ThaiPublica > เกาะกระแส > “ปนัดดา” เลี่ยงตอบ ทบ. ขอบริจาคเงินสร้าง “ราชภักดิ์” ถูกระเบียบสำนักนายกฯ หรือไม่ – ป.ป.ช. ยังไม่รับเป็นคดี ชี้ยังไม่สงสัยว่าทุจริต

“ปนัดดา” เลี่ยงตอบ ทบ. ขอบริจาคเงินสร้าง “ราชภักดิ์” ถูกระเบียบสำนักนายกฯ หรือไม่ – ป.ป.ช. ยังไม่รับเป็นคดี ชี้ยังไม่สงสัยว่าทุจริต

1 ธันวาคม 2015


581201ปนัดดา
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (กคร.) ที่มาภาพ: http://news.voicetv.co.th/thailand/164916.html

จากกรณีที่มีการเปิดเผยข้อมูลว่า การที่หน่วยงานของรัฐจะเรี่ยไร (ซึ่งรวมถึงการขอรับเงินบริจาค) เพื่อนำไปใช้ในกิจการใดๆ จะต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไร่ของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544 โดยจะต้องขออนุมัติจาก “คณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (กคร.)” ที่ปัจจุบันมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยในคำขอจะต้องบอกวัตถุประสงค์ วิธีการ ระยะเวลา และวงเงินที่จะทำการเรี่ยให้ กคร. ได้พิจารณา

ทั้งนี้ ตามระเบียบสำนักนายกฯ ดังกล่าว ข้อ 20 (4) (5) กำหนดว่า เมื่อหน่วยงานของรัฐดังกล่าวเรี่ยไรเสร็จสิ้น จะต้องจัดทำบัญชีให้เสร็จภายใน 90 วัน (หรือหากเป็นเรี่ยไรต่อเนื่องให้ทำทุก 3 เดือน) พร้อมเปิดเผยให้บุคคลทั่วไปได้ทราบภายใน 30 วัน ทั้งนี้ จะต้องส่งบัญชีดังกล่าวให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบด้วย

นำไปสู่ข้อสงสัยว่า การเรี่ยไรหรือขอรับเงินบริจาคของกองทัพบก (ทบ.) เพื่อใช้ในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่บริเวณโรงเรียนนายสิบทหารบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทาง ทบ. ได้ขออนุมัติจาก กคร. อย่างถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกฯ ดังกล่าวหรือไม่ และกำหนดวงเงินไว้จำนวนเท่าใด

ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อสอบถามกรณีดังกล่าวจาก ม.ล.ปนัดดา โดยขอสัมภาษณ์ครั้งแรกหลังงานแถลงข่าวหนึ่งในช่วงเย็นของวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 แต่ ม.ล.ปนัดดากล่าวปฏิเสธว่าไม่ทราบเรื่อง และตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการชุดดังกล่าว

วันถัดมา ในวันที่ 1 ธันวาคม 2558 ผู้สื่อข่าวจึงได้นำเอกสารที่ ม.ล.ปนัดดา ลงนามในฐานประธาน กคร. ไปให้ดูภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมสอบถามว่า ทบ. ได้ขออนุมัติเรี่ยไรหรือขอรับบริจาคเงินไปใช้ในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกฯ ฉบับนี้หรือไม่ และขอเป็นวงเงินเท่าใด แต่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า “เรื่องนี้ผมยังไม่ทราบเรื่อง ขอเวลาศึกษาก่อน แล้วถึงจะมาตอบคำถามได้”

เมื่อถามว่าหากยึดตามระเบียบสำนักนายกฯ นี้ ถ้าหน่วยงานของรัฐใดจะขอเรี่ยไรหรือรับเงินบริจาคจะต้องขออนุมัติจาก กคร. ก่อนใช่หรือไม่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า ตามระเบียบและหลักธรรมาภิบาลควรจะเป็นเช่นนั้น

เมื่อถามว่า แสดงว่าการที่ ทบ. จะเรี่ยไรหรือขอรับเงินบริจาคก็ต้องมาขอให้ กคร. อนุมัติ ถูกต้องหรือไม่ ม.ล.ปนัดดาปฏิเสธจะตอบคำถามเช่นเดิม บอกเพียงว่า “ขอเวลาศึกษาก่อน” ก่อนขึ้นรถยนต์เดินทางออกไป

“อุดมเดช” ไม่ลาออก รมช.กลาโหม วอนรอผลสอบก่อน

ด้าน พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกระแสกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบเรื่องความไม่โปร่งใสในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ว่า “ผมก็กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามปกติ ทุกคนต่างก็มีภาระหน้าที่” พร้อมระบุว่า อยากให้รอผลการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงกลาโหม (กห.) ที่มี พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัด กห. เป็นประธาน แต่ส่วนตัวยังยืนยันว่าดำเนินการทุกอย่างด้วยความโปร่งใส เพราะอุทยานราชภักดิ์เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายที่ตนทำก่อนจะเกษียณในฐานะ ผบ.ทบ.

“ผมยังเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ เพราะจุดประสงค์ของโครงการก็คือให้ประชาชนได้มีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ให้เป็นสมบัติของชาติ เราไม่คิดหวังจะเอาประโยชน์อะไรจากสิ่งเหล่านี้” พล.อ. อุดมเดช กล่าว

พล.อ. อุดมเดช ยังกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจมีบางคนนั่งยิ้มเพราะคิดว่าสามารถยิงนกได้หลายตัว แต่อยากให้ลองคิดดูว่าสิ่งที่เขาพยายามทำอยู่เป็นการกลับขาวให้เป็นดำ หากทำสำเร็จประเทศชาติก็จะอันตราย แต่ตนไม่ขอบอกว่าคนเหล่านั้นเป็นใคร

581201ราชภักดิ์
ที่มาภาพ: http://thainews.prd.go.th/website_th/news/print_news/TNSOC5809010010019

รอง ปธ.มูลนิธิราชภักดิ์ ไม่รู้ยอดเงิน “บริจาค-ก่อสร้าง” โยนถามกรมกิจการพลเรือนทหารบก ชี้รู้ดีที่สุด

พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะอดีตรองประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ กล่าวว่า แม้ตนจะเป็นรองประธานคณะกรรมการอำนวยการฯ แต่ไม่รู้รายละเอียดเรื่องยอดเงินบริจาคและงบที่ใช้ในการจัดสร้างทั้งหมด เพราะในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ แต่ละครั้ง จะมีการรายงานข้อมูลมาเป็นส่วนๆ และมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ไปดูแลงานแต่ละส่วนอยู่แล้ว ทำให้ตนไม่ทราบตัวเลขรวมของยอดเงินบริจาคและงบที่ใช้ในการจัดสร้างทั้งหมด คนที่รู้ตัวเลขนี้ดีที่สุดน่าจะเป็นเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก (กร.ทบ.) ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้าง

“การประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ครั้งสุดท้าย ที่มีการสรุปตัวเลข ผมก็ไม่ได้เข้าประชุมด้วย เพราะเกษียณอายุราชการไปแล้ว หากต้องการรู้ตัวเลขทั้งหมดควรจะไปถามจากทาง กร.ทบ. น่าจะดีกว่า” พล.อ. สุรเชษฐ์ กล่าว

สำหรับตัวเลขยอดเงินบริจาคที่ยังเหลืออยู่ในมูลนิธิราชภักดิ์ พล.อ. สุรเชษฐ์ ในฐานะรองประธานมูลนิธิฯ กล่าวว่า ตนก็ไม่รู้ยอดเงินบริจาคเช่นกัน เพราะมูลนิธิฯ เพิ่งเคยประชุมไปครั้งเดียวช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2558 ที่ก็เป็นการคุยเรื่องทั่วไปธรรมดา ยังไม่คุยเรื่องตัวเงิน หลังจากนั้นมูลนิธิฯ ก็ไม่เคยมีการประชุมอีกเลย

พล.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ทุนที่ใช้ในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์มาจากหลายแหล่ง มีทั้งเงินบริจาค งบกลาง บางครั้งก็มาเป็นสิ่งของ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเงินบริจาค ซึ่งการใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้างจะทำผ่านหน่วยงานภายในกองทัพบก (ทบ.) โดยเฉพาะ กร.ทบ. และกรมยุทธโยธาทหารบก (ยย.ทบ.) เป็นหลัก ทั้งนี้ ส่วนงบกลางกว่า 63 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ ทบ. ขออนุมัติเพื่อดำเนินการเอง ไม่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างฯ แต่อย่างใด

พล.อ. สุรเชษฐ์ ยังกล่าวว่า ตนพร้อมให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ของกระทรวงกลาโหม ที่มี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เรียกมาให้เข้าไปชี้แจง ถ้าเมื่อใดที่เรียกมาตนก็พร้อมจะเข้าไปอธิบายที่มาที่ไปของโครงการนี้ให้คณะกรรมการฯ ได้รับทราบ หลังจากเคยไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมการฯ ของ ทบ. ที่มี พล.อ. วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล ที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. เป็นประธานมาแล้วก่อนหน้านี้

เมื่อถามว่าได้คุยกับ พล.อ. อุดมเดช เรื่องกระแสกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งหรือไม่ พล.อ. สุรเชษฐ์ กล่าวว่า “ยังไม่ได้พูดคุยกันเลย”

อดีตปลัดบัญชี ทบ. แจงใช้เงิน “กองทุนสวัสดิการฯ” สร้างราชภักดิ์ได้

พล.อ. ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) กล่าวว่า คตร. คงยังไม่ต้องเข้าไปตรวจสอบการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ เนื่องจากขณะนี้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ กห. กำลังดำเนินการอยู่

เมื่อถามว่า ในฐานะอดีตปลัดบัญชีกองทัพบก (พล.อ. ชาตอุดม เป็นปลัดบัญชีกองทัพบก ระหว่างปี 2554-2556) การใช้จ่ายเงินจากกองทุนสวัสดิการกองทัพบกในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสามารถทำได้หรือไม่ พล.อ. ชาตอุดม กล่าวว่า การใช้จ่ายเงินจากกองทุนสวัสดิการกองทัพบกจะมีระเบียบรองรับอยู่ว่าใช้จ่ายในวัตถุประสงค์อะไรได้บ้าง ซึ่งเท่าที่ตนทราบ การนำเงินมาใช้จัดสร้างอุทยานราชภักดิ์เป็นไปตามระเบียบดังกล่าว

เมื่อถามว่า สมัยที่เป็นปลัดบัญชีกองทัพบก เคยมีการนำเงินจากกองทุนสวัสดิการฯ ไปใช้ก่อสร้างในลักษณะนี้หรือไม่ พล.อ. ชาตอุดม กล่าวว่า ไม่มีครับ

ป.ป.ช. ยังไม่รับไว้เป็นคดี ชี้ยังไม่มี “เหตุอันสงสัย” ว่าทุจริต

ด้านนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงมีมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีการพิจารณากรณีอุทยานราชภักดิ์ด้วย ว่า หลังจากสั่งให้สำนักการข่าวของ ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง จนได้ข้อมูลภาพรวมทั้งหมด ที่ประชุมเห็นว่ายังไม่พบข้อมูลที่ชัดเจนว่าเข้าข่ายการทุจริต จึงยังไม่รับเรื่องนี้ไว้เป็นคดี แต่เนื่องจากขณะนี้มี 3 หน่วยงานอยู่ระหว่างตรวจสอบความโปร่งใสในการจัดสร้างอุทยานดังกล่าว ทั้งกระทรวงกลาโหม กองปราบปราม และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่า หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดต้องส่งเรื่องมาให้ ป.ป.ช. ดำเนินการภายใน 30 วัน ดังนั้น ป.ป.ช. จะติดตามการทำงานของทั้ง 3 หน่วยงาน ว่ามีเหตุอันควรสงสัยให้ ป.ป.ช. รับเรื่องมาดำเนินการหรือไม่

“การรับเรื่องสำคัญไว้เป็นคดีโดยไม่ต้องมีผู้ร้องเรียนในอดีตของ ป.ป.ช. จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงและเหตุอันควรสงสัย ถึงจะเข้าไปดำเนินการได้ แต่กรณีอุทยานราชภักดิ์ ขณะนี้ยังไม่มีเหตุอันควรสงสัย”

เลขาฯ ป.ป.ช. ยังกล่าวว่า หากหลังจากนี้ มีผู้มาร้องเรียนก็ต้องระบุให้ชัดว่าร้องเรียนใคร เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ และมีพฤติการณ์การกระทำผิดอย่างไร มีพยานหลักฐานหรือไม่ ถึงจะเสนอให้ที่ประชุม ป.ป.ช. พิจารณารับไว้เป็นคดีเพื่อเริ่มต้นการแสวงหาข้อเท็จจริงได้

เมื่อถามว่า พล.อ. อุดมเดช ยอมรับว่ามีการหักหัวคิวโรงหล่อพระบรมรูปอดีตพระมหากษัตริย์ไทยบางพระองค์จริง นายสรรเสริญ กล่าวว่า ต้องดูก่อนว่าใครเป็นคนหักหัวคิว มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวข้องหรือไม่ เช่นเดียวกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต้นปาล์มมีราคาแพงเกินจริง ก็ต้องดูว่าเป็นเงินที่มาจากการบริจาคหรือเป็นงบประมาณของแผ่นดิน