ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อพิพาทกรมศุลฯ-เชฟรอน (1): ตีความแท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่นอกเขตไทย เตรียมขอภาษีคืน 1,500 ล้านบาท

ข้อพิพาทกรมศุลฯ-เชฟรอน (1): ตีความแท่นขุดเจาะน้ำมันอยู่นอกเขตไทย เตรียมขอภาษีคืน 1,500 ล้านบาท

9 มีนาคม 2016


ผลจากกฎระเบียบไม่ชัดเจน เปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจ ผิด-ถูก อยู่ที่เจ้าหน้าที่ ที่ผ่านมาเกิดกรณีพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ศุลกากรกับผู้นำเข้าหลายคดี อย่างกรณีบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด เป็นหนึ่งในคดีตำนานกรมศุลกากรที่ยืดเยื้อมานานกว่า 5 ปี ถึงวันนี้ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้

ประเด็นที่เป็นปมปัญหาเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2553 บริษัทเชฟรอนมีข้อสงสัยว่าน้ำมันดีเซลที่ขายให้บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ รวมเรียกว่า “เชฟรอน สผ.” นำไปใช้ที่แท่นขุดเจาะน้ำมันเอราวัณ, เบญจมาศ, ทานตะวัน และปัตตานี สปิริต ตั้งอยู่บริเวณไหล่ทวีปของอ่าวไทยห่างจากชายฝั่งไม่ต่ำกว่า 60 ไมล์ทะเล หรือที่เรียกว่า “ไหล่ทวีป” ข้อเท็จจริงถือว่าอยู่ในเขตพื้นที่ของราชอาณาจักรไทยหรือไม่ ขณะที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ไม่ได้กำหนดนิยามของคำว่า “ราชอาณาจักรไทย” เอาไว้

แต่ถ้าไปดูพระบรมราชโองการ ฉบับวันที่ 6 ตุลาคม 2508 และฉบับวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2524 ระบุว่าประเทศไทยมีอาณาเขตไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลนับจากชายฝั่ง ขณะที่คณะกรรมการกฤษฎีกา เคยวินิจฉัยคำว่า “ราชอาณาจักรไทย” ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มีขอบเขตครอบคลุมไปถึงพื้นที่ไหล่ทวีป ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติของไทย

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 บริษัทเชฟรอนทำหนังสือ C&I 001/2554 ถึงนายประสงค์ พูนธเนศ อดีตอธิบดีกรมศุลกากร สอบถาม กรณีบริษัทเชฟรอนขายน้ำมันดีเซลและน้ำมันชนิดอื่นให้ “เชฟรอน สผ.” เพื่อใช้ที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน ถือเป็น “การซื้อ-ขายน้ำมันภายในประเทศ” หรือ “ส่งออก” พร้อมกับสอบถามถึง “สิทธิประโยชน์ทางภาษี” (ขอคืนภาษีภายในประเทศ) ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีสรรพสามิต และเงินสมทบกองทุนน้ำมัน เพื่อที่บริษัทจะนำไปหารือกับกรมสรรพากร, กรมสรรพสามิต และกรมธุรกิจพลังงานต่อไป

วันที่ 2 พฤษภาคม 2554 นายวิศาล วุฒิศักดิ์ศิลป์ อดีตที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร (ซี 10) ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลกากร ลงนามหนังสือเลขที่ กค 0503/4689 แจ้งผลการพิจารณาบริษัทเชฟรอนว่า กรณีการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งอยู่นอกทะเลอาณาเขต (นอกเขตระยะ 12 ไมล์ทะเล โดยวัดจากเส้นฐานที่ใช้สำหรับวัดความกว้างของทะเลอาณาเขต) ถือเป็นการส่งออกตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 เนื่องจากคำว่า “ราชอาณาจักร” ในกรณีนี้มีความหมายทั่วไป หมายถึงอาณาเขตของประเทศไทยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ แตกต่างจากคำว่า “ราชอาณาจักร” ที่บัญญัติใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ซึ่งใช้บังคับเฉพาะกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเท่านั้น

chevron

การตีความอาณาเขตประเทศไทยมีความสำคัญอย่างไร

แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมศุลกากรกล่าวว่า หากผลการวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาสรุปว่า ประเทศไทยมีอาณาเขตไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลนับจากชายฝั่ง กรณีบริษัทเชฟรอนขายน้ำมันให้ “เชฟรอน สผ.” ถือเป็นการส่งออก ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 กรมศุลกากรต้องคืนภาษีภายในประเทศให้บริษัทเชฟรอน ซึ่งอาจจะรวมไปถึงผู้รับสัมปทานสำรวจและขุดเจาะน้ำมันรายอื่นๆ ด้วย เฉพาะในปี 2556-2558 บริษัทเชฟรอน ขายน้ำมันดีเซลให้กลุ่มบริษัทเชฟรอน สผ. ทั้งหมด 330.18 ล้านลิตร เสียภาษีสรรพสามิต, ภาษีมหาดไทย, เงินสมทบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่ด่านศุลกากรมาบตาพุด 934 ล้านบาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 568 ล้านบาท หากคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า ประเทศไทยมีอาณาเขตไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลนับจากชายฝั่ง ถือเป็นการส่งออก กรมศุลกากรต้องคืนภาษีให้เชฟรอน 3 ปี คิดเป็นมูลค่า 1,502 ล้านบาท แต่ถ้าวินิจฉัยว่าอาณาเขตประเทศไทยครอบคลุมถึงพื้นที่ไหล่ทวีป ก็ไม่ต้องคืนภาษี

หลังจากที่กรมศุลกากรทำหนังสือตอบข้อหารือบริษัทเชฟรอน แจ้งกรณีบริษัทเชฟรอนส่งน้ำมันไปขายให้บริษัทในเครือ ถือเป็นการส่งออกตามกฎหมายศุลกากร ปรากฏว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ด่านศุลกากรสงขลาเข้าตรวจสอบและกักเรือสนับสนุนของบริษัทเชฟรอนขณะที่กำลังแล่นกลับเข้ามาในอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลเพื่อขนเครื่องจักรและอุปกรณ์ไปส่งที่แท่นขุดเจาะของเชฟรอน สผ. โดยเจ้าหน้าที่ด้านศุลกากรสงขลา ตรวจพบเรือดังกล่าวบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผสมสารมาร์คเกอร์ ซึ่งเป็นสารที่ใช้เติมสำหรับน้ำมันที่ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

ปฏิบัติการตรวจกักเรือสนับสนุนของบริษัทเชฟรอนครั้งนั้น สร้างความเสียหายกับกลุ่มบริษัทเชฟรอน สผ. เป็นอย่างมาก วันที่ 10 มีนาคม 2557 บริษัทเชฟรอนและกลุ่มบริษัทเชฟรอน สผ. ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารกรมศุลกากร ด่านศุลกากรสงขลาและด่านมาบตาพุด โดยมีนางระวิ ประทีปดลปรีชา อดีตรองอธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานที่ประชุม เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา ผลการประชุมวันนั้น กรมศุลกากรแนะนำให้เชฟรอนดำเนินการขายน้ำมันให้เชฟรอน สผ. ในรูปแบบของการค้าชายฝั่งไปก่อนจนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน หลังจากนั้นทางบริษัทเชฟรอนได้ดำเนินพิธีการทางศุลกากรในรูปแบบการค้าชายฝั่งมาจนถึงปัจจุบัน

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558 บริษัทเชฟรอน ทำหนังสือเลขที่ C&I 001/2558 ถึงนายสมชัย สัจจพงษ์ อดีตอธิบดีกรมศุลกากรขณะนั้น สอบถามแนวทางการปฏิบัติพิธีการศุลกากร กรณีบริษัทเชฟรอนขายน้ำมันให้เชฟรอน สผ. ที่ถูกต้องควรดำเนินการอย่างไร โดยอ้างถึงหนังสือตอบข้อหารือของกรมศุลกากรวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 ที่สรุปว่าการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงไปขายให้เชฟรอน สผ. ที่แท่นขุดเจาะ ถือเป็นการส่งออกตามกฎหมายศุลกากร ทางบริษัทเชฟรอนจึงปรับเปลี่ยนรุปแบบการซื้อ-ขายน้ำมันกับกลุ่มบริษัทเชฟรอน สผ. จากเดิมเป็นการขายในประเทศ มาเป็นการขายแบบส่งออก ตลอดจนแปลงสภาพของเรือค้าชายฝั่งเป็นเรือค้าต่างประเทศ

วันที่ 9 เมษายน 2558 นางกฤติกา ปั้นประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมศุลกากร ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดที่ กค 0503/5351 ถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ตอบข้อหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติพิธีการศุลกากรที่ถูกต้องว่า “การส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากราชอาณาจักรไทยไปยังแท่นผลิตปิโตรเลียมในท้องทะเล อันมีระยะห่างจากชายฝั่งตั้งแต่ 12 ไมล์ทะเลขึ้นไป ถือเป็นการส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรไทย จึงไม่อยู่ในความหมายของการค้าชายฝั่งตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 และกรณีดังกล่าวไม่มีการกำหนดพิธีการศุลกากรไว้เป็นการเฉพาะ กรณีนี้จึงต้องปฏิบัติตามพิธีการนำของเข้าและพิธีการส่งของออก”

หลังจากผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมศุลกากร ลงนามในหนังสือตอบข้อหารือ แจ้งบริษัทเชฟรอนว่า กรณีการขายน้ำมันให้กลุ่มบริษัท เชฟรอน สผ. ถือเป็นการส่งออก ต้องปฏิบัติตามพิธีการนำของเข้าและส่งของออก ปรากฏว่าด่านศุลกากรมาบตาพุดและด่านศุลกากรสงขลายังไม่ยอมให้บริษัทเชฟรอนปรับเปลี่ยนรูปแบบ “การค้าชายฝั่ง” ตามาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาเป็น “การขายแบบส่งออก”

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร

สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้สอบถามนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ต่อกรณีดังกล่าว นายกุลิศกล่าวว่า “ขณะนี้ตนได้ทราบรายละเอียดของเรื่องนี้ทั้งหมดแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมีหลายประเด็นข้อกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน และเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของรัฐและเอกชนจำนวนมาก การพิจารณาเรื่องนี้ควรทำอย่างรอบครอบ จึงได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำหนังสือไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาเพิ่มเติมอีกหลาย ส่วนรายละเอียดเป็นอย่างไร ยังไม่ขอเปิดเผย จนกว่าจะได้คำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา”