ThaiPublica > เกาะกระแส > คดีภาษีหุ้น “ชินคอร์ป” 10 ปี สรรพากรไม่เคยออกหนังสือเรียก”ทักษิณ” ไต่สวน – 16,000 ล้านขาดอายุความ ใครรับผิด

คดีภาษีหุ้น “ชินคอร์ป” 10 ปี สรรพากรไม่เคยออกหนังสือเรียก”ทักษิณ” ไต่สวน – 16,000 ล้านขาดอายุความ ใครรับผิด

10 มีนาคม 2017


นายประภาส คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรรมการวินิจฉัยภาษีอากร

ข่าวคดีซื้อ-ขายหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ปฯ)กลับมาเป็นข่าวกันอีกครั้ง หลังจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือแจ้งเตือนกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีเงินได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้เรียบร้อยก่อนคดีจะขาดอายุความในวันที่ 31 มีนาคม 2560 กรมสรรพากรจึงรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทั้งหมดส่งให้ที่ประชุมคณะกรรรมการวินิจฉัยภาษีอากรของกระทรวงการคลังที่มีนายประภาส คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน พิจารณาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 โดยขอให้วินิจฉัยกรณีกรมสรรพากรไม่ได้ออกจดหมายเรียกผู้เสียภาษีมาไต่สวนภายใน 5 ปี ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรมสรรพากรจะทำเรื่องเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ใช้อำนาจขยายเวลาออกจดหมายเรียกผู้เสียภาษีมาไต่สวน ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรค 2 ได้หรือไม่

ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร นายประภาสให้สัมภาษณ์ว่า “กรมสรรพากรไม่สามารถขยายเวลาในการออกจดหมายเรียกนายทักษิณมาไต่สวนเพื่อประเมินภาษีได้ เนื่องจากประมวลรัษฎากร มาตรา 19 ระบุไว้ชัดเจนว่า อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจออกจดหมายเรียกผู้เสียภาษีมาไต่สวนได้ภายใน 5 ปี ส่วนข้อหารือที่กรมสรรพากรเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขยายระยะเวลาในการออกจดหมายเรียก ตามมาตรา 3 อัฏฐ วรรค 2 นั้น ตามเจตนารมณ์ของมาตรานี้จะนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อเป็นการให้คุณแก่ผู้เสียภาษีเท่านั้น แต่ไม่สามารถให้โทษแก่ผู้เสียภาษีได้

นายประภาสกล่าวต่อว่า กรณีผู้เสียภาษีมายื่นแบบแสดงรายการเงินได้ต่อกรมสรรพากร แต่ยื่นรายการเงินได้ไว้ไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่สรรพากรต้องออกจดหมายเรียกผู้เสียภาษีมาไต่สวนภายใน 5 ปี จึงมีอำนาจในการประเมินภาษีได้ 10 ปี แต่กรณีนี้เจ้าหน้าที่สรรพากรไม่ได้ออกจดหมายเรียกผู้เสียภาษีมาไต่สวน ตามมาตรา 19 ถือว่าเจ้าหน้าที่สรรพากรมีความผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ประเด็นต้องพิจารณาต่อไปว่า หากเจ้าหน้าที่สรรพากรรู้อยู่แล้วว่าต้องออกหมายเรียก แต่ไม่ดำเนินการ ตรงนี้ก็อาจมีความผิดฐานะละเว้นปฏิบัติหน้าที่ได้


สำหรับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาวของนายทักษิณ ชินวัตร นำหุ้นชินคอร์ปฯ ที่ซื้อมาจากบริษัทแอมเพิลริชฯจำนวน 329.2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท จากนั้นนำมาขายต่อให้กองทุนเทมาเสกในราคาหุ้นละ 49.25 บาท เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่วนต่างกำไรจากการซื้อ-ขายหุ้นครั้งนั้นได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศกฎกระทรวงฉบับที่ 126 ขณะที่นักกฏหมายกรมสรรพากรมีความเห็นว่า กรณีนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ มาจากบริษัทแอมเพิลริชฯ ในราคาหุ้นละ 1 บาท (นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ) ถือเป็นเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2549 และต้องมีมายื่นแบบเสียภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม 2550 ปรากฏว่านายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ไม่นำเงินได้ส่วนนี้มายื่นแบบเสียภาษี นายศานิต ร่างน้อย อดีตอธิบดีกรมสรรพากรขณะนั้นได้ทำการประเมินภาษีพร้อมเบี้ยปรับนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา รวมเป็นเงิน 11,300 ล้านบาทเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2550 แต่นายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทาไม่เห็นด้วย จึงยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรมสรรพากร ซึ่งคณะกรรมการฯ มีความเห็นให้บุคลลทั้งสองชำระค่าภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มรายเดือนตามที่เจ้าหน้าที่ประเมิน นายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทาจึงให้ทนายความยื่นคำฟ้องต่อศาลภาษีอากร ขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินภาษีและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ฯ พร้อมขอลดเบี้ยปรับด้วย

ต่อมานายวินัย วิทวัสการเวช เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรแทนนายศานิตที่เกษียณอายุราชการ กรมสรรพากรได้ยึดอายัดทรัพย์สินของนายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทาประมาณ 11,000 ล้านบาท เท่ากับค่าภาษีที่ค้างชำระค่าภาษีต่อกรมสรรพากร

วันที่ 29 ธันวาคม 2553 ศาลภาษีอากรมีคำพิพากษายืนตามศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวคือ นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทาไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้นชินคอร์ปฯ เจ้าของหุ้นตัวจริงคือนายทักษิณและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร (ชื่อเดิม) ศาลภาษีอากรจึงตัดสินให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และให้กรมสรรพากรจ่ายค่าทนายความให้กับนายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา 150,000 บาท

หลังจากศาลฎีกาฯ และศาลภาษีอากรมีคำพิพากษาว่า นายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทาไม่ใช้เจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้นชินคอร์ปฯ และมีการคืนทรัพย์สินที่ถูกอายัดไปแล้วก็ตาม กรมสรรพากรก็ได้ทำเรื่องไปขอความเห็นจากคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่มีนางเสาวนีย์ กมลบุตร รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการฯ อีก

ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสรุปผลการพิจารณาของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร กระทรวงการคลัง มีมติเป็นเอกฉันท์ ยืนตามคำพิพากษาของศาลทั้ง 2 ศาล ส่วนเรื่องการประเมินภาษี พ.ต.ท. ทักษิณ (ยศในขณะนั้น) คณะกรรมการฯ มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของกรมสรรพากรเป็นผู้วินิจฉัย เมื่อสรรพากรพิจารณาแล้วว่าไม่ต้องเสียภาษี ตรงนี้ก็ถือเป็นที่สิ้นสุดด้วยเช่นกัน

สรุปตลอด 10 ปีที่ผ่าน กรมสรรพากรไม่เคยออกจดหมายเรียกนายทักษิณ ชินวัตร โดยในช่วง 5 ปีแรก มุ่งเน้นการจัดเก็บภาษีที่นายพานทองแท้และพินทองทา ถึงแม้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลภาษีอากรมีคำพิพากษาเมื่อปี 2553 ว่าเจ้าของหุ้นตัวจริงคือนายทักษิณ แต่กรมสรรพากรก็ไม่ดำเนินการออกจดหมายเรียกนายทักษิณมาไต่สวน ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร ครบกำหนด 5 ปี กรมสรรพากรจึงไม่มีอำนาจประเมินภาษี จนกระทั่งคดีใกล้ขาดอายุความ จึงทำเรื่องมาขอความเห็นคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรของกระทรวงการคลัง เพื่อขยายเวลาการออกจดหมายเรียกตามมาตรา 3 อัฏฐ ปรากฏว่า คณะกรรมการฯ ลงความเห็นร่วมกันว่าไม่สามารถขยายเวลาได้ จึงมีคำถามว่า เงินภาษีของหลวง ตกน้ำ ไม่ไหล ตกไฟ ไม่ไหม้ แล้วเงิน 16,000 ล้านบาท จะไปเก็บจากใคร