ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม.ขึ้นภาษีน้ำมัน 20 สตางค์ หาเงินเข้าคลัง 6,500 ล้าน รับมือจัดเก็บรายได้ปี 2560 ชี้ปี’59สรรพากรหลุดเป้ากว่าแสนล้าน

ครม.ขึ้นภาษีน้ำมัน 20 สตางค์ หาเงินเข้าคลัง 6,500 ล้าน รับมือจัดเก็บรายได้ปี 2560 ชี้ปี’59สรรพากรหลุดเป้ากว่าแสนล้าน

10 พฤศจิกายน 2016


เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติขึ้นภาษีน้ำมันดีเซลและเบนซิน 20 สตางค์ต่อลิตร โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและเบนซิน 20 สตางค์ต่อลิตรครั้งนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันที่หน้าปั้ม คาดว่าจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้น 6,500 ล้านบาทต่อปี โดยจะนำเงินในส่วนนี้ไปใช้พัฒนาประเทศต่อไป

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ทั้งนี้สืบมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การใช้นำมันเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงตัดสินใจขึ้นภาษีน้ำมันต่อจากครั้งก่อนเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. น้ำมันเบนซินปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตจากลิตรละ 6.30 บาท เป็นลิตรละ 6.50 บาท เพิ่มขึ้นลิตรละ 20 สตางค์ (จัดเก็บตามปริมาณ)
2. น้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์อี 10 ปรับเพิ่มจากลิตรละ 5.67 บาท เป็น เก็บลิตรละ 5.85 บาท เพิ่มขึ้นลิตรละ 18 สตางค์
3. น้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์อี 20 ปรับเพิ่มจากลิตรละ 5.04 บาท เป็นลิตรละ 5.20 บาท เพิ่มขึ้นลิตรละ 16 สตางค์
4. น้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์อี 85 ปรับเพิ่มจากลิตรละ 0.945 บาท เป็นลิตรละ 0.975 บาท เพิ่มขึ้นลิตรละ 3 สตางค์
5. น้ำมันดีเซลทุกชนิด ปรับเพิ่มจากลิตรละ 5.65 บาท เป็นลิตรละ 5.85 บาท เพิ่มขึ้นลิตรละ 20 สตางค์

อนึ่ง จากการที่พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 กำหนดอัตราภาษีน้ำมันสูงสุด (เพดานอัตราภาษี) ไว้ที่ลิตรละ 10 บาท ดังนั้น การออกประกาศกระทรวงการคลัง เพื่อให้มีผลบังคับใช้ จึงต้องใช้คำว่า “ลดอัตราภาษีสรรพสามิต” ทุกครั้ง

สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2559 ที่ปิดบัญชีไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559 หากดูจากแถลงข่าวกระทรวงการคลังพบว่า ปีนี้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ 2,393,500 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ (2,330,000 ล้านบาท) 63,500 ล้านบาท แต่ถ้านำมาเปรียบเทียบกับประมาณการใหม่ ซึ่งนับรวมงบประมาณกลางปี 2559 (ประมาณการใหม่ 2,386,000 ล้านบาท) ปรากฏว่าปีนี้จัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายแค่ 7,500 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักที่ทำให้รัฐบาลเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายคือการนำส่งรายได้จากการประมูลอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1,800 เมกะเฮิร์ตซ์ (4G) 56,273 ล้านบาท, รัฐวิสาหกิจส่งรายได้เข้าคลังสูงกว่าเป้าหมาย 13,727 ล้านบาท, กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีน้ำมันสูงกว่าเป้าหมาย 11,667 ล้านบาท, ภาษีรถยนต์สูงกว่าเป้าหมาย 7,264 ล้านบาท และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่าเป้าหมาย 5,831 ล้านบาท(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ผลการจัดเก็บรายได้ปี 2559

ถ้าแยกเป็นรายหน่วยงานที่กระทรวงการคลังนำเสนอ เปรียบเทียบกับเป้าหมายเดิมที่ยังไม่รวมงบกลางปี 2559 พบว่า กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ 1,757,851 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 137,149 ล้านบาท กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ 517,686 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 21,386 ล้านบาท กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้ 111,541 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 8,959 ล้านบาท รวม 3 กรม เก็บภาษีได้ 2,387,078 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายเดิม 124,722 ล้านบาท

รัฐวิสาหกิจนำรายได้ส่งคลัง 133,727 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 13,727 ล้านบาท ส่วนราชการอื่นจัดเก็บรายได้ส่งคลัง 291,855 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 144,255 ล้านบาท ซึ่งรายได้หลักมาจากการประมูลใบอนุญาต 4G รวมรายได้สุทธิ 2,812,660 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 33,260 ล้านบาท และหลังจากนำไปหักการคืนภาษีสรรพากร, ชดเชยอากรและจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลมีรายได้สุทธิ 2,393,500 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายเดิม 63,500 ล้านบาท แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประมาณการใหม่สูงกว่าเป้าหมายแค่ 7,500 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วนในปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย 2,733,000 ล้านบาท ประมาณการรายได้สุทธิ 2,343,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับปีที่แล้วลดลง 43,000 ล้านบาท หรือลดลง 1.8% และกำหนดกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลไว้ที่ 390,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าหมายให้กระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ 2,800,000 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว 1.2% ประกอบด้วยกรมสรรพากร 1,867,000 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้ว 1.5% กรมสรรพสามิต 549,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.8% กรมศุลกากร 120,500 ล้านบาท เท่ากับปีที่แล้ว ส่วนราชการอื่น 131,600 ล้านบาท ลดลง 35.4% รัฐวิสาหกิจนำรายได้ส่งคลัง 131,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.2%