ข่าว “เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม” (ที่คนไทยจะคุ้ยเคยกันในชื่อ GT200) กลับมาเป็นประเด็นตามหน้าสื่ออีกครั้ง ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2559 หลังเงียบหายไปหลายปี เมื่อศาลอาญากลางของอังกฤษและเวลส์ ได้ตัดสินให้ยึดทรัพย์ “นายเจมส์ แม็คคอร์มิค” นักธุรกิจชาวอังกฤษ เป็นเงิน 7.94 ล้านปอนด์ (ราว 397 ล้านบาท) เพื่อให้นำมาใช้คืนลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกง ซึ่งศาลเดียวกันเคยตัดสินให้จำคุกนายแม็คคอร์มิค ในข้อหาฉ้อโกง (fraud) เป็นเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2556
โดยทรัพย์สินของนายแม็คคอร์มิคที่จะถูกยึด ประกอบด้วยบ้านมูลค่า 4 ล้านปอนด์ในเมืองบาร์ธของอังกฤษ, ที่จอดรถยนต์มูลค่า 8.8 หมื่นปอนด์, วิลล่าหรูบนเกาะไซปรัส, เรือสำราญ มูลค่า 3.45 แสนปอนด์ และบ้านของครอบครัวนายแม็คคอร์มิคในเมืองซอเมอร์เซ็ตของอังกฤษ ซึ่งทั้งหมดจะถูกนำมาขายทอดตลาดเพื่อนำ “เงินชดเชย” แก่ผู้เสียหายต่อไป โดยปรากฎรายชื่อลูกค้า 5 ราย ที่จะได้รับเงินชดเชย ประกอบด้วยอิรัก, บาห์เรน, ไนเจอร์, จอร์เจีย และกองกำลังสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในเลบานอน
ในจำนวนนั้นมีเพียงอิรักที่ศาลระบุจำนวนเงินชดเชยที่ชัดเจน คือ 2.3 ล้านปอนด์ (ราว 115 ล้านบาท) จากที่ยื่นคำร้องขอมาทั้งหมด 97 ล้านปอนด์ (ราว 4.85 พันล้านบาท) ส่วนลูกค้ารายอื่นๆ ศาลไม่ระบุจำนวนเงินชดเชย
แม้ว่านายแม็คคอร์มิค จะไม่ใช้ผู้ผลิตและจำหน่าย GT200 โดยตรง แต่ทำและขายเครื่งมือที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน อย่าง ADE-651 แต่คดีของนายแม็คคอร์มิค ในกระบวนการยุติธรรมของอังกฤษ มักจะเดินคู่ขนานกับผู้ผลิตและจำหน่าย GT200 ตัวจริง นั่นคือ “นายแกรี่ โบลตัน” ที่ถูกศาลอังกฤษตัดสินจำคุกในข้อหาฉ้อโกง เป็นเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2556 เช่นเดียวกัน (ทำให้บางครั้งสื่อไทยและสื่อต่างชาติจะเข้าใจผิด และรวมทั้ง 2 คดี เป็นคดีเดียวกัน)
แต่คดีของนายแม็คคอร์มิค ก็ช่วยจุดกระแสการตรวจสอบการจัดซื้อ GT200 ที่เคยเป็นข่าวโด่งดังมา 5-6 ปีก่อน ให้กลับอีกครั้ง ว่าการตรวจสอบการทุจริตใช้เงินจัดซื้ออุปกรณ์ปลอมนับพันล้านบาทของหน่วยงานรัฐของไทย โดยเฉพาะกองทัพบก มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว
ทว่า เมื่อนำเรื่องนี้ไปถามกับผู้นำรัฐบาล ซึ่งชูนโยบายปราบปรามการทุจริต สิ่งที่ได้กลับเป็นอาการฉุนเฉียว และโยนให้ไปถามกับฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลแทน
การพิสูจน์ GT200 ไม้ล้างป่าช้า “พันล้าน” และแรงต้านจากกองทัพ
เดิม GT200 หรือชื่อเรียกเต็มๆ ว่า “เครื่องตรวจจับสะสารระยะไกล” (remote substance detector) ทางผู้ผลิตอ้างว่า หลักการทำงานของเครื่องมือนี้คือใช้ไฟฟ้าสถิตบนร่างกายในการตรวจหาสะสารตามประเภทของ “เซ็นเซอร์การ์ด” ที่ใส่เข้าไปในเครื่องให้ตรวจสอบ ตั้งแต่กระสุน สารระเบิด ยาเสพติด ทองคำ งาช้าง ธนบัตร ยาสูบ ไปจนถึงร่างกายมนุษย์ ! โดยสามารถตรวจจับได้ทั้งบนบก บนน้ำ ในอากาศ ใต้น้ำ และใต้ดิน ตั้งแต่ 60-4,000 เมตร
โดยส่วนประกอบของเครื่องจะมี 3 ส่วน คือ “เสาอากาศ” ที่ติดกับตัว “ที่จับ” ซึ่งทำจากพลาสติก และ “ช่องใส่การ์ด” เพื่อเลือกชนิดสะสารที่จะตรวจจับ ซึ่งเครื่องจะทำงานก็ต่อเมื่อผู้ใช้เริ่มต้นเดินค้นหา
GT200 เริ่มต้นวางจำหน่ายในปี 2544 โดยมีผู้ผลิตและจำหน่ายคือบริษัท โกลบอล เทคนิคัล จำกัด (Global Technical Limited) ของอังกฤษ ที่มีนายแกรี่ โบลตัน เป็นเจ้าของ เครื่องนี้ขายได้ดีในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งไทย เม็กซิโก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
ก่อนที่ในเวลาต่อมา จะมีบริษัทอังกฤษอีก 2 แห่ง ขายเครื่องมือที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน ทั้ง ADE-651 ของบริษัท เอทีเอสซี จำกัด (ATSC Limited) ที่มีนายเจมส์ แม็คคอร์มิค เป็นเจ้าของ และ Alpha 6 ของบริษัท คอมสแตร็กซ์ จำกัด (Comstrac Limited) ที่มีสามีภรรยา นายซามูเอล ทรี และนางโจน ทรี เป็นเจ้าของ (ซึ่งทั้งสองคนก็ถูกศาลอังกฤษตัดสินให้จำคุกในข้อหาฉ้อโกงเช่นกัน เมื่อปี 2557 โดยนายซามูเอลถูกจำคุก 3 ปีครึ่ง ส่วนนางโจนถูกรอลงอาญา 2 ปี และทำงานรับใช้สาธารณะประโยชน์โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน 300 ชั่วโมง)
[ อ่าน เรื่องราวของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอมทั้ง 3 ยี่ห้อ เขียนโดยแคโลไลน์ ฮอวลีย์ นักข่าวของสำนักข่าวบีบีซี ผู้เปิดโปงความไร้ประสิทธิภาพของอุปกรณ์เหล่านี้ เมื่อปี 2553]ในรายงานสรุปผลการตรวจสอบการจัดซื้อ GT200 ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า หน่วยงานแรกของไทยที่จัดซื้อเครื่อง GT200 มาใช้คือกองทัพอากาศ (ทอ.) เมื่อปี 2548 โดยจัดซื้อเครื่องละ 9.66 แสนบาท
ต่อมาในปี 2550-2552 หน่วยงานรัฐต่างๆ ได้จัดซื้อมาใช้งาน เนื่องจาก ทอ. นำมาใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถตรวจพบอาวุธ กระสุน และวัตถุระเบิดหลายครั้ง จนเป็นที่เชื่อมั่นของผู้ใช้งาน
โดยหน่วยงานรัฐที่จัดซื้อ GT200 ทุกหน่วยจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษจาก บริษัทโกลบอลฯ โดยตรง หรือผ่านบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ที่เป็นนายหน้าให้กับบริษัทโกลบอลฯ ในประเทศไทย (สำหรับบริษัท เอวิเอฯ เป็นบริษัทเอกชนที่นำเข้าเครื่องมือทางทหารและยุทธภัณฑ์มาขายให้กับกองทัพ โดยเฉพาะ ทอ. อยู่บ่อยครั้ง โดย “สำนักข่าวอิศรา” ได้โยงใยคอนเน็กชั่นบริษัทนี้กับข้าราชการระดับสูงในกองทัพหลายคน)
ผลก็คือระหว่างปี 2548-2553 หน่วยงานของรัฐไทย 15 หน่วยงาน ซื้อ GT200 หรือ Alpha 6 มาใช้รวมกันถึง 1,398 เครื่อง รวมเป็นเงินกว่า 1,134 ล้านบาท ในราคาตั้งแต่เครื่องละ 4.26 แสนบาท – 1.38 ล้านบาท
โดยส่วนใหญ่หากไม่ถูกนำไปใช้ในภารกิจตรวจวัตถุต้องสงสัยในพื้นที่ภาคใต้ ไม่ก็ตรวจสอบสารยาเสพติดบริเวณชายแดน
ก่อนที่ช่วงปลายปี 2552 GT200 จะถูกตั้งคำถามจากสังคม โดยเฉพาะผู้สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ในห้องหว้ากอของเว็บไซต์พันทิป และสื่อมวลชน โดยเฉพาะ “หนังสือพิมพ์คมชัดลึก” ที่เริ่มสงสัยในประสิทธิภาพ เมื่อทำงานผิดพลาดจนทำให้เกิดเหตุระเบิดข้างโรงแรมเมอร์ลิน จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 และตลาดสด จ.ยะลา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 นำไปสู่การเรียกร้องให้พิสูจน์การทำงาน GT200 “ด้วยวิทยาศาสตร์”
การเดินหน้าตรวจสอบของสื่อคู่ขนานกับนักวิทยาศาสตร์อย่าง “นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์คณะวิทยาศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เชื่อว่าเครื่องมือนี้ไม่ต่างอะไรกับ “ไม้ล้างป่าช้า” เพราะไม่มีหลักการวิทยาศาสตร์อะไรรองรับในการทำงาน ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นสั่งให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งานของ GT200 ท่ามกลางแรงต้านจากกองทัพ ที่ออกมายืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เครื่องมือนี้ใช้งานได้จริง
ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ออกมาแถลงว่า ผลการทดสอบ GT200 จำนวน 20 ครั้ง ปรากฏว่าหาวัตถุระเบิดได้ถูกต้องเพียง 4 ครั้ง ซึ่งมีนัยทางสถิติไม่ต่างอะไรจากการ “เดาสุ่ม” และสั่งให้ทุกหน่วยงานยกเลิกการจัดซื้อโดยทันที (ดูคลิป)
แม้วันถัดมา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขณะนั้น นำผู้เกี่ยวข้องมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ยืนยันในความเชื่อมั่นต่อ GT200 โดยอ้าง “ประสบการณ์” จากการใช้งานของเจ้าหน้าที่
แต่ภายหลัง พล.อ.อนุพงษ์ ได้ยอมรับในความไร้ประสิทธิภาพของ GT200 และออกปากเตือนกำลังพลที่ใช้ GT200 ด้วยตัวเอง ทำให้เครื่องมือนี้ถูก “ปลดประจำการ” จากกองทัพ ไปในที่สุด และหันมาใช้ “เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์” และ “สุนัขทหาร” แทน
แม้หน่วยงานของรัฐไทยจะยุติการจัดซื้อ GT200 และเครื่องมืออื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2553 แต่คำถามสำคัญก็คือ แล้วใครจะต้องเป็น “ผู้รับผิดชอบ” ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งในเรื่องของงบประมาณที่เสียให้กับเครื่องมือที่ไร้ประสิทธิภาพนี้ ไม่รวมถึงการที่ผู้บริสุทธิ์ต้องตกระกำลำบากกลายเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง เพียงเพราะถูก “ไม้ล้างป่าช้า” ซึ่งมีความแม่นยำไม่ต่างจากเดาสุ่มชี้มาที่ตัว …ใครจะเยียวยาพวกเขาเหล่านั้น
จับตา ป.ป.ช. กับข้ออ้าง “สิ่งลึกลับ” ที่ทำให้ยังเอาผิดใครไม่ได้
ความจริงในโลกตะวันตกได้มีการทดสอบประสิทธิภาพของ GT200 ไปแล้วตั้งแต่ปี 2545 ว่าใช้งานไม่ได้จริง โดยห้องทดลองแห่งชาติแซนเดียของสหรัฐอเมริกา ได้ทดสอบระบบตรวจจับสะสาร MOLE ซึ่งบริษัทโกลบอลฯ ใช้เป็นต้นแบในการผลิต GT200 ว่ามีความแม่นยำไม่ต่างอะไรจากการ “เดาสุ่ม”
แต่ความไร้ประสิทธิภาพของ GT200 จริงๆ ต้นปี 2553 มาเป็นข่าวดังเมื่อสำนักข่าวบีบีซี ตรวจสอบ “เซ็นเซอร์การ์ด” ตรวจจับสะสารของ GT200 แล้วพบว่าเป็นเพียงกระดาษเปล่าๆ 2 แผ่นแปะเข้าหากัน รวมถึงภายในเครื่องไม่มีอุปกรณ์นำไฟฟ้าใดๆ
ขณะที่รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศห้ามส่งออก ADE-651 (เครื่องมือที่มีลักษณะการทำงานคล้าย GT200) ไปใช้ในอิรักและอัฟกานิสถาน เพราะเกรงว่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อกำลังพลของอังกฤษและพันธมิตรที่ปฏิบัติงานอยู่ (“cause harm to UK and other friendly forces”) หลังจากที่ในเดือนธันวาคม 2552 ไม่สามารถตรวจจับวัตถุระเบิดที่ถูกซุกซ่อนไว้ในรถยนต์ จนเกิดเหตุคาร์บอมบ์กลางกรุงแบกแดด ประเทศอังกฤษ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 120 คน นอกจากนี้ ยังได้ส่งคำเตือนไปยังลูกค้าที่ซื้อเครื่องมือเหล่านี้ให้ระมัดระวัง
ในปี 2556 ศาลอาญากลางของอังกฤษและเวลส์ และตัดสินจำคุกนายโบลตัน ผู้ก่อตั้งบริษัทโกลบอลฯ เป็นเวลา 7 ปี และนายแม็คคอร์มิค ผู้ก่อตั้งบริษัทเอทีเอสซีฯ เป็นเวลา 10 ปี ในความผิดฐานฉ้อโกง จากการขายอุปกรณ์ปลอมเหล่านี้ให้กับรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมถึงไทย
ก่อนที่ศาลเดิม จะมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สินของนายแม็คคอร์มิค รวมมูลค่า 7.94 ล้านปอนด์ (ราว 397 ล้านบาท) เพื่อนำมาขายทอดตลาด จ่ายเป็นเงินชดเชยความเสียหายให้กับลูกค้า
สำหรับประเทศไทย มีผู้ยื่นคำร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาตรวจสอบเอาผิดกับผู้จัดซื้อ GT200 รวมถึง Alpha 6 รวม 12 คดี ตั้งแต่ปี 2555 โดยรายชื่อฝ่ายทหารที่ถูกกล่าวหาสูงสุดมีเพียงระดับ “เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก” ไม่มีระดับ “ผู้บัญชาการเหล่าทัพ” หรือ “แม่ทัพภาค” แต่อย่างใด
นอกจากนี้ รายชื่อหน่วยงานที่ถูกกล่าวหาก็มีหลากหลาย ทั้งทหาร ตำรวจ ศุลกากร ไปจนถึงสถาบันนิติวิทยาศาสตร์
ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับคดีนี้ไว้เป็นคดีพิเศษ โดยแบ่งคดีเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือการทุจริตการจัดซื้อ และกลุ่มที่สอง คือเอาผิดกับเอกชนฐานฉ้อโกงหรือลวงขาย ซึ่งคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตการจัดซื้อทั้งหมด ดีเอสไอได้ส่งไปให้กับ ป.ป.ช. ตั้งแต่ปลายปี 2558
สาธารณชนจึงรอคำตอบจาก ป.ป.ช. ว่าคดีนี้จะมีบทสรุปอย่างไร
“มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับวันที่ 24-30 มิถุนายน 2559 ได้ตรวจสอบคำพูดของ “นายวิชัย วิวิตเสวี” กรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนคดีเกี่ยวกับ GT200
เดือนมิถุนายน 2556 นายวิชัยบอกว่า คดีนี้ผู้เกี่ยวข้องมาให้ปากคำแล้วเกินครึ่ง คาดว่าอีก 2 เดือนจะพิจารณาได้ว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาใครได้บ้าง พร้อมระบุว่าจะไม่ทำเรื่องขอเอกสารหรือพยานหลักฐานใดๆ จากอังกฤษอีก เพราะเมื่อศาลตัดสินแล้วก็ถือว่าไม่จำเป็น
2 ปีผ่านไป ในขณะที่คดีจำนำข้าวที่เริ่มจาก ป.ป.ช. เช่นกันจนไปถึงศาลแล้ว “วิ่งแซงหน้าแบบไม่เห็นฝุ่น” (สำนวนที่นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ใช้) ในวันที่ 16 ตุลาคม 2558 นายวิชัยมาให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า การไต่สวนคดี GT ค่อนข้างลำบาก เนื่องจาก “เป็นเรื่องลึกลับ”
และ “การแสวงหาพยานหลักฐานก็มีข้อขัดข้องทางเทคนิค โดยเฉพาะการขอความร่วมมือไปยังบริษัทที่จำหน่ายในอังกฤษ ก็ปฏิเสธจะให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช.” ทั้งๆ ที่นายวิชัยเคยพูดว่าจะไม่ขอข้อมูลใดๆ จากอังกฤษอีก
กระทั่งนายวิชัยต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ไปเมื่อปลายปี 2558 หลังครบวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี
เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่เข้ามา ได้ให้สัมภาษณ์ว่า คดี GT200 ได้เรียกผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลจนเกือบครบแล้ว คาดว่าจะสรุปสำนวนได้ภายในเดือนกันยายน 2559 นี้
บทสรุปคดีนี้ที่ทำให้ประเทศชาติเสีย “ค่าโง่” นับพันล้านบาท จะมีใครต้องรับผิดชอบ แม้ว่าบุคคลสำคัญในรัฐบาลจะเรียกร้องว่า อย่าเรียก “ค่าโง่” ให้เรียกว่า “ค่าซื้อความรู้ราคาแพง”
ย้อนคำพูด คนเคยการันตี GT200 “ใช้งานได้”
เมื่อ GT200 ถูกตรวจสอบและเปิดโปงว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้งานไม่ได้จริง หลายคนๆ ก็ถูกอดีตไล่ล่าว่าเคยพูดถึงประสิทธิภาพของเครื่องมือนี้อย่างไรไว้บ้าง
เริ่มจากคนแรก พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่เคยให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2553 ในช่วงที่กระแสเรียกร้องให้พิสูจน์การทำงานของ GT200 โดยนักวิทยาศาสตร์กำลังรุนแรง
“ตั้งแต่เริ่มใช้เครื่องมือนี้พยายามหานักวิชาการช่วยมาดูว่า ทำไมเครื่องนี้ถึงใช้ได้ผล แต่เสียดายที่อาจารย์เจษฎา (เด่นดวงบริพันธ์) ออกมาพูดแล้วมันเสียชื่อนักวิทยาศาสตร์ เที่ยวไปปรามาสคนอื่น อะไรที่ดำๆ ไม่ได้แปลว่าไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์ อาจารย์ต้องมาจับเครื่อง และต้องใช้ใจที่บริสุทธิ์
“อยากขอเชิญไม่ได้ท้านะคะ อาจารย์เจษฎา ลงไปใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ลงไปกับการทำงานด้วยเครื่องนี้ เมื่อวานนี้ ฝรั่งจากบีบีซีก็ขอไป เราแฟร์ให้เขาดู เขาก็ตกใจ คือหมอไม่รู้ว่าทหารเอาปืนไปไว้ตรงไหน แล้วปรากฏว่าเครื่องมันชี้ปืนถูกต้อง เขาก็ถามเราว่า เรารู้สึกยังไง เราก็บอกว่า มันทำงานได้อย่างนี้ แล้วคุณว่ายังไงละ นี่คือตัวอย่าง” พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าว
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ก็ยังเคยกล่าวในรายการโทรทัศน์ อ้างข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญว่า GT200 ต้องอาศัยกระแสไฟฟ้าในตัวผู้ใช้ หากพักผ่อนน้อยเกินไปหรือไม่มีความพร้อม ก็จะทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
ก่อนจะสั่ง “ระงับการจัดซื้อ” เมื่อกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทดสอบแล้วพบว่า ความแม่นยำของ GT200 ไม่ต่างจากการ “เดาสุ่ม”
ที่น่าสนใจคือท่าทีจากผู้นำเหล่าทัพ โดยเฉพาะจากกองทัพบก (ทบ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดซื้อ GT200 มากที่สุด พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมัยเป็น ผบ.ทบ. ระหว่างเดือนตุลาคม 2550 – เดือนกันยายน 2553 เคยออกมาการันตีว่า GT200 ใช้งานได้ โดยอ้างข้อมูลจาก “ผู้ใต้บังคับบัญชา” ไม่ว่าจะเป็น พล.ท. พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 ขณะนั้น หรือ พล.อ.วิโรจน์ บัวจรูญ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 แต่ก็พร้อมให้พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ถ้าใช้ประโยชน์ได้ ก็จะใช้ต่อไป แต่ถ้าใช้ประโยชน์ไม่ได้ ก็จะไม่ใช้
อย่างไรก็ตาม เมื่อผลการทดสอบโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ออกมาในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2553 ว่า GT200 ไม่งานไม่ได้จริง พล.อ. อนุพงษ์กลับนำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ GT200 โดยเฉพาะทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาแถลงข่าวเพื่อยืนยันว่า จาก “ประสบการณ์” GT200 เคยใช้งานได้ผลถึงกว่า 300 ครั้ง และพร้อมให้ตรวจสอบว่ามีการทุจริตการจัดซื้อหรือไม่
“หากมีการทุจริตต้องโดนอยู่แล้ว แต่หากไม่ควรซื้อ แล้วทำไมถึงซื้อ วันนี้เอาคำตอบมาให้แล้ว ว่าจากประสบการณ์การทำงานเป็น 300-400 ครั้ง จะไม่เอาไปคิดไม่ได้ เพราะนั่นคือที่มาของความต้องการ และหากกองทัพบกไม่ซื้อให้ใน 3 ปีที่ผ่านมา คงต้องบริภาคตนเป็นเวลา 3 ปีแน่นอน …ในชั้นต้นรัฐบาลยังไม่ได้สั่งห้ามไม่ให้กองทัพบกใช้ และทบ.ยังไม่มีเครื่องทดแทน จึงอนุญาตให้ใช้ได้ต่อไปก่อน” พล.อ.อนุพงษ์กล่าวในขณะนั้น
แม้ในเวลาต่อมา พล.อ. อนุพงษ์ จะเปลี่ยนท่าที และออกปากเตือนให้กำลังพลระวังตัวในการใช้ GT200 ทำให้เครื่องมือนี้ถูก “ปลดประจำการ” ไปในท้ายที่สุด
ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สมัยเป็น ผบ.ทบ. (ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 – เดือนกันยายน 2557) เคยให้สัมภาษณ์หลังจากผู้ผลิตและจำหน่าย GT200 ที่อังกฤษถูกดำเนินคดีฐานฉ้อโกงว่า “อย่าเอาเรื่องเก่ากับเรื่องใหม่มาปนกัน สมัยนั้นมันเป็นเครื่องมือเดียวที่ใช้งานได้อยู่ ผมยังยืนยันว่ามันใช้งานได้อยู่ ทุกเหล่าทัพก็ใช้งานกันอยู่ แต่เมื่อถูกทดสอบว่าใช้ไม่ได้ ก็ไปหาอย่างอื่นมาให้ผมใช้ วันนี้ไม่มีอะไรมาให้ใช้เลย กำลังพลไม่มีความปลอดภัย แต่สมัยก่อนที่เราใช้เครื่องมือนี้เพราะมันได้ผล ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใด อาจจะถูกที่ความเชื่อมั่นก็ได้ ทำให้สามารถตรวจพบระเบิดหรือวัตถุต้องสงสัย แต่เมื่อเขาพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าใช้ไม่ได้ ก็จบ เราไม่ได้มีเจตนาจะซื้อของที่ใช้ไม่ได้มา ถ้าใช้ไม่ได้คุณจะซื้อไหม” (ดูคลิป)
เหล่านี้คือคำพูดบางส่วนของคนที่เคยยืนยันว่า GT200 ใช้งานได้จริง แม้หลายคนจะเปลี่ยนใจในเวลาต่อมา