เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 ที่สำนักงานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีการประชุมคณะกรรมการกองทุน สสส. (บอร์ด สสส.) โดยมี พล.ร.อ. ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม เป็นประธาน มีวาระสำคัญคือการพิจารณาแต่งตั้งผู้จัดการ สสส. คนใหม่ รวมถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหารองประธานบอร์ด สสส. คนที่ 2 และบอร์ด สสส. ผู้ทรงคุณวุฒิ รวม 7 คน ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 1/2559 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44
โดยการประชุมบอร์ด สสส. ครั้งนี้ ต้องเลื่อนออกมาจากเดิมในวันที่ 15 มกราคม 2559 เนื่องจากติดปัญหาทางข้อกฎหมาย มีองค์ประชุมไม่ครบตาม พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2540 เพราะไม่มี “รองประธานบอร์ด สสส. คนที่ 2” เนื่องจาก นพ.วิชัย โชควิวัฒนถูกปลดออกจากตำแหน่งตามคำสั่งห้วหน้า คสช. ที่ 1/2559 ไปด้วย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 2/2559 แต่งตั้งให้นายชำนาญ พิเชษฐพันธ์ เป็นรองประธานบอร์ด สสส. คนที่ 2 เป็นการชั่วคราว ไปจนกว่าการสรรหาบุคคลที่มาแทนบอร์ด สสส. ทั้ง 7 คนจะเสร็จสิ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่การประชุมบอร์ด สสส. จะเริ่มต้น มีตัวแทนเครือข่ายผู้ทำงานเกี่ยวกับสุขภาพ ในนาม “ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน” จำนวนหนึ่ง นำโดยนายคำรณ ชูเดชา และนางอรุณี ศรีโต ได้เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.ร.อ. ณรงค์ ขอให้ช่วยเหลือกรณีคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) สั่งชะลอโครงการที่องค์กรในเครือข่ายฯ ได้รับจาก สสส. รวมถึงกรณีที่กรมสรรพากรเข้ามาตรวจสอบภาษีขององค์กรในเครือข่ายฯ ได้รับจาก สสส. ย้อนหลังเป็นเวลา 5 ปีด้วย พร้อมระบุว่าจะจับตาการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาบอร์ด สสส. ทั้ง 7 คน ว่าเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีการแทรกแซงจากภายนอกหรือไม่
สำหรับการประชุมบอร์ด สสส. ครั้งนี้ ใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง
พล.ร.อ. ณรงค์ แถลงว่า ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งให้ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. (อ่านประวัติ ดร.สุปรีดา) ให้เป็นผู้จัดการ สสส. คนใหม่ หลังพิจารณาจากรายชื่อผู้สมัครจำนวน 20 คน แล้วเห็นว่า ดร.สุปรีดา มีความเหมาะสมที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาบอร์ด สสส. ทั้ง 7 คน ที่พ้นจากตำแหน่งไปโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 1/2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 7 คน ประกอบด้วย
- นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษา สสส. เป็นประธานกรรมการสรรหาฯ
- นางประภาศรี บุญวิเศษ ผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นกรรมการสรรหาฯ
- นายระพีพันธุ์ สริวัฒน์ อดีตรองปลัด สปน. เป็นกรรมการสรรหาฯ
- นางทิชา ณ นคร บอร์ด สสส. ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นกรรมการสรรหาฯ
- ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นกรรมการสรรหาฯ
- ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เป็นกรรมการสรรหาฯ
- ผู้จัดการ สสส. หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการสรรหาฯ และเลขานุการของคณะกรรมการสรรหาฯ
โดยจะให้ระยะเวลาทำงานภายใน 30 วัน ยืนยันว่าไม่มีการแก้ไขระเบียบของ สสส. ในการสรรหาบอร์ด สสส. ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างที่มีคนบางกลุ่มเป็นห่วง และขอฝากให้คณะกรรมการสรรหาฯ ทำงานด้วยความโปร่งใส ปราศจากข้อครหา
“สำหรับข้อสงสัยที่ว่าบอร์ด สสส. ทั้ง 7 คนที่พ้นจากตำแหน่งไปด้วยมาตรา 44 จะกลับมาลงสมัครได้หรือไม่นั้น เนื่องจากเป็นปัญหาทางข้อกฎหมาย จึงจำเป็นต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว เพราะหากมีผู้ร้องคัดค้านหรือผู้ทักท้วงในภายหลังจะเสียเวลา” พล.ร.อ. ณรงค์ กล่าว
พล.ร.อ. ณรงค์ ยังกล่าวว่า หากการสรรหาบอร์ด สสส. ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้ง 7 คนเสร็จสิ้นโดยเร็ว ตนจะเรียกประชุมเพื่อวางแนวทางการทำงานของ สสส. ในช่วงถัดไป โดยอาจจะปรับนิยามการให้ทุนแก่โครงการต่างๆ ให้แคบลงบ้าง เนื่องจากสังคมยังจับตาอยู่ว่า สสส. มีการให้ทุนกับโครงการใดที่ผิดวัตถุประสงค์ หรือมีการให้ทุนกับมูลนิธิที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
เมื่อถามถึงเสียงเรียกร้องจากองค์กรที่ได้รับทุนจาก สสส. ให้ปลดล็อกโครงการที่ถูก คตร. ควบคุมอยู่ โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าเกินกว่า 5 ล้านบาท พล.ร.อ ณรงค์ กล่าวว่า คงจะต้องแก้ไขระเบียบของ สสส. ที่เกี่ยวข้องกับการให้ทุน ตามข้อเสนอของคณะทำงานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มี นพ.เสรี ตู้จินดา เป็นประธาน ก่อน จากนั้นจะเสนอเรื่องไปยัง คตร. ให้พิจารณา เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้การควบคุมโครงการต่างๆ ผ่อนคลายลงได้
“ถ้าได้แก้ระเบียบแล้ว โครงการที่ยังถูก freeze อยู่ ก็น่าจะได้รับการผ่อนปรนจาก คตร. มากขึ้น” พล.ร.อ. ณรงค์ กล่าว
ด้านดร.สุปรีดา กล่าวถึงกรณีที่องค์กรที่ได้รับทุน สสส. จากเรียกร้องให้ สสส. เข้ามาช่วยเหลือกรณีถูกกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลังว่า ก่อนหน้านี้ สสส. ได้ประชุมร่วมกับกรมสรรพากรไปแล้วเพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้ เพราะสัญญาที่ สสส. ทำกับองค์กรที่ได้รับทุนจาก สสส. ไม่ใช่สัญญารับจ้างทำของ แต่เป็นการให้ค่าตอบแทนในการดำเนินการแทน จึงไม่มีความจำเป็นต้องเสียภาษีย้อนหลัง อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการเจรจากับกรมสรรพากรต่อไปเพื่อหาข้อยุติในเรื่องนี้ เบื้องต้นคิดทางออกไว้หลายๆ ทาง รวมถึงการส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยตีความลักษณะสัญญาที่ สสส. ทำกับองค์กรที่ได้รับทุน เพื่อดูว่าองค์กรดังกล่าวจำเป็นต้องเสียภาษีย้อนหลังหรือไม่