เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2559ว่าส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน โดยเติบโตถึง 3.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 3 ปี
นายปรเมธีกล่าวว่า แรงส่งสำคัญของไตรมาสนี้คือ การใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ รวมไปถึงภาคท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูง ขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะหมวดก่อสร้างและลงทุนในเครื่องจักร เช่นเดียวกับการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวแต่ลดลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม การส่งออกยังคงเป็นปัจจัยที่หดตัวต่อเนื่อง แต่หากเทียบกับปีที่ผ่านมาถือว่าหดตัวลดลงและหากเทียบกับประเทศข้างเคียงถือว่าหดตัวน้อยกว่า สะท้อนให้เห็นว่าไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกลดลง สอดคล้องกับปริมาณส่งออกที่ไตรมาสแรกเติบโต 1.1% เป็นครั้งแรกหลังจากหดตัวมา 4 ไตรมาสติดต่อกัน ส่งผลให้สภาพัฒน์ประมาณการเศรษฐกิจในปี 2559 ว่าจะเติบโตได้ 3-3.5% ซึ่งเป็นช่วงประมาณการที่แคบลงจากการประมาณในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ประมาณการไว้ 2.8-3.8% และคงค่ากลางของประมาณการจีดีพีที่ 3.3% เช่นเดิม โดยในรายละเอียดสภาพัฒน์ปรับลดประมาณการตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจลงเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนรวม การลงทุนของภาคเอกชน การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออก มีเพียงการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยวเท่านั้นที่ปรับเพิ่มขึ้น
“การประมาณการครั้งก่อนจะเห็นว่าเราอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงความผันผวนหลายอย่าง ทั้งเศรษฐกิจโลกและจีน กรอบจึงยังค่อนข้างกว้าง แต่ในช่วงนี้หลังจากเห็นไตรมาสแรกออกมาดีและเทียบกับโลกก็มีแนวโน้มดีขึ้น ความเป็นห่วงด้านต่างประเทศก็ลดลงเยอะมากแล้ว ไม่ได้เข้าสู่วิกฤติอะไร ภัยแล้งคาดว่าจะหมดไปช่วงครึ่งหลังของปี เราก็มีความมั่นใจที่จะประมาณการในช่วงที่แคบขึ้น คิดว่าด้านต่ำมากกับด้านสูงมากคงมีน้อย แต่ยังมีโอกาสที่จะเติบโตสูงขึ้นอีก ส่วนในองค์ประกอบที่ส่วนใหญ่ปรับลดลง มันก็ตามข้อเท็จจริงมันก็มีทั้งตัวที่ขึ้นและลงชดเชยกัน ท่องเที่ยวปรับขึ้นมาเยอะ ภาครัฐแม้ช่วงก่อนหน้าจะลงทุนเยอะ ฐานสูง แต่ก็ยังโตได้อยู่ แล้วไตรมาสแรกออกมา 3.2% ดังนั้นโดยรวมก็มีแนวโน้มดีขึ้น” นายปรเมธีกล่าว
ส่วนประเด็นว่าภาครัฐควรจะออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่ นายปรเมธีกล่าวว่า ปัจจุบันมีมาตรการออกมารองรับในทุกด้าน วงเงินกว่า 645,354 ล้านบาท และยังมีกรอบวงเงินที่คาดว่าจะเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปี 2559 อีก 115,676 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นมาตรการส่งเสริมเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ 27,524 ล้านบาท, มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีในระยะเร่งด่วน 42,579 ล้านบาท, และโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ 30,845 ล้านบาท ขณะเดียวกัน คาดว่าจะมีลงทุนขนาดใหญ่ในโครงสร้างพื้นฐานในช่วงครึ่งปีหลังมาเสริมอีก แต่ถามว่าพอหรือไม่ คิดว่าต้องรอดูรายละเอียดการเบิกจ่ายจริงก่อน ยังไม่สามารถตอบได้ในปัจจุบัน
ด้านความเสี่ยงจากหนี้ที่ไม่ก่อรายได้ หรือเอ็นพีแอลที่ปรับสูงขึ้นมาหลายไตรมาสติดต่อกัน นายปรเมธีกล่าวว่ายังเป็นสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับสินเชื่อทั้งระบบ และส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและความสามารถในการบริโภคที่จำกัดลง ประกอบกับสินเชื่อโดยรวมยังขยายตัวได้ประมาณ 4% จึงมองว่าเรื่องสภาพคล่องและความเสี่ยงของเอ็นพีแอลยังไม่ได้เป็นประเด็นหลักของข้อจำกัดของเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับหนี้ครัวเรือนที่แม้อยู่ในระดับสูงแต่ชะลอตัวมาเรื่อยๆ
ทั้งนี้ ในรายงานภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ระบุว่าความเข้มงวดของสถาบันการเงินถือเป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจเอสเอ็มอีและสินเชื่อครัวเรือน ที่ยังมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ ธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีทางเลือกในการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ แต่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งต้องพึ่งพิงการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ถูกจํากัดวงเงินสินเชื่อหรือปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าในกลุ่มดังกล่าว จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนในอนาคต
สอดคล้อง ธปท. ลดกังวลต่างประเทศ มั่นใจโตถึง 3%
ด้านนางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ที่ขยายตัว 3.2% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ในภาพรวมใกล้เคียงกับที่ ธปท. ประเมินไว้ โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคบริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูง รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป ยังคงต้องติดตามพัฒนาการความเสี่ยงด้านต่างๆ จากทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะภาคส่งออกที่ยังอ่อนแอและมีความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่การใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ
ทั้งนี้ ความเห็นจาก ธปท. ก่อนหน้านี้ ในคราวประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต่างเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าปัจจัยต่างประเทศไม่ได้เป็นปัจจัยที่ต้องกังวลเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ธปท. ยังแสดงความกังวลถึงเศรษฐกิจในประเทศที่ดูแผ่วลงทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาวะภัยแล้งที่อาจจะส่งผลกระทบยาวนานกว่าที่คาด เนื่องจากเกษตรกรอาจจะมีภาระต้องจ่ายคืนหนี้ก่อน ซึ่งส่งผลต่อรายได้เกษตรกร ธุรกิจในพื้นที่ และการฟื้นตัวของการบริโภคของเอกชนโดยรวม
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมยังมองว่าเศรษฐกิจยังเติบโตได้ใกล้เคียงกับที่เคยประเมินไว้ที่ 3.1% เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวยังสามารถชดเชยการชะลอตัวลงของการบริโภคและลงทุนได้