบราคา GT200 ไทยซื้อ 9 แสนบาท/เครื่อง แพงกว่า “สหประชาชาติ-เม็กซิโก” ชี้สมัย “อนุพงษ์ เผ่าจินดา” สั่งเยอะสุด

เทียบราคา GT200 ไทยซื้อ 9 แสนบาท/เครื่อง แพงกว่า “สหประชาชาติ-เม็กซิโก” ชี้สมัย “อนุพงษ์ เผ่าจินดา” สั่งเยอะสุด

13 กรกฎาคม 2016


หน่วยงานรัฐของไทยที่จัดซื้อ GT200

หลังจากได้ทราบว่า “เครื่องตรวจจับสะสารระยะไกล” (remote substance detector) ที่ผลิตและจำหน่ายโดยบริษัทจากสหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ จำนวน 3 บริษัท ต่างเป็นเครื่องมือลวงโลก (หรือเป็นเพียง “ไม้ล้างป่าช้า” ตามคำศัพท์ของนายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ซึ่งผู้เกี่ยวข้องต่างก็ถูกศาลอาญากลางของอังกฤษและเวลส์ตัดสินให้จำคุกไปหมดแล้ว โดยมี

คำถามก็คือ แล้วรัฐบาลไทย โดยหน่วยงานรัฐต่างๆ มีหน่วยงานใดบ้างที่เสีย “ค่าโง่” ซื้อเครื่องมือลวงโลกนี้มาใช้ เป็นจำนวนเท่าใด และเสียงบประมาณซึ่งมาจากภาษีของประชาชนไปมากน้อยเพียงใด โดยไม่นับ ADE-651 ที่ยังไม่พบว่า มีการนำเข้ามาซื้อขายกันในประเทศไทย

ข้อมูลจากหน่วยงานตรวจสอบอย่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า หน่วยงานรัฐของไทยที่จัดซื้อ GT200 และ Alpha 6 รวมกันอย่างน้อย 15 หน่วยงาน เป็นจำนวน 1,398 เครื่อง คิดเป็นเงินกว่า 1,134 ล้านบาท

แต่ถ้านับเฉพาะ GT200 ข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรารวบรวมทั้งจากการตรวจสอบเองและอาศัยข้อมูลของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่า ระหว่างปี 2548-2552 มีหน่วยงานของรัฐไทยที่จัดซื้ออย่างน้อย 10 หน่วย รวม 34 สัญญา เป็นจำนวนทั้งสิ้น 836 เครื่อง คิดเป็นเงินกว่า 759 ล้านบาท

กองทัพบกสมัยที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบก เป็นหน่วยงานรัฐของไทยที่จัดซื้อ GT200 มากที่สุด คิดเป็น 90% ของที่หน่วยงานรัฐของไทยจัดซื้อทั้งหมด ที่มาภาพ : http://www.siamrath.co.th/web/?q=node/13063
กองทัพบกสมัยที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้บัญชาการทหารบก เป็นหน่วยงานรัฐของไทยที่จัดซื้อ GT200 มากที่สุด คิดเป็น 90% ของทั้งหมดที่หน่วยงานรัฐของไทยจัดซื้อ ที่มาภาพ : www.siamrath.co.th/web/?q=node/13063

ทบ. จัดซื้อ 90% เป็นเงินกว่า 700 ล้าน ยุค “อนุพงษ์” เป็น ผบ.ทบ. ซื้อมากที่สุด

สำหรับหน่วยงานที่จัดซื้อมากที่สุด ก็คือ “กองทัพบก” หรือ ทบ. โดยกรมสรรพาวุธ ทหารบก รวม 12 สัญญา จำนวน 757 เครื่อง (คิดเป็น 90% ของจำนวน GT200 ที่มีหน่วยงานรัฐของไทยจัดซื้อทั้งหมด) รวมเป็นเงินกว่า 682 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีถึง 11 สัญญา ที่จัดซื้อในช่วงระหว่างที่ “พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน โดยขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก หรือ ผบ.ทบ. (ระหว่างเดือนตุลาคม 2550 – เดือนกันยายน 2553) พอดิบพอดี มีเพียงสัญญาแรก สัญญาเดียวเท่านั้น ที่จัดซื้อขณะที่ “พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน” เป็น ผบ.ทบ. (ระหว่างเดือนตุลาคม 2548 – เดือนกันยายน 2550)

ทั้งหมดจัดซื้อจาก “บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด” (Avia Satcom Limited) ที่เป็นนายหน้าของบริษัทโกลบอลฯ ซึ่งปัจจุบันนายโบลตันเจ้าของบริษัท อยู่ระหว่างชดใช้โทษอยู่ในเรือนจำของอังกฤษ หลังศาลตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 7 ปีในคดีฉ้อโกง ตั้งแต่ปี 2556

ทั้งนี้ทุกสัญญาที่ ทบ. จัดซื้อ GT200 จะใช้ “วิธีพิเศษ” ทั้งหมด โดยอ้างเหตุผล 2 ข้อ คือกรณีจำเป็นเร่งด่วน และกรณีข้อจำกัดทางเทคนิค ต้องระบุยี่ห้อเป็นการเฉพาะ

เมื่อแยกข้อมูลการจัดซื้อ GT200 ของ ทบ. เป็นรายปี

ปี 2550 ทบ. จัดซื้อ 1 สัญญา

  • สัญญาที่หนึ่ง 2 เครื่อง วงเงิน 1.8 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 9.5 แสนบาท)

ปี 2551 ทบ. จัดซื้อ 7 สัญญา

  • สัญญาที่หนึ่ง 24 เครื่อง วงเงิน 22.8 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 9.5 แสนบาท)
  • สัญญาที่สอง 33 เครื่อง วงเงิน 29.7 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 9 แสนบาท)
  • สัญญาที่สาม 68 เครื่อง วงเงิน 61.2 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 9 แสนบาท)
  • สัญญาที่สี่ 2 เครื่อง วงเงิน 1.8 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 9 แสนบาท)
  • สัญญาที่ห้า 19 เครื่อง วงเงิน 17.1 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 9 แสนบาท)
  • สัญญาที่หก 18 เครื่อง วงเงิน 16.2 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 9 แสนบาท)
  • สัญญาที่เจ็ด 45 เครื่อง วงเงิน 39.6 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 9 แสนบาท)

ปี 2552 จัดซื้อ 4 สัญญา

  • สัญญาที่หนึ่ง 222 เครื่อง วงเงิน 199.8 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 9 แสนบาท)
  • สัญญาที่สอง 129 เครื่อง วงเงิน 116.1 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 9 แสนบาท)
  • สัญญาที่สาม 30 เครื่อง วงเงิน 27 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 9 แสนบาท)
  • สัญญาที่สี่ 166 เครื่อง วงเงิน 149.4 ล้านบาท (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 9 แสนบาท)

ราคาเฉลี่ย GT200 ที่หน่วยงานรัฐไทยจัดซื้อ

ราคาเฉลี่ยแตกต่างมาก กองทัพซื้อหลักล้าน – กรมศุลฯ แค่ 4 แสน

สำหรับหน่วยงานของรัฐอื่นๆ อีกอย่างน้อย 9 หน่วยงานที่จัดซื้อ GT200 ประกอบด้วย

  1. กองทัพเรือ โดยกรมสรรพาวุธ ทหารเรือ รวม 8 สัญญา จำนวน 38 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 39 ล้านบาท ด้วย “วิธีพิเศษ” (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 9.3 แสนบาท – 1.2 ล้านบาท)
  2. กองทัพอากาศ โดยกรมสรรพาวุธ ทหารอากาศ รวม 7 สัญญา จำนวน 26 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 21 ล้านบาท ด้วย “วิธีพิเศษ” (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 5.6 – 9.9 แสนบาท)
  3. กรมราชองครักษ์ รวม 3 สัญญา จำนวน 8 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 9 ล้านบาท ด้วย “วิธีพิเศษ” (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 9 แสน – 1.2 ล้านบาท)
  4. สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ รวม 3 สัญญา จำนวน 6 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 7 ล้านบาท ด้วย “วิธีพิเศษ” (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 1.1 ล้านบาท)
  5. กรมศุลกากร รวม 1 สัญญา จำนวน 6 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 2.6 ล้านบาท ด้วย “วิธีประกวดราคา” (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 4.2 แสนบาท)
  6. องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว รวม 1 สัญญา จำนวน 2 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 2.4 ล้านบาท ด้วย “วิธีประกวดราคา” (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 1.1 ล้านบาท)
  7. องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ รวม 1 สัญญา จำนวน 3 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 1.8 ล้านบาท ด้วย “วิธีประกวดราคา” (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 6 แสนบาท)
  8. สถานีตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท รวม 1 สัญญา จำนวน 1 เครื่อง เป็นเงิน 5.5 แสนบาท ด้วย “วิธีประกวดราคา” (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 5.5 แสนบาท)
  9. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รวม 1 สัญญา จำนวน 1 เครื่อง เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท ด้วย “วิธีพิเศษ” (ราคาเฉลี่ยเครื่องละ 1.2 ล้านบาท)
[ หมายเหตุ : สาเหตุที่ราคาเฉลี่ยการจัดซื้อ GT200 ของบางหน่วยงานมีหลายราคา เนื่องจากยึดราคาเฉลี่ยที่คำนวณจากการจัดซื้อของแต่ละสัญญา ที่มีราคาเฉลี่ยต่อเครื่องไม่เท่ากัน ]

ทั้งนี้ สตง. ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดราคาเฉลี่ยการจัดซื้อ GT200 ของแต่ละหน่วยงานถึงแตกต่างกันมาก โดยกองทัพเรือจัดซื้อสูงสุด เฉลี่ยเครื่องละ 1.2 ล้านบาท (ใช้วิธีพิเศษ) ทั้งที่ซื้อโดยตรงจากบริษัทโกลบอลฯ ขณะที่กรมศุลกากร จัดซื้อเพียงเครื่องละ 4.2 แสนบาท เท่านั้น ทั้งที่จัดซื้อผ่านบริษัทเอวิเอฯ ซึ่งเป็นตัวแทน (ใช้วิธีประกวดราคา)

โดยในหนังสือที่ สตง. ส่งถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ให้หน่วยงานของรัฐที่จัดซื้อ GT200 ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่กรรมการผู้มีอำนาจแทนบริษัทโกลบอลฯ และบริษัทเอวิเอฯ และผู้เกี่ยวข้อง ในความผิดฐานฉ้อโกง และดำเนินคดีทางแพ่งกับบริษัททั้งสอง

“และควรพิจารณาแต่งตั้งผู้ชำนาญการ/ผู้ทรงคุณวุฒิ/นักวิชาการร่วมเป็นกรรมการจัดซื้อจัดจ้างหากมีการดำเนินการจัดหาพัสดุที่มีเทคนิคพิเศษในอนาคต” ข้อเสนอของ สตง. ที่มีต่อนายกฯ ระบุ

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

จับตาการตรวจสอบของ ป.ป.ช.  – เทียบราคากับต่างประเทศ

ในด้านการตรวจสอบการทุจริต ปัจจุบันมีคดีซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ GT200 และ Alpha 6 โดยหน่วยงานรัฐของไทย อยู่ในมือของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึง 14 คดี มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึง 12 หน่วยงาน โดยผู้ถูกกล่าวหา มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ พลเรือน ฯลฯ และเอกชน

โดย ทบ. หน่วยงานรัฐของไทยที่จัดซื้อ GT200 จำนวนมากที่สุด ผู้ถูกกล่าวหาที่มีตำแหน่งสูงสุด ก็คือ “เจ้ากรมสรรพาวุธ” ได้แก่ พล.ท. คำนวณ เธียรประมุข และ พล.ท. ธีระวัฒน์ บุญยะประดับ ไม่มีตำแหน่งที่สูงกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็น “แม่ทัพภาค” หรือ “ผู้บัญชาการเหล่าทัพ”

ทั้งนี้ คดีส่วนใหญ่ มีผู้มายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ตั้งแต่ปี 2555 แต่ถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีการสรุปสำนวนคดีว่าจะแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลใดหรือไม่ แม้แต่คดีเดียว

พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า ขณะนี้คดีทั้งหมดในขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนได้พูดคุยกับผู้รับผิดชอบแล้ว และได้เร่งรัดให้รีบดำเนินการ เชื่อว่าจะสรุปสำนวนทั้งหมดและเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาวินิจฉัยได้ ภายในเดือนกันยายน 2559

สำนักข่าวอิศรา ซึ่งตรวจสอบการจัดซื้อ GT200 ของหน่วยงานรัฐของไทยอย่างเข้มข้น ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดซื้อเครื่องมือนี้ไว้ 2 ประเด็นหลัก 1.กระบวนการจัดซื้อ ที่การจัดซื้อโดยใช้ “วิธีพิเศษ” ของกองทัพ มักได้ราคาสูงกว่า “วิธีประกวดราคา” ของหน่วยงานราชการทั่วไป และ 2.เหตุใดการจัดซื้อในหลายครั้ง ที่แม้จะจำนวนเครื่องมาก แต่ราคาเฉลี่ยต่อเครื่องกลับไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด

“เห็นได้ชัดเจนจากการจัดซื้อของกองทัพบก ในช่วงหลังปี 2551-2552 ที่เปลี่ยนมาใช้วิธีการจัดซื้อแบบวิธีพิเศษกรณีข้อจำกัดทางเทคนิค ต้องระบุยี่ห้อเป็นการเฉพาะ มีการจัดซื้อเครื่องเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักร้อยเครื่อง แต่ราคาก็ยังอยู่ที่เครื่องละ 9 แสนบาท ไม่ได้ปรับลดลงแต่อย่างใด” สำนักข่าวอิศราตั้งข้อสังเกต

ที่มาภาพ : http://www.abc.es/20111018/internacional/abci-detector-molecular-antidroga-mexico-201110181900.html
ราคาเฉลี่ยการจัดซื้อ GT200 ของหน่วยงานรัฐเม็กซิโกจะอยู่ที่เครื่องละ 770,000 บาท ถูกของหน่วยงานรัฐไทยที่อยู่ที่จัดซื้อเฉลี่ยเครื่องละ 900,000 บาท ที่มาภาพ : www.abc.es/20111018/internacional/abci-detector-molecular-antidroga-mexico-201110181900.html

ราคาเฉลี่ยต่อเครื่องในการซื้อขาย GT200 ในต่างประเทศ ก็ไม่แน่นอน เช่นเดียวกับที่ซื้อขายในไทย ซึ่งมีตั้งแต่ 4.2 แสนบาท – 1.2 ล้านบาท ต่อเครื่อง ซึ่งหากนำจำนวนทั้งหมดมาหารด้วยงบประมาณที่ใช้ไป ราคาเฉลี่ยของ GT200 ที่ไทยจัดซื้อจะอยู่ที่เครื่องละ 900,000 บาท

ขณะที่ในต่างประเทศ ในขณะที่ “เม็กซิโก” ซึ่งเป็นอีกประเทศที่ซื้อ GT200 ไปใช้ค่อนข้างมาก ประมาณการว่าไม่ต่ำกว่า 1,200 เครื่อง จะมีราคาเฉลี่ย 22,000 เหรียญสหรัฐ หรือเครื่องละ 770,000 บาท

ขณะที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ซื้อไปใช้ปราบปรามการค้างาช้างในทวีปแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นในแซมเบีย อูกันด้า เคนย่า แทนซาเนีย และคองโก กลับมีราคาเพียง 5,000 เหรียญสหรัฐ หรือเครื่องละ 175,000 บาท เท่านั้น

ระหว่างการพิจารณาคดีกับนายโบลตัน อัยการได้แจ้งว่าราคาเฉลี่ย GT200 ที่นายโบลตันขายให้กับลูกค้า คือ 10,000 – 15,000 ปอนด์ หรือเครื่องละ 500,000 – 750,000 บาท

ขณะที่สำนักข่าวบีบีซี ซึ่งเกาะติดทำซีรีส์ข่าว GT2000 มาต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี รายงานว่า เครื่องมือนี้ซึ่งซื้อขายกันมากในไทย เม็กซิโก ตะวันออกกลาง และทวีปแอฟริกา จะมีราคาเฉลี่ย ขั้นต่ำอยู่ที่ 5,000 ปอนด์ (ราว 250,000 บาท)ไปจนถึงขั้นสูง ช่วงที่สูงที่สุดถึง 500,000 ปอนด์ (ราว 25,000,000 บาท)

แม้จะหาราคาเฉลี่ยในการจัดซื้อ GT200 ของ “แต่ละประเทศ” มาเทียบเคียงได้ยาก แต่ถ้าดูจากข้อมูลคร่าวๆ ที่ปรากฎก็น่าจะพอเห็นภาพว่า หน่วยงานรัฐของไทยซื้อเครื่องมือนี้ในราคาที่ “ค่อนข้างสูง” อย่างน้อยก็สูงกว่าที่เม็กซิโก และที่ยูเอ็นจัดซื้อ

ต้นทุนในการผลิต GT200 ซึ่งมีต้นแบบมาจากอุปกรณ์ค้นหาลูกกอล์ฟ อยู่ที่เพียง 5 ปอนด์ (ราว 250 บาท) ต่อเครื่องเท่านั้น แต่กลับขายได้ถึง 5,000 – 500,000 ปอนด์ต่อเครื่อง

โดยสื่อท้องถิ่นของอังกฤษรายหนึ่งรายงานว่า ผลจากการขาย “เครื่องมือลวงโลก” นี้มาหลายปี จะทำให้นายโบลตันมีความมั่งคั่งถึง 45 ล้านปอนด์ (กว่า 2,250 ล้านบาท)