เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อท.43/2558 ในคดีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง(สมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร), นางสาวจำรัส แหยมสร้อยทอง, นางสาวโมรีรัตน์ บุญญาศิริ, นายกริช วิปุลานุสาสน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย และนางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ เป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ มีความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 83 กรณีร่วมกันออกคำวินิจฉัยให้นายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา ชินวัตร บุตรและบุตรีของนายทักษิณ ชินวัตร ไม่ต้องเสียภาษีจากการซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (บริษัท ชินอคร์ปฯ) ในราคาพาร์ 1 บาท จากบริษัท Ample Rich Investment Limited ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่ 49.25 บาท โดยไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร
ล่าสุด ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตัดสินยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยสั่งจำคุกนางเบญจาและพวกคนละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วน น.ส.ปราณี มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน สั่งจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญาเช่นกัน ตกช่วงเย็น ญาติของนางเบญจาได้นำหลักทรัพย์ประกอบการยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาลอาญา ระหว่างยื่นคำร้องขอฎีกา ปรากฏว่าศาลฎีกาไม่มีคำสั่งใดๆ ออกมา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงควบคุมตัวจำเลยทั้งหมดไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงกลาง
มหากาพย์คดีภาษีซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ นี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 นางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยานายทักษิณ ชินวัตร ทำหนังสือมาสอบถามกรมสรรพากรว่า
“กรณี Ample Rich Investment Limited (บริษัทแอมเพิลริช) เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ที่หมู่เกาะ British Virgins Islands ซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปฯ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 จำนวน 32.92 ล้านหุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท จากนั้นในระหว่างที่บริษัทแอมเพิลริชถือหุ้น บริษัทชินคอร์ปฯ ได้ทำการลดราคาพาร์เหลือ 1 บาท ทำให้จำนวนหุ้นชินคอร์ปฯ ที่บริษัทแอมเพิลริช ถือครองอยู่เพิ่มเป็น 329.2 ล้านหุ้น และต่อมา บริษัทแอมเพิลริช ตกลงขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปฯ ที่ถือครองทั้งหมดให้นายพานทองแท้ในราคาพาร์ 1 บาท โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ”
นางสาวปราณีจึงสอบถามกรมสรรพากรว่า กรณีนายพานทองแท้ซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ จากบริษัทแอมเพิลริชต้องเสียภาษีหรือไม่?
ปรากฏว่า นางเบญจา หลุยเจริญ ขณะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี (ซี 10) ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ได้ลงนามในหนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0706/7896 ลงวันที่ 21 กันยายน 2548 ตามความเห็นของสำนักกฎหมาย กรมสรรพากร ได้ตอบข้อหารือนางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ว่า
“กรณีนายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา ชินวัตร (โอ๊คและเอม) ซื้อหุ้นชินคอร์ปในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เป็นการซื้อทรัพย์สินในราคาถูก ซึ่งเป็นเรื่องของการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย อันเป็นเรื่องปกติทั่วๆ ไปของการซื้อขายตามมาตรา 453 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนต่างของราคาซื้อกับราคาตลาดไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนกรณีบริษัทแอมเพิลริชขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้นายพานทองแท้และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ซึ่งเป็นกรรมการบริษัท ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ก็ไม่เข้าข่ายพนักงาน หรือ กรรมการ ได้รับแจกหุ้น หรือ ได้ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 เพราะหุ้นชินคอร์ปฯ ที่บริษัทแอมเพิลริชซื้อไว้ ถือเป็นทรัพย์สินหรือสินค้าของบริษัท ไม่ใช่หุ้นที่บริษัทแอมเพิลริชเป็นผู้ออกเอง”
วันที่ 23 มกราคม 2549 นายพานทองแท้ และ นางสาวพินทองทา ชินวัตร จึงนำหุ้นชินคอร์ปฯ ขายให้กับกองทุนเทมาเส็กผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผลให้กระบวนการซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ตั้งแต่บริษัทแอมเพิลริชฯ ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ราคา 1 บาท เพื่อนำไปขายต่อให้เทมาเส็กในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ทุกทอด
แต่หลังจากคณะกรรมการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยึดอำนาจการปกครองรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร สำเร็จในเดือนกันยายน 2549 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตรวจสอบการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ โดย คตส. ได้สรุปผลการสอบสวนเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2551 ชี้มูลความผิดกลุ่มข้าราชการกรมสรรพากรนี้มีความผิดฐานฐานละเว้นและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 154, 157, 83 โดยวินิจฉัยให้ผู้เสียภาษีไม่ต้องเสียภาษี หรือเสียภาษีน้อยไปกว่าที่ควรต้องเสีย จึงส่งสำนวนคดีให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญากับข้าราชการสรรพากรกลุ่มนี้และนางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ซึ่งต่อมาอัยการสูงสุดมีความเห็นไม่ส่งฟ้อง
วันที่ 3 ธันวาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเองโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด กล่าวหานางเบญจา หลุยเจริญ กับพวก รวม 5 คน เป็นจำเลย ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ วินิจฉัยว่านายพานทองแท้และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ไม่ต้องเสียภาษีอากร กรณีซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ เมื่อปี 2549 คนละ 164 ล้านหุ้น ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาหุ้นในตลาด ณ ขณะนั้นอยู่ที่ 49.25 บาท ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริง นายพานทองแท้และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ถือเป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่ต้องนำส่วนต่างของราคาหุ้นคนละ 7,941.95 ล้านบาท ซึ่งการกระทำดังกล่าว ทำให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการเสียหาย
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลอาญานัดไต่สวนพยานครั้งแรก เห็นว่ามีมูลความผิดทางอาญา จึงมีคำสั่งให้ประทับคำฟ้องคดี
วันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ศาลอาญาพิพากษา คดีดำหมายเลข อท 43/2558 โดยตัดสินจำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 จึงสั่งให้จำคุก 2 ปี โดยไม่รอการลงอาญาเช่นกัน ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 4 ได้นำหนังสือรับรองการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ต้องหาคดีของกรมสรรพากรวงเงินไม่เกิน 420,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5 ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด 300,000 บาท เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เนื่องจากคำอุทธรณ์ของจำเลยทั้ง 5 ราย ทุกประเด็นฟังไม่ขึ้น ศาลจึงสั่งจำคุกนางเบญจาและพวกคนละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนนางสาวปราณี ศาลสั่งจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
อนึ่ง หลังจากถูกควบคุมตัวไว้หนึ่งคืน เว็บไซต์มติชนออนไลน์รายงานว่า ศาลฎีกาได้มีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวนางเบญจาเป็นการชั่วคราวแล้ว
แก้ไขล่าสุด วันที่ 21 ตุลาคม 2560