ThaiPublica > คนในข่าว > ปิดฉาก 16 ปี คดีบ้านเอื้ออาทร จำคุก “เสี่ยไก่-เสี่ยเปี๋ยง” 50 ปี

ปิดฉาก 16 ปี คดีบ้านเอื้ออาทร จำคุก “เสี่ยไก่-เสี่ยเปี๋ยง” 50 ปี

14 มีนาคม 2022


นายวัฒนา เมืองสุข หรือ “เสี่ยไก่” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

วิบากกรรม “วัฒนา เมืองสุข” อดีตรัฐมนตรี พม.วัย 65 ปี สุดท้ายถูกศาลสั่งจำคุก 50 ปี ปิดฉากคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 16 ปี

ย้อนรอยอดีต “คดีบ้านเอื้ออาทร” ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) คดีนี้มีจุดเริ่มต้นจากมติ ครม. วันที่ 14 มกราคม 2546 สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร โครงการนี้มีเป้าหมายในการจัดทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยแบบเมือง รวมทั้งแผนการแก้ปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อย เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบ้านล้านหลัง ซึ่งประกอบด้วย โครงการบ้านเอื้ออาทร 600,000 หน่วย บ้านมั่นคง 300,000 หน่วย และบ้านออมสิน 100,000 หน่วย

โดยโครงการบ้านเอื้ออาทรดำเนินการเรื่อยมา จนกระทั่งปี 2549 เกิดรัฐประหารล้มอำนาจการปกครองรัฐบาล “ทักษิณ” เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ผู้ก่อการรัฐประหาร ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาตรวจสอบโครงการของรัฐบาลนายทักษิณประมาณ 13 โครงการ ซึ่งโครงการบ้านเอื้ออาทรเป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกตรวจสอบ หลังจากที่ คตส. ได้รับเรื่องร้องเรียนในช่วงเดือนตุลาคม 2549 ว่า มีการกระทำทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ เรียกรับสินบนในโครงการนี้ และพบการทุจริตในหลายพื้นที่ มีเอกชนรวมถึงเจ้าหน้าที่ กคช. ถูกกล่าวหาว่าทุจริต ประเมินราคาที่ดินสูงเกินความเป็นจริง

ป.ป.ช. ชี้มูล “เสี่ยไก่กับพวก” เรียกหัวคิว 82 ล้าน

กระบวนการตรวจสอบโดย คตส. ได้ข้อเท็จจริงในปี 2550 ว่า “โครงการบ้านเอื้ออาทร” ที่ก่อสร้างโดยบริษัท พาสทิญ่า ไทย จำกัด มีการจัดซื้อที่ดินแพงเกินจริง มีการเรียกค่าหัวคิวจำนวน 82.5 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายให้กับนักการเมือง มีการโอนเงินเข้าบัญชีของคนขับรถ แม่บ้าน พนักงานพิมพ์ดีด เข้าข่าย “ฟอกเงิน”

ระหว่างนั้น คตส. ได้โอนคดี หลายคดี รวมถึงคดีทุจริตบ้านเอื้ออาทรส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ดำเนินการต่อ หลังจาก อสส. พิจารณาแล้ว เห็นว่า คดีดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ประกอบการเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จึงส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนก่อนส่งให้ อสส.

ต่อมาในปี 2560 ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิด นายวัฒนา เมืองสุข หรือ “เสี่ยไก่” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กับพวก ฐานเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการในโครงการบ้านเอื้ออาทร โดยเรียกรับสินบนจาก บริษัท พาสทิญ่า ไทย จนได้โควตาเป็นคู่สัญญากับการเคหะแห่งชาติก่อสร้าง 7 โครงการ 7,500 ยูนิต มูลค่า 2,500 ล้านบาท ทั้งที่ ไม่มีคุณสมบัติในการเข้าเป็นคู่สัญญากับ กคช. แต่อย่างใด ป.ป.ช. จึงสรุปสำนวนการไต่สวนส่งให้อัยการสูงสุด ดำเนินคดีนายวัฒนา กับพวกรวม 14 รายที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยจำเลยทั้ง 14 ประกอบด้วย นายวัฒนา เมืองสุข จำเลยที่ 1, นายมานะ วงศ์พิวัฒน์ จำเลยที่ 2, นายพรพรหม วงศ์พิวัฒน์ จำเลยที่ 3, นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ “เสี่ยเปี๋ยง” จำเลยที่ 4, น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 5, น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว จำเลยที่ 6, น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา จำเลยที่ 7, บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด จำเลยที่ 8, บริษัท ซิลเวอร์ อินเตอร์ กรุ๊ป จำกัด (เดิมชื่อ บริษัท ไทย เฉน หยู อินเตอร์เนชั่นแนลคอนสตรัคชั่น ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) จำเลยที่ 9, นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง จำเลยที่ 10, บริษัท พาสทิญ่าไทย จำกัด จำเลยที่ 11, บริษัท นามแฟทท์ คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จำเลยที่ 12, บริษัท พรินซิพเทค ไทย จำกัด จำเลยที่ 13, น.ส.สุภาวิดา คงสุข จำเลยที่ 14

อุทธรณ์คำสั่งจำคุก “เสี่ยไก่-เสี่ยเปี๋ยง” 50 ปี

นับจากวันที่นายวัฒนาถูก คตส. ตรวจสอบในปี 2549 จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2563 รวมเวลากว่า 15 ปี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็มีคำพิพากษาจำคุกนายวัฒนา เมืองสุข กับนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ “เสี่ยเปี๋ยง” ที่ปรึกษาของนายวัฒนา จำคุกคนละ 50 ปี, น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 5 จำคุก 20 ปี, น.ส.กรองทอง วงศ์แก้ว จำเลยที่ 6 จำคุก 44 ปี, น.ส.รุ่งเรือง ขุนปัญญา จำเลยที่ 7 จำคุก 32 ปี, สั่งปรับบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด จำเลยที่ 8 เป็นเงิน 275,000 บาท และนายอริสมันต์ จำเลยที่ 10 จำคุก 4 ปี พร้อมสั่งริบเงินกว่า 1,323 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่ 2, 3, 9, 11-14 ศาลฯ ยกฟ้อง

เดิมที่คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถือเป็นที่สุด แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้เปิดโอกาสให้คู่ความสามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน นายวัฒนาใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลฎีกา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 คดีโครงการบ้านเอื้ออาทรที่ยืดเยื้อมานานกว่า 15 ปีก็ได้ปิดฉากลง หลังองค์คณะที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว พิพากษายืนจำคุก “วัฒนา เมืองสุข” 50 ปี ให้ชดใช้เพิ่ม 89 ล้านบาท

โดยองค์คณะที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยคำอุทธรณ์ของจำเลยเอาไว้หลายประเด็นที่สำคัญๆ มีดังนี้

ยันกระบวนการไต่สวนชอบด้วย กม.-อสส. มีอำนาจฟ้อง

ประเด็นแรกเรื่องโจทก์มีอำนาจฟ้องในดคีนี้หรือไม่ ประเด็นนี้องค์คณะฯ เห็นว่า คณะกรรมการ คตส. แต่งตั้งนาย ก. เป็นประธานอนุกรรมการตรวจสอบโครงการบ้านเอื้ออาทรระยะที่ 4 ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2549 นาย ก. จึงมีอำนาจรวบรวมพยานหลักฐานตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป รวมถึงอำนาจในการสอบปากคำพยานบางปากตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ด้วย การไต่สวนพยานของนาย ก. จึงเป็นการไต่สวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และปรากฏข้อเท็จจริงว่าก่อนมีการฟ้องคดี คณะกรรมการ ป.ป.ช. และอัยการสูงสุดได้แต่งตั้งผู้แทนเป็นคณะทำงาน เพื่อพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ โดยมีการประชุมเพื่อพิจารณาร่วมกัน ซึ่งการประชุมครั้งสุดท้ายคณะทำงานผู้แทนฝ่ายคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะผู้แทนฝ่ายอัยการสูงสุดพิจารณาพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์จนไม่มีข้อโต้แย้งกัน และได้ข้อยุติทุกข้อแล้ว ก่อนมีการส่งสํานวนให้อัยการสูงสุดฟ้องเป็นคดีนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ประเด็นที่ 2 เรื่องการเป็นเจ้าพนักงานตามฟ้องของจำเลยที่ 1 นั้น ประเด็นนี้องค์คณะฯ เห็นว่า “ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประกอบกับ พ.ร.บ.การเคหะแห่งชาติ 2537 มาตรา 5 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รักษาการตาม พ.ร.บ. นี้ และมาตรา 28 ยังบัญญัติด้วยว่า ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไป ซึ่งกิจการของ กคช. จำเลยที่ 1 จึงเป็นบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งตาม กฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไป จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการออกนโยบาย กำหนดแนวทางในการจัดซื้อจัดจ้าง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการยื่นข้อเสนอ เพื่อจัดทำโครงการ รวมทั้งการกำหนดแนวทางในการยกเลิกประกาศการเคหะแห่งชาติฉบับเดิม และออกประกาศการเคหะแห่งชาติฉบับใหม่ หรือสั่งให้การเคหะแห่งชาติปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ ซึ่งกิจการของการเคหะแห่งชาติ จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าพนักงานตามฟ้อง หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้อำนาจโดยมิชอบดังกล่าว การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมครบ องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 (เดิม) แล้ว

ประเด็นที่ 3 จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจ หรือจูงใจเพื่อให้ บุคคลใดมอบให้ หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่นหรือไม่ นั้น ประเด็นนี้องค์คณะฯ เห็นว่า ขณะที่มีการไต่สวน โครงการบ้านเอื้ออาทร ระยะที่ 4 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 ยังไม่มีบทบัญญัติการกันบุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหาไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี จึงเป็นอำนาจของ คตส. ที่จะกันบุคคล หรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นพยานได้ เมื่อการสอบถ้อยคำพยานเป็นประโยชน์ต่อการไต่สวน เมื่อมิได้มีการจูงใจให้พยานต้องให้การ ผิดไปจากมูลความจริง และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคณะอนุกรรมการไต่สวนได้กำหนดเนื้อหาที่พยานต้องให้การไว้เป็นการล่วงหน้า หรือมีการชี้นำพยานว่าต้องให้การยืนยันไปในทางใด โดยพยานมีอิสระที่จะให้การไปตามความรู้เห็นของตน จึงมิได้เป็นพยานชนิดที่เกิดขึ้นจากการจูงใจ หรือมีคำมั่นสัญญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 และรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความจริงได้

ชี้ “เสี่ยไก่-เสี่ยเปี๋ยง” เรียกเก็บเงินเป็นขบวนการ

ขณะจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี มีการจัดทำหนังสือนำส่งเอกสาร ประกอบการประชุมคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ โดยระบุชื่อ จำเลยที่ 4 (เสี่ยเปี๋ยง) ในฐานะที่ปรึกษาจำเลยที่ 1 หลายครั้ง จำเลยที่ 5 อ้างว่าจำเลยที่ 4 เป็นทีมงานที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 แจ้งนางอาภรณ์พนักงานการเคหะแห่ง ซึ่งเป็นทีมเลขานุการของผู้ว่าการเคหะแห่งชาติว่า จำเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 4 เป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 อย่างไม่เป็นทางการ จำเลยที่ 1 เข้าร่วมประชุมมอบนโนบายให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์พิจารณาอาทรใหม่ และจำเลยที่ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติให้ผู้ประกอบการดำเนินโครงการบ้านเอื้ออาทรใหม่ แม้ผู้ประกอบการบางรายได้รับอนุมัติหน่วยก่อสร้างไปแล้ว แต่จำเลยที่ 1 เปลี่ยนหลักเกณฑ์โครงการบ้านเอื้ออาทร โดยผู้ประกอบการต้องวางหลักประกันมูลค่าร้อยละ 5 และได้รับเงินล่วงหน้าจากการเคหะแห่งชาติ ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการเกี่ยวกับการจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับผู้ประกอบการ เมื่อจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 4 แสดงออกว่าเป็นที่ปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการ ประกอบกับมีการเรียกเงินจำนวนมากจากผู้ประกอบการหลายรายเกี่ยวพันกับโครงการบ้านเอื้ออาทรซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของจำเลยที่ 1 แล้ว ลำพังจำเลยที่ 4 ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเองได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวก จึงมีลักษณะเป็นขบวนการ เชื่อว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นถึงการกระทำของจำเลยที่ 4 ด้วย ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมข่มขืนใจ หรือจูงใจแก่ผู้ประกอบการให้นำเงินมอบให้เพื่อตอบแทนที่การเคหะแห่งชาติอนุมัติให้เข้าทำสัญญาตามฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

สั่งริบทรัพย์สิน “เสี่ยไก่กับพวก” พร้อมดอกเบี้ย

ประเด็นที่ 4 เรื่องการริบทรัพย์สินนั้น องค์คณะฯเห็นว่า เมื่อเงินที่จำเลยที่ 1 กับพวกได้มา เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2560 มาตรา 42 และ 43 ยังไม่มีผลใช้บังคับ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการริบทรัพย์สิน จึงต้องนำประมวลกฎหมายอาญาใช้บังคับแทน แม้โจทก์ไม่ได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (2) แต่เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบเงินแล้ว ศาลจึงมีอำนาจริบเงินได้ ทั้งต้องปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องและเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี อันมีผลถึงจำเลยอื่นที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย สำหรับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2560 มาตรา 44 เป็นมาตรการเพื่อการบังคับให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ศาลสั่งริบ จึงนำมาใช้บังคับให้จำเลยที่ 1 ส่งเงินที่รับโดยชำระเป็นเงินแทนตามมูลค่าของเงินที่ศาลสั่งริบพร้อมด้วยดอกเบี้ยได้

ยืนจำคุก “วัฒนา” 50 ปี สั่งริบเงินเพิ่ม 89 ล้านบาท

ประเด็นที่ 5 เรื่องการริบเงิน 89 ล้านบาท ตามอุทธรณ์ของโจทก์นั้น องค์คณะฯ เห็นว่า “การจ่ายเงินจำนวน 89,000,000 บาท ให้จำเลยที่ 7 เป็นการจ่ายเงินเพื่อตอบแทนข้อตกลงในการผลักดันโครงการบ้านเอื้ออาทรของบริษัท ช. โครงการอื่นนอกจากโครงการบ้าน เอื้ออาทร ส. เงินจำนวน 89,000,000 บาท จึงเป็นเงินที่สัมพันธ์กับเงินสินบนที่ใช้ในการอำนวยความสะดวกให้กับโครงการบ้านเอื้ออาทรอื่นของบริษัท ช. เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่ศาลมีอำนาจริบได้

ศาลได้พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรง ตำแหน่งทางการเมือง 2560 มาตรา 42, 43 แต่ให้ปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (2) ริบเงิน 89,000,000 บาท ด้วย โดยให้จำเลยผู้มีหน้าที่ต้องส่งเงิน 89,000,000 บาท ที่ริบชำระเป็นเงินแทน ตามมูลค่าของเงินที่ศาลสั่งริบภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษานี้ หากจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 8 และที่ 10 ไม่ชำระเงินภายใน ระยะเวลากำหนด ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวน นับแต่วันที่ 24 กันยายน 2563 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปกว่าจะชำระเสร็จ แต่อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 หากกระทรวงการคลังออกพระราชกฤษฎีกาปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย ให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปตามนั้น ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถึงที่ 8 ร่วมกันชำระเงินแทนตามมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกคนละ 89,000,000 บาท จากคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกำหนดไว้ นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

หลังจากองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ ได้อ่านคําพิพากษาขั้นวินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จ โดยวินิจฉัยยืนตามคำสั่งศาลฎีกาฯ ที่เคยตัดสินจำคุกนายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเวลา 99 ปี แต่ให้จำคุกจริง 50 ปี เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้คุมตัว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ วัย 65 ปี เข้าสู่เรือนจำ คดีทุจริตโครงการบ้านที่ยืดเยื้อมานานกว่า 15 ปี เป็นอันปิดฉากลง…

สำหรับ ประวัติของ ‘วัฒนา เมืองสุข’ มีชื่อเล่นว่า ไก่ เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2500 ปัจจุบันอายุย่างเข้า 65 ปี เกิดที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของนายย้อม เมืองสุข และนางนวรัตน์ เมืองสุข ในครอบครัวของชนชั้นกลาง บิดาและมารดาประกอบอาชีพค้าขาย และเกษตรกร และมีกิจการวิ่งรถโดยสารระหว่างจังหวัดนครนายก-ปราจีนบุรี

สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต เนติบัณฑิตไทย และระดับปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (สาขากฎหมายเศรษฐกิจ) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ด้วยการเป็นเด็กวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร มีลูกนอกสมรส 4 คน ชีวิตครอบครัวสมรสกับนางพัชรา เจียรวนนท์ บุตรสาวของนายสุเมธ เจียรวนนท์ ผู้บริหารเครือบริษัทซีพี

ส่วนประวัติการทำงาน เริ่มทำงานเป็นทนายความ ประจำสำนักกฎหมายดิศญุตม์และวัฒนาเมื่อปี 2525 กระทั่งในปี 2539 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดปราจีนบุรี สังกัดพรรคชาติพัฒนา และปี 2543 สังกัดพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ. 2541–2542 ได้รับตำแหน่งทางการเมือง เป็นเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (พิทักษ์ อินทรวิทยนันท์) ต่อมาในปี 2544 –2545 เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และในปี 2546 ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

จากนั้นในปี 2548 ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในปี 2554 ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 22 สังกัดพรรคเพื่อไทย และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2557 ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย และในปี 2562 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส)

ป้ายคำ :