ThaiPublica > เกาะกระแส > ศอตช. ชงแก้กฎหมาย สสส. 3 ประเด็น ใช้งบรัดกุมมากขึ้น ขจัดผลประโยชน์ทับซ้อน – ปัดสอบทุจริต โยน สธ. ลุยต่อ

ศอตช. ชงแก้กฎหมาย สสส. 3 ประเด็น ใช้งบรัดกุมมากขึ้น ขจัดผลประโยชน์ทับซ้อน – ปัดสอบทุจริต โยน สธ. ลุยต่อ

26 ตุลาคม 2015


นพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. รักษาการผู้จัดการ สสส. ที่มาภาพ : http://www.thaihealth.or.th/Gallery/2242
นพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. รักษาการผู้จัดการ สสส. ที่มาภาพ: http://www.thaihealth.or.th/Gallery/2242

กรณีที่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่าตรงตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 หรือไม่ จนผู้จัดการ สสส. ตัดสินใจลาออกเพื่อเปิดทางให้ตรวจสอบอย่างเต็มที่ ขณะที่รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบหมายให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่มี พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน และมีตัวแทนจาก คตร. และ สตง. ร่วมเป็นกรรมการ ให้เข้ามาตรวจสอบกรณีนี้ด้วยนั้น

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. ในฐานะรักษาการผู้จัดการ สสส. เดินทางมาชี้แจงถึงข้อสงสัยเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของ สสส. ต่อที่ประชุม ศอตช. ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

พล.อ. ไพบูลย์ กล่าวว่า ที่ ศอตช. เชิญ สสส. มาชี้แจงในวันนี้ ไม่มีเรื่องการทุจริต ฝ่ายตรวจสอบทั้ง คตร. และ สตง. เองก็ไม่มองในเรื่องนี้ แต่เนื่องจากกฎหมายของ สสส. ถูกคนมองว่าเขียนไว้กว้างเกินไป ทำให้เข้าใจได้ว่า สสส. จะเอางบประมาณไปใช้ทำอะไรก็ได้โดยอ้างว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ที่ประชุมจึงมีความเห็นร่วมกันว่าให้แก้ไขกฎหมายของ สสส. ใน 3 ประเด็น คือ

  1. มาตรา 3 นิยามของคำว่า “สร้างเสริมสุขภาพ” ที่ในกฎหมาย สสส. เขียนไว้ “การใดๆ ที่มุ่งกระทำเพื่อสร้างเสริมให้บุคคลมีสุขภาวะทางกาย จิต และสังคม โดยสนับสนุนพฤติกรรมของบุคคล สภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่การมีร่างกายที่แข็งแรง สภาพจิตที่สมบูรณ์ อายุยืนยาว และคุณภาพชีวิตที่ดี” ศอตช. เห็นว่านิยามนี้กว้างเกินไป จนคนเข้าใจว่า สสส. ทำอะไรก็ได้ จึงต้องไปแก้ไขให้มีความชัดเจนมากขึ้น
  1. มาตรา 10 ในกฎหมาย สสส. ที่บัญญัติไว้ว่า “กองทุนมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และรายได้ของกองทุนไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน” ทั้งฝ่ายตรวจสอบอย่าง สตง. และ สสส. เอง เห็นตรงกันว่า รายได้ของ สสส. เป็นเงินของแผ่นดิน จึงต้องหากลไกในการใช้งบที่รัดกุมมากขึ้น
  1. หมวด 2 ของกฎหมาย สสส. เรื่องการบริหารกองทุน ปัจจุบัน สังคมมีข้อสงสัยว่ากรรมการ สสส. บางราย กับมูลนิธิที่มารับทุนจาก สสส. อาจมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ จึงต้องไปแก้ไขเพื่อหาทางป้องกันปัญหานี้

“ผมจะนำข้อเสนอในการแก้ไขกฎหมาย สสส. ทั้ง 3 ประเด็นนี้ นำเรียนต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อไป ส่วนรายละเอียดว่าจะแก้ไขกฎหมาย สสส. อย่างไร ทั้งเรื่องนิยามคำว่าเสริมสร้างสุขภาวะ การใช้จ่ายงบกองทุน และการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ให้รัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข (สธ.) ไปพิจารณา เนื่องจากเป็นเรื่องภายใน สธ. แต่เมื่อ สสส. มั่นใจว่าการใช้จ่ายงบประมาณถูกต้อง ก็ไม่มีอะไรต้องกลัวการปรับเปลี่ยนเนื้อหาในกฎหมาย” พล.อ. ไพบูลย์ กล่าว

เมื่อถามว่า เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของ สสส. จะแก้ไขอย่างไรให้รัดกุมมากขึ้นและตรงตามวัตถุประสงค์ พล.อ. ไพบูลย์ กล่าวว่า สสส. เองก็อยากจะใช้จ่ายสะดวก แต่ต้องยอมรับว่ารายได้ของ สสส. เป็นเงินของแผ่นดิน ดังนั้น สธ. จะต้องไปหาวิธีที่เหมาะสม จะหย่อนไปก็ไม่ได้ จะตึงไปก็ไม่ดี

เมื่อถามว่าการแก้ไขกฎหมาย สสส. ทั้ง 3 ประเด็น จะทำให้การบริหารงานและใช้จ่ายงบประมาณของ สสส. ไม่อิสระเท่าเดิมใช่หรือไม่ พล.อ. ไพบูลย์ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยถึงเรื่องนั้น แต่ต้องยอมรับก่อนว่า กฎหมายของ สสส. ปัจจุบัน ทำให้ถูกมองได้ว่าจะทำอะไรหรือใช้จ่ายงบประมาณอย่างไรก็ได้

เมื่อถามว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ที่มีข่าวว่า กรรมการ สสส. ไปตั้งมูลนิธิรับทุนจาก สสส. เองจะแก้ไขอย่างไร พล.อ. ไพบูลย์ กล่าวว่า การตรวจสอบทุจริตเป็นอีกเรื่อง ซึ่งการพูดคุยในที่ประชุม ศอตช. ไปไม่ถึงเรื่องนั้น

เมื่อถามว่า แล้วปัญหาการทุจริต ศอตช. จะตรวจสอบต่อหรือไม่ พล.อ. ไพบูลย์ กล่าวว่า ในส่วนของ ศอตช. คงจบที่ตรงนี้ แต่การตรวจสอบการทุจริตยังเดินหน้าต่อไป โดยเป็นเรื่องของ สธ. จะดำเนินการ ซึ่งตนทราบว่า นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการ สธ. จะนัดประชุมคณะทำงานในวันที่ 27 ตุลาคม 2558

ด้าน นพ.สุปรีดากล่าวสั้นๆ ว่า ได้นำเอกสารหลักฐานมาชี้แจงถึงข้อสงสัยบางโครงการ พล.อ. ไพบูลย์ ก็ยืนยันว่า ศอตช. ไม่ได้ตรวจสอบเรื่องของการทุจริต แต่เป็นเพียงความเข้าใจกฎระเบียบที่ไม่ตรงกัน จึงต้องใช้พื้นที่นี้ในการพูดคุยทำความเข้าใจ ส่วนกรณีที่มีข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น สสส. ยืนยันว่ามีกลไกป้องกันปัญหาเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด

เมื่อถามว่า ที่ประชุมมีข้อเสนอจะแก้ปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน บอร์ด สสส. ไปตั้งมูลนิธิรับทุนจาก สสส. อย่างไร นพ.สุปรีดากล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้ลงรายละเอียดในเรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สตง. ได้ทำหนังสือรายงานการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน ปี 2557 ของ สสส. ถึงนายกฯ ระบุถึงรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สสส. ที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิซึ่งเป็นผู้รับเงินสนับสนุนจาก สสส. อาทิ นพ.วิชัย โชควิวัฒน์, นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ (ที่ปรึกษา นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อดีตรัฐมนตรีว่าการ สธ.) นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ เป็นต้น ตั้งแต่ปี 2550-2557 รวมเป็นเงินกว่า 3,000 ล้านบาท