ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เส้นทางสู่คำพิพากษาจำคุก “เบญจา หลุยเจริญ” อดีต รมช.คลัง 3 ปีและผู้เกี่ยวข้อง กรณีซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ ไม่เสียภาษี

เส้นทางสู่คำพิพากษาจำคุก “เบญจา หลุยเจริญ” อดีต รมช.คลัง 3 ปีและผู้เกี่ยวข้อง กรณีซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ ไม่เสียภาษี

30 กรกฎาคม 2016


นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมศุลกากร
นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรมช.คลัง

ต่อกรณีศาลอาญามีคำพิพากษาวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ตัดสินโทษจำคุก 3 ปี อดีตผู้บริหารระดับสูงกรมสรรพากร ประกอบด้วย นางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นางสาวจำรัส แหยมสร้อยทอง อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย, นางสาวโมรีรัตน์ บุญญาศิริ และนายกริช วิปุลานุสาสน์ รวมทั้งตัดสินจำคุก 2 ปี นางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ โดยไม่รอลงอาญา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีมีคำวินิจฉัยนายพานทองแท้และนางสาวพินทองทา ชินวัตร บุตรและบุตรีของนายทักษิณ ชินวัตร ซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ในราคาพาร์ 1 บาท จากบริษัท Ample Rich Investment Limited ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่ 49.25 บาท ไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร คดีซุกหุ้นชินฯ 1 กลับมาเป็นข่าวอีกครั้ง หลังจากที่เงียบหายมานานกว่า 4 ปี

วิบากกรรมของข้าราชการกลุ่มนี้มีจุดเริ่มต้นจากการที่นางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ทำหนังสือมาถามกรมสรรพากรเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ว่า Ample Rich Investment Limited (บริษัทแอมเพิลริช) จดทะเบียนบริษัทที่หมู่เกาะ British Virgins Islands ซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือชินคอร์ปฯ​ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 จำนวน 32.92 ล้านหุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท และในระหว่างที่บริษัทแอมเพิลริชถือหุ้น บริษัทชินคอร์ปฯ ได้ทำการลดราคาพาร์เหลือ 1 บาท ทำให้จำนวนหุ้นชินคอร์ปฯ ที่บริษัทแอมเพิลริชถือครองเพิ่มเป็น 329.2 ล้านหุ้น ต่อมา บริษัทแอมเพิลริช ตกลงขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ที่ถือครองทั้งหมดให้นายพานทองแท้ในราคาพาร์ 1 บาท โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ นางสาวปราณีจึงถามกรมสรรพากรว่า กรณีนายพานทองแท้ซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ จากบริษัทแอมเพิลริชต้องเสียภาษีหรือไม่?

วันที่ 21 กันยายน 2548 นางเบญจา หลุยเจริญ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี (ซี 10) ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ได้ลงนามในหนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0706/7896 ตอบข้อหารือนางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ว่า “กรณีนายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ซื้อหุ้นชินคอร์ปในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เป็นการซื้อทรัพย์สินในราคาถูก ซึ่งเป็นเรื่องของการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย อันเป็นเรื่องปกติทั่วๆ ไปของการซื้อขายตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนต่างของราคาซื้อกับราคาตลาดไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนกรณีบริษัทแอมเพิลริชขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้นายพานทองแท้และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ก็ไม่เข้าข่ายพนักงาน หรือกรรมการได้รับแจกหุ้น หรือได้ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 เพราะหุ้นชินคอร์ปฯ ที่บริษัทแอมเพิลริชซื้อไว้ถือเป็นทรัพย์สินหรือสินค้าของบริษัท ไม่ใช่หุ้นที่บริษัทแอมเพิลริชเป็นผู้ออกเอง”

ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 นายพานทองแท้และนางสาวพินทองทา ชินวัตร นำหุ้นชินคอร์ปฯ ไปขายให้กับกองทุนเทมาเส็กผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากที่คณะกรรมการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยึดอำนาจการปกครองรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สำเร็จในเดือนกันยายน 2549 จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาตรวจสอบการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ

วันที่ 5 มีนาคม 2551 คตส. สรุปผลการสอบคดีอดีตผู้บริหารกรมสรรพากร ตอบข้อหารือนางสาวปราณีว่า บริษัทแอมเพิลริชขายหุ้นให้นายพานทองแท้และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ในราคาพาร์ 1 บาท ไม่ต้องเสียภาษี โดย คตส. มีความเห็นว่า “การซื้อขายหุ้นมีลักษณะแตกต่างไปจากการซื้อขายทรัพย์สินอื่นโดยทั่วไป เพราะการซื้อขายหุ้นเป็นหลักทรัพย์ ซึ่งจะต้องมีวิธีการตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ ไม่ใช่การซื้อขายโดยทั่วไปตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การกล่าวอ้างเหตุผลในการตอบข้อหารือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว อันเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยเหตุและผล หลักเกณฑ์ ตลอดจนธรรมเนียมปฏิบัติ และมีการอาศัยข้อหารือดังกล่าวไปใช้ในทางที่มิชอบ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการกรมสรรพากร”

คตส. จึงชี้มูลความผิดกลุ่มข้าราชการกรมสรรพากรนี้มีความผิดฐานฐานละเว้นและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154, 157, 83 โดยวินิจฉัยให้ผู้เสียภาษีไม่ต้องเสียภาษี หรือเสียภาษีน้อยไปกว่าที่ควรต้องเสีย จึงส่งสำนวนคดีให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญากับข้าราชการสรรพากรกลุ่มนี้และนางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ซึ่งต่อมาอัยการสูงสุดมีความเห็นไม่ส่งฟ้อง

วันที่ 3 ธันวาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงเป็นโจทย์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐอีกครั้ง โดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด กล่าวหานางเบญจา หลุยเจริญ เป็นจำเลยที่ 1 นางสาวจำรัส แหยมสร้อยทอง จำเลยที่ 2 นางสาวโมรีรัตน์ บุญญาศิริ จำเลยที่ 3 นายกริช วิปุลานุสาสน์ จำเลยที่ 4 และนางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ จำเลยที่ 5 ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลอาญานัดไต่สวนพยานครั้งแรก เห็นว่ามีมูลความผิดทางอาญา จึงมีคำสั่งให้ประทับคำฟ้องคดี

วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ศาลอาญาพิพากษาคดีดำหมายเลข อท 43/2558 จำเลยที่ 1-4 มีความผิดข้อหาร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมีความผิดตั้งแต่มีการตอบข้อหารือจำเลยที่ 5 วินิจฉัยว่านายพานทองแท้และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ไม่ให้ต้องเสียภาษีอากร กรณีซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ เมื่อปี 2549 คนละ 164 ล้านหุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาหุ้นในตลาด ณ ขณะนั้นอยู่ที่ 49.25 บาท ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริง นายพานทองแท้และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ถือเป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องนำส่วนต่างของราคาหุ้น คนละ 7,941.95 ล้านบาท มาเสียภาษีกับกรมสรรพากร การกระทำดังกล่าวทำให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการเสียหาย

จึงตัดสินให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 จึงสั่งให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอการลงอาญาเช่นกัน ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 4 ได้นำหนังสือรับรองการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ต้องหาคดีของกรมสรรพากรวงเงินไม่เกิน 420,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5 ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 300,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างยื่นคำร้องขออุทธรณ์ต่อสู้คดีในชั้นศาลต่อไป