ThaiPublica > คนในข่าว > “เบญจา หลุยเจริญ” เฉลยคำวินิจฉัย ปิดตำนานหุ้นชินคอร์ป “ไม่ต้องเสียภาษี”

“เบญจา หลุยเจริญ” เฉลยคำวินิจฉัย ปิดตำนานหุ้นชินคอร์ป “ไม่ต้องเสียภาษี”

16 มีนาคม 2012


นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต
นางเบญจา หลุยเจริญ อธิบดีกรมสรรพสามิต

นับตั้งแต่วันที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ชื่อของบุคคลที่ถือว่าฮอตที่สุดของกระทรวงการคลังที่ถูกจับตาอย่างเสมอมา จึงมีชื่อ “เบญจา หลุยเจริญ” อธิบดีกรมสรรพสามิต ติดโผทุกครั้งที่มีกระแสข่าวโยกย้ายคนคลังขึ้นมาทีไร ชื่อนี้ไม่เคยตกขบวน ด้วยความสัมพันธ์แบบสายตรงกับคนในบ้านจันทร์ส่องหล้ามาตั้งแต่เมื่อครั้งที่เคยรับราชการอยู่ที่กรมสรรพากร

“เบญจา” เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวพันกับคดีหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น (ชินคอร์ปฯ) ในฐานะอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร ตอนนั้นทำหน้าที่ให้บริการตอบข้อหารือผู้เสียภาษี แต่เป็นประเด็นขึ้นมา คือ “เบญจา” ตอบข้อหารือ กรณีซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ว่า “ไม่ต้องเสียภาษี” จึงกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างแดน กลายเป็นปมจุดประเด็นความขัดแย้งอื่นๆตามมามากมาย

เวลาผ่านมา 5 ปี “เบญจา” ยังยืนยันในหลักการที่เธอวินิจฉัย กรณีซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ก่อนที่คดีนี้จะหมดอายุความในวันที่ 31 มีนาคม 2555 อธิบดีกรมสรรพากรออกมายืนยันซ้ำอีกครั้งว่า “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรไม่ต้องเสียภาษี” (อ่านเพิ่ม “ปิดตำนานซุกหุ้นชินคอร์ป สรรพากรยุติบี้ภาษีครอบครัว “ทักษิณ ชินวัตร” – “แก้วสรร” คาใจต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล”) สำหรับ “เบญจา” แล้วเธอคิดอย่างไร ถึงได้กล้าตัดสินใจลงนามในหนังสือตอบข้อหารือฉบับนั้น

เธอเล่าว่า “เรื่องหุ้นมันต้องมีเจ้าของแน่นอน ถ้าจะถามเรื่องนี้ คงต้องย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในอดีต ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเล่นการเมืองได้โอนหุ้นให้กับบริษัท แอมเพิลริช จากนั้นแอมเพิลริชขายหุ้นให้นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร (โอ๊ค-เอม) บุตรชายและบุตรสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณในราคาต่ำกว่าราคาตลาด และต่อมาทั้งคู่ได้นำหุ้นไปขายให้กองทุนเทมาเส็กผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ”

ตามหลักการของกฏหมาย หากเป็นกรณีการขายสินค้าและบริการในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง กรมสรรพากรจะใช้มาตรา 65 ทวิ (4) เข้าไปประเมินภาษีผู้ขายได้ แต่ถ้าเป็นกรณีของการขายหุ้นต่ำกว่าราคาตลาดจะใช้มาตรานี้ไม่ได้ เพราะไม่ใช่การขายสินค้าและบริการทั่วไป

ยกตัวอย่าง น้ำอัดลมขวดละ 10 บาท แต่ขาย 8 บาท กรณีนี้กรมสรรพากรใช้อำนาจตามมาตรา 65 ทวิ (4) เข้าไปประเมินภาษีคนขายได้ แต่ถ้าเป็นกรณีหุ้นเพิ่มทุนราคา 10 บาท แต่ขายให้พนักงานแทนโบนัสในราคา 8 บาท ตรงนี้จะไปประเมินภาษีกับคนขายไม่ได้

ฟากหนึ่งกรมสรรพากรไปประเมินภาษีกับคนขาย อีกฟากหนึ่งไปประเมินภาษีกับคนซื้อ กรมสรรพากรไม่สามารถเรียกเก็บภาษี 2 ทางได้ ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง

ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง กรณีของเซ็นทรัลการ์ดให้ส่วนลด 5% แก่สมาชิกที่ใช้บัตรรูดซื้อสินค้า ถ้าคนขายไม่มีเหตุผลอันสมควร กรมสรรพากรใช้มาตรา 65 ทวิ (4) เรียกเก็บภาษีกับคนขายได้ แต่จะไปไล่ประเมินภาษีกับคนซื้อไม่ได้

ขณะที่กรณีซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ปฯ กรมสรรพากรกลับไปไล่เก็บภาษีเอากับผู้ซื้อ และถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ต้องไปเก็บภาษีกับคนใช้บัตรเซ็นทรัลการ์ดรูดซื้อสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงด้วย เพราะได้ส่วนลด 5%

ความหมายที่ยกตัวอย่างขึ้นมาในข้างต้นก็เพื่อจะบอกว่า กรณีขายหุ้นชินคอร์ปฯ ก็ต้องไปเก็บภาษีกับคนที่ขายหุ้น (บริษัท แอมเพิลริช) นี่เป็นแนวทางที่ใช้ในการตอบข้อหารือในสมัยที่เป็นรองอธิบดีกรมสรรพากร ถ้าบริษัทแอมเพิลริชมีสถานประกอบการอยู่ในประเทศไทย ป่านนี้คงถูกกรมสรรพากรไล่เก็บภาษีไปเรียบร้อยแล้ว แต่บังเอิญ บริษัท แอมเพิลริช เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ต่างประเทศ จึงเก็บภาษีไม่ได้ พอเก็บภาษีกับคนขายหุ้นไม่ได้ ก็เลยมาเก็บเอากับคนซื้อหุ้น

ไทยพับลิก้า : แล้วมีความคิดเห็นอย่างไรต่อคำตัดสินของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร และกรมสรรพากร

อธิบดีกรมสรรพสามิตก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร แต่ที่ผ่านมาไม่เคยเข้าประชุม เพราะกลัวจะเป็นประเด็น จึงมอบหมายให้คุณจุมพล ริมสาคร รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ไปประชุมแทน แต่พอคณะกรรมการฯ มีคำวินิจฉัยออกมา คุณจุมพลเอาผลการวินิจฉัยมาให้อ่านก็เข้าใจ

สรุปง่ายๆ อีกครั้ง คือ เดิมที พ.ต.ท.ทักษิณขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้กับโอ๊ค-เอม และโอ๊ค-เอมก็เอาหุ้นมาขายให้กองทุนเทมาเส็กผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อมาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลภาษีอากรกลางตัดสินว่าไม่ใช่หุ้นของโอ๊ค-เอม ก็เท่ากับ พ.ต.ท.ทักษิณขายหุ้นให้กับกองทุนเทมาเส็กผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้รับการยกเว้นภาษี จบ

ไทยพับลิก้า : ไม่ใช่บริษัทแอมเพิลริช ขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้กับเทมาเส็กโดยตรง

หากไปตีความอย่างนั้นยิ่งเก็บภาษีไม่ได้กันไปใหญ่เลย เพราะแอมเพิลริชเป็นบริษัทต่างประเทศ ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย ข้อเท็จจริงทั้งหมดมันเป็นอย่างนี้ วันนี้คดีภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ จบแล้ว

ไทยพับลิก้า : จากเรื่องชินคอร์ปฯ ขอเปลี่ยนมาถามเรื่องแผนการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิต ขณะนี้มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

เรื่องแผนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ขณะนี้เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพียงรอเสนอคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เท่านั้น (รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) มีทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว

รายการไหนถูกบรรจุอยู่ในแผนระยะสั้น หากผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้วส่งให้ที่ประชุม ครม. อนุมัติเมื่อไหร่ ก็จะมีผลบังคับใช้ทันที ส่วนแผนระยะยาว กรมสรรพสามิตต้องยกร่างกฏหมายแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาอนุมัติ ถึงจะมีผลบังคับใช้

ไทยพับลิก้า : รายละเอียดของแผนการปรับโครงสร้างภาษีเป็นอย่างไร

เรื่องภาษีเป็นถือเป็นความลับ คงจะแจกแจงในรายละเอียดมากไม่ได้ แต่จะให้พูดก็พูดได้แค่ภาพรวมกว้างๆ รายการสินค้าที่ถูกบรรจุอยี่ในแผนระยะสั้นก็มีอยู่หลายรายการ อย่างเช่น น้ำมันดีเซล เดิมเก็บอยู่ที่ลิตรละ 5 บาท แต่ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ปรับลดลงเหลือ 0.005 บาท ต่อลิตร ทำให้รายได้ของกรมสรรพสามิตหายไปเดือนละ 9,000 ล้านบาท แต่ช่วงนี้คงจะปรับภาษีขึ้นไปลำบาก เพราะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น

แต่แนวทางที่กรมสรรพสามิตดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ ทำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม. ขอให้มีการต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลแค่ 1 เดือน และทำต่อเนื่องทุกเดือนๆ ไปจนถึงเดือนเมษายน 2555 แล้วมาดูกันอีกครั้งว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงแล้วหรือยัง ถ้าราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ประกอบกับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการมีผลบังคับใช้ ก็มีโอกาสที่จะปรับภาษีน้ำมันดีเซลขึ้นไปได้

ถัดมาก็เป็นเรื่องการปรับโครงสร้างอัตราภาษีรถยนต์ ซึ่งจัดเก็บภาษีจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ปล่อยออกมา นโยบายนี้ทำไว้ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ และกำลังจะมีผลบังคับใช้ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2555 นี้ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง สั่งให้ขยายเวลาในการบังคับใช้ออกไปก่อน และสั่งให้พิจารณาอย่างรอบครอบ เพราะของเดิมที่ทำไว้มีหลายออปชั่น โครงสร้างภาษีใหม่จะต้องไม่สลับซับซ้อนและง่ายต่อการจัดเก็บภาษี

หลักการใหญ่ๆ คือ ถ้าเป็นกรณีรถยนต์ที่มีราคาแพง หากมีปริมาตรกระบอกสูบเกิน 3,000 ซีซี เก็บไปเลย 50% ของมูลค่า แต่ถ้าต่ำกว่า 3,000 ซีซี จะแยกออกมาเป็นหมวดย่อยๆ และมีหมวดของรถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทนแยกมาอีกต่างหาก เช่น รถยนต์ที่ติดก๊าซเอ็นจีวีมาจากโรงงานผู้ผลิต, รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน E-85 และอีโคคาร์ แต่ตอนนี้ตนได้ทำเรื่องเสนอไปกระทรวงการคลัง ขอขยายเวลาในการบังคับใช้โครงสร้างภาษีรถยนต์ใหม่ออกไปก่อน

อีกตัวที่กรมสรรพสามิตจะเสนอรัฐบาลให้มีการปรับอัตราภาษีขึ้นไป คือ ก๊าซแอลพีจี ขณะนี้เก็บอยู่ที่ลิตรละ 2.17 บาท ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือมีการลักลอบส่งก๊าซแอลพีจีไปขายประเทศเพื่อนบ้าน เพราะแอลพีจีในประเทศไทยขายกันที่กิโลกรัมละ 18 บาท แต่ประเทศเพื่อนบ้านขายกิโลกรัมละ 40 บาท การปรับอัตราภาษีสรรพสามิตขึ้นไปก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหานี้ได้

ส่วนเรื่องการจ่ายเงินชดเชยให้กับภาคครัวเรือน รัฐบาลจะต้องไปคิดหาวิธีการจ่ายเงินชดเชยกันใหม่ และอยากจะเสนอให้เก็บภาษี คือก๊าซเอ็นจีวีที่ใช้กับรถยนต์ แต่ถ้าใช้กับโรงงานผลิตไฟฟ้าไม่ต้องเก็บ เพราะไม่อยากจะให้มีผลกระทบกับค่าไฟฟ้า

ส่วนที่เหลือก็จะมีภาษีโทรคมนาคม จะเสนอกระทรวงการคลังให้กลับไปเก็บที่อัตราเดิม 10% ของรายได้, ภาษีสลากกินแบ่งรัฐบาล แอร์ น้ำผลไม้ ชา กาแฟ น้ำมันหล่อลื่น บัตรเข้าชมภาพยนต์ที่มีราคาแพง เช่น เก้าอี้นั่งคู่ ส่วนภาษีเหล้าและบุหรี่เสนอ ครม. ให้มีการปรับอัตราขึ้นไปได้อีกเล็กน้อย แต่ในระยะยาวต้องทำเรื่องเสนอรัฐสภา ขอแก้ไขกฏหมายเพื่อขยายเพดานภาษีขึ้นไป

ไทยพับลิก้า : แล้วเตรียมแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีไว้อย่างไรบ้าง

มีหลายเรื่องที่จะทำ คือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบของแสตมป์เพื่อให้ยากต่อการปลอมแปลง ในแสตมป์จะมีรหัสบาร์โค้ดฝังอยู่ ตรวจสอบง่าย เช่น สินค้าผลิตเมื่อไหร่ เสียภาษีเมื่อไหร่ ขอจริงหรือของปลอม กรมสรรพสามิตสั่งซื้อแสตมป์ปีละหลายพันล้านดวง ดวงละ 10 สตางค์ แต่ละปีใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท หากจะปรับเปลี่ยนรูปแบบแสตมป์ ครั้งแรกต้องลงทุนมากหน่อย แต่ในระยะยาวจะดีขึ้น

ไทยพับลิก้า : ปัญหาผู้ประกอบการแจ้งราคานำเข้า (C.I.F.) หรือ ราคาหน้าโรงงานต่ำกว่าความเป็นจริงจะแก้ไขอย่างไร

ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตไปฝากกรมศุลกากรจัดเก็บภาษี ซึ่งศุลกากรเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลก ต้องใช้ราคาแกตต์ ผู้นำเข้าสำแดงราคามาเท่าไหร่ ก็ต้องยอมรับตามกฏ หากสำแดงราคามาต่ำกว่าความเป็นจริง กรมสรรพสามิตจะเก็บภาษีไม่ได้ด้วย นอกจากนี้ยังต้องมองข้ามไปถึงปี 2558 ด้วย ประเทศไทยต้องเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หากไม่เตรียมมาตรการไว้รับมือ ผู้นำเข้าอาจจะแจ้งราคานำเข้าต่ำกว่ากันหมด ในที่สุดก็เก็บภาษีไม่ได้ ประเทศชาติเสียหาย

อย่างเช่น บุหรี่ไทยสำแดงราคาที่ ซองละ 2.7 บาท ขณะที่บุหรี่นำเข้าจากจีน สำแดงราคานำเข้าซองละ 1.1 บาท แค่ค่ากระดาษบรรจุหีบห่อยังทำไม่ได้เลย

ดังนั้น สิ่งที่กรมสรรพสามิตจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ ขอปรับเปลี่ยนฐานราคาที่ใช้ในคำนวณภาษี จากราคา C.I.F. และราคาหน้าโรงงาน มาเก็บภาษีจาก “ราคาขายปลีก” เดิมทีจะทำเฉพาะบุหรี่เท่านั้น แต่ตอนนี้ต้องทำทุกรายการ มิฉะนั้นประเทศเสียหาย โดยกรมสรรพสามิตเสนอให้ออกเป็นพระราชกำหนดแก้ไขพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต

นอกจากเรื่องการปรับเปลี่ยนฐานราคาที่ใช้ในการคำนวณภาษี และกรมสรรพสามิตจะเสนอให้มีการแก้ไขสิทธิประโยชน์ทางภาษีในเขตส่งเสริมการส่งออก (Export processing zone) ด้วย วัตถุประสงค์ดั้งเดิม กระทรวงกการคลังจะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาตั้งฐานผลิตสินค้าในประเทศไทย แล้วส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ

แต่ปรากฏว่ามันไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ผู้ประกอบการผลิตสินค้าเสร็จก็นำสินค้าออกมาขายในประเทศ แถมยังใช้ราคา C.I.F. แจ้งราคาต่ำอีก ทางแก้ไขคือ ต้องเร่งนำระบบราคาขายปลีกมาใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีสรรพสามิต ปัญหานี้ก็จะจบลงทันที

ไทยพับลิก้า : ปัญหาอะไหล่รถยนต์เก่าจากต่างประเทศมาประกอบเป็นรถยนต์หรูหราขายในราคาถูก หรือที่เรียกว่า “รถจดประกอบ” มีแนวทางแก้ไขอย่างไร

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ 3 กระทรวง คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคม เดิมจะให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศห้ามการนำเข้าอะไหล่เก่า แต่จะมีผลกกระทบกับอู่ซ่อมรถของบริษัทประกันภัย และโรงงานประกอบรถบรรทุก จึงตกลงกันใหม่ว่าจะให้กระทรวงคมนาคมไม่รับจดทะเบียนรถยนต์ประเภทนี้ แต่ในระหว่างที่กระทรวงคมนาคมยังไม่มีประกาศออกมา ทางกรมสรรพสามิตได้มีการปรับราคาหน้าโรงงานของรถยนต์ประเภทนี้ขึ้นไปแล้ว