ThaiPublica > เกาะกระแส > เครือข่ายสุขภาพ ขีดเส้น 15 ม.ค. แก้ปัญหา “7 บอร์ด สสส.” โดน ม.44 ปลด – ขอ “สตง.-สรรพากร” เลิกบี้ภาษีมูลนิธิ/องค์กรที่ได้เงินจากสสส.ย้อนหลัง 800 ล้าน

เครือข่ายสุขภาพ ขีดเส้น 15 ม.ค. แก้ปัญหา “7 บอร์ด สสส.” โดน ม.44 ปลด – ขอ “สตง.-สรรพากร” เลิกบี้ภาษีมูลนิธิ/องค์กรที่ได้เงินจากสสส.ย้อนหลัง 800 ล้าน

12 มกราคม 2016


ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน
น.ส.จิตติมา ภาณุเดช มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพหญิง กำลังอ่านแถลงการณ์ของ “ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน” ต่อกรณีใช้มาตรา 44 ปลดบอร์ด สสส. ผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน รวมถึงกรณีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ สสส.

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 ที่สภาคริสตจักรแห่งประเทศไทย “ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน” ที่อ้างว่าเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพกว่า 20 องค์กร ได้นัดประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวหลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 1/2559 พักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างถูกตรวจสอบเรื่องการทุจริตและประพฤติมิชอบ 59 คน โดยรวมถึงกรรมการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 7 คน ที่ในคำสั่งหัวหน้า คสช. นี้ให้พ้นจากตำแหน่งโดยทันที

หลังการประชุม ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนแยกเป็นประเด็นต่างๆ รวม 5 ประเด็น โดยมีนายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และ น.ส.จิตติมา ภาณุเดช มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพหญิง เป็นผู้อ่าน มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้

1. กรณี พล.อ. ประยุทธ์ ใช้มาตรา 44 ปลดบอร์ด สสส. ที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิรวม 7 คน ทำให้เหลือบอร์ด สสส. ที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิเพียง 2 คน ขณะที่มีบอร์ด สสส. อีก 11 คน มาจากภาครัฐทั้งสิ้น

ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน เรียกร้องให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของบอร์ด สสส. ทั้ง 7 คนที่ถูกคำสั่งปลดโดยเร็ว อย่างน้อยก่อนวันที่ 15 มกราคม 2559 ที่จะมีการประชุมบอร์ด สสส. ชุดปัจจุบันที่เหลืออยู่ ซึ่งหากพบว่าบุคคลใดไม่มีความผิดก็ให้คืนตำแหน่งแก่บุคคลดังกล่าว แต่ถ้าบุคคลดังกล่าวปฏิเสธที่จะกลับเข้ารับตำแหน่ง ก็ให้สรรหาบุคคลอื่นมาเป็นแทน โดยต้องมีคุณสมบัติไม่ด้อยไปกว่าบอร์ด สสส. ทั้ง 7 คน ที่ถูกปลด ที่สำคัญ จะต้องไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเหล้า บุหรี่ อาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งนี้ จะจับตาด้วยว่า การประชุมบอร์ด สสส. ในวันดังกล่าว จะมีการแต่งตั้งผู้จัดการ สสส. คนใหม่ รวมถึงบอร์ด สสส. ผู้ทรงคุณวุฒิคนใหม่ ที่มีที่มาโดยมิชอบหรือไม่

“หากไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น จะมีการเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งจะแถลงต่อสื่อมวลชนต่อไป”

2. กรณีระงับการจ่ายเงินให้แก่โครงการที่ได้ลงนามในความตกลงร่วมปฏิบัติงานกับ สสส. เป็นเงินทั้งสิ้น 1,953 ล้านบาท โดยในจำนวนนั้น มีโครงการที่มีมูลค่าเกินกว่า 5 ล้านบาท รวม 515 โครงการ เป็นเงินทั้งสิ้น 1,643 ล้านบาท

ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนเห็นว่า การงดจ่ายเงินดังกล่าว ทั้งๆ ที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เคยให้คำมั่นว่าได้ยุติการแช่แข็งโครงการดังกล่าวไปแล้ว แต่กลับไม่มีการออกเอกสารยืนยันอย่างเป็นทางการ ทำให้มีผู้ปฏิบัติงานในองค์กรต่างๆ ได้รับผลกระทบราว 5,200 คน โดยมีมากกว่า 3,400 คน ที่ขาดงบประมาณดำเนินการและไม่ได้รับค่าตอบแทนมานานกว่า 3 เดือน จึงอยากเรียกร้องให้เร่งรัดการจ่ายเงินกับองค์กรที่ทำสัญญาไว้แล้ว หากไม่มีการดำเนินการ จะยื่นฟ้อง สสส. ต่อศาลปกครองต่อไป

3. กรณีผู้มีอำนาจสั่งเก็บภาษีย้อนหลังกับมูลนิธิและองค์กรต่างๆ ที่เคยร่วมปฏิบัติงานกับ สสส. รวมเป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท

ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนเห็นว่า องค์กรภาคประชาชนที่ร่วมปฏิบัติงานกับ สสส. ไม่ได้สัมพันธ์กันในฐานะ “ผู้รับจ้างทำของ” แต่เป็น “ผู้ดำเนินการแทน” เห็นได้จากลักษณะสัญญาที่ลงนามกันซึ่งใช้ชื่อว่า “ข้อตกลงการปฏิบัติงาน” ไม่ใช่ “สัญญารับจ้างทำของ” แต่อย่างใด ซึ่งอัยการสูงสุดก็เคยตีความไว้เมื่อปี 2547 ว่าโครงการที่องค์กรต่างๆ ทำสัญญากับ สสส. เป็นการดำเนินการแทน

“ความเดือดร้อนขณะนี้เกิดจากกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีกับมูลนิธิและองค์กรต่างๆ ที่ร่วมปฏิบัติงานกับ สสส. ย้อนหลังถึง 5 ปี โดยตีความว่าสัญญาดังกล่าวเป็นการรับจ้างทำของซึ่งต้องเสียภาษีในอัตรา 3% และต้องติดตราสารอากรในอัตรา 1 บาทต่อจำนวนเงินทุก 1,000 พันล้าน พร้อมกับเบี้ยปรับ 5-6 เท่า สร้างความตระหนกทั้งต่อมูลนิธิและองค์กรต่างๆ ที่ไม่มีใครมีความสามารถพอจะจ่ายได้”

จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกรมสรรพากร ยุติการดำเนินการดังกล่าวไว้ชั่วคราว และให้บอร์ด สสส. ชุดปัจจุบันส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า ลักษณะสัญญาที่มูลนิธิหรือองค์กรต่างๆ ทำไว้กับ สสส. เป็น “ข้อตกลงการปฏิบัติงาน” หรือ “สัญญารับจ้างทำของ” โดยขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนพร้อมที่จะฟ้องร้องเพื่อยกเลิกประกาศกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

4. ข้อเสนอการปฏิรูป สสส.

ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน เห็นว่า สสส. เป็นหน่วยงานของรัฐรูปแบบใหม่ที่มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ทำให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการปฏิรูประบบราชการไม่ให้รวมศูนย์อยู่ภายใต้ระบบราชการเหมือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สสส. ก็ควรปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสให้มากขึ้น อาทิ เพิ่มโครงการ กิจกรรม หรืองบประมาณ ให้แก่กลุ่มคนด้อยโอกาสทั้งในเมืองและชนบท, เพิ่มสัดส่วนกรรมการในระดับต่างๆ ให้มีบุคคลหน้าใหม่เข้ามามากขึ้น, ออกระเบียบที่ป้องกันปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ที่ให้และผู้ที่รับทุนอย่างเคร่งครัด, ให้มีการประเมินผลการทำงานของผู้บริหาร สสส. อย่างโปร่งใสมากขึ้น ฯลฯ เป็นต้น

5. กรณีโครงการประชารัฐ

ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชนเห็นว่า สิ่งที่ สสส. ดำเนินการที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มอำนาจให้กับภาคประชาชน เข้าข่ายตามนิยามคำว่า “ประชารัฐ” แต่คณะกรรมการที่รัฐบาลชุดนี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อผลักดันโครงการประชารัฐกลับมีแต่ตัวแทนกลุ่มทุน ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร อาหาร หรือแอลกอฮอล์ ดังนั้น ต้องมีการจับตาว่าการดำเนินโครงการประชารัฐของรัฐบาลชุดนี้จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง หรือสนองประโยชน์ของกลุ่มทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงข่าวครั้งนี้ มีตัวแทนองค์กรภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ มากล่าวถึงจุดยืนขององค์กรตนเองต่อทั้ง 5 ประเด็นข้างต้น เช่น นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง, นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงานแห่งประเทศไทย, น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch), น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยต่างยืนยันว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของบอร์ด สสส. ทั้ง 7 คน หรือขององค์กรตนเองที่ได้ทุนจาก สสส. อย่างไรก็ตาม ตัวแทนทุกองค์กรระบุตรงกันว่าจะจับตาการประชุมบอร์ด สสส. ในวันที่ 15 มกราคม 2559 ว่าจะมีผลออกมาเช่นไร ก่อนจะมาประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวกันต่อไป