ThaiPublica > เกาะกระแส > EIC วิเคราะห์อุตสาหกรรมการบินไทย หลัง ICAO เตือน จับตา US FAA และ EASA ตรวจสอบเพิ่ม ดูบทเรียนฟิลิปปินส์-อินโดนีเซีย

EIC วิเคราะห์อุตสาหกรรมการบินไทย หลัง ICAO เตือน จับตา US FAA และ EASA ตรวจสอบเพิ่ม ดูบทเรียนฟิลิปปินส์-อินโดนีเซีย

7 มิถุนายน 2015


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(Economic Intelligence Center:EIC) วิเคราะห์”ทิศทางการบินไทยหลังการแจ้งเตือนของ ICAO”ว่าภายหลังที่ ICAO เข้าตรวจสอบการดำเนินงานของกรมการบินพลเรือนของไทยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาและได้แจ้งเตือนว่าอันดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยของกรมการบินพลเรือนไทยอาจถูกปรับลดเป็นสถานะกลุ่มประเทศที่มีข้อบกพร่องอย่างมีนัยสำคัญด้านความปลอดภัย (Significant Safety Concern: SSC) ส่งผลให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ประกาศสั่งห้ามเที่ยวบินเช่าเหมาลำบินเข้าประเทศในทันที โดยมีการอนุโลมให้ชั่วคราวในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม นอกจากนี้ เครื่องบินที่จดทะเบียนในประเทศไทยยังจะได้รับการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้นจากนานาชาติอีกด้วย

บทเรียนฟิลิปปินส์-อินโดนีเซีย

การพิจารณาทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือโดย ICAO อาจกระตุ้นให้สถาบันประเมินมาตรฐานแห่งอื่นๆ รวมถึง US FAA ของสหรัฐฯ และ EASA ของสหภาพยุโรปเข้าตรวจสอบเพิ่มเติมด้วย ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในปี 2008 ที่ US FAA ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของฟิลิปปินส์ ICAO ได้ขอเข้าตรวจสอบและปรับลดอันดับเช่นกันในปี 2009 ซึ่งยังต่อเนื่องมาในปี 2010 ที่สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้มีการสั่งห้ามสายการบินฟิลิปปินส์ให้บริการผ่านน่านฟ้าอีกด้วย

หรือกรณีอินโดนีเซียเป็นบทเรียนที่น่าสนใจที่แม้ว่า ICAO จะตัดสินใจไม่ปรับลดสถานะความปลอดภัยทางการบินของอินโดนีเซียเป็น SCC แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการปรับลดอันดับของ US FAA และ EASA ได้ โดยในปัจจุบันสายการบินของอินโดนีเซียส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตให้บินเข้าน่านฟ้าของสหภาพยุโรป

หากเกิดการปรับลดสถานะความปลอดภัยจะส่งผลให้เกิดการสูญเสียความนิยมจากผู้โดยสารโดยทันที

จากบทเรียนของฟิลิปปินส์ทำให้เห็นภาพของผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ในทันทีที่มีการปรับลดสถานะความปลอดภัยของสถาบันการบินพลเรือน โดยในช่วงที่ถูกขึ้นบัญชีดำของสหภาพยุโรป Philippine Airlines ประสบภาวะสูญเสียความนิยมหลังจากยุโรปประกาศเตือนประชาชนถึงการปรับลดสถานะของสายการบินฟิลิปปินส์ แม้ว่าในขณะนั้นทางสายการบินไม่ได้ให้บริการในเส้นทางระหว่างประเทศฟิลิปปินส์และสหภาพยุโรปแล้วก็ตาม โดยสายการบินฟิลิปปินส์ได้สูญเสียฐานลูกค้าให้กับคู่แข่งที่เป็นสายการบินต่างชาติและสายการบินต้นทุนต่ำที่ให้บริการในเส้นทางเดียวกัน จนทำให้สัดส่วนของผู้ใช้บริการต่างชาติของสายการบินฟิลิปปินส์ลดลงมากกว่า 9% จาก 33% ในปี 2005 เหลือเพียง 24% ในปี 2013

นอกจากนี้ อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมของผู้ใช้บริการต่างชาติหลังการปรับลดอันดับในช่วงปี 2010 ถึง 2013 ยังลดลงอย่างชัดเจนจนเหลือน้อยกว่า 2% ต่อปี ในขณะที่ก่อนการปรับลดอันดับในช่วงปี 2005-2008 Philippine Airlines มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมสูงกว่า 5% ต่อปี อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวไม่เป็นที่น่าแปลกใจเนื่องจากความปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญที่ลูกค้าพิจารณาเลือกใช้บริการสายการบิน

สำหรับกรณีของประเทศไทย การสูญเสียความนิยมจากผู้โดยสารจะส่งผลให้สายการบินเต็มรูปแบบของไทยแข่งขันกับสายการบินของกลุ่มประเทศตะวันออกกลางได้ยากขึ้น โดยในช่วง 2-3 ปีผ่านมา สายการบินกลุ่มดังกล่าวเป็นคู่แข่งใหม่ที่พยายามเจาะตลาดโดยการให้บริการในระดับพรีเมี่ยมในราคาที่ไม่สูงมากนัก

การปรับลดอันดับความปลอดภัยและการระงับการเพิ่มเส้นทางบินเป็นระยะเวลานานจะส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขันของสายการบินเนื่องจากทำให้ต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้นและจำกัดโอกาสในการขยายธุรกิจ

การสูญเสียความนิยมจากลูกค้าไม่ได้เป็นผลกระทบเดียวที่อาจเกิดขึ้นต่อสายการบินของไทยหากถูกปรับลดอันดับความปลอดภัย แต่จะประสบกับข้อจำกัดในขยายขอบเขตการให้บริการ เนื่องจากประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีดำจะไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินหรือเพิ่มเส้นทางใหม่ได้ รวมทั้งสถานะทางการเงินอาจได้รับผลกระทบดังที่ปรากฏในกรณีสายการบินฟิลิปปินส์ที่รายได้เติบโตในอัตราเฉลี่ยสะสมเพียง 0.3% ต่อปี ในระหว่างปี 2008-2013 ที่ถูกปรับลดอันดับความปลอดภัย นอกจากนี้ ผลกำไรของสายการบินอาจลดลงจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการดำเนินงาน อัตราค่าเช่าเครื่องบิน และเบี้ยประกัน ตลอดจนเงื่อนไขการซ่อมบำรุงที่มีความเข้มงวดมากขึ้นอีกด้วย

การคืนอันดับความปลอดภัยทางการบินอาจใช้เวลานานไม่ต่ำกว่า 4 ปี โดยจะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการผลักดัน จากตัวอย่างในอดีตจะเห็นว่าการคืนอันดับความน่าเชื่อถือมีความเป็นไปได้ แต่กระบวนการดังกล่าวอาจต้องใช้เวลานาน เช่น ฟิลิปปินส์ อิสราเอล และอินเดีย ที่ใช้เวลาโดยเฉลี่ย 4 ปีในการเลื่อนอันดับมาเป็นประเภท 1 โดยอีไอซีมองว่าการที่จะผลักดันให้สถาบันประเมินมาตรฐานต่างๆ ปรับสถานะความปลอดภัยขึ้นจะต้องอาศัยการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ดังตัวอย่างในปี 2012 ที่ Philippine Airlines ได้จัดจ้างที่ปรึกษาด้านการบินจากสหรัฐฯ เพื่อจัดการอบรมและให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคแก่สถาบันการบินพลเรือนของประเทศ (CAAP) ตลอดจนจัดทำแผนงานดำเนินงานของ CAAP ที่จะรับรองผลการปฏิบัติงานที่มีความสอดคล้องกับมาตรฐาน ICAO โดยแผนงานดังกล่าวรวมถึงการจัดทำคู่มือการตรวจสอบ ข้อแนะนำเชิงเทคนิค และการปรับปรุงกฎระเบียบการบินพลเรือนของฟิลิปปินส์ด้วย โดยการจัดจ้างที่ปรึกษาในกรณีนี้ CAAP ไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจาก Philippine Airlines เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของ CAAP และที่ปรึกษาในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอุตสาหกรรมการบินของฟิลิปปินส์ ส่งผลให้ ICAO ยกเลิกสถานะ SSC ของประเทศฟิลิปปินส์ในปี 2013 หรือภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งปีหลังจากการจ้างที่ปรึกษาดังกล่าว โดยการเลื่อนอันดับครั้งนั้นทำให้รายได้สายการบินฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นถึง 36% ระหว่างปี 2013 และ 2014

การร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อการแก้ไขปัญหามาตรฐานด้านความปลอดภัย

ICAO

เนื่องจาก ICAO ได้แจ้งเตือนการพิจารณาปรับลดสถานะความปลอดภัยเป็นการล่วงหน้า ไทยจึงมีโอกาสดำเนินมาตรการแก้ไขต่างๆ ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าว โดยหนึ่งแนวทางที่กรมการบินพลเรือนได้ดำเนินการคือ การคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการบินเพื่อเข้าร่วมพิจารณาแผนการแก้ไขปรับปรุงเพื่อนำเสนอต่อ ICAO ในเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งคาดว่า สายการบินที่ให้บริการในประเทศไทยทั้งหมด 44 แห่ง จะได้รับการออกใบรับรองตามมาตรฐาน ICAO ฉบับใหม่หลังจากนั้น รวมทั้งมีการพิจารณาออกใบอนุญาตให้สายการบิน 7 แห่งให้สามารถขนส่งวัตถุอันตรายทั้งภายในและระหว่างประเทศได้ด้วย

ในส่วนของมาตรการแก้ไขของภาคเอกชน สายการบินชั้นนำของไทย 4 แห่ง (การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ นกแอร์ และไทยแอร์เอเชีย) ได้ร่วมกันระดมเงินทุนจำนวน 17 ล้านบาท เพื่อการจัดจ้างที่ปรึกษาทางการบินต่างชาติเพื่อจัดการอบรมและให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคต่อกรมการบินพลเรือนไทยและสายการบินที่จดทะเบียนในประเทศไทย ทั้งนี้ ผลสำเร็จของความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยดังกล่าวจะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนเมื่อ ICAO นำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ และ US FAA เริ่มการตรวจสอบในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้

ดังนั้นไทยควรตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากมีการปรับลดอันดับความปลอดภัยทางการบินและเตรียมพร้อมรับมือ บทเรียนของฟิลิปปินส์ทำให้เห็นว่าการคืนสถานะสามารถทำได้ แต่กระบวนการดังกล่าวอาจต้องใช้เวลา โดยฟิลิปปินส์ใช้เวลาถึง 4 ปี ในการปรับปรุงมาตรฐานการบินเพื่อให้ ICAO ยกเลิกสถานะ SSC ในขณะเดียวกัน การเลื่อนอันดับเป็นประเภท 1 ของ US FAA ใช้เวลาถึง 6 ปี ดังนั้น อีไอซีแนะภาครัฐและเอกชนควรจับมือกันที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและรวดเร็ว

หากมีการปรับลดสถานะความปลอดภัยทางการบิน สายการบินของไทยจะเผชิญกับการสูญเสียรายได้และมีรายจ่ายที่สูงขึ้น รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงจากสายการบินต่างชาติ นอกจากการสูญเสียความนิยมจากฐานลูกค้าทำให้จำนวนผู้โดยสารและรายได้ลดลงแล้ว สายการบินของไทยอาจต้องเผชิญกับต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นจากการปรับเพิ่มค่าเช่าเครื่องบินและเบี้ยประกัน ตลอดจนเงื่อนไขการซ่อมบำรุงที่มีความเข้มงวดมากขึ้น รวมไปถึง ธุรกิจการบินจะมีการแข่งขันเพิ่มขึ้นจากการที่สายการบินต่างชาติเพิ่มบริการในเส้นทางการบินผ่านประเทศไทย เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดในส่วนที่สายการบินของไทยไม่สามารถรองรับได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ สายการบินของไทยอาจต้องสูญเสียบุคลากรให้กับคู่แข่งต่างชาติที่มีความต้องการเพิ่มอัตรากำลังอีกด้วย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลกระทบตามประเภทบริการการบินพบว่า ธุรกิจเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากจะต้องได้รับการอนุมัติการบินเป็นกรณี สำหรับสายการบินเต็มรูปแบบและสายการบินต้นทุนต่ำที่ให้บริการเส้นทางระยะกลางจะมีข้อจำกัดในการขยายกิจการเนื่องจากไม่สามารถเพิ่มเส้นทางบินใหม่หรือจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางเดิมได้ ในขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำในประเทศจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยสุด

การปรับลดอันดับความปลอดภัยของการบินในไทยจะมีผลกระทบเล็กน้อยต่อผู้โดยสาร สนามบิน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย อีไอซีคาดว่าผู้โดยสารจะยังคงได้รับผลประโยชน์จากราคาตั๋วเครื่องบินที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการแข่งขันในปัจจุบันที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนสนามบินภายในประเทศและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเนื่องจากสายการบินอื่นๆ สามารถเข้ามาทดแทนบริการของสายการบินของไทย ดังกรณีของฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ถูกปรับลดอันดับความปลอดภัยด้านการบิน แต่กลับพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว โดยนักท่องเที่ยวจากทวีปยุโรปเดินทางเข้าอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นถึง 10% ต่อปี ในช่วงที่ EASA ได้สั่งห้ามสายการบินทะเบียนอินโดนีเซียบินเข้ายุโรป เป็นต้น

Note Icao Th Th Final (1)